คุณมีภาพจำ คนอีสาน แบบไหน ? อาหาร วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ หรือ สำเนียงภาษา ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแน่นอนว่าทุกสิ่งที่พูดมาสะท้อนตัวตน และความหลากหลายที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ราบสูง ที่คนในสังคมแค่หลับตาก็นึกภาพออก
หากมองจากความหมายของคำแล้ว อีสาน มีรากมาจากภาษาสันสกฤตว่า อีศาน หมายถึง นามพระศิวะ เทพประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วน อีสาน ไทยยืมรูปคำบาลีมาใช้ หมายถึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นั่นหมายความว่า อีสานบ่งบอกถึงทิศทาง ไม่ใช่ชื่อชนชาติ หรือเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม มีที่มาจากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่มีศูนย์กลางตั้งต้นอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
คำว่า อีสาน กำลังทำงานกับภาพจำเดียวของวัฒนธรรมว่าผู้คนในพื้นที่นี้ต้อง พูดลาวได้ ต้องกินส้มตำ ต้องกินปลาร้า สิ่งเหล่านี้อาจกำลังบดบังความหลากหลายของวัฒนธรรมในพื้นที่แห่งนี้อยู่ก็เป็นได้
จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูมิภาคอีสานเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศในกลุ่มประชาคมลุ่มน้ำโขง ประชากรในภูมิภาคนี้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ การกวาดต้อนไพร่พล หรือจากการหนีภัยสงครามเมื่อครั้งอดีต
อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศของภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ราบสูง พื้นที่ชายแดน หรือแนวภูเขา ทำให้เกิดการเดินทางติดต่อและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ ทั้งจากฝั่งลาว กัมพูชา เวียดนาม และแม้แต่จากภาคกลางของไทยเอง
ความหลากหลายที่ว่าส่งผลให้พื้นที่ภาคอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์ ถึง 13 กลุ่ม แบ่งตามตระกูลภาษา 2 กลุ่ม คือ ออสโตรเอเชียติค(Astroasiatic) และ ไต-กะได(Tai-Kadai)
กลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค (มอญ-เขมร)
- เขมรถิ่นไทย – พบมากในสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เด่นในพิธี แซนโดนตา ความเชื่อเรื่องผี และดนตรี กันตรึม
- กูย – เชี่ยวชาญเรื่องช้าง มีพิธีกรรม เซ่นผีปะกำ ก่อนล่าช้าง
- โซ่/กะโส้ – เด่นเรื่องพิธี โส้ทั่งบั้ง และ ซางกะมูด เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษ
- บรู – เคลื่อนย้ายมาจากลาว สืบสานพิธี เลี้ยงผีดง-ผีบ้าน
- ญัฮกูร (ชาวบน) – เงียบขรึม สันโดษ แต่มากด้วยเอกลักษณ์ อย่างการขับเพลง ป๊ะ เร่ เร่ และเครื่องประดับใบลานอุดรูหู
กลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได (สาขาไต)
- ไทโคราช – ผสมผสานวัฒนธรรมไทย-เขมร-ลาว มีเอกลักษณ์ทางภาษาพูดและ เพลงโคราช
- ไทลาว – ชาวอีสานดั้งเดิม ผู้นำวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง อย่างหมอลำ เซิ้ง แคน
- ไทโย้ย – ผูกพันแน่นแฟ้นกับ “ฮีตสิบสอง” และวัฒนธรรมผีบ้าน
- ไทย้อ – นิยมงานฝีมือและพิธีกรรม เช่น งานปราสาทผึ้ง และ เซิ้งผีโขน
- กะเลิง – เชื่อเรื่องผี มีพิธีกรรมเฉพาะถิ่นฐาน
- ไทพวน – โดดเด่นด้านศิลปะการลำพวนและประเพณี กำฟ้า ที่สะท้อนความกลมกลืนของพุทธและผี
- ผู้ไท – ยึดถือพุทธผสมผี ฟ้อนผู้ไทโด่งดัง วัฒนธรรมการแต่งกายยังคงเด่นชัด
- ไทแสก – ผู้อพยพจากลาว มีพิธี แสกต้นสาก และรักษาฮีตสิบสองเช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไป
โดยสรุปคือ อีสานมีชาติพันธุ์ แต่จากการอยู่ร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยาวนานของกลุ่มคนหลากหลาย ได้สร้างพลังทางวัฒนธรรมขึ้นจากรากของตนเอง แล้วเชื่อมโยงเข้าหากัน จนกลายเป็นอัตลักษณ์ร่วมของทั้งภูมิภาค
ทั้งนี้กลุ่มวัฒนธรรมหลักในพื้นที่ภาคอีสานของไทยคือกลุ่มไท-ลาว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนมักมีภาพจำภาพว่าต้องพูดลาวได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพบว่า ไม่ใช่แบบนั้น หรือกระทั่งแม้พูดคำศัพท์เดียวกัน แต่สำเนียงการพูดก็แตกต่างกันออกไปตามพื้นที่

พิธีกรรมแกลมอชาติพันธุ์กูย (ภาพ : ขุน ศรี)
นอกจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องการใช้ภาษาแล้ว ยังเจอว่า มีอคติบางอย่างจากรัฐไทยในอดีตที่มาบิดเบือนชื่อเรียกของบางกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคอีสาน นั่นคือ กลุ่มชาติพันธุ์ “กูย” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ส่วย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนเกือบครึ่งของฝั่งอีสานใต้ ที่มีภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรม และพิธีกรรมเป็นของตัวเอง อย่าง เช่นพิธีคล้องช้าง การทำแกลมอ
‘ส่วย’ รากคำจากชาติพันธุ์กูย กับความเข้าใจที่ถูกบิดเบือน
จากบันทึกของกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. 1974 จิตร ภูมิศักดิ์ เคยชี้ให้เห็นว่า “กวยในครั้งนั้นมีฐานะทางสังคมเป็นชาวต่างประเทศอิสระ มิได้เป็นพวกข้าไพร่ในราชอาณาจักร หากมีประเทศบ้านเมืองของตนต่างหาก” จากข้อความนี้ แสดงให้เห็นว่าชาวกูยไม่ได้อยู่ใต้ปกครองของรัฐไทยในช่วงต้น แต่มีระบบการปกครองของตนเอง
แต่ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภูมิภาค และการขยายอำนาจของรัฐไทย โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2325 ชาวกูย ถูกกวาดต้อนจากพื้นที่ลาวเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย
กูย ก็เริ่มถูกเรียกว่า “ส่วย” เพราะพวกเขาต้องส่งบรรณาการหรือแรงงานให้แก่รัฐ อีกนัยหนึ่ง ส่วย สื่อถึงการเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นค่าตอบแทนที่แลกมากับการเพิกเฉยต่อกฎหมาย
คำว่า ส่วย ได้สะท้อนภาพของระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับชาติพันธุ์กูย ส่วย จึงไม่ใช่ชื่อที่เขาเรียกกันเอง แต่เป็นคำที่รัฐส่วนกลางของไทยในสมัยนั้น ใช้เรียกแทนคนจากชาติพันธุ์กูย ซึ่งคำว่าส่วยก็ถูกใช้เรียก กูย มาตั้งแต่นั้น และฝังรากลึกจนถึงปัจจุบัน
The Active มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่ อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ และ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาติพันธุ์กูย อาศัยอยู่หนาแน่น เพื่อพบและพูดคุยกับคนในพื้นที่ถึงความเป็นกูย ผ่านภาษา เครื่องแต่งกาย และพิธีกรรม คนทั่วไปอาจรู้จักชาวกูยในนาม กลุ่มคนเลี้ยงช้าง เป็นเจ้าของวัฒนธรรมการคล้องช้างซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสุรินทร์

การจับช้างป่า หรือ โพนช้าง มาฝึกเป็นช้างบ้าน คือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์นี้มาแต่อดีต และปัจจุบันได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด นอกจากประเพณี ชาวกูยก็มีภาษาเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ แม้ว่าลาวจะเป็นภาษาของคนส่วนมากในภาคอีสาน แต่ไม่ใช่ภาษาที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนพูดกัน
ทินกร โสภาพันธ์ เยาวชนชาติพันธุ์กูย จ.สุรินทร์ ยืนยันข้อมูลนี้ เพราะปกติแล้วในชุมชนจะพูดกัน 2 ภาษาคือ กูย กับ ไทยกลาง และการไม่พูดลาว ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแตกต่าง
“ลาวพูดได้ ฟังได้ แต่จะไม่เน้นภาษานั้น เราก็ใช้ภาษาถิ่นคือกูย ซึ่งการใช้ภาษากูย ก็แล้วแต่บางพื้นที่ บางอำเภอก็พูดลาวล้วนก็มี”
ทินกร โสภาพันธ์

ไม่ต่างกับ ปรัชญาภัทร แหวนเงิน ชาติพันธุ์กูย จ.สุรินทร์ อีกคนที่ให้ความเห็นเรื่องความเข้าใจความเป็นอีสานเป็นแบบเดียว เมื่อครั้งที่ไปกรุงเทพฯ เขา เคยเจอคำถามว่า “เป็นคนอีสานทำไมพูดลาวไม่ได้ ?”
“เราพยายามที่จะปรับให้พูดลาวได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนความรู้สึกจะเหมือนการฟังอังกฤษสำเนียงไทย มันรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง”
ปรัชญาภัทร แหวนเงิน

รถชัย กองปัด ชาวกูย จ.ศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า โดยปกติจะใช้ภาษากูยในชีวิตประจำวัน แต่หากคู่สนทนาเป็นลาว เขาก็จะพูดลาวกลับ ซึ่งการแยกระหว่างลาวกับกูยที่ชัดเจน คือเรื่องของสำเนียง ภาษา ในการพูด
เขายังเสริมว่า ถ้าในชุมชนกูย จะเรียกแทนกันเองว่า กูย หรือ กวย แต่คนภายนอกจะเรียกพวกเขาว่า ส่วย เป็นอันรู้กันในพื้นที่ ซึ่งส่วนตัวของเขาให้ความเห็นว่าไม่ได้รู้สึกน้อยใจกับการถูกเรียกแบบนี้ เพราะเขาเรียกแบบนี้มาจนกลายเป็นภาพจำและเรื่องปกติแล้ว

ในฐานะของ อุปนายกสมาคมชาติพันธุ์กูย และกรรมการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศุรวิษฐ์ ศิริพาณิชย์ศกุนต์ ได้เล่าถึงสถานการณ์ของ กูย ในพื้นที่โดยเปิดประเด็นด้วยความกังวลการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กูย ที่กำลังขาดช่วง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ที่เป็นผลมาจากกระแสสังคมบริโภค ค่านิยมกระแสหลัก และระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิม
ภาษากูยเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปัจจุบัน เด็ก เยาวชนในระบบการศึกษามุ่งเรียนภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ขณะที่ภาษาท้องถิ่นอย่างภาษากูยกลับถูกละเลย
“ภาษาเราเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันด้วยปากต่อปาก ไม่เคยถูกจัดทำเป็นหลักสูตรจริงจัง เมื่อกระแสสังคมเปลี่ยน คนก็พูดภาษานี้น้อยลง รวมถึงผลพวงจากประวัติศาสตร์ที่กดทับและการไม่มีรัฐของตนเอง ยิ่งทำให้ชาวกูยจำนวนมากไม่กล้าแสดงตัว เราเห็นเขมรมีประเทศ ลาวมีประเทศ แต่กูยไม่มี นี่เป็นจุดที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกไม่ภาคภูมิใจในความเป็นกูย”
ศุรวิษฐ์ ศิริพาณิชย์ศกุนต์

ท่ามกลางความเสี่ยงที่ภาษากูยจะสูญหายภายใน 10 ปี กลุ่มคนที่ยังมีองค์ความรู้ได้รวมตัวกันจัดตั้งชมรม สมาคม และพัฒนาเป็น “สถาบันกูย” เพื่อฟื้นฟูภาษากูยและวัฒนธรรมดั้งเดิม เป้าหมายคือการพัฒนาเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ ภาษา และพิธีกรรมให้เป็นหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับลูกหลาน
ศุรวิษฐ์ ยังยกตัวอย่างว่า บางหมู่บ้านเลิกพูดภาษากูยไปแล้ว แต่ชื่อหมู่บ้านยังเป็นภาษากูยอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเลือนหายของภาษาอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ภาพจำว่า “อีสานคือคนลาว” ก็ยิ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น กูย หันไปพูดภาษาลาวแทน
พื้นที่ชุมชนบ้านตะเคียน ต.สำโรงทาบ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ จึงมีความพยายามนำภาษากูยเข้าสู่โรงเรียน แต่ยังเป็นการดำเนินงานเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่นโยบายจากภาครัฐ ทำให้ขาดความต่อเนื่องและความชัดเจนในการสอน
นั่นจึงทำให้เขาต้องพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ด้วยระบบการเมืองโดยการเป็นส่วนหนึ่งของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ โดยความหวังว่า มาตรา 9 ซึ่งกล่าวถึงการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ หากผ่านความเห็นชอบโรงเรียนจะสามารถนำหลักสูตรภาษาชาติพันธุ์เข้าระบบได้อย่างเป็นทางการ

“ถ้าเราสอนกันเอง มันมักเป็นแค่ตัวต่อตัว ไม่มีมาตรฐาน แต่ถ้าหลักสูตรนี้เข้าสู่ระบบ จะมีการประเมินผล มีความชัดเจน เด็กจะได้เข้าใจและภาคภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง”
ศุรวิษฐ์ ศิริพาณิชย์ศกุนต์
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ถูกตีกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งยังต้องลุ้นว่าจะมีการตัดทอนสาระสำคัญออกอีกหรือไม่
ศุรวิษฐ์ ยังเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ชาติพันธุ์ สามารถส่งต่อภาษาวัฒนธรรมได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นกูย หรือว่าชาติพันธุ์ไหน เจอสถานการณ์เดียวกันและวิกฤตเดียวกัน หากเรายังไม่มีเครื่องมือ เช่นกฎหมาย ในการส่งเสริมตรงนี้ มันก็จะทำให้ภาษาที่มีมันหายไป ซึ่งเมื่อมันหายไปแล้ว เราจะมารื้อฟื้นมันยากมาก”
ศุรวิษฐ์ ทิ้งท้าย
อ้างอิง :