นอกจากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม, ภาพของ (ว่าที่) ส.ส. จากพรรคก้าวไกลแลนด์สไลด์ในหลายจังหวัด ยังเป็นอีกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน หลายคนคาดหวังว่าจะได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ ขณะที่อีกหลายคนยังห่วงใยว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะราบรื่นจริงหรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้นในสมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร จันทบุรี ระยอง และภูเก็ต ที่ขุนพลก้าวไกล ล้มการเมืองบ้านใหญ่ได้ในชั่วพริบตา เช่นเดียวกับเมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ที่พรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้ง 32 เขต จากทั้งหมด 33 เขต ก็ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อย คาดหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นกัน
หนึ่งในนั้น คือความเป็นเอกภาพของผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ผ่านกลไกนิติบัญญัติ หลายเรื่องแก้ยาก แม้แต่ผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีก็ยังเจอทางตัน
ในวันที่กรุงเทพฯ กลายเป็นไร่ส้ม มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรปลดล็อก เพื่อใช้โอกาสนี้ทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่าเดิมได้จริง ๆ
เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ ทลายปัญหาเรื้อรังกรุงเทพฯ
อดีตแคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล อย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร บอกว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค ด้วยการขยายอำนาจให้กับผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อดูแลสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้คนกรุงเทพฯ และครอบคลุมมากขึ้นทั้งเรื่องไฟฟ้า ประปา ถนน และการจัดการขยะ
เขายกตัวอย่างข้อจำกัดของผู้ว่าฯ กทม. อย่างเรื่องไฟฟ้า ที่เมื่อจะแก้ปัญหาหรือเดินหน้านโยบายใด ๆ ก็ต้องหารือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หากเป็นเรื่องประปา ก็ต้องปรึกษาการประปานครหลวง (กปน.) แต่หากมีการแบ่งสรรอำนาจหน้าที่ใหม่ให้ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจมากขึ้น จะทำให้สามารถดูแลสาธารณูปโภคให้คนกรุงเทพฯ มากขึ้น
หรือเรื่องของขนส่งสาธารณะ อย่างรถเมล์ ว่าหากผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจในการอนุมัติเส้นทางการเดินรถ การปรับเปลี่ยนสายการเดินรถประจำทาง ก็จะทำให้การสัญจรคมนาคมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการเดินรถที่ต่ำลง นอกจากนี้ การเดินรถเมล์ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจตึกแถว เศรษฐกิจสองข้างทางด้วย เพราะผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด โดยควรทำงานร่วมกับสภากรุงเทพมหานคร
หากถามถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ? เดิมอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ ผู้ว่าฯ กทม. หรือ กรุงเทพมหานคร ไม่มีอำนาจเต็ม ทำให้การขออนุญาตต่าง ๆ มีความซับซ้อน หลายขั้นตอน ทำให้การประกอบกิจการสุจริตมีความล่าช้า เป็นช่องว่างในการเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการทุจริต วิโรจน์ มองว่าหากผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจเพิ่มขึ้น จะช่วยให้การออกใบอนุญาตทำได้อย่างรวดเร็วและรัดกุมมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนได้รวดเร็วมากขึ้น
นอกจากการกระจายอำนาจ เขายังมองว่าต้องมีการกระจายงบประมาณให้กับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย โดยย้ำว่า “การกระจายอำนาจ” เป็นอุดมการณ์หลักของพรรคก้าวไกล รวมถึงการเพิ่มงบประมาณให้กับท้องถิ่น เข้าใจว่าโดยเฉลี่ยแล้ว กทม. ในปีการบริหารที่ 4 จะได้งบประมานเพิ่มขึ้นอีกราว ๆ 3,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะเพียงพอต่อการให้บริการดูแลสารทุกข์สุขดิบประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้ดีมากขึ้น
“เราต้องวางตำแหน่งแห่งที่กับสมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้ดี และตัวผู้ว่าฯ กทม. ให้ดีด้วย ไม่ใช่ไปแทรกแซงการทำงานซึ่งกันและกัน หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือการสะท้อนเสียงของประชาชน สะท้อนปัญหาของประชาชน เพื่อให้ทาง สก. และผู้ว่าฯ จัดงบประมาณให้ตรงใจกับประชาชนมากขึ้น หรือเข้ามาจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้ดีและสมดุลยิ่งขึ้นในเขตต่าง ๆ”
วิโรจน์ ย้ำว่า แม้ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครในเวลานี้ จะมีความรู้ความสามารถมาก แต่ตอนนี้ติดขัดเรื่องงบประมาณและอำนาจในการบริหารจัดการ แต่หากมีงบฯ มีอำนาจเพียงพอ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ได้ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำท่วมหรือการระบายน้ำ เรื่องรถเมล์ พื้นที่สีเขียว หรือเรื่องการจัดการขยะ อย่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกที่ต้องทนทุกข์กับโรงขยะที่อ่อนนุช ก็จะได้รับการจัดการทั้งระดับมหภาพ ควบคู่กับระดับท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่มองข้ามไม่ได้? เรื่องสิ่งแวดล้อม กฎหมายอากาศสะอาด การรายงานการเคลื่อนย้ายสารเคมี หรือสารพิษต่าง ๆ ก็สอดรับกับการจัดการขยะที่จะดีขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ปัญหาขยะในเมืองใหม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เราพูดเสมอว่าการจัดการขยะที่ดี หรือเปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นยุทธศาสตร์ที่ทั่วโลกใช้ แต่เราไม่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมาหรือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ไว้วางใจไปเสียแล้ว อย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเอาขยะมาทำไฟฟ้า ก็ประสบความสำเร็จ แต่ทำไมมันล้มเหลวในประเทศไทย วิโรจน์ บอกว่านี่เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลจะรื้อฟื้นความเชื่อมั่น
“เรื่องการจัดการขยะ พรรคก้าวไกลคิดตรงกันกับอาจารย์ชัชชาติ มีทั้งในเรื่องของกฎหมายที่ต้องขับเคลื่อนผ่านสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องงบประมาณต้องควบคู่กัน เรื่องพื้นที่ ส.ส. ต้องทำงานร่วมกันกับผู้ว่าฯ อย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าจัดสมดุลทั้งสามเรื่องนี้ได้จะทำให้กรุงเทพมหานครดีขึ้น”
‘ปรับโครงสร้างการบริหาร’ เดินหน้าแก้ปัญหา กทม.
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีปัญหาทั้ง ๆ ที่แม้ว่าจะมีผู้ว่าฯ กทม. เป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ยังมีปัญหา เพราะในช่วงการบริหารประเทศโดยรัฐบาล คสช. มีผลพวงต่อการทำรัฐประหารสำคัญในพื้นที่ คือการยกเลิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) แปลว่าจริง ๆ แล้วแต่ละเขตในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนอาศัยอยู่มหาศาล ไม่มีระบบสภาของตัวเอง ไม่มีระบบที่จะเอื้อให้เกิดการปรึกษาหารือของคนในเขตของตัวเองเลย เพราะปัจจุบันมีผู้แทนเขตเพียง 1 คน คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีผู้อำนวยการเขตที่ถูกส่งมาจากผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีสภาเขตฯ เหมือนก่อนหน้านี้ และไม่มีเครือข่ายในพื้นที่ ที่จะสามารถนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้ของคนแต่ละเขต
ส่วนของผู้อำนวยการเขตเองก็ไม่มีแนวทางอะไรที่จะปรับปรุงในกรอบกฎหมาย ซึ่งหากจะแก้ไขเรื่องนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ทำเองไม่ได้โดยตรง เพราะไม่มีอำนาจพอ ถ้าทำก็จะทำในลักษณะของการปฏิบัติราชการ หากจะแก้ไขต้องเป็นในส่วนของ พ.ร.บ. แต่กลับไม่เห็นว่ามีใครสนใจแก้ปัญหาโครงสร้างของ กทม. ในการบริหารเลย
“สข. ควรจะให้มีการนำกลับมา แต่ต้องมีการปรับปรุง ต้องไม่เหมือนเดิม ในระบบตัวแทนของแต่ละเขตอาจจะต้องออกแบบใหม่ ไม่เลือกเป็นพวง อาจจะเลือกเป็นเขตย่อย หรืออาจจะแบ่งเลือกตามลักษณะของชุมชนก็ได้ ต้องช่วยกันคิดก่อน แต่ตอนนี้เราไม่มีสภาอะไรเลยที่จะคอยตรวจสอบผู้อำนวยการเขต ไม่มีโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ให้สามารถตรวจสอบการทำงานของผู้อำนวยการเขตและตัวเขตของ กทม. ทั้งหมดเลย เพราะเขตรับนโยบายจากสำนักต่าง ๆ ลงมาทำงาน แต่ไม่มีการตรวจสอบในระดับเขต เดิมการตรวจสอบก็ไม่เข้มข้นอยู่แล้ว จึงต้องปรับระบบนี้ ตัวผู้อำนวยการเขตไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น อาจจะมาจากการแต่งตั้งก็ได้ แต่ความสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่อยู่ที่การตรวจสอบ หากเลือกตั้งมาแล้วการตรวจสอบไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์”
ผศ.พิชญ์ มองว่า ตัวโครงสร้างการบริหารจัดการของ กทม. เองก็มีปัญหา ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. มีถึง 9 คน ขณะที่รองผู้ว่าฯ มีแค่ 4 คน ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่อย่างนั้นควรจะต้องปรับเป็นตัวผู้ว่าฯ มีรองผู้ว่าฯ เหมือนรัฐมนตรีไปนั่งตามสำนักต่าง ๆ มีรองผู้ว่าฯ แค่ 4 คน ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะถึงเวลาก็ต้องนั่งดูแลหลายสำนัก แบ่งงานกันไปมา
“ถ้าทำได้จริง ผู้ว่าฯ น่าจะได้คนมาดูแลสำนักต่าง ๆ อย่างเพียงพอ จากที่มีมากถึง 15 สำนัก อาจจะลดเหลือ 13 สำนัก จากกฎหมายเก่าก็ได้ แล้วก็ให้ผู้ว่าฯ ตั้งตำแหน่งมาเลย 13 คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญให้มาดูแลสำนักต่าง ๆ จะได้ชัดเจน”
เรื่องที่สอง การแก้ปัญหาโครงสร้างกรุงเทพมหานคร ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกพรรคก้าวไกลที่ได้ตำแหน่ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ ด้วยกันเอง เพราะเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร ที่ กกต. แบ่งไว้ ไม่ได้แบ่งตามเขต ไม่ใช่ ส.ส. 1 คน ดู 1 เขต แต่บางเขตอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.หลายคน หากจะแก้ปัญหาเรื่องอะไรก็ต้องร่วมมือกัน
“ปัญหาที่ กกต. ทำไว้ในกรุงเทพฯ คือการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเละเทะ มุ่งหวังให้ทุกที่เท่ากัน แต่ไปผ่าเอาพื้นที่เขตของ กทม. เดิมออกจากกัน ทำให้ผู้แทนในฐานะที่เป็น ส.ส. ดูแลพื้นที่ไม่พอดี ไม่ตรงกับพื้นที่สำนักงานเขต 50 เขต อย่างเขตภาษีเจริญถูกหั่นออกเป็น 5 ส่วน กลายเป็นว่าผู้แทนเขตเลือกตั้งแถวนั้นก็ต้องช่วยกัน ดังนั้น เมื่อก้าวไกลเป็นตัวแทนคนกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด จะทำให้การขับเคลื่อนหลายเรื่องมีความเป็นไปได้สูงขึ้น”
นอกจากนี้ ผศ.พิชญ์ มองว่า นโยบายของก้าวไกลในกรุงเทพฯ บางส่วนเป็นนโยบายเฉพาะ เช่น การปรับปรุงศูนย์เยาวชนในเขตบางซื่อ การขนส่งในเขตทวีวัฒนา หรือเรื่องการจัดการระบบระบายน้ำ คิดว่าก้าวไกลน่าจะเข้ามาทำงานประสานกับชัชชาติได้ แต่ในทางกลับกัน ชัชชาติก็ต้องแสวงหาความร่วมมือกับก้าวไกลเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ชัชชาติจะเป็นแกนหลักมากกว่า เพราะก้าวไกลเป็น ส.ก. แค่ 14 เขต
ผศ.พิชญ์ ยกตัวอย่างเรื่องที่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เรื่องระบบระบายน้ำ การเปิดเผยข้อมูลรัฐ ระบบ CCTV รวมถึงการย้ายค่ายทหารออกจากกรุงเทพฯ หรือแม้แต่เรื่องนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็มีความสำคัญ หากมองในเชิงบวกจะเป็นประโยชน์กับทั้งประเทศ ถ้าทุกอย่างออกมาเป็นกรอบกฎหมายระดับชาติได้ หมายความว่าก็จะใช้ได้กับผู้บริหารท้องถิ่นทุกที่ ซึ่งก้าวไกลมีความมุ่งหมายที่จะกระจายอำนาจอยู่แล้ว แม้ว่าในส่วนของกรุงเทพฯ อาจต้องผลักดันไปให้กระทรวงต่าง ๆ ที่ดูแลร่วมแก้ไขปัญหาด้วย
“เช่น ถ้าเขายกระดับเรื่องการระบายน้ำทั้งประเทศได้ ยกระดับเรื่องการแก้ปัญหาส่วยได้ ยกระดับเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ ไม่ใช่ได้แค่กรุงเทพฯ ข้อดีของก้าวไกลรอบนี้ คือ ถ้าเป็นตัวแทนกรุงเทพฯ ก็เรียกหน่วยราชการต่าง ๆ เข้ามาดูแลได้ในทันที ซึ่งดีกว่าเฉพาะตัว กทม. ด้วยซ้ำ ถ้าตั้งกระทู้ถามในสภา แล้วดึงหน่วยราชการส่วนกลางเข้ามาตอบคำถาม หรือใช้ระบบกรรมาธิการก็จัดการได้หมดแล้ว ซึ่งก้าวไกลสามารถผลักดันให้แก้ในระดับ พ.ร.บ. ซึ่งไม่ได้มีผลแค่ในกรุงเทพฯ แต่มันมีผลต่อทั้งประเทศ ทำให้ผู้บริหารเมืองใหญ่ได้ประโยชน์ด้วย”
นักวิชาการสะท้อน นโยบายด้านความยั่งยืนยังน้อย
ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มองว่า ถ้าวิเคราะห์ภาพรวมหลังพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเกือบทุกเขตในกรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพราะความเบื่อการบริหารการเมืองแบบเก่า ๆ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเลือดใหม่ทางการเมือง แม้จะยังเป็นพรรคไม่เคยบริหารทางการเมือง แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ เพราะพรรคนี้มีการจับของกลุ่มประชากรวัยรุ่น กลุ่มที่มีพลังมีความคิดสร้างสรรค์ มีความรวดเร็วในการใช้สื่อ ถ้ามองให้เป็นโอกาสก็มีความท้าทายต่อการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ ๆ เพราะในอดีตหลายคนอาจเคยเห็นรูปแบบเดิมที่มักพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเพียงอย่างเดียว แต่การใช้ข้อมูลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประกอบกับองค์ความรู้มาปรับใช้ก็อาจช่วยแก้ปัญหาทางสังคมได้ดีขึ้น
“การเลือกตั้งงวดนี้เหมือนล้างไพ่เก่าออกไป ดูเหมือนว่านโยบายอะไรที่ติดขัดต้องมาคุยกัน ต้องดึงขึ้นมาแล้วมาประมวลผลกัน อย่าง กทม. เอง แม้ยังติดปัญหาหลายส่วน โดยการบริหารจัดการแนวดิ่งอาจต้องคุยกันใหม่ การเปลี่ยนผ่านมาในยุคนี้ที่ได้สีส้ม ก็อาจต้องจับตานโยบายอีกทีว่าสามารถทำได้จริงอย่างที่สัญญาไว้อย่างไรบ้าง แต่นโยบายที่เห็นเชิงลึก ผมยังเห็นว่ายังขาดเรื่องความสำคัญเรื่องการจัดการน้ำ ความสำคัญเกษตรที่เกี่ยวกับรากหญ้าของที่อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวอากาศข้างหน้าด้วย”
แม้ว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลหลายคนจะแสดงสปิริตพร้อมทำงาน แต่เมื่อยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และ กกต. ยังไม่ได้รับรองบทบาทหน้าที่อย่างเป็นทางการ ส.ส.บางคนเริ่มทำงานแล้ว บางคนรอดูสถานการณ์ ส่วนประชาชนก็นั่งเฝ้ารอพร้อมความคาดหวังว่า ส.ส.หน้าใหม่ไฟแรง จะมีส่วนขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร