นานาชาติ ใช้อะไร ? ปกป้อง คุ้มครอง “ชาติพันธุ์ – ชนเผ่าพื้นเมือง”

สภาผู้แทนราษฏร พิจารณาเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และให้ ครม. นำไปศึกษาภายใน 60 วัน โดยมีเงื่อนไขให้นำกลับมาพิจารณาในสภาฯ พร้อมกับกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันรวม 4 ฉบับ 

ล่าสุด “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยืนยัน รัฐบาลเตรียมดันร่าง พ.ร.บ.ทุกฉบับ และจะพิจารณาร่างฯ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นร่างฉบับของรัฐบาล เข้าสู่ ครม. ในเร็ว ๆ นี้  

ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะเห็นความก้าวหน้าการยอมรับ เข้าใจ เคารพสิทธิชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง 

ชูพินิจ เกษมณี ผู้อาวุโส สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ในห้วงเวลาที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตาความคืบหน้าอีกก้าวสำคัญของกฎหมายชาติพันธุ์ในบ้านเรา The Active  จึงชวนสำรวจ ว่านอกจากไทยแล้ว นานาชาติใช้กลไกอะไร สำหรับการปกป้อง คุ้มครอง กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านคำบอกเล่าของ “ชูพินิจ เกษมณี” ผู้อาวุโส สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

“น่าแปลกที่ไทยเรารับและสนับสนุน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง แต่กลับไม่ยอมรับคำว่า ”ชนเผ่าพื้นเมือง” ขณะที่หลายประเทศตอนนั้นไม่รับรองปฏิญญา เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ ตอนนี้มีนโยบายและกฎหมายชาติพันธุ์ชัดเจน และยังออกมาขอโทษต่อสิ่งที่กระทำต่อชนเผ่าพื้นเมืองด้วย“ 

ชูพินิจ เกษมณี

บทสนทนาที่ชวนตั้งคำถามและชวนขบคิด ก่อนที่ ชูพินิจ จะเริ่มยกตัวอย่างประเทศที่มีนโยบาย-กฎหมายชาติพันธุ์

โดยเริ่มต้นจาก 1. “แคนนาดา“ ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ประกาศนโยบายระดับชาติ เป็นนโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม หรือ MultiCultural Society ในแคนาดามีชนเผ่าพื้นเมืองที่ทั่วโลกพอจะรู้จักกันดี  คือ อินเดียนแดง ในห้วง 200 ปีที่ผ่านมา พวกเขาถูกกระทำกดขี่หลายอย่าง บังคับให้เรียนภาษาหลักสูตรกลาง จนแทบจะรักษาภาษาดั้งเดิมไม่ได้ วิถีวัฒนธรรมที่มีคุณค่าก็เริ่มจะหายไป และเขาเจอปัญหาใหญ่คือคนติดเหล้ากันมาก จึงต้องรื้อฟื้นวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาต่าง ๆ มาแก้ไข คือการพลิกฟื้นวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง 

กฎหมายของแคนาดา มีกฎหมายระดับจังหวัด ในรัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และไม่ใช่เฉพาะชนเผ่าพื้นเมือง แม้แต่กลุ่มอพยพเข้าไป ไม่ว่าจะคนเป็นเชื้อสายจีน อิตาเลียน เขาสามารถปฏิบัติตามวัฒนธรรมได้ ดังนั้นชนเผ่าพื้นเมืองของแคนาดา ก็มีสิทธิในการจัดการตนเอง โดยเฉพาะในเขตสงวนฯ เขามีสิทธิจัดการตนเองเต็มที่ 

“จากอดีตเหมือนเป็นที่กักขังเขาไม่ให้ออกนอกเขตสงวน ปัจจุบันกลับบกันเขตสงวนเขามีอำนาจในการจัดการตนเอง มีโรงเรียน มีสาธารณูปการอะไรครบถ้วน เพื่อจะแก้ปัญหาของเขา โดยปัญหาที่เขาประสบมากๆก็คือเรื่องของยาเสพติด ก็คือเหล้า ที่นั่นคนติดเหล้าเยอะมาก จากการพลิกฟื้นวัฒนธรรมเขาก็เอาประเพณี พิธีกรรมบางอย่างมาใช้ในการบำบัดคนติดเหล้า ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ”

ชูพินิจ เกษมณี

การศึกษาของแคนาดา ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถวางหลักสูตรของตนเองสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ นำเอาคุณค่าวัฒนธรรม รวมทั้งภาษากลับมา จากที่เกือบหายไป เพราะพูดภาษาราชการเป็นหลักคืออังกฤษกับฝรั่งเศส ทั้งที่อดีตคนเหล่านี้มีตั้ง 600 กว่ากลุ่ม แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ 40 กว่ากลุ่ม 40 มีการเรียนรู้ภาษา เด็กรุ่นใหม่ก็พูดได้ 

“ในส่วนของอินเดียนแดง เขาสามารถสร้างหลักสูตรของเขาเองได้ ใส่บูรณาการเอาวัฒนธรรมประเพณี ภาษาเข้าไปในหลักสูตร ในแง่การศึกษานี่ถือว่าเขาก้าวหน้ามาก”

ชูพินิจ เกษมณี

ในเขตสงวน หลายพื้นที่ อาจจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ หลายพื้นที่ก็มีการพัฒนาอาชีพ บางแห่งก็เปิดเป็นรีสอร์ท รับนักท่องเที่ยวได้ด้วย เพราะเขาอยู่กับธรรมชาติ ดูแลทรัพยากรควบคู่กับการใช้ประโยชน์ บางแห่งก็ ทำไม้ ทำธุรกิจ อาจไม่เยอะมาก ถือเป็นรายได้ชุมชน เพราะฉะนั้นการที่รัฐส่งเสริมเนี่ย ทำให้ชุมชนเหล่านี้มีความเข้มแข็งขึ้นมา และก็จัดการตนเองได้  หารายได้เพิ่มเติมอะไรต่างๆ โดยที่มีกฎหมายรับรอง อันนี้ภาพที่เห็นทั่วไป 

2. กลุ่มประเทศนอร์ดิก และประเทศที่ร่วมผลักดัน “รัฐสภาซามี”  ทั้ง ฟินแลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน และรัสเซีย ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ มีชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ซามี  

ซามีถือเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่มานาน และปัจจุบันใน 3 ประเทศ คือ นอร์เวย์, ฟินแลนด์, สวีเดน ก็ตั้งสภาซามีของแต่ละประเทศ และมีรัฐสภาซามีด้วย บทบาทก็แตกต่างกันไป ในรัสเซียอาจจะด้อยกว่า เพราะรัสเซียปกครองอีกแบบหนึ่ง ซามีในรัสเซียอาจจะมีความก้าวหน้าช้ากว่าในประเทศอื่น แต่ข้อดีคือพวกเขามีสิทธิในการจัดการตนเองได้  มีงบประมาณสนับสนุน มีกลไกในการเสนอปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง สามารถฟื้นฟูรักษาวิถีวัฒนธรรม แล้วเขามีสถานภาพได้รับการรับรองจากสหประชาชาติด้วย ในการให้คำปรึกษาต่าง ๆ 

3. ฟิลิปปินส์ ได้ประกาศเป็นกฎหมายระดับชาติ คือ กฎหมายรับรองสิทธิชนเผ่าเดี่ยวกับที่ดินในเขตดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษ  The indigenous Peoples’ Act (IPRA) กฎหมายฉบับนี้ ที่ก้าวหน้ามากก็คือการรับรองพื้นที่บรรพบุรุษ หรือ บรรพชน คือถ้าเขาพิสูจน์ได้ว่า พ่อแม่ บรรพบุรุษอยู่มาก่อน เขามีสิทธิจัดการเต็มที่ ตามวิถี วัฒนธรรม ประเพณี เขามีเครือข่ายชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งมาก มีตัวแทนอยู่ในกรรมการว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองระดับนานาชาติ

4. มาเลเซีย ข้อดีคือ ไม่มีปัญหาการปฏิเสธการเป็นชนเผ่าพื้นเมือง อาจเพราะในภาษามีความชัดเจน เขามีคำว่า โอรังอัสลี ก็แปลตรงว่า เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ในแผ่นดินใหญ่เรียกโอรัสอัสลี ถ้าบนเกาะ เช่น ซาราวัก ซาบาห์ เขาเรียก โอรังอัสเซา ก็ความหมายเดียวกัน มาเลเซียมีกฎหมายพื้นเมือง Aboriginal Peoples Act (APA)  กฎหมายระดับชาติ และแต่ละรัฐ มีรัฐบาลบริหารตนเอง มีการออกกฎหมายของเขาเอง ชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่แต่ละรัฐ ก็ได้รับการคุ้มครอง  

หลายประเทศเดินหน้า “กฎหมายชาติพันธุ์” แต่ไทยยังไม่ยอมรับความเป็น “ชนเผ่าพื้นเมือง”

ชูพินิจ บอกด้วยว่า ประเทศไทยยังไม่ยอมรับคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง และเป็นปัญหา ไม่มีเหตุผลสามารถเชื่อมโยงกับสหประชาชาติได้เลย เพราะสหประชาชาติเขาอธิบายไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่า ความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเป็นยังไง อยู่กับพื้นที่มาเนิ่นนานผูกพันธ์กับทรัพยากร ต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ภาษาของตัวเองไว้ และระบุตนเองว่าเขาเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เพราะฉะนั้นนิยามของสหประชาชาติ ซึ่งมีหลายองค์กร ที่ออกมานิยามคล้ายกัน คือไม่ใช่กลุ่มครอบงำทางสังคม เป็นกลุ่มคนชายขอบ เพราะฉะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ ที่จะบอกว่า ใครเป็นไม่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง เพราะมันเป็นเรื่องการระบุตนเอง ว่าเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เอง 

ปี 2550 สหประชาชาติประกาศ “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง” ประเทศไทยก็ให้การรับรอง ตอนนั้นมีประเทศที่ปฏิเสธอยู่ 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, นิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย ซึ่งเขามีชนเผ่าพื้นเมืองที่ค้อนข้างเข้มแข็ง แต่สุดท้ายทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต้องออกมาขอโทษที่กระทำต่อชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ในอดีต ทั้งกดขี่ บีบบังคับให้เด็กเรียนโรงเรียนกินนอน ไม่ให้พูดภาษาแม่และอีกหลายปัญหา ก็ออกมาขอโทษ ในที่สุด 4 ประเทศที่เคยปฏิเสธ ก็ให้การรับรองปฏิญญานี้หมดแล้ว 

“กลับกันกับประเทศไทย ที่รับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองแต่แรก แต่กลับกลายเป็นปฏิเสธว่าไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง ดังที่มีเสียงคัดค้าน หรือไม่ให้มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์”

ชูพินิจ เกษมณี

เห็นพ้องให้ดันกฎหมายชาติพันธุ์ รัฐต้องเดินตามความต้องการประชาชน

การนำร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เข้าไปพิจารณาในสภาฯ ครั้งแรก มีเสียงตอบรับจากการอภิปรายของ สส.ทุกพรรคต่างเห็นชอบ ชื่นชม และอยากเห็นกฎหมายนี้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ประกอบกับการที่ตัวแทนรัฐบาล เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ออกมายืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ ครม.เตรียมพิจารณาร่างของรัฐบาล ถือเป็นโอกาสดีอย่างมาก ที่จะมีกฎหมายที่ยกระดับการฟื้นฟูคุ้มครองสิทธิส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีกฎหมายมาก่อนแล้ว 

หวั่นสูญเสียโอกาส หากกฎหมายชาติพันธุ์ล่าช้า

ผู้อาวุโส สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ย้ำถึงข้อมูลการสำรวจของหลายองค์กร พบว่า คนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน ยังไม่มีสัญชาติไทย นี่เฉพาะคนที่เป็นลูกหลานเกิดในไทย อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงบริการของรัฐ  ออกจากพื้นที่ไม่ได้ต้องให้ผู้ว่าฯ ในจังหวัดนั้นรับรองเท่านั้นเป็นปัญหามาก 

อีกปัญหาใหญ่คือ สิทธิการจัดการที่ดินทำไม่ได้ ทั้งที่ชาติพันธุ์เขาทำกันมาเนิ่นนาน หลายชั่วอายุคน แต่กฎหมายไม่เอื้อ ที่ทำอยู่กลายเป็นผิดกฎหมายหมด อย่าง ไร่หมุนเวียน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขึ้นทะเบียน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ปรากฎว่า ชาวกะเหรี่ยงที่เขาทำไร่หมุนเวียนในหลายพื้นที่ ยังถูกจับ ไล่รื้ออยู่ ทำให้เห็นว่าแต่ละหน่วยงานไม่เข้าใจกัน ปัญหายังคาราคาซัง กลายเป็นความขัดแย้ง

และแน่นอนกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก คือมองในแง่ของรัฐบาลต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ เอาจริง ๆซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องวัฒนธรรมหลัก ถ้าชนเผ่าพื้นเมืองรักษาภาษาตนเองไม่ได้ วัฒนธรรมก็ไปกับภาษา เพราะการสืบทอดวัฒนธรรมก็ด้วยภาษา เมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยนไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปการแต่งกาย ภาษา ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด และยิ่งส่งเสริมให้เขาเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรดั้งเดิม อย่าง ไร่หมุนเวียน แต่ให้ไปรับเอาข้าวโพด กะหล่ำปลี ต่าง ๆ มาปลูก มันเปลี่ยนวิถีชีวิตไปหมด นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวอะไร มองในแง่การท่องเที่ยวก็เสียไปหมด 

“เรื่องภูมิปัญญาอื่น ๆ อีก ก็สูญเสีย เรื่องสมุนไพร การบำบัดรักษา เรื่องของอาหาร เพราะบนดอยในไร่ไม่ได้มีแต่ข้าว มีพืชพรรณต่างๆหลากหลายกว่า 80 ชนิด ทั้งในไร่ในป่า แสดงภาวะโภชนาการหลากหลายด้วย  ถ้าห้ามทำไร่หมุนเวียนก็จะทำแต่พืชเงินสด อย่างข้าวโพด ที่เป็นปัญหามาก ส่งผลต่อปัญหาหมอกควันด้วย”

ชูพินิจ เกษมณี

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องผลักดันกฎหมายเพื่อรื้อฟื้นภูมิปัญญาชาติพันธุ์ เพราะระดับนานาชาติ เขายอมรับแล้วว่าภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง ช่วยรักษาป่า รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งพิสูจน์แล้วในหลายพื้นที่หลายประเทศ 

ในความจริงการประชุมเรื่องป่าไม้โลก ก็มีข้อตกลงที่เรียกว่า PARADIGM SHIFT เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากการที่รัฐผูกขาดการจัดการบริหารป่าไม้และทรัพยากร เป็นการจัดการแบบมีส่วนร่วม หรือเป็นพหุภาคี ซึ่งเขียนในรายงานระดับโลก ถึงเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจะได้มีส่วนร่วมบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ