การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 5 ก.พ.นี้ ถูกหลายฝ่ายจับตาอีกครั้ง เมื่อมีวาระพิจารณาสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ (ร่างกฎหมายชาติพันธุ์) ที่ถูกเลื่อนการพิจารณาจากเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน หลังวิปรัฐบาล และ สส. พรรคเพื่อไทยหลายคน ตบเท้าอภิปรายแสดงข้อกังวลต่อร่างฎหมายดังกล่าว ทั้ง เรื่องถ้อยคำในกฎหมาย ที่เกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ, ข้อห่วงกังวลว่าถ้าผ่านกฎหมายฉบับนี้ อาจจะไปลบล้าง หรือกระทบกับกฎหมายฉบับอื่น และอาจบังคับใช้ไม่ได้จริง
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชน และนักวิเคราะห์ทางการเมือง ต่างมองว่า เหตุผลต่าง ๆ ที่ทำให้ที่ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ถูกดึงเอาไว้ ดูเหมือนไม่ตรงกับความจริง และเป็นความพยายามของนักการเมืองพรรคแกนนำรัฐบาล ที่กำลังเสียงแตกกันเองในพรรคเพื่อไทย
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า สส.บางคน เล่นเกมการเมือง ถูกล๊อบบี้ กลัวร่างกฎหมายนี้จะกระทบอำนาจรัฐในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และกระทบกลุ่มทุนที่อาจเสียผลประโยชน์จากการใช้พื้นที่ในเขตป่าที่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ นี่จึงทำให้เกมการเมืองในกฎหมายชาติพันธุ์ถูกจับตา
อีกสิ่งที่เครือข่ายชาติพันธุ์ และสังคมกำลังจับตา คือ ทุกฝ่ายต้องไม่มองข้าม และให้ความสำคัญ พร้อมทำความเข้าใจหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะเรื่อง พื้นที่คุ้มครองวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะพิจารณากันต่อใน มาตรา 27 ในสภาฯ วันที่ 5 ก.พ.นี้
ก่อนไปถึงวันนั้น The Active ชวนทำความเข้าใจกฎหมายชาติพันธุ์ให้มากขึ้น ผ่านคำอธิบายของ สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ และผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในฐานะหนึ่งในผู้ยกร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ฉบับเสนอเข้าชื่อโดยประชาชน และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ทั้งยังเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการร่างกฎหมายฯ นี้ เพื่อตอกย้ำถึงหลักการสำคัญ ที่ต้องไปให้ถึงเป้าหมายการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากร และการพัฒนาประเทศที่มากขึ้น
เปิดใจ เข้าใจ ที่มาที่ไป ร่างกฎหมายชาติพันธุ์
สุมิตรชัย ย้อนไปถึงเหตุผลของวิปรัฐบาล และข้อกังวลต่าง ๆ ที่ สส.เพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปราย หลัก ๆ คือ ห่วงว่า ร่างกฎหมายฯ นี้ จะไป OVERRULE หรือ ลบล้างกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติ, กฎหมายป่าสงวนฯ เป็นต้น
อ่านเพิ่ม : อำนาจรัฐ – ทุนเหมือง – เกมการเมือง…เตะตัดขา ‘กม.ชาติพันธุ์’ ?
ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจบนหลักการสำคัญ เรื่องหลักการกฎหมายก่อน ว่า กฎหมายสามารถ OVERRULE กันได้ไหม คำตอบคือได้ ไม่ได้มีข้อห้ามอะไร และที่ผ่านมาก็เห็นว่า กฎหมาย OVERRULE กันเยอะแยะ ยกตัวอย่าง กฎหมายที่ดิน หรือ สปก. ก็ OVERRULE กฎหมายอื่น เช่น ถ้าประกาศเขตปฏิรูปที่ดินสักพื้นที่ ก็สามารถถอนสภาพที่ดินของรัฐประเภทอื่นได้เลย มีผลในการถอนสภาพที่สาธารณะ มีผลในการถอนสภาพที่ราชพัสดุ หรือแม้กระทั่งกฎหมายป่าชุมชน ปี 2562 ที่ประกาศเป็นเขตป่าชุมชนแล้วก็ OVERRULE กฎหมายป่าสงวน ดังนั้นสรุป คือทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร กฤษฏีกาก็ยืนยันมาตลอด
“ถ้าเป้าหมายเจตนารมณ์ร่างกฎหมายนี้ มันมีกฎหมายอื่นกระทบอยู่ ก็จำเป็นต้อง OVERRULE บางส่วนของกฎหมายนั้น เพื่อให้กฎหมายนี้บรรลุเป้าหมาย ยกตัวอย่าง การประกาศเขตอุทยาน ไปประกาศทับชุมชนดั้งเดิมอยู่มาก่อน ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมจัดการดูแลรักษาทรัพยากรได้ ก็ต้องร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขให้สู่เป้าหมายในส่วนร่วมการจัดการดูแลทรัพยากร คุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย และสำคัญของประเทศ”
สุมิตรชัย หัตถสาร
โดยเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายชาติพันธุ์นั้น เป็นไปตามมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐควรส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นการอนุวัฒน์กฎหมาย มาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาเป็นกฎหมายชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้นมันมีเจตนารมณ์มันเองอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ ว่าทำไมต้องคุ้มครองพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะรัฐเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่าต้องทำ แล้วทำแค่ไหน ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ในด้านสิทธิมนุษยชน
ก็หมายถึงว่า มาตรา 70 ภายใต้อะไร ภายใต้ที่ไทยไปรับปากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ไว้ว่า จะคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ จนนำมาสู่การเขียนมาตรา 70 เพราะฉะนั้นจึงชี้ให้เห็นว่า ที่มาได้ผ่านกระบวนการในการสังเคราะห์ วิเคราะห์ปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มาในระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงไปนำเสนอต่อเวที UN และเป็นที่ยอมรับว่า UN ก็แนะนำให้ไปออกกฎหมายรับรอง เพราะประเทศไทย ไม่ถือว่าข้อตกลงพันธกรณีไม่ใช่กฎหมายในประเทศ ต้องเอาข้อตกลงนั้นมาออกอีกทีหนึ่ง เลยใส่ในมาตรา 70 จนนำมาสู่การบรรจุสิ่งนี้ในยุทธศาสตร์ชาติด้วย ตั้งแต่สมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศในการแถลงนโยบาย ปี 2562 ว่า จะต้องมีการออกกฎหมายชาติพันธุ์ เป็น 1 ใน 10 กฎหมายที่ต้องออกเร่งด่วนในรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังขาเลยว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายนี้หรือไม่
“ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ จะไปตอบเวทีระดับโลกได้ยังไง เมื่อคุณไปรับปากว่าต้องทำ ล่าสุดรายงานไปที่คณะมนตรีด้านความมั่นคงมนุษยชน รายงานครึ่งเทอมไว้แล้ว และเขียนรายงานไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นมันไม่มีเหตุผล ที่รัฐบาลไทยจะไม่ออกกกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นด้วยเงื่อนไขระหว่างประเทศ และเงื่อนไขความจำเป็นบริบทประเทศไทย ที่มันมีปัญหานี้อย่างยาวนาน กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทยที่มีความหลากหลาย ไม่มีโอกาสที่จะแสดง ซอฟต์พาวเวอร์ ใช้พลังทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์ขึ้นมา เพราะมันถูกกดทับด้วยตัวโครงสร้างบางอย่างเอาไว้ อันนี้จึงเป็นที่มาว่า ทำไมรัฐจะต้องคุ้มครอง ส่งเสริมวิถีชีวิตของพวกเขา”
สุมิตรชัย หัตถสาร
สุมิตรชัย ยังย้ำว่า ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะได้สิทธิ์มากกว่าใคร เขาแค่จะได้เท่ากับคนอื่น ๆ ที่ควรจะได้รับ จากที่พวกเขาไม่เคยได้รับเท่า เพราะฉะนั้นกับคำถามและความกังวลว่า กฎหมายนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ต้องย้ำว่า ไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่ามาตรการที่รัฐออกให้ผู้ด้อยโอกาส เพื่อจะมีสิทธิได้เท่าคนปัจจุบัน หรือคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอันนี้เขียนไว้ในกฎหมายชัดเจน ฉะนั้นประเด็นเลือกปฏิบัติจึงตัดไปเลย ไม่เช่นนั้นเขียนมาตรา 70 ไม่ได้ เพราะมาตรา 70 เขียนไว้ชัดเจนว่า กลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นบุคคลด้อยโอกาส
อย่ากลัวเกินเหตุ! ถึงเวลาปลดล๊อก
ให้ชาติพันธุ์มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ คุ้มครองทุนวัฒนธรรม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 5 ก.พ.นี้ หากไม่มีญัตติเสนอเลื่อนการพิจารณาของวิปรัฐบาล จะเริ่มพิจารณากันต่อ ในหมวด 5 ว่า ด้วยเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของร่างกฎหมายนี้ โดยเริ่มต้นที่มาตรา 27 โดยกำหนดหลักการ และแนวปฏิบัติการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไว้ดังนี้
- ประการ 1 ให้สิทธิชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิมมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ให้ สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะบุคคล แต่เป็นการให้สิทธิแบบส่วนร่วมหรือ สิทธิหน้าหมู่ที่ทุกคนต้องร่วมกันจัดการและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่สามารถจําหน่ายจ่ายโอนได้ ดังนั้นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถจัดตั้งเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตต้องเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีหลักฐานยืนยัน และพิสูจน์ได้ว่าอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ของรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ในแง่นี้ การกําหนดให้ มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นแนวทางเยียวยากลุ่มชาติพันธ์ุ ที่ประสบปัญหาขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยที่ทํากิน และพื้นที่ทางวัฒนธรรม
- ประการที่ 2 การกําหนดเขตพื้นที่วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่การเพิกถอนพื้นที่ของรัฐที่ประกาศมาแล้วก่อนหน้า เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น แต่เป็นเพียงการให้ หลักประกันว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับการคุ้มครองสิทธิให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ และสามารถอยู่ร่วมในพื้นที่ดังกล่าวได้ตามวิถีวัฒนธรรมโดยต้องไม่เป็นการทําลายทรัพยากรในพื้นที่ ในแง่นี้ การกําหนดให้มีเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงไม่ทําให้รัฐต้องสูญเสียพื้นที่ แต่ในทางกลับกัน รัฐจะมีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นแนวร่วมในการดูแลพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกิด ความสมดุลและยั่งยืน
- ประการที่ 3 การกําหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง ที่ทําร่วมกันระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ทําข้อมูลชุมชน และสํารวจขอบเขตพื้นที่ พร้อมจัดทําแผน บริหารจัดการพื้นที่เสนอให้คณะกรรมการพิจารณประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครอง ที่มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นกรรมการ และมีการจัดทําธรรมนูญพื้นที่คุ้มครองให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ในแง่นี้ การกําหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่ม ชาติพันธุ์จึงเป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมนําไปสู่การทํางานร่วมกันระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับเจ้าหน้าที่
จากหลักการดังกล่าว สุมิตรชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องพื้นที่คุ้มครองฯ กฎหมายเขียนไว้ว่า ให้คุ้มครองวิถีชีวิต สิทธิในการดำรงชีวิตตามความสมัครใจ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น คำถามคือ ถ้าไม่คุ้มครองพื้นที่ให้พวกเขา แล้วเขาจะสามารถใช้สิทธิในการดำรงชีวิตตามความสมัครใจได้ยังไง เนื้อหารัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ สิทธิในการดำรงชีวิตตามความสมัครใจ นั่นหมายความว่า เขามีวิถีชีวิตในการดำรงชีวิตแต่ละชาติพันธุ์แตกต่างกัน เขาสามารถที่จะใช้ ความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาต่าง ๆ ของเขาได้อย่างเต็มที่ ถ้าเขาไม่ได้รับการคุ้มครอง เขาจะแสดงออกสิ่งเหล่านั้นได้ยังไง
นี่เป็นที่มาที่ต้องทำพื้นที่คุ้มครองฯ ซึ่งที่มาไม่ได้มาจากประชาชนคิดเอง แต่ผ่านกระบวนการศึกษาจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม มาเป็น 20 – 30 ปี การประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ มาแล้ว ประมาณ 30 แห่ง โดยมีฐานปฏิบัติการที่ทดลองทำแล้ว คือ ไม่ได้คิดขึ้นมาแล้วอยากเป็น เพราะฉะนั้นมีกระบวนการทำ แล้วเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งการจัดการพื้นที่ ทางวัฒนธรรมก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี ให้เกิดการฟื้นฟู เกิดความยั่งยืน โดยจัดการวัฒนธรรม และทรัพยากรให้ไปด้วยกัน แล้วฟื้นฟูทรัพยากรที่หายไปให้กลับคืนมาเพื่อให้ยั่งยืน เช่นเดียวกับวัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน จึงมีองค์ประกอบหลายอย่างมากที่จะต้องเอาเข้ามาในหลาย ๆ ศาสตร์ เป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองฯ ขึ้นมา
“พื้นที่ตรงนี้เหมาะไหมที่จะทำ ก่อนจะประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ทุกหน่วยงานต้องเข้ามา มีการการตกลงกัน โดยที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยตรงกันว่า ถ้าจะทำพื้นที่คุ้มครองฯ ต้องมีกระบวนการอะไรบ้าง มีกฎมีเกณฑ์อะไรบ้าง มีระเบียบอะไรบ้าง มีกลไกอะไรบ้างเข้าไปช่วยกันจัดการ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงมีความสำคัญว่า ถ้าไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ มีอิสระที่จะออกแบบกฎเกณฑ์เหล่านี้ ทำธรรมนูญขึ้นมา ต้องไปใช้กฎหมายอื่น เป้าหมายกฎหมายฉบับนี้ก็จบเลย ก็ไม่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ถ้าหากยังต้องใช้กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอื่น ๆ มาแทน เพราะกฎหมายอื่นมันไม่ได้ออกแบบมา เอื้อให้เกิดกระบวนการแบบนี้ อันนี้จึงเป็นที่มาว่า ถ้าเกิดข้อตกลงมันเสร็จแล้ว กระบวนการทำธรรมนูญมันจบแล้ว ก็แค่เขียน ไม่ต้องเอากฎหมายอื่นมาบังคับใช้ในพื้นที่ ใช้ตัวธรรมนูญนี้แทน และจริง ๆ การทำพื้นที่คุ้มครองฯ ก็ต้องผ่านข้อตกลงจากทุกฝ่าย คณะกรรมการ ประธานก็เป็นนายกรัฐมนตรี”
สุมิตรชัย หัตถสาร
คุ้มครองสิทธิ ความหลากหลาย อย่างเท่าเทียม สู่โอกาสประเทศ
กระแสการท่องเที่ยวทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่ที่มีความงดงาม แต่ต้องประกอบด้วยอีกหลายปัจจัย เรื่องนี้ สุมิตรชัย ยอมรับจากที่ได้ทำงานในชุมชนชาติพันธุ์ เห็นชัดว่า วิถีชีวิต ความหลากหลายวัฒนธรรมที่แตกต่าง คือ ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเรียนรู้ มาดูมาเห็น มาซึมซับสิ่งเหล่านี้ ทั้งองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ความมั่นคงอาหาร สมุนไพรรักษาโรค เสื้อผ้า สิ่งทอ ที่กลายเป็นสินค้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ
“กฎหมายฉบับนี้ มันจะทำให้ ซอฟต์พาวเวอร์ ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความหลากหลาย มันจะพัฒนา มันจะงอกงาม มันจะเติบโต และก็จะป็นแรงดึงดูดอีกเยอะ ที่จะทำให้การท่องที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น มีตัวเล่นขึ้นเยอะที่จะเข้ามาทำเศรษฐกิจการท่องเที่ยว มันจะมีสถานที่อีกเยอะที่สามารถพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ ทุกวันนี้ที่เป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะถูกบางอย่างกีดกันอยู่ พัฒนาพื้นที่ไม่ได้ ทำถนนดี ๆ เข้าไปไม่ได้ พัฒนาสาธารณูปโภคไม่ได้ พี่น้องอยู่กันอย่างยากลำบาก เพราะฉะนั้นเขาจะพัฒนาตัวคุณค่าวัฒนธรรมได้ยังไง ถ้าไม่ได้รับการประกาศเป็นพื้นทื่คุ้มครองฯ”
สุมิตรชัย หัตถสาร
นี่จึงเป็นที่มาของกฎหมายชาติพันธุ์ ที่มีทั้งการปกป้อง และการหนุนเสริมไปด้วยกัน เพราะเขาเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ ซึ่งทั่วโลกเขาเห็นหมด ถ้าถามว่า พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ถูกให้ค่าเรื่องอะไร คำตอบคือ เรื่องการรักษาทรัพยากร การดูแลป่าใช่หรือไม่ ดังนั้นหมายความว่าชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ถูกยกย่องให้เป็นฮีโร่ของป่า เป็นผู้ปกป้องป่า แล้วคุณรู้ไหมว่า จริง ๆ แล้ววิถีชีวิตของเขา เขาใช้ทรัพยากรน้อยมากในการดำรงชีพ
“เราเคยทำวิจัยวัดเรื่องรอยเท้านิเวศ คนในเมืองมีรอยเท้าอยู่สัก 6 ไร่ แต่ของเขามีอยู่ประมาณสัก 2 ไร่ หรือ 1 ไร่ ไม่เกิน 3 ไร่ คือ เขาใช้พื้นที่ ใช้ทรัพยากรน้อยมาก วิถีชีวิตของเขาอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ มันแทบจะไม่ใช้ทรัพยากรที่เป็นทรัพยากรจากข้างนอก สัดส่วนน้อยลง อันนี้ผมคิดว่า คุณค่าการใช้ชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ แต่ก็ยังมีอคติในอดีตจนถึงปัจจุบัน ว่า เป็นภัยความมั่นคง ทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่า ค้ายาเสพติด มายาคติเรื่องนี้ แต่วันนี้มันไม่มีแบบนี้แล้ว”
สุมิตรชัย หัตถสาร
ส่วนประเด็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน สุมิตรชัย ย้ำว่า ยิ่งไปกันใหญ่ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จากตัวเลขของศูนย์มานุษยวิทยาฯ มีอย่างน้อย 60 กว่ากลุ่ม คำถามคือ จะรวมตัวแบ่งแยกประเทศไปเพื่ออะไร แต่ละกลุ่มก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และก็รักสงบ ไม่เคยจับปืนมารบกับรัฐด้วยซ้ำไป มีแต่จะหนีความรุนแรง หนีอะไรต่าง ๆ ตามประวัติศาสตร์ของเขาที่ผ่านมา
“เรื่องการแบ่งแยกดินแดนไม่มีเลย เขาอยากร่วมกับรัฐไทยแบบมีศักดิ์ศรีมากกว่า อยากมาเป็นส่วนหนึ่ง เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวในรัฐไทย พัฒนาคุณภาพชีวิตไปด้วยกัน พัฒนาความเจริญให้กับประเทศไปด้วยกัน คือเขาจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตวัฒนธรรม ออกมาอีกเยอะในอนาคต ถ้าเราสามารถทำพื้นที่คุ้มครองไปได้”
สุมิตรชัย หัตถสาร
ถึงตรงนี้ ได้เห็นทั้งที่มา หลักการสำคัญ ไปจนถึงประโยชน์การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ใช่แต่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์จะได้จากกฎหมายนี้ แต่ยังรวมถึงสังคมโดยภาพรวม ที่จะได้ส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น
จึงต้องจับตาว่า การพิจารณาร่างกฎหมายหลังจากนี้ สภาฯ จะร่วมผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ไปสู่เป้าหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งเสริมวิถีชีวิตให้ทุกคนเท่ากันได้หรือไม่