ฝุ่นอุตสาหกรรม เผาขนาดนี้…ควบคุมกันได้ขนาดไหน ?

ในขณะที่ประเทศไทยเดินหน้าสู่การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม แต่ภัยเงียบจาก ฝุ่นโรงงาน กลับกลายเป็นต้นตอสำคัญของมลพิษทางอากาศ ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรม คือ แหล่งกำเนิดฝุ่นถึง 15% ของประเทศไทย ยังไม่รวมถึงภาคส่วนการผลิตพลังงาน 22% ภาคโรงงานกำจัดของเสีย 10% และภาคขนส่ง 5% ที่อาจจะนับรวมเป็นภาคส่วนของการผลิตหรือภาคโรงงานอุตสาหกรรม

มลพิษทางอากาศจากภาคส่วนการผลิต หรือภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพประชาชนทั่วประเทศ โดยหนักที่สุดในชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม หรือเหมืองแร่ นำมาสู่ความจำเป็นในการเร่งแก้ปัญหามลพิษ ผ่านมาตรการและการควบคุมมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม

‘โรงงาน’ เผาขนาดนี้…กระทบคนที่ไหน ?

The Active ลงพื้นที่ ชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกชาวบ้านร้องเรียนการปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้ต้องเจอกับปัญหาฝุ่นอย่างหนัก  

วัชรี โตสุวรรณ ชาวบ้าน ต.บางเบื่อ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีบ้านอยู่ห่างจากโรงงานแป้งมันสัมปะหลัง เพียง 150 เมตร ซึ่งป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจมานานหลายปี ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน เพราะทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้านอาการจะกำเริบ และต้องใช้ยาพ่นเพื่อรักษาเป็นประจำ

“ไม่ได้คัดค้านการมีโรงงาน แต่อยากให้ผู้ประกอบการความรับผิดชอบหน่อย มีระบบควบคุม ป้องกันการปล่อยมลพิษ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างทุกวันนี้”

วัชรี โตสุวรรณ

ยังมีชาวบ้านในพื้นที่อีกหลายคน ที่ได้รับผลกระทบ เกิดอาการป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ทำให้ต้องเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาเป็นประจำ สภาพบ้านของผู้คนในพื้นที่ ยังเต็มไปด้วยเขม่าควันสีดำที่ลอยมาจากโรงงานใกล้บ้าน

แม้แพทย์จะแนะนำให้เลี่ยงการอยู่อาศัยในพื้นที่ฝุ่น แต่พวกเขาก็ต้องทนใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยปัจจัยเรื่องเงินทุน ที่ไม่เพียงพอจะขยับขยาย หรือไปซื้อบ้านในพื้นที่ใหม่

เผาขนาดนี้ กระทบสุขภาพขนาดไหน ?

ศ.เกียรติคุณ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ ภูมิแพ้และเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยกับ The Active ว่า ผลกระทบจากสารเคมีและสารอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมมีความรุนแรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยสามารถแบ่งผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษภาคอุตสาหกรรมออกเป็น 4 ประเด็นหลัก

  1. โรคภูมิแพ้

  2. การติดเชื้อง่ายขึ้น

  3. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

  4. โรคกลุ่มมะเร็ง

“พิษภัยจากมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม มีผลกระทบทั้งเฉียบพลัน อย่างการระเบิด ก๊าซรั่ว เสียชีวิตในที่เกิดเหตุได้ อันที่ 2 สองคือ เกิดปล่อยในมลภาวะบริเวณโดยรอบ มันไปได้หลายร้อยกิโลเมตร อย่างนิคมอุตสาหกรรมที่ระยอง สามารถแพร่ไปในท้องถิ่น แล้วแต่ทิศทางลมที่จะแพร่ไป”

“มลพิษมันกดภูมิต้านทาน พอเราหายใจเข้าไป ภูมิก็ลดลง อาจจะเกิดเยื่อจมูกอักเสบ เชื้อโรคลุกลามเข้าไปทำให้ผนังที่เป็นเหมือนรั้วอวัยวะ มันถูกอักเสบ ถูกทำลาย โดยสารพิษเข้าระบบกระแสเลือด ไปตามระบบเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งเซลล์ที่สร้างภูมิ ก็ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น เช่น คนอื่นเขาแค่เป็นหวัด เราที่อยู่ใกล้มลพิษก็อาจจะปอดอักเสบ จนต้องใส่ออกซิเจนได้เลย สรุปคือ เป็นหนักกว่าคนอื่น”

“ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ผลกระทบระยะยาวที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งติดตัวไปตลอดชีวิต แม้จะย้ายออกจากพื้นที่มลพิษแล้วก็ตาม “การสัมผัสมลพิษเป็นปัญหาของสังคมผู้สูงอายุ คนช่วงอายุ 50-60-70 จะเกิดโรคเบาหวาน ความดัน ตับ ไต ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพอง”

“ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าฝุ่น PM ละอองขนาดเล็ก เป็น first class carcinogen ทำให้เกิดมะเร็งในปอด ในมนุษย์ได้แน่นอน ไม่ใช่แค่ในปอด แต่ทำให้เกิดเต้านม ลำไส้ใหญ่ สมองยังได้เลย”

ศ.เกียรติคุณ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์

นพ.ชายชาญ เน้นย้ำ ถึงอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก และยังมีกรณีของผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ หรือโรงงานที่มีการใช้แร่ใยหิน มักพบการเกิดผังผืดในปอด หรือมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในภายหลัง

เผาขนาดนี้ ควบคุมได้…ขนาดไหน ?

แม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสารพิษทางอากาศจากปล่องโรงงาน การตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยง และระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศรอบพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ นพ.ชายชาญ มองว่า ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ 

“รัฐเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น เขาต้องมี Political Commitment (พันธะสัญญาทางการเมือง) ที่จะควบคุมมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ออกกฎหมายควบคุมมลพิษจากปากปล่อง มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ชัดเจน และต่อเนื่อง ตอนนี้ระบบการตรวจสอบก็ไม่โปร่งใส มีการใต้โต๊ะ ประชาชนทำอะไรไม่ได้ ประชาชนคือเหยื่อ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์

ในด้านการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัจจุบันมีช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจวัดมลพิษบางส่วนได้จากระบบ POMS (Pollution Online Monitoring System ที่ประชาชนเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ และสามารถร้องเรียนปัญหามลพิษผ่าน LINE OA แจ้งอุต แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

อีกเรื่องสำคัญคือ การชดเชยความเสียหายระยะยาวให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ

“การเคลมจากพิษภัยจากที่ทำงานในบ้านเรา มันไม่พัฒนาเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว เราไม่ได้ปกป้องสิทธิของคนงานระยะยาว แต่ชดเชยเฉพาะแค่หน้างาน ส่วนใหญ่เวลาเกิดผลกระทบระยะยาว คนงานมักจะไม่เคลมเพราะกฎหมายไม่เอื้อ ทนายจะไปช่วยคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เพราะเขาเข้าถึงไม่ได้”

ศ.เกียรติคุณ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์

เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หลายภาคส่วนจึงมีข้อเสนอให้ผลักดันระบบทะเบียนการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR – Pollutant Release and Transfer Register) ที่จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ เข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษจากโรงงานอย่างโปร่งใส และสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษในทุกภาคส่วน รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานและบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

วิกฤตฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมไทย ไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่คือวิกฤตสุขภาพของประชาชนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

  • รัฐบาล ที่ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่

  • ภาคเอกชน ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

  • ภาคประชาชนที่ต้องตระหนักถึงสิทธิในการหายใจอากาศสะอาด

เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย เป็นไปอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสุขภาพของประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อนวัช มีเพียร

รักโลก แต่รักคนบนโลกมากกว่า