เช็งเม้ง – กงเต็ก – จ๊อขี่ : ‘ความตาย’ ในพิธีกรรม ที่ทำเพื่อ…คนเป็น

เช็งเม้ง – กงเต็ก – จ๊อขี่ และอีกหลายประเพณีจีนอันละเอียดซับซ้อน แม้วันนี้กำลังถูกลดทอนและแปรเปลี่ยนรูปแบบไป แต่ยังคงไว้ซึ่งการแสดงถึงความกตัญญูของลูกหลานอย่างสูงสุดต่อบรรพชนโดยไม่ขาดตกบกพร่อง 


หากมองอย่างผิวเผิน คุณค่าของพิธีกรรมอาจมีเพียงเท่านี้ แต่แท้จริงแล้วแต่ละประเพณีจีนยังมีรายละเอียดมากมายที่ซ่อนกุศโลบายแฝงไว้อย่างลึกซึ้งแยบคาย แม้กระทั้งพิธีแด่ผู้วายชนม์ ที่แท้จริงแล้วไม่ได้ทำเพื่อคนตาย แต่กลายเป็นพื้นที่ทางจิตใจสำหรับคนเป็น


The Active ชวนลูกหลานแดนมังกรค้นหารากเหง้า เข้าใจ พิธีกรรมแห่งความตาย ไปกับวิชา “เช็งเม้งและความตายของคนเชื้อสายจีน” กับ อาเจ็ก สมชัย กวางทองพานิชย์ ลูกหลานจีนเยาวราช และนักประวัติศาสตร์ชุมชน ผู้ที่กำลังจะบอกเราว่า หากเช็งเม้งปีนี้ถวายไก่ต้มมันน่าเบื่อ ลองถวายไก่เคเอฟซีให้บรรพบุรุษแทนจะเป็นไรไป

(ส่วนหนึ่งภายในงาน “Death Fest 2025 : Better Living, Better Leaving : อยู่อย่างมีความหมาย เผชิญความตายอย่างเป็นสุข” วันที่ 23 มีนาคม 2568 ณ เมืองทองธานี)

สมชัย กวางทองพานิชย์ นักประวัติศาสตร์ชุมชน

เมษายน : คนไทยมีสงกรานต์ ลูกหลานจีนมีเช็งเม้ง

หากคุณเป็นลูกหลานชาวจีนที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากตรุษจีนไปหมาด ๆ ผ่านไปไม่เท่าไรก็เข้าสู่ เมษายน ที่มีอีกหนึ่งพิธีกรรมสำคัญที่รอคุณอยู่ นั่นคือ เช็งเม้ง


ในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว 

“เช็ง” หมายถึง ความสะอาด บริสุทธิ์ 

“เม้ง” หมายถึง สว่าง 


เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันแล้ว เช็งเม้ง จึงหมายถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ เหมาะเจาะกับช่วงฤดูใบไม้ผลิของจีน ท่ีมีท้องฟ้าสว่างใส ต้นไม้เขียวชอุ่มงอกงาม และหากกางปฏิทินออกมาดู เช็งเม้งจะตรงกับวันที่ 4 – 5 เมษายน ของทุกปีเสมอ


ชาวจีนเชื่อว่า นี่คือช่วงเวลาดีที่สุดในเดินทางไปพบเจอกับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับเพื่อแสดงความกตัญญู ซึ่งถือเป็นคุณค่าสำคัญสูงสุดของชาวจีน


อาเจ็กสมชัย อธิบายว่า สำหรับลูกหลานชาวจีน แต่ละปีมีประเพณีหลัก 8 เทศกาล และทั้งหมดล้วนเกี่ยวเนื่องกับการไหว้บรรพบุรุษทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญจริง ๆ มี 2 เทศกาล คือ เช็งเม้ง และสารทจีน

“สารทจีน คือ วันที่คนตายมาหาคนเป็น
ส่วน เช็งเม้ง คือ วันที่คนเป็นไปหาคนตาย”

โดยปกติ เช็งเม้ง จะตรงกับประมาณวันที่ 5 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงมีอากาศแจ่มใส ลูกหลานก็ออกเดินทางไปหาบรรพบุรุษที่สุสาน ที่กลายเป็นสถานที่รวมญาติโดยปริยาย

“ส่วนสารทจีน จะตรงกับเดือน 7 ซึ่งเป็นช่วงที่คนจีนเรียกว่าเป็น เดือนผี เชื่อว่า เป็นช่วงเวลาที่คนตายจะมาหาคนเป็น ที่เรียกเช่นนั้น เพราะ ในสมัยก่อน ช่วงเดือนนี้จะมีอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก ฝนตก การเดินทางก็ลำบาก ผู้คนก็ล้มป่วย และมักจะตายในช่วงนี้ เดือนนี้เลยเป็นช่วงแห่งการจัดงานศพ เลยเรียกว่า เดือนผี หรือ ghost festival”

สมชัย กวางทองพานิชย์

อาเจ็กสมชัย ยังบอกอีกว่า หากสังเกตให้ดี ไม่ใช่ทุกเทศกาลของจีนที่มีวันกำหนดตายตัวตรงกันทุกปี เช่น ตรุษจีน บางปีอาจตรงกับช่วงมกราคมบ้าง หรือกุมภาพันธ์ บ้าง แต่จะมีอยู่ 2 เทศกาล ที่มีวันตายตัว นั่นคือ วันเช็งเม้ง (4-5 เมษายน) และวันไหว้ขนมบัวลอย (21-22 ธันวาคม) เนื่องจากยึดถือตามปฏิทินสุริยคติ ที่คำนวณวันที่โดยอิงจากเงาของแสงอาทิตย์เป็นหลัก


สมัยโบราณ จะมีการเอาไม้ไปวัดเงาของดวงอาทิตย์ทุกวัน แล้วเก็บสถิติไว้ วันที่มีเงายาวที่สุด เรียกว่า วันเหมายัน จะมีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน ซึ่งจะถือว่าเป็น วันไหว้บัวลอย หรือ วันไหว้ตังโจ่ย (冬至)


ส่วนวันที่เงาสั้นที่สุด เรียกว่า วันครีษมายัน จะมีกลางวันยาวนานที่สุด วันนี้เองจะถือว่าเป็น วันชุงฮุง (春分) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น หากนับถัดจากวันนี้ออกไปอีก 14 วัน จึงจะถือว่าเป็นวันเช็งเม้งนั่นเอง

ทำอะไรกัน ในวันเช็งเม้ง ?

ในวันเช็งเม้ง ตามธรรมเนียมจีนแล้ว ลูกหลานจะต้องไปยังสุสานฝังศพ เพื่อกราบไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ทำความสะอาด ประดับตกแต่งให้สวยงาม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกตัญญู และถือเป็นวันรวมญาติของตระกูล


สิ่งแรก คือ การทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษ ต้องมีการเก็บกวาดให้เรียบร้อย ตกแต่งให้ดูใหม่อยู่เสมอ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าบรรพบุรุษในสุสานนี้ยังมีลูกหลานที่กตัญญูคอยดูแลอยู่

“ในแต่ละปี เวลาลูกหลานไปเยี่ยม เราต้องไปกวาดสุสาน เก็บเศษใบไม้ ใบหญ้า ดูแลความสะอาด ประดับตกแต่งให้สวยงามตามชอบ จะปักธง วางดอกไม้ ก้อนหิน หรือกระดาษหลากสีก็ได้ตามสะดวก มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ข้าวของเครื่องใช้ และล้อมวงการกินอาหารร่วมกันเป็นขั้นตอนสุดท้าย และหลังลาของไหว้ จะมีการจุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคล ยิ่งลูกหลานเยอะเท่าไหร่ การดูแลสุสานยิ่งต้องมากตาม การตกแต่งสุสานจึงเหมือนเป็นการโชว์พาวเวอร์ของครอบครัวเหมือนกัน”

สมชัย กวางทองพานิชย์

โดยปกติแล้ว สุสานที่ฝังศพของบรรพบุรุษนี้ จะเรียกอีกอย่างว่า ฮวงซุ้ย ซึ่งทำเลที่ต้องต้องดีตามหลัก ฮวงจุ้ย 


ตามหลักการแล้ว ฮวงซุ้ยที่ดี ต้องตั้งอยู่ในทำเลที่ดี คือสถานที่ร่มรื่น มีภูเขาหรือแม่น้ำล้อมรอบ เพราะเชื่อว่า ยิ่งหาทำเลที่ดีได้มากเท่าไหร่ยิ่งจะช่วยเสริมดวงชะตาของตระกูลมากเท่านั้น

‘ฮวงซุ้ย’ พื้นที่กลางทางความรู้สึก

สมัยนี้ หากมีคนเสียชีวิต เราจะคุ้นเคยกับการเผาร่างผู้ตายมากกว่า แต่หากย้อนไปในพิธีกรรมศพสมัยจีนโบราณ ลูกหลานจะเลือก การฝังศพ พ่อแม่แทน เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อของลัทธิขงจื้อ และเต๋าผสมผสานกัน


ลัทธิขงจื้อ มีแนวคิดว่า บุตรหลานต้องมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ การจัดการศพด้วยการฝัง จะทำให้สามารถจารึกชื่อแซ่ และคุณงามความดีของบรรพบุรุษไว้หน้าฮวงซุ้ยได้ รวมถึงต้องมีการเขียนป้ายชื่อ เพื่อนำไปไว้กราบไหว้บูชาที่บ้าน


ในขณะที่ ลัทธิเต๋า จะมีคำสอนในเรื่องธรรมชาติ เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ลูกหลานควรนำร่างของบรรพบุรุษกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การเลือกฮวงซุ้ยในการฝังจำเป็นต้องเป็นที่มีทำเลดีที่สุด คือ ข้างหน้าเป็นน้ำ ข้างหลังเป็นภูเขา และอยู่บนเนินลาดจากเขาลงน้ำ


ยิ่งลูกหลานหาฮวงซุ้ยที่มีความเหมาะสมทางธรรมชาติ ตรงตามหลักการได้มากเท่าไหร่ ยิ่งจะเกื้อกูลให้ลูกหลานเจริญในหน้าที่การงาน มีโชคลาภมากเท่านั้น


เมื่อครบรอบวันเช็งเม้งมาถึง การได้มาเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสานอย่างไม่ขาดระยะ และดูแลให้สุสานยังคงมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม จึงกลายเป็นเครื่องแสดงออกถึงความกตัญญูของลูกหลานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่ง และยังกลายเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของญาติพี่น้องที่ห่างหายกันไปนานด้วย

“ในคนแต้จิ๋วมีคำพูดหนึ่ง คือ ไม่มีเทือกเขาไหนที่พี่น้องรักกันไปเสียหมด ยังไงต้องมีทะเลาะกันบ้าง นี่ก็เป็นเรื่องปกติของทุกครอบครัวบางครั้ง บ้านพี่เราไม่ไป บ้านน้องเราไม่ไป สุสานจึงกลายเป็นพื้นที่กลาง ทุกบ้านสามารถไปเจอกันตรงนั้นได้ เพราะทุกคนมีสิทธิในพ่อแม่เท่ากัน”

เช็งเม้งทำให้เราได้กลับมาเจอสมาชิกสายเลือดเดียวกันอีกครั้ง เพราะครอบครัวจีนเป็นครอบครัวใหญ่ บางทีแยกบ้านไป ก็ไม่รู้จักแล้วว่าใครเป็นลูกหลานใคร อย่างผมเอง มีคนที่ทำงานบริษัทเดียวกัน ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นญาติกัน จนกระทั่งไปเจอกันที่วันเช็งเม้ง”

สมชัย กวางทองพานิชย์

หากถามว่าเราต้องเดินทางไปงานเช็งเม้งตลอดชีวิตหรือเปล่า ? อาเจ็กสมชัย อธิบายว่า แก่นแท้ของเช็งเม้ง คือ การไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถแสดงความกตัญญูได้ทั้งชีวิตไม่ว่าอยู่ที่ไหน ฉะนั้นแล้วไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ฮวงซุ้ยตลอดไปก็ได้

“กุศโลบายจีน มีคำเตือนเหมือนกันว่า หากอายุ 80 ปี แล้ว อย่าขึ้นไปบน ผุงหมอ ผุง แปลว่า เนิน ส่วน หมอ แปลว่า ที่ราบ เนื่องจากสุสานจะตั้งอยู่บนที่ราบมีเนินดินพูนสูงเป็นหลังเต่าเสมอ หากขึ้นไปจะเกิดอันตรายได้ ปล่อยให้ลูกหลานทำไป ส่วนตัวเองนั้นขอให้ไหว้ที่บ้านแทน”

สมชัย กวางทองพานิชย์

คำจารึกบนปากหลุม

หากมองไปที่ฮวงซุ้ย เราจะเห็นกับป้ายจารึกหลุมศพ นี่เป็นสิ่งที่มีความหมายไม่น้อย เพราะนี่คือถ้อยคำจารึกที่บ่งบอกรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับชีวิตของผู้ตาย และวงศ์ตระกูล


บนป้ายจารึกจะมีทั้งชื่อของบรรพชน ลำดับรุ่น ชื่อตระกูล (แซ่) ชื่อบิดา-มารดา ลูกหลาน และถิ่นฐานภูมิลำเนา โดยมีสีของตัวอักษรคอยบอกว่า บุคคลผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

“ชื่อคนตายแล้วจะถูกเขียนด้วยสีเขียว แต่ชื่อคนเป็นจะถูกเขียนด้วยสีแดง ส่วนตัวอักษรเล็ก ๆ ด้านริมคือการระบุที่อยู่ ว่าผู้ตายมาจากเมืองไหนของประเทศจีน”

สมชัย กวางทองพานิชย์

การเขียนถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้ตายประทับไว้บนปากหลุมนั้น อาเจ็กสมชัย เล่าว่า มีการคาดกันว่าแต่เดิมคงไม่มีธรรมเนียมนี้ในประเทศจีน เนื่องจากญาติพี่น้องต่างรู้กันอยู่แล้วว่าผู้ตายเป็นใคร มาจากไหน การส่งบรรพบุรุษกลับไปบ้านเกิดไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ จึงเริ่มมีธรรมเนียมนี้เกิดขึ้น

“บรรพบุรุษชาวจีนนี้อาจกำลังจะบอกว่า แม้ตัวจะตาย และศพถูกฝังในผืนแผ่นดินไทยก็จริง แต่คงไม่อยากอยู่ที่นี่ตลอดไป หวังว่าสักวันหนึ่งต้องได้กลับบ้าน การเขียนถิ่นฐานกำกับไว้บนหลุมศพก็จะทำให้รู้ว่าหากจะส่งบรรพบุรุษกลับบ้าน จะต้องส่งกลับไปที่เมืองไหนที่จากมา”

“ในสมัยก่อน ลูกหลานชาวจีนในไทยต้องมีการว่าจ้างผู้มีความรู้ให้มาอ่านป้าย ถอดรหัส ช่วยตามหาสถานที่นั้น ๆ และตามหาญาติให้ แต่ตอนนี้เรามี AI เรามี Google map ก็ทำให้ง่ายขึ้น และยังมีคนรับจ้างพาส่งกลับบ้านมากขึ้นด้วย”

สมชัย กวางทองพานิชย์

กงเต็ก – สวดอภิธรรมศพแบบจีน

แม้พิธีเช็งเม้ง มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ แต่ยังมีอีกหนึ่งพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ พิธีกงเต็ก


พิธีกงเต็ก เป็นการทำเพื่อผู้วายชนม์เช่นกัน แต่มีเป้าหมายต่างกันออกไปเล็กน้อย นั่นคือ การทำเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ตาย


ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น พิธีเช็งเม้ง มีการกำหนดวันที่ชัดเจนในแต่ละปี แต่สำหรับพิธีกงเต็กแล้ว จะยึดเอาวันครบรอบการเสียชีวิตของผู้ตายเป็นหลัก และมักจะจัดขึ้นที่วัดหรือศาลเจ้าจีน แทนที่ฮวงซุ้ย หรือสุสานของบรรพบุรุษ


กงเต๊ก เป็นคำสองคำประกอบกัน กง (功) แปลว่า ทำ เต๊ก (德) แปลว่า บุญกุศล อาจเทียบได้กับการสวดอภิธรรมศพของไทยได้บ้างแต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ตามธรรมเนียมจีน พิธีกงเต็ก มีขั้นตอน ดังนี้

1. ตั้งโต๊ะบูชาและเครื่องเซ่นไหว้

    ภาพของหมู เห็ด เป็ด ไก่ และเครื่องเซ่นไหว้หลากหลายเรียงไว้บนโต๊ะ เบื้องหน้าคือ รูปบรรพชนวางเรียงราย คงกลายเป็นภาพคุ้นตาของลูกหลานจีน บางบ้านอาจมีรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้า หรือพระพุทธรูป ตามแต่ความเคารพนับถือ โดยตามธรรมเนียมแล้ว การตั้งโต๊ะจะไหว้บรรพบุรษ 3 รุ่น ด้วยกัน เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษภายใน 3 รุ่นของตระกูลน่าจะเคยได้รู้จักหรือพบเจอกันมาก่อนในช่วงทีชีวิต

    “การไหว้บรรพบุรุษนี้ คือ การทำความเคารพ และการแจ้งให้บรรพบุรุษที่จากไปก่อนหน้าว่าครอบครัวกำลังส่งสมาชิกใหม่ไป เช่น พ่อ-แม่ของกำลังเราไปหาแล้วนะ ฝากให้เหล่ากง-เหล่าม่าคอยรับ และดูแลพ่อแม่ที่เพิ่งจากไปของเราด้วย สำหรับตัวลูกหลานเองแล้ว พอได้บอกกล่าวแบบนี้ออกไป ระหว่างไหว้ ก็จะทำให้ความรู้สึกของคนที่ยังอยู่เบาใจลงไปได้มากทีเดียว”

    สมชัย กวางทองพานิชย์

    2. สวดมนต์ พิธีกรรมทางศาสนา

      อาจมีทั้งความเชื่อแบบพุทธ และเต๋า โดยมีจุดประสงคเพื่อส่งดวงวิญญาณไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีและเผื่อแผ่บุญกุศล

      3. พิธีข้ามสะพาน (渡桥) หรือ พิธีส่งดวงวิญญาณ

        จะมีการ สร้างสะพานจำลอง โดยมีความเชื่อว่า สะพานนี้ทำหน้าที่ส่งให้ดวงวิญญาณ ให้ข้ามฝั่งไปยังดินแดนสุขาวดี โดยในที่นี้ คือ เกาะเผิงไหล

        เกาะเผิงไหล คือเกาะศักดิ์สิทธิในตำนานที่อยู่ในดินแดนทะเลตะวันออก ตามความเชื่อในลัทธิเต๋า โดยที่แห่งนี้ จะเป็นที่อยู่อาศัยของเซียน หรือ ผู้บรรลุความเป็นอมตะ เต็มไปด้วยยาวิเศษ และความเป็นนิรันดร์ หรือเป็นสรวงสวรรค์ นั่นเอง


        การส่งวิญญาณกลับสู่ เกาะเผิงไหล คือการส่งบรรพบุรุษของเรากลับสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในทิศตะวันออก ให้ไม่ต้องทนทุกข์ในยมโลก นอกจากมีการสวดมนต์เพื่อช่วยนำทางแล้ว ยังต้องเผากระดาษเงิน กระดาษทองเพื่อให้มีทรัพย์สินใช้ในภพหน้าด้วย

        4. เผากระดาษเงินกระดาษทอง และของใช้กระดาษ

        นี่คงเป็นอีกภาพที่คุ้นตาของหลายบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากกระดาษ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ เสื้อผ้า ไอโฟน บ้านพร้อมที่ดิน และเครื่องใช้ต่าง ๆ จะถูกเผา โดยเชื่อว่าจะส่งต่อไปให้ผู้วายชนม์ได้ใช้ในโลกหลังความตาย และในบางที่จะมีการเผา กิมฮวย (金花) หรือ ดอกไม้ทอง ที่ป็นสัญลักษณ์แทนบุญกุศลด้วย

        “ตอนเผากงเต็ก บางครั้งเราจะเห็นการแบ่งสีของหีบที่ใส่ข้าวของด้วย หากพ่อแม่ของเราเพิ่งตายไป เราจะต้องนำของที่อยากมอบให้เขาใส่ในหีบสีเขียว เพื่อให้รู้ว่านีคือของสำหรับวิญญาณใหม่ ส่วนเหล่ากง-เหล่ามา หรือบรรพชนที่ตายไปนานแล้ว จะใส่ของสำหรับพวกเขาในหีบสีแดงแทน เพื่อให้เห็นความแตกต่าง เมื่อไปถึงในโลกนั้น พวกเขาจะได้ไม่แย่งของกันเอง”

        สมชัย กวางทองพานิชย์

        สมชัย กวางทองพานิชย์ นักประวัติศาสตร์ชุมชน

        อาเจ็กสมชัย ยังอธิบายอีกว่า แม้พิธีกงเต็กหรือเช็งเม้งที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าชาวจีนให้ความสำคัญกับ การตาย มากเพียงใด


        แต่แท้จริงแล้ว ประเพณีจีนยังมีอีกหลายพิธีกรรมที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการความสำคัญกับ การอยู่ ในทุกการเปลี่ยนผ่านของแต่ละช่วงชีวิต


        โดยหลัก ๆ จะแบ่งพิธีกรรมตาม 5 ช่วงวัย ดังนี้

        1. พิธีเกิด – จัดเพื่อต้อนรับเด็กแรกเกิด ขอบคุณเทพเจ้าและบรรพบุรุษที่ปกป้องทารกให้แข็งแรง จะมีการแจกไข่สีแดง ที่เป็นสัญลีกษณ์ของโชคดีและชีวิตใหม่
        1. พิธีเข้าสู่วัยหนุ่มสาว – จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงการเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ (วัยประมาณ 14-15 ปี) ในภาษาแต้จิ๋วอาจเรียกว่าเป็นช่วงวัยที่ออกจากสวนดอกไม้ หรือ  ชุกฮวยฮึ้ง  (出花园) มีความหมายว่า ให้เลิกเล่นได้แล้ว เพราะนี่คือช่วงเติบโตกำลังจะเป็นผู้ใหญ่
        1. พิธีแต่งงาน – จะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อขอพร รวมถึงพิธีชงชาจากบ่าวสาวให้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่เพื่อนแสดงความเคารพ
        1. พิธีฉลองอายุ – จัดขึ้นให้ผู้สูงอายุในงานครบรอบวันเกิดเมื่ออายุครบ 60, 70, 80 ปี เป็นต้น จัดเพื่อแสดงความเคารพ และกตัญญูต่อผู้เฒ่าผู้แก่ มักมีอาหารมงคล เช่น บะหมี่ซั่ว เพื่อแสดงถึงการมีอายุยืนยาว
        1. พิธีศพและการไว้อาลัย – เป็นพิธีกรรมเพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิที่ดี โดยมากจะมีพิธีกงเต็กเข้ามาเสริมเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศล

        โดยแต่ละช่วงวัยมีพิธีกรรมที่เน้นการเคารพบรรพบุรุษ ครอบครัว และสังคมเป็นหลัก อันเป็นหัวใจสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนยึดถือ

        ได้บรรดาพิธีกรรมมากมายของชาวจีนนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อการแสดงความกตัญญูและรำลึกถึงบรรพบุรุษ แต่หากมองให้ลึกจริง ๆ นี่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อคนตายเลย แต่ล้วนเป็นการทำเพื่อคนเป็น สร้างความสบายใจ และลดความวิตกกังวลในชีวิต


        ทุกวันนี้ สังคมเปลี่ยนไปเป็นครอบครัวขนาดเล็ก การรวมญาติอาจไม่ได้ง่ายเหมือนในอดีต พิธีกรรมบางอย่างถูกลดทอนลงไป จากการฝังศพเปลี่ยนเป็นเผา จากอาหารมงคลเต็มโต๊ะ อาจเหลือเพียงไม่กี่อย่างที่ลูกหลานชอบกิน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรของสังคม

        “แม้หัวใจของพิธีกรรมจีนคือเรื่องความกตัญญู แต่ทุกวันนี้พิธีกรรมต้องปรับไปตามวิถี คุณอาจเลิกไหว้ด้วยอาหารครบถ้วนเต็มโต๊ะ เพราะวันนี้ที่บ้านไม่มีคนกิน คุณอาจไม่ได้ไว้ทุกข์เพราะคุณต้องออกไปทำงาน หรือคุณอาจไม่ได้พาเขาไปฝังแต่เลือกเผาแทน หรือหากลูกหลานคุณรู้สึกว่าไก่ต้มมันไม่อร่อย คุณจะเลือกเอาไก่ KFC มาไหว้แทนก็ได้ ไม่มีอะไรผิดถูก

        “ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจในหลักการแล้ว ไม่ว่าคุณจะปรับพิธีกรรมของคุณไปเป็นแบบใด อยู่ที่ว่าคุณทำแล้วได้ระลึกถึงเขาไหม หากคุณยังรำลึกถึงบรรพบุรุษอยู่ ต่อให้พิธีไม่สมบูรณ์ แต่เขาก็ไม่เคยตายไปจากความรู้สึกคุณ”

        สมชัย กวางทองพานิชย์

        ความแยบคาย ที่ซ่อนไว้ในพิธี

        พิธีกรรมจีนมีมากมายและเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่ถูกคิดอย่างเป็นระบบ และแยบยล เพราะทุกขั้นตอน ทุกข้าวของที่เลือกใช้ และทุกวิถีแห่งการปฏิบัติล้วนซ่อนสัญญะไว้มากมาย

        “สำหรับเทศกาลจีนแล้ว ทุกอย่างที่ใช้ในพิธีล้วนคือเรื่องของ symbolism หากเรารู้จักอ่านความหมายของสัญลักษณ์เหล่านี้ได้ ก็จะเข้าใจทุกอย่าง ทั้งเกี่ยวกับผู้ตายและความสัมพันธ์ของครอบครัวโดยที่ไม่ต้องไปถามไถ่ จนกลายเป็นการรบกวน หรือสร้างความลำบากใจให้แก่ญาติพี่น้องผู้ตาย”

        สมชัย กวางทองพานิชย์

        อาเจ็กสมชัย ยังเล่าด้วยว่า ในสมัยก่อน หากมองเห็นบ้านไหนแขวนโคมสีน้ำเงิน แปลว่า บ้านนั้นมีคนตาย โดยบนโคมจะเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นหญิงหรือชาย อายุเท่าไร ทำให้เพื่อนบ้านเข้าใจว่าครอบครัวนี้อยู่ระหว่างความโศกเศร้า และจะได้ไม่รบกวน

        เมื่อมองมาที่พิธีกรรม เราอาจจะพอผ่านตากับการสวมชุดแบบกระสอบของลูกหลานในพิธีศพแบบจีน อาเจ็กสมชัย อธิบายว่า นี่คือชุดไว้ทุกข์รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ชุดหมั่วซา หากเป็นลูกสายตรง จะต้องใส่ชุดกระสอบหยาบ ด้านในเป็นชุดผ้าดิบ ไม่สอยชาย เพื่อแสดงถึงความโศกเศร้าอาลัย ส่วนรุ่นหลานที่ถัดออกมาจะใส่ชุดผ้าขาว เพราะสีขาวเป็นสีแสดงถึงความตายของคนจีน (ไม่ใช่สีดำ) 

        “หากอ่านสัญญะเหล่านี้ออก จะทำให้ผู้มาร่วมพิธีศพไม่ต้องสงสัย ตั้งคำถาม หรือมาวุ่นวายกับญาติหรือประวัติของคนตาย เพราะเป็นการเคารพช่วงเวลาแห่งความสูญเสีย และยังสามารถให้ความช่วยเหลือได้ถูกคนด้วยว่าขาดเหลืออะไร จากการอ่านสัญญะของชุด”

        สมชัย กวางทองพานิชย์

        จ๊อขี่ – งานรำลึกเพื่อคนเป็น ไม่ใช่คนตาย

        แม้พิธีกรรมจีนที่เล่ามานั้นดูมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย แต่แท้จริงแล้วยังมีรายละเอียดอีกมากที่ถูกลดทอนไปตามยุคสมัย มองผิวเผินจะดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ลูกหลานจีนต้องพยายามสานต่อวิถีปฏิบัติเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับอย่างสูงสุด แต่หากพิจารณาให้ดี พิธีกรรมทั้งหมดอาจเป็นการทำเพื่อคนที่ยังเหลืออยู่เช่นกัน


        อาเจ็กสมชัย ยกตัวอย่างอีกหนึ่งพิธีคือ จ๊อขี่ หรือวันครบรอบ 1 ปี วันเสียชีวิตของบรรพบุรุษในครอบครัว (Death Anniversary of family member) โดยปกติจะมีการทำต่อไปเรื่อย ๆ จนครบ 3 ปี หรืออาจทำต่อไปทุกปีก็ได้ (คล้ายคลึงกับเช็งเม้งที่ทำในทุก ๆ เมษายนของทุกปี) 


        ในพิธีนี้ ลูกหลานต้องตั้งโต๊ะกินข้าว ตักกับข้าว วางตะเกียบให้เสมือนบรรพบุรุษจะลุกขึ้นมากินข้าวกับเราจริง ๆ ด้วยของไหว้ที่ประกอบด้วย สัตว์ 3 สายพันธ์ุ ได้แก่ สัตว์ปีก (เป็ด ไก่) สัตว์กีบ (หมู วัว แพะ) และ สัตว์เกล็ด (ปลา) ร่วมกับอาหารที่สอดคล้องกับธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ไม้ (木), ไฟ (火), ดิน (土), โลหะ (金), และ น้ำ (水) เพื่อให้สมดุลกับพลังงาน ซึ่งน่าจะมาจากกุศโลบายของคนโบราณ

        “วิธีคิดของระบบของไหว้ของจีนน่าจะเป็นกุศโลบายที่มาจากสมัยโบราณ ต้องมีเนื้อสัตว์หลากหลาย เพราะหากทำการเกษตรแล้วเลี้ยงแต่สัตว์ชนิดใด ชนิดหนึ่ง หากเกิดโรคระบาดจะล่มจมได้ และหากกินเนื้อสัตว์เข้าไปมาก ๆ ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ จึงต้องมีอาหารจำพวกพืชผักตามธาตุมาช่วยให้สมดุลด้วย”

        สมชัย กวางทองพานิชย์

        โดยหลักการแล้ว การไหว้จ๊อขี่ ไม่ได้ให้ลูกหลานไหว้บรรพบุรุษทั้งหมดที่มี แต่ขอให้ไหว้ไป 3 ชั่วอายุคนเท่านั้น เช่น หากพ่อแม่เรายังคงมีชีวิตอยู่ เราก็ไหว้บรรพบุรุษที่เป็น ปู่ ทวด และเทียด (ปู่-ย่าทวด)

        “ผมยกตัวอย่างให้ง่าย ตอนนี้แม่ผมตายแล้ว ถ้าตอนนี้พ่อผมยังอยู่ พ่อผมต้องไหว้บรรพชนด้วยข้าว 7 ที่ ได้แก่ เทียด ทวด ปู่-ย่า และเมีย (แม่ของผม) และพอพ่อผมเสียชีวิตลง ตัวผมเองก็เลื่อนพ่อมาไว้ที่หิ้งแทนเทียด และไหว้แค่ 6 เท่านั้น ก่อนผมนำเทียดลง ผมก็ต้องไหว้บอกเทียดว่า ท่านหมดหน้าที่ลงแล้ว ตอนนี้พ่อก็ได้เสียชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วงอีกต่อไป และขอให้เทียดไปเกิดใหม่ หรือบางคนที่เกิดทันได้เทียดเลี้ยง แล้วผูกพันธ์ จะไหว้ต่อก็ไม่ผิดอะไร”

        สมชัย กวางทองพานิชย์

        สำหรับวันและพิธีกรรมมากมายที่ลูกหลานชาวจีนต้องถือปฏิบัตินี้ อาจนำความไม่สะดวกสบายมาให้ลูกหลานโดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่อยู่บ้าง แต่อาเจ็กสมชัย ยืนยันว่าพิธีเหล่านี้มีประโยชน์มากสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะนี่คือช่วงเวลาแห่งการรำลึกถึง สะท้อนตนเอง และเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดี

        “วันจ๊อขี่ เป็นวันที่เราเชื่อว่า วันนี้บรรพบุรุษของเราจะมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับผมแล้ว แม่ผมเสียไปนานกว่า 30 ปี แต่ทุกวันนี้ ผมยังทำพิธีจ๊อขี่ให้แม่เสมอ”

        สมชัย กวางทองพานิชย์

        อาเจ็กสมชัย ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ตนเองอายุ 60 กว่าปีแล้ว สำหรับคนวัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีคนคอยพูดคุยรับฟัง กลุ้มใจก็ไม่มีใครคุยด้วย แต่พอได้ทำจ๊อขี่ให้แม่ มันเหมือนวันนั้น แม่ลุกขึ้นมาคุยกันได้อีกครั้ง ทำให้รู้สึกว่าเขาไม่ได้หายไปไหน แต่คอยอยู่ปลอบประโลมจิตใจเรา และจะดูแลเราอย่างนี้เรื่อยไป