เกษตรพันธสัญญา ตัวการปัญหาฝุ่นภาคเหนือ?

เปิดผลวิเคราะห์ดาวเทียม 20 ปี กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย จาก 7.03 ล้านไร่ เป็น 7.06 ล้านไร่ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่รวมการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน จากนโยบายเกษตรพันธสัญญา กลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้หลายพื้นที่ที่เคยเป็นป่าหรือพื้นที่เกษตรผสมผสาน ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ขณะเดียวกันยังพบว่า 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมดในอนุภาคลุ่มน้ำโขง พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี่เอง และอาจเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน รวมถึงการเกิดขึ้นขอจุดความร้อนในฤดูฝุ่นของภาคเหนือ ที่มีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 100,000 จุดต่อปี

นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้จาก ผลวิเคราะห์ดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอิทธิพลของนโยบายรัฐ ที่ กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำขึ้น เพื่อสืบค้นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า โดยพบว่า “การพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา รวมถึงนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญ

ตอนหนึ่งในรายงาน ‘เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ดาวเทียม 20 ปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอิทธิพลของนโยบายภาครัฐ’ ระบุว่า เมื่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่ปรากฏชัดคือ การทำลายพื้นที่ป่าไม้ และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน แต่สิ่งที่ยังขาดหายไป คือกลไกทางกฎหมายและนโยบาย “ว่าด้วยภาระรับผิดของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม”

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์กำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

กรีนพีซ ประเทศไทย
ภาพจากกลุ่ม เพื่อลมหายใจเชียงใหม่

‘เกษตรพันธสัญญา’ อิทธิพลต่ออุตสาหกรรมการเกษตร

รายงานดังกล่าว ระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เชื่อมโยงตั้งแต่พื้นที่ปลูก ผู้ผลิต (ผู้ปลูก) เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า หรือสารเคมีอื่น พ่อค้าคนกลางหรือบริษัทผู้รับซื้อ โดยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญภายใต้นโยบายการพัฒนาการเกษตรและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการเติบโตของการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในปีการผลิต 2563/2564 มียอดส่งออกรวมการผลิตเพื่อการส่งออกอยู่ที่ 183.41 ล้านตัน มากกว่าในปี 2562/2563 ที่มียอดรวม 175.15 ล้านตัน โดยในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดโลก 272 ล้านบาท

สัดส่วนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ผลผลิตข้าวโพดช่วงปี 2564/2565 จะมีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 7.06 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43 จากพื้นที่ 7.03 ล้านไร่ ในปี 2563/2564

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการระบุว่าการปรับราคารับซื้อในปี 2563 ได้สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น นอกจากนี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ยังทำให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย

‘เกษตรพันธสัญญา (contract farming)’ เป็นหนึ่งในนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตร คือการทำสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับบริษัทหรือหน่วยธุรกิจในการซื้อขายสินค้าเกษตรเพื่อทำเกษตร ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ข้าวโพด มีการทำสัญญาตกลงกับเกษตรกรในการผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลผลิตผลิตผลทางการเกษตร หรือจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต เช่น เป็นผู้กำหนดวิธีการผลิต จัดหาเมล็ดพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ให้กับเกษตรกร

สำนักเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา กล่าวถึงที่มาของเกษตรพันธสัญญาว่าคือการเปลี่ยนระบบการเกษตรดั้งเดิมเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า… กรีนพีซจึงมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง จากระบบเกษตรกรรมในครัวเรือนเพื่อยังชีพ ไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่ออุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังพบว่า ในแต่ละปีภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น พร้อมจัดเตรียมงบประมาณที่เกี่ยวข้องทั้งหมดราว 4,500 ล้านบาทต่อปี เพื่อประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้โครงการต่าง ๆ รวมไปถึงโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยมาตรการเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น

ภาพจากกลุ่ม เพื่อลมหายใจเชียงใหม่

พื้นที่ป่าไม้ภาคเหนือจำนวนมาก ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

รายงานฉบับนี้ ได้นำเอาภาพถ่ายดาวเทียมช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ทุก 5 ปี (พ.ศ. 2545, 2550, 2555, 2560, 2565) มาเป็นข้อมูลในการจำแนกการใช้ที่ดิน สิ่งปกคลุมดินเพื่อวิเคราะห์ผลข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยเน้นข้อมูลพื้นที่ป่าและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา พบว่า…

พื้นที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือตอนบนของไทย มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จังหวัดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในทุก ๆ ปี 2 อันดับแรก คือ น่านและเชียงราย… แต่เมื่อวิเคราะห์ในเนื้อที่รวมการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2545 เมื่อเทียบกับปี 2565 อยู่ที่ 1,926,229 ไร่… และหากพิจารณาในภาพรวม พบว่า ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2565 ไทยสูญเสียพื้นที่ป่า ประมาณ 9 ล้านไร่ มาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเพื่อขยายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์

ภาพจาก รายงาน ‘เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ดาวเทียม 20 ปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอิทธิพลของนโยบายภาครัฐ’

ขณะที่ข้อมูลของ สุรพจน์ มงคลเจริญสกุล (2558) ชี้ว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา การขยายตัวของปรากฏการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในเขตป่าบนพื้นที่สูง โดยเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ประมาณ ปี 2543 และอยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นที่ภาคเหนือตอนบนในช่วงปี 2549 เป็นต้นมา

การขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) ระบุว่า ประเทศไทยริเริ่มกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawaddy-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ร่วมกับประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ดำเนินการในปี พ.ศ. 2546 มีข้อตกลงเรื่องเกษตรพันธสัญญา เปิดโอกาสให้บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ริเริ่มลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นการขยายการลงทุนของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทย

ทั้งยังพบว่า มาตรการหลักของไทยส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ให้สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกตั้งแต่ปี 2543 คือ ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0%

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในรายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563“ ระบุว่า ในช่วงปีดังกล่าว พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศลาว

พบพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแภบภาคเหนือของ สปป.ลาว และรัฐฉาน (เมียนมา) มีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM2.5

ภาพจาก รายงาน ‘เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ดาวเทียม 20 ปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอิทธิพลของนโยบายภาครัฐ’

ภาระรับผิดชอบที่ขาดหายไปของภาคธุรกิจ

กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุในรายงานฉบับดังกล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 แต่ยังมีรูปแบบระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีสัญญาคู่ฉบับ เป็นช่องโหว่และความไม่เป็นธรรม ไม่สามารถเอาผิดต่อบริษัทให้รับผิดชอบต่อสุขภาพของเกษตรกรหากเจ็บป่วยจากสารเคมี และความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมได้ ขณะที่วิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน เกิดขึ้นเรื้อรังยาวนาน

ระบบเกษตรพันธสัญญา สามารถนำมาใช้เพื่อขยายความรับผิดชอบของบริษัท และผู้ประกอบการเมื่อเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่เกิดขึ้นจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรพร้อมระบุแปลงปลูกอย่างเป็นทางการ ด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ

รวมถึงการเพิ่มข้อกำหนดในมาตรฐานสัญญา รับประกันว่าความเสี่ยงของเกษตรกรจะถูกกระจายอย่างเป็นธรรม รวมถึงกำหนดมาตรการเอาผิดผู้ประกอบการตามกฎหมายต่อมลพิษที่ก่อขึ้น ในกรณีที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายดังนี้

  1. ทบทวนความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควัน และมีมาตรการที่ชัดเจนและรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวปฏิบัติที่มีความเป็นธรรมทางสังคมในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน
  2. ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิวิถีชีวิตชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ เพื่อรับรองสิทธิกลุ่มชนพื้นเมืองในการดำรงชีวิตและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อย่างยั่งยืน
  3. เพิ่มข้อกำหนดในมาตรฐานสัญญา และการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา โดยเน้นขยายความรับผิดชอบของบริษัทและผู้ประกอบการเมื่อเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่เกิดขึ้นจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว
  4. การเพิ่มและปรับปรุงนโยบายความโปร่งใสและมาตรการทางกฎหมายที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงผืนป่า และก่อหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต และหันมาสนับสนุนนโยบายและเปลี่ยนแแปลงระบบอาหารด้วยวิธีการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในภูมิภาค
  5. ผลักดันนโยบายลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำ และก่อให้เกิดฝุ่นควัน หันมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน

“ระบบอาหารที่ยั่งยืนเป็นธรรม และเน้นการผลิตและบริโภคพืชผัก
คือทางออกภายใต้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ”


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้