อ่านเกม “ก้าวไกล” แพ้ในสภาฯ แต่สู้หัวชนฝา ปักธงสัญญาประชาคม

งานการเมืองที่ “ก้าวไกล” ทำ ไม่ใช่แค่การหาเสียง ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ “ปักธงทางความคิด”

ก้าวไกล ไม่ชนะในเกมที่ถูกบังคับให้เล่น สละทุกอย่าง เขาก็ไม่เลือก สถานการณ์ที่กำลังเดินไป คือ เพื่อชัยชนะในเกม นอกสภาฯ”

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านเกมของก้าวไกลเวลานี้ ที่แม้หลายฝ่ายจะประเมินไปถึงการถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน และอาจทำให้การผลักดันนโยบาย รวมถึงกฎหมายในสภาฯ ไปไม่ถึงฝัน แต่ พรรคก้าวไกล ซึ่งอาจารย์ปุรวิชญ์มองว่า พรรคก้าวไกลไม่เคยหยุดทำงานปักธงความคิดนอกสภาฯ

ล่าสุด แม้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะอยู่ระหว่างการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. แต่ก็ยังเห็นการเตรียมลงพื้นที่ร่วมงาน สุราก้าวหน้า ในวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ ตลาดดิโอโซน อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งเป็นอีกนโยบายหลักที่ตั้งใจเดินหน้า ทลายทุนผูกขาด สุราเสรี

หรือการเดินเกมคู่ขนานโดยการเปิดหน้าของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่เปิดหน้าชนผ่านรายการกรรมการข่าว ระบุ “สู้กับคนหน้าด้าน น่ากลัวที่สุด เพราะถ้ามันแพ้ มันก็จะโกงล้มกระดาน สร้างกติกาใหม่ วิธีสู้กับคนหน้าด้าน คือ ต้องหน้าด้านกว่าเท่านั้น” สะท้อนชัดว่ากำลังเล่นเกม ยื้อ กอดขา “เพื่อไทย” ไม่ปล่อยด้วย MOU 8 พรรคร่วม

[แฟ้มภาพ] ปุรวิชญ์ วัฒนสุขคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านเกมยื้อ “ก้าวไกล” กอด “เพื่อไทย” วิโรจน์ เปิดหน้าไม่ปล่อยด้วย MOU 8 พรรคร่วม

อาจารย์ปุรวิชญ์ มองว่า เวลานี้ ก้าวไกล กำลังเล่นเกมยื้อ โดยมี MOU 8 พรรคร่วมกอดไว้ แม้จะมีกระแสว่าเพื่อไทยอาจจะไปจับกับขั้วตรงข้าม แต่ก้าวไกลก็ยังคงยื้อไปเรื่อย ๆ ไม่ถอนตัว ทำให้เวลานี้ “เพื่อไทย” ต้องคิดหนัก อยู่บนทาง 2 แพร่ง

หากเพื่อไทยสลัดหลุดทันที ก็อาจจะต้องอธิบายต่อมวลชนอีกไม่น้อย ช่วงเวลานี้จึงเป็นจุดวัดใจของพรรคเพื่อไทยว่า จะเคลื่อนอย่างไร แต่หากให้เดาจากแถลงการณ์ทั้ง 2 ฝ่าย คาดว่าจะยังคงยื้อกันไว้จนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี 27 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ จึงค่อยพัฒนายกระดับต่อไป

หากถามว่าจะทำอย่างไร ก้าวไกล ถึงจะได้ชัยชนะในสนามนี้ อาจารย์ปุรวิชญ์มองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐสภาปัจจุบันมีบทเฉพาะกาลที่วางเกมระยะยาว ให้ สว. ได้ทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเห็นได้ชัดว่าเป็นกติกาหลังการรัฐประหาร อธิบายได้ว่า ออกแบบมาเพื่อให้การเมืองหลังรัฐประหาร สามารถควบคุมได้โดยคณะรัฐประหารต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

สว. เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แม้จะรวมเสียงข้างมากได้ แต่หากยังมี “ก้าวไกล” อยู่ในสมการ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 การสู้กันให้ชนะด้วยตัวเลข ก็ยังทำได้ยาก!

แต่อีกด้าน พรรคก้าวไกล ก็ยังคงทำงานเดินสายหามวลชนผู้สนับสนุน สิ่งที่จะเกิดในอนาคต คือ ไม่ชนะในเกมที่บังคับให้เล่น แต่กำลังเดินไปเพื่อชนะเกมนอกสภา

“เกมที่ถูกบังคับให้เล่น ถูกตั้งบรรทัดฐาน บีบ และขีดเส้นให้เล่นในกติกาที่อีกฝั่งออกแบบไว้… เดินอย่างไรก็ไม่ชนะ สละทุกอย่างเขาก็ไม่เลือก เป็นเพียงแค่เปลือกที่ใช้ประกอบเป็นความชอบธรรม

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

ส่วนประเด็นการเปิดหน้าชนของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สะท้อนชัดว่ากำลังเล่นเกม ยื้อ กอดขา “เพื่อไทย” ไม่ปล่อยด้วย MOU 8 พรรคร่วม พร้อมย้ำ 5 จุดยืน

  • ปิดสวิตช์ 3 ป.
  • รักษาความกลมเกลียว 8 พรรคร่วม
  • ให้เกียรติแกนนำรัฐบาล
  • รักษาจุดยืนของทั้ง 8 พรรค
  • ความยืดหยุ่นภายใต้สถานการณ์ความเป็นจริง

อาจารย์ปุรวิชญ์มองว่าเป็นสไตล์การเปิดตัวตีกลับของ วิโรจน์ เพื่อยืดเกม “เธออยากให้ไป แต่ฉันไม่ไป ฉันมี MOU อยู่…” เป็นกลยุทธ์การกอดขาไม่ไปไหน แต่ยืนหยุ่นได้ตามสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทางการเมือง แต่ก้าวไกลจะไม่เป็นฝ่ายออกไปเอง เพราะการกอดไว้ ถือเป็นแต้มต่อ มีอำนาจและความชอบธรรม เหลือทางไว้ให้เพื่อไทยไต่บนเส้นลวด เพียงลำพัง ทั้งที่พรรคก้าวไกลก็รู้อยู่แล้วว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไรในวันโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม นี้

เงื่อนไข รัฐบาลเสียงข้างน้อย บีบ “เพื่อไทย” ตัดสินใจผลัก “ก้าวไกล” นักรัฐศาสตร์ชี้ ยังผลักดันร่างกฎหมายสำคัญได้ในฐานะฝ่ายค้าน

สถานการณ์จากนี้ คือ การปูเรื่องไปสู่ผลลัพธ์ที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการ เวลานี้ 188 เสียง เตรียมรอการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่กำลังจะเป็นตัวเร่งที่บีบบังคับให้พรรคร่วมต้องคิดต่ออีกครั้งว่าจะเดินไปทางไหน…

สุดท้ายแล้วถ้า “เพื่อไทย” ไม่เอา “ก้าวไกล” ก็ต้องมาดู MOU กันใหม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า MOU ไม่มีผลในทางกฎหมาย ทิศทางที่จะเป็นไปได้ตอนนี้คือ ถ้าเอา “ก้าวไกล” ออกจากสมการ อาจจะต้องมี ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา ตามกระแสตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจริง เพื่อไทยต้องมีเหตุผลที่ดีมากในการพูดกับมวลชนของตัวเอง เพราะต้องไม่ลืมว่ายังมีมวลชนบางส่วนที่มีบาดแผลจากคนเสื้อแดง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปรากฏการณ์หันหลังให้ “เพื่อไทย” ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยรักษาชาติ น่าจะมีโอกาสยากในการร่วมรัฐบาลข้ามขั้วครั้งนี้

นั่นหมายความว่าหาก “ก้าวไกล” ถูกผลักเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องดูอีกทีว่ามีฝ่ายค้านเป็นพรรคใดบ้าง สิ่งที่ก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านยังทำได้ อาจไม่ใช่การผลักดันนโยบายในสภาฯ เพราะอาจไม่มีเสียงหนุนในสภาฯ มากพอ

แต่คือ การทำงานเชิงความคิดนอกสภาฯ รวมถึงความพยายามผลักดันร่างกฎหมายหลายประเด็น เช่น สุราก้าวหน้า, สมรสเท่าเทียม, ม.112 เพราะเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับกลุ่มโหวตเตอร์ช่วยก่อนการเลือกตั้ง แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้จะยังไม่สำเร็จแต่ก็ถือว่าพรรคก้าวไกลได้ขับเคลื่อน ปักธงความคิด และยิ่งทำให้แหลมคมมากเรื่อย ๆ

นั่นหมายความว่า แม้ในสภาฯ การเมืองแพ้ แต่อย่าลืมว่าการเมืองคือการต่อสู้ระยะยาว เชื่อว่าก้าวไกลยังคงเคลื่อนต่อ บรรจุร่างกฎหมาย กระทู้ถาม เตรียมแพ็กเกจการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เดินหน้าเรื่องนี้ต่ออยู่แล้ว…

ยุทธศาสตร์ “ก้าวไกล” ปักธงมวลชน ล้อมสภาฯ “ประชาธิปไตยกินได้ ไม่พอ!”

อาจารย์ปุรวิชญ์วิเคราะห์ต่อว่า รอบนี้ก้าวไกลถูกสกัดโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญและรัฐสภา กลายเป็นจุดที่สร้างความชอบธรรมให้คนออกมาชุมนุม ทำให้การหนุนมวลชนนอกสภาฯ ของก้าวไกลในช่วงเวลานี้ไม่ผิด เพราะกระดานในสภาฯ มันยาก ถ้ามองในเกมระยะยาว การเลือกครั้งใหม่จะมีชื่อพรรคก้าวไกลหรือไม่ ไม่รู้ แต่หากก้าวไกลยังคงรักษาจุดยืนเสรีประชาธิปไตย และแรงหนุนจากมวลชนได้ นั่นอาจหมายถึงชัยชนะในอนาคต

ประเทศไทยอยู่กับความรู้สึกในระบอบเดิมหลังการถูกทำรัฐประหาร ยาวนาน 9 ปี ในช่วงเวลานั้น พรรคอนาคตใหม่ ได้จุดประกายให้ความใหม่กับสังคม แปลงร่างมาเป็น ก้าวไกล พรรคก้าวไกลทำให้ผู้คนสนใจการในเชิงโครงสร้าง การหาเสียงเริ่มใช้คำว่า “มีลุง ไม่มีเรา” สัญญาจะมาเพื่อหยุดวงจรการสืบทอดอำนาจ คสช. ยิ่งตอกย้ำว่า มีแค่นโยบายสวัสดิการดีไม่พอ แต่ต้องมีระบบการเมืองที่ดี ตอบสนองต่อความหวังของประชาชนได้ ประชาชนเริ่มเข้าใจว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว หากการเมืองดี ปากท้องก็ต้องดีด้วย

ต่างจากบริบทการเมืองสมัย ไทยรักไทย อย่างสิ้นเชิง ในช่วงเวลานั้น การเมืองถูกมองให้เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของนักการเมือง แยกส่วนจากชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ปัจจุบันเกี่ยวข้องกับปากท้องความคาดหวังอย่างมหาศาล

“นโยบายก้าวไกล ไม่แจกเงิน แต่ละเรื่อง คือ Pain point ความเจ็บปวดของคนไทย เช่น แก้เกณฑ์ทหาร มาตรา 112 การหาเสียงของก้าวไกลภายใน 60 วัน ทำให้การเมืองกับปากท้องเป็นเรื่องเดียวกัน

การปักธงความคิด และ คำสัญญา มีลุง ไม่มีเรา ของก้าวไกล ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่เลือก 10,000 บาท จากเพื่อไทย สะท้อนว่า ประชาธิปไตยกินได้ไม่พอ…”

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

ไม่เพียงแค่การปักธงความคิดในช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น ในช่วงเวลาที่พรรคก้าวไกลรู้ผลคะแนนการเลือกตั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และสมาชิกพรรคก้าวไกล ยังคงเดินสายไปขอบคุณมวลชนอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในบางจังหวัดที่ก้าวไกลไม่ชนะบ้านเก่าหรือบ้านใหญ่ แต่มีคะแนนห่างกันไม่มาก พรรคก้าวไกลก็รีบไปขอบคุณเสียงจากประชาชน กระทั่งเหตุการณ์ในรัฐสภา วันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 19 กรกฎาคม ที่นายพิธา พูดก่อนโบกมือลารัฐสภาว่า…

“ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม ถ้าประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง แม้ผมยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไป”

สะท้อนว่า แม้พรรคก้าวไกลไม่มี นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็ยังขับเคลื่อนอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่แค่ตัวบุคคลอีกต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์