อยากให้ ‘โขง’ บ่มีเขื่อน

“ลุ่มน้ำโขงในอดีตที่ผ่านมาเป็นการจัดการน้ำโดยธรรมชาติ ซึ่งมีความสมดุลในตัวของมัน แต่การจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงปัจจุบัน ถูกจัดการด้วยมือมนุษย์ หากจะถามว่าเริ่มมากี่ปีแล้วกับการจัดการแม่น้ำโขงด้วยมือมนุษย์ คงต้องบอกว่าประมาณ 20 กว่าปี ตั้งแต่มีเขื่อนตัวแรก”

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

ภาพจาก ภาพยนตร์เรื่องดอกไม้จันทร์

‘เขื่อน’ กำลังค่อย ๆ ทำลายล้างสรรพชีวิต

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน แลกเปลี่ยนความคิดในวงเสวนา “วันหยุดเขื่อนโลก: เหลียวหลังแลหน้าการจัดการน้ำของไทย” ว่า การขึ้นลงของแม่น้ำโขงคือสัญญาณแรกที่มองเห็นหลังจากมีเขื่อน เป็นสัญญาณที่เห็นชัดหลังมีเขื่อนที่ 2 เมื่อปี 2546 เป็นผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์ที่ส่งผลโดยตรงกับแม่น้ำโขง

การจัดการแม่น้ำโขงตอนบนมีปัญหาใหญ่คือเรื่องของกระบวนทัศน์วิธีคิดในการจัดการน้ำโดยเขื่อน จีนที่สร้างเขื่อนเขาจะให้เหตุผลในการสร้างว่าเป็นการให้ผลประโยชน์กับคนท้ายน้ำมาตลอด บอกว่าเขื่อนจะกักน้ำไว้ในฤดูน้ำหลากและจะปล่อยน้ำในฤดูแล้ง คนที่ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำก็จะมองว่าเหตุผลนี้ดี  แต่จริงๆ แล้วคนลุ่มแม่น้ำโขงมองว่าเหตุผลนี้มันผิดเพราะการกักน้ำในฤดูน้ำหลากเป็นเรื่องใหญ่ของแม่น้ำ เหมือนเป็นการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศของแม่น้ำทั้งสาย

ตามธรรมชาติช่วงฤดูน้ำหลากปลาจะได้กระจายไปวางไข่และขยายพันธุ์ตามแม่น้ำสายแขนง ส่วนช่วงที่น้ำโขงแล้งนกก็จะได้มาวางไข่บนเกาะแก่ง ธรรมชาติเป็นเช่นนี้มาตลอด ชาวบ้านและนิเวศก็เข้าใจและใช้ชีวิตอยู่กันมาได้หลายชั่วอายุคน

แต่เมื่อมีข้อเสนอให้สร้างเขื่อนเพื่อคนท้ายน้ำ แน่นอนว่าเหตุผลนี้ต้องโน้มนาวให้คนเห็นด้วย แต่ถ้ามีเขื่อนแล้วทำให้ระบบนิเวศผันผวน มันควรจะเดินหน้าต่อหรือยุติการก่อสร้าง…

‘เรื่องเล่า’ และ ‘ความทรงจำ’ ของคนโขง

ในความทรงจำสำหรับชาวบ้านริมแม่น้ำโขงอย่าง สมจิตร พิมโพพัน เขามองว่า “เขื่อน” กำลังกระทบกับความมั่นคงทางอาหาร ของชาวบ้านอย่างรุนแรง หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหาพันธุ์ปลามาปล่อยเพิ่ม สถานการณ์ก็มีแต่จะยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ

“สมัยพ่อยังหนุ่มยังน้อย ปลาหนิส่ำสิกินค้างหม้อไว้ก่อนบ่ต้องไปใช้แห ใช้อวนอิหยังยากส่ำสิกิน เฮาไปงมเอาสื่อ ๆ กะดั้ย แต่ทุกวันนี้ หาวันนี้ได้กิน พรุ่งนี้ หายากกว่าเก่าหลาย ถ้าบ่เลี้ยงไว้นำไฮนำนาหวยหนองคลองบึง นำสระ กะยากที่จะได้กินปลา อาหาร พืชพันธุ์ ธัญญาหารกะลดลงไปเบิด”

แปลความได้ว่า “เมื่อก่อนตอนที่ผมยังเป็นหนุ่ม ๆ ถ้าจะกินปลาตั้งหม้อเดือด ๆ ไว้รอได้เลย ไม่ต้องใช้แห หรือใช้อวนในการจับ แค่เราใช้มือในการงมจับก็ได้ แต่ทุกวันนี้คือหาวันนี้ได้กินพรุ่งนี้ มันหาปลาได้ยากกว่าเดิมมาก ถ้าเราไม่เลี้ยงไว้เองตามหนองน้ำ ห้วย หรือบึง ก็ยากที่จะได้กินปลา อาหาร พืชพันธุ์ ธัญญาหาร ก็ลดหายตายจากไปหมด”

โขง เขื่อน

การหาปลาต้องวัดดวงเหมือนการซื้อหวย

บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ สมจิตร เปรียบเทียบให้เห็นภาพโดยยกตัวอย่างว่า หากใช้เวลาหาปลาทั้งหมด 10 วัน จะได้ได้ปลาเพียงแค่ 2 วัน หรือคน 10 คน จะได้ปลาไม่เกิน 2 คน  นอกจากนั้นก็จะได้คนละนิด ไม่คุ้มค่าน้ำมันที่จะใช้ในการออกหาปลาแต่ละครั้ง

“ได้บ่ได้ เฮากะต้องไปเพื่อมันโชคดี เฮากะต้องไปหากิน เป็นวิถีชีวิต แต่ที่สูญเสียอันยิ่งใหญ่คือจิตใจของคนลำน้ำโขงที่เสียความรู้สึก ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ลูกหลานอนาคตข้างหน้าต้องแย่แน่นอน มันต้องแลกด้วยชีวิตคนแม่น้ำโขง พืชพันธุ์ ธัญญาหาร ที่มันเกิดขึ้นเอง ด้วยดินที่มีความอุดมสมบรูณ์ อีกทั้งผักเหล่านี้ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี ปลาอยู่ไม่ได้ต่อไป น้ำขึ้น ๆ ลง ๆ เขียวใสผิดปกติ ปลาอยู่บ่ได้ต่อไป แพลงตอนของน้ำมันบ่มี ปลาอยู่ไม่ได้  ปลาก็จะสูญพันธุ์ การหาปลาก็หากินได้ยากเพราะว่าน้ำมันใส ตะกอนบ่มี ปลาก็เริ่มบ่มี เป็นผลกระทบอย่างยิ่งเลย”

สมจิตร พิมโพพัน ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง

ส่วนแม่น้ำโขงจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างเคยไหม สมจิตร มองว่าคงไม่กลับมาเหมือนเดิม 100% แต่ก็ยังดีที่ได้กลับมาฟื้นฟู ซ่อมแซม แก้ไข ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยซึ่งจะทำให้แม่น้ำโขงหมดสภาพไปเรื่อย ๆ

โขง เขื่อน

น้ำโขงหาย แล้วอะไรหายไปอีกบ้าง?

เขื่อนกั้นโขง เขื่อนสานะคาม เรียกได้ว่าเป็นเขื่อนที่จ่อคอหอยประเทศไทยไม่น้อย ยิ่งหลังจากคดีเขื่อนปากแบง ที่มีมติออกมาว่ามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีที่ กลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากแบง ในพื้นที่ประเทศลาว เหมือนเป็นการชี้โพรงให้กะรอก ซึ่งสร้างความกังวล ให้กับชาวบ้าน

เฉวียน กงสิมมา นายก อบต.นครหงษ์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ในเวลานั้น (11 มี.ค. 2564) เล่าว่าเขื่อนสานะคามห่างจากประเทศไทย คือ อำเภอเชียงคาน แค่ 2 กิโลเมตร และตอนนี้การคุยการเจรจาอะไรเขาไม่สนใจ เพราะว่ามันอยู่ในอธิปไตยของเขา ทั้ง 2 ฝั่ง เขาต้องการที่จะสร้าง เขาต้องการที่จะพัฒนาประเทศเขา เขาต้องการที่จะขายไฟฟ้า การท่องเที่ยวของอำเภอเชียงคาน หมดไปอย่างแน่นอน เพราะถ้าเขาสร้างเสร็จ การท่องเที่ยว ต้องขึ้นไปอยู่เหนือเขื่อน

“สิ่งที่กังวลตอนนี้คือเขาผลิตไฟฟ้าด้วยและถ้าเอาน้ำปั่นไฟฟ้า ปล่อยน้ำออกมาแล้วสูบน้ำกลับคืนไปอีก ไม่ปล่อยให้น้ำเรามาใช้ โดยเฉพาะประเทศไทยเราที่ทำวิจัยเกี่ยวกับโขงชีมูลต้องการที่จะนำน้ำผ่านเข้าประตูสีสองรัก  แม่น้ำเลยแล้วทำอุโมงค์ผ่านบ้านธาตุเข้าไปโผล่ที่อำเภอนากลาง ไปอำเภอศรีบุญเรือง ไปอำเภอโนนสังข์ และไปเติมที่เขื่อนอุบลรัตน์”

ตอนนี้เพียงแค่เขื่อนไชยะบุรี และเขื่อนจีนที่อยู่ข้างบน ยังส่งผลกระทบมหาศาลขนาดนี้ หากมีเขื่อนนี้อีกสิ่งที่เขากังวล มันจะหนักไปยิ่งกว่านั้นอีก ทั้งนี้ยังกล่าวอีกว่าอยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนเรื่องการซื้อกระแสไฟฟ้า ก่อนที่จะซื้อ ได้ศึกษารอบด้านเรื่องผลกระทบวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด

“ดินตะกอน หรือทราย มันหายไป ธรรมชาติ น้ำ ทราย มันก็หายไป แต่พอมีเขื่อนปุ๊บ ทรายใหม่ไม่มาเติม มันมี แต่ทรายเก่าแล้วมันหายไปเรื่อยๆ  ความหลากหลาย วิถีชีวิตลุ่มน้ำโขงมันก็จะหายไป  นี่เป็นผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนที่มีอยู่ หากยังจะมีการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นมาอีก วิกฤต ชีวิตของคนริมโขง ถ้าเกิดมันเดินข้ามได้ ผมมองและกังวลถึงขั้นนั้นเลย”

โขง เขื่อน

“คนมีอำนาจตัวเท่าช้าง รังแกคนริมโขงตัวเท่ามด”

ข้อมูลจากเครือข่ายสภาองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เผยว่าสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนริมแม่น้ำโขงเกิดขึ้นหลังจากที่จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ

โขงเสร็จแล้ว 10 เขื่อน 6 เขื่อนแรกเปิดใช้งานแล้ว สามารถเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันถึง 40,787 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือประมาณ 2.3 เท่าของเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีความจุมากที่สุดในไทย) และภายหลังจากการเปิดใช้งานตั่งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พบว่า ระดับน้ำโขงมีความผันผวนรุนแรงมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ลาวยังมีแผนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงรวมประมาณ 10 เขื่อน โดยสร้างเสร็จแล้ว 2 เขื่อน คือ เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง โดยเขื่อนไซยะบุรีได้เริ่มเปิดดำเนินการไปเมื่อ 29 ตุลาคม 2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างเขื่อนอื่นเพิ่มเติม คือ เขื่อนปากลาย เขื่อนปากแบง และเขื่อนหลวงพระบาง

ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2561 การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้งหมดในประเทศจีน ถูกควบคุมการระบายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนตัวสุดท้ายคือเขื่อนจิ่งหง ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำโขงที่ผิดธรรมชาติ คุณภาพของน้ำ และระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง รวมไปถึงวิถีชีวิต และระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นของชุมชนริมน้ำโขง

เช่น ปี 2551 เกิดน้ำท่วมฉับพลัน แต่ในพื้นที่มีฝนตกไม่มาก ปี 2553 ภาวะแล้งที่สุดในรอบ 60 ปี หลังจากที่เขื่อนจิ่งหงสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำ ปี 2556 เกิดน้ำท่วมในฤดูหนาว เนื่องจากเกิดพายุ มรสุม และฝนตกในจีนอย่างหนัก

สถานการณ์ของแม่น้ำโขงดังกล่าวที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์น้ำ ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชนแม่น้ำโขงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง (คสข.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประมงน้ำจืด ในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 มีการยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง

ข้อสรุปออกมาว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบมองว่านี่เป็นสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและหลายประเทศ เพื่อหาทางออก กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจาเรื่องนี้ โดยการใช้กลไกในการปรึกษาหารือทั้งระบบทวิภาคี และพหุภาคีกับประเทศลาว และประเทศจีนด้วย

อีกทั้งมีการเสนอให้มีการสั่งการให้มีกลไกกลางในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงร่วมกัน และมีประชาชนริมน้ำโขงร่วมในกระบวนการแก้ปัญหานี้ด้วย เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายประเทศและมีความอ่อนไหว

โขง เขื่อน

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวไว้ ในวงเสวนา “วันหยุดเขื่อนโลก: เหลียวหลังแลหน้าการจัดการน้ำของไทย” เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2565 ที่ผ่านมาว่า หลายโครงการของบางหน่วยงานเน้นการได้ทำไม่เน้นผลสัมฤทธิ์จากการทำ และที่ผ่านมาหลายโครงการของบางหน่วยงานเป็นการแก้ไขปัญหาเก่าด้วยการสร้างปัญหาใหม่ สิ่งที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต ในสภาวะที่ประเทศไม่มีเงิน ยังคงมีรัฐและ สส.บางคนที่ยังอยากผลักดันโครงการที่ใช้งบประมาณเยอะอย่างโครงการผันน้ำยวมที่ใช้งบประมาณกว่า 70,000 ล้านบาท 

อีกทั้งรัฐยังขุดโครงการโบราณเมื่อ 30 ปีที่แล้วให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ภายใต้สถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงของแม่น้ำโขง ซึ่งนั่นหมายถึงโครงการ โขงเลยชีมูล ที่ใช้งบประมาณการก่อสร้า 2 ล้านล้านบาท

ผลกระทบที่ผ่านมากับลำน้ำสายนี้ ประเมินค่าเป็นเป็นตัวเลขของเงินไม่ได้เลย รู้เพียงแค่ว่า นี่กำลังเป็นวิกฤติของสิ่งมีชีวิต มันคือการหายไปของสรรพชีวิตที่ค่อยๆสูญพันธ์ไปอย่างไม่กลับคืน แล้วตอนนี้เขื่อนยังจำเป็นต้อง มี หรือไม่ ?

โขง เขื่อน
โขง เขื่อน
โขงบริเวณบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลฯซึ่งตอนนี้ชาวบ้านรายงานว่ามีการสำรวจหินเพื่อทำโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม
โขง เขื่อน
โขง เขื่อน
โขง เขื่อน
โขง เขื่อน
โขง เขื่อน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ