“ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยคำนึงถึงหลักการ ด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวน ภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง”
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในข้อที่ 5 ของ MOU ที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ในฐานะผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ชูเป็นอีกเป้าหมาย ที่ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลง
‘ภารกิจดับไฟใต้’ รอบนี้ยังมี ‘พรรคประชาชาติ’ และน้องใหม่อย่าง ‘พรรคเป็นธรรม’ เข้ามาเป็นกำลังสำคัญ ในฐานะที่ถูกมองว่าเข้าใจพื้นที่ เคยทำงานใกล้ชิด เข้าใจปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่น้อยไปกว่าใคร
ภารกิจนี้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อ 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล จับมือกันตั้ง ‘คณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน’ แน่นอนว่าการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในหลายประเด็นของคณะทำงานย่อยชุดนี้ด้วย
กระบวนการเริ่มต้นของการฟอร์มทีมรัฐบาลที่ใช้นโยบายเป็นตัวนำ ด้านหนึ่งถูกมองเป็นมิติใหม่ทางการเมือง จึงไม่แปลกที่แนวทางนี้จะถูกตั้งความหวังไว้สูงมากสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนซึ่งเผชิญกับปัญหาในพื้นที่อยากเห็น แต่ที่ตามมาคือการปรับเปลี่ยนที่ทุกคนเฝ้ารอจะเป็นไปได้ขนาดไหน…
หลอมรวมนโยบายดับไฟใต้
สิ่งที่ พรรคก้าวไกล เน้นย้ำถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการสร้างสันติภาพ ด้วย ‘หลักการ 3D’ ประกอบด้วย Democratization สร้างประชาธิปไตยทุกคนเท่ากัน Demilitarization เอาทหารออกจากการเมือง และ Decentralization การกระจายอำนาจ
ที่น่าสนใจคือ ไส้ในของแต่ละนโยบายของก้าวไกล สอดคล้องกับสิ่งที่พรรคเป็นธรรม นำเสนอ ซึ่งหลายนโยบาย เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารงานในพื้นที่ชายแดนใต้ นั่นทำให้กระทบต่อหน่วยงานความมั่นคงไปเต็ม ๆ เช่นกัน ทั้งการยกเลิกกฎหมายพิเศษทุกฉบับ, แก้ไขกฎหมายความมั่นคง, ถอนทหารออกจากพื้นที่, ยุบ ศอ.บต. และ กอ.รมน., ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และ ปฎิรูปกองทัพ
ขยายความ คือ พรรคเป็นธรรม เสนอให้เอา กอ.รมน. ออกจากกระบวนการสันติภาพ และ ยกเลิก กอ.รมน. ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยกเลิกกฎอัยการศึก ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งเนื้อหา และขอบเขตการใช้งาน ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสร้างกระบวนการสันติภาพที่ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมภายใต้รัฐบาลพลเรือน ยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร มีกระบวนการที่โปร่งใส สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่าย
ส่วน พรรคประชาชาติ ก็ต้องยอมรับว่า บุคลากรของพรรคหลายคน อยู่กับปัญหาชายแดนใต้ และมีประสบการณ์ในพื้นที่มายาวนาน อย่าง วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ที่เคยเป็นถึงอดีตเลขาฯ ศอ.บต. และว่าที่ ส.ส.ที่ได้ของพรรค ก็มาจากพื้นที่ชายแดนใต้มากที่สุด ถึง 7 เขต โดยสิ่งที่ประชาชาติ เน้น คือ นโยบายส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม, กระจายงบประมาณ กระจายอำนาจ, ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน, และแก้ปัญหาภาคใต้ ลดความเหลื่อมล้ำ
นโยบายดับไฟใต้ของทั้ง 3 พรรคถูกนำมาหลอมรวมเป็น MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ในข้อที่ 5 หากดูในเนื้อหาสาระจะพบว่า การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนเน้นหลักการสิทธิมนุษยชน คือ สิ่งที่ทั้ง 3 พรรคเน้นย้ำ, การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คือ แนวทางหลักของพรรคประชาชาติ, การทบทวนภารกิจหน่วยงานความมั่นคง แน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ พรรคก้าวไกล และ เป็นธรรม ชูธงมาตลอด
นั่นทำให้หลายฝ่าย มองว่า แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ของว่าที่รัฐบาลใหม่ อาจถือเป็นมิติใหม่ ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งยึดโยงการแก้ปัญหาชายแดนใต้มานานเกือบ 20 ปี
‘เป็นธรรม’ กับวาระ ‘มนุษยธรรมนำการเมือง’ และ ‘สันติภาพกินได้’
ในเวลานี้นอกจากพรรคก้าวไกล หนึ่งพรรคน้องใหม่ อย่าง เป็นธรรม ก็กำลังถูกสังคมจับตา โดย เฉพาะ ‘กัณวีร์ สืบแสง’ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งเดียวของพรรค จากบทบาทที่เขาเคยผ่านสนามการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนยาวนาน 12 ปี ใน 8 ประเทศ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในพื้นที่ประสบภัยมากกว่า 10 ล้านคน ในบทบาทของผู้แทน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อช่วงปี 2552-2564 กัณวีร์ ยังเป็นประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ตกผลึกแนวคิดที่ต้องการกลับมาช่วยประเทศไทย โดยยึดหลักการ ‘มนุษยธรรมนำการเมือง’ และ ‘สันติภาพกินได้’
สำหรับกัณวีร์แล้ว นโยบายดับไฟใต้ในมุมมองของเขา แม้ดูสุดโต่งด้วยข้อเสนอ การพาทหารกลับบ้าน ทำให้ชายแดนใต้ปราศจากด่าน แต่จริง ๆ แล้วพรรคเป็นธรรม ต้องการสร้าง 3 เสาหลักให้ได้ก่อน คือ
- ยกระดับการทำงานให้เป็นวาระสันติภาพให้ได้ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความจริงใจรัฐบาลไทยที่จะยกปัญหาในพื้นที่ปาตานีมาพูดคุยในระดับชาติ ที่ผ่านมาก็ใช้แต่หน่วยงานความมั่นคง ทำให้การแก้ปัญหาสันติภาพชายแดนใต้ไม่ยั่งยืน สันติภาพที่เกิดอย่างแท้จริง จึงควรนำโดยภาคประชาชน ต้องให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ มาบอก พร้อมทั้งเสนอ พ.ร.บ.สร้างสันติภาพ ,พ.ร.ก.ให้ความคุ้มครองฝ่ายเจรจา BRN ให้เข้ามาเจรจาในประเทศไทย เพราะการแก้ปัญหาความขัดแย้งจำเป็นต้องเจรจากันในพื้นที่
- สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ม.113 ,116, 215 เป็นกฎหมายที่ปิดปากให้พี่น้องประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พี่น้องในปาตานี โดนจับกุมคุมขังมานาน นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก ที่สามารถควบคุมคนได้ 37 วันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องขอหมายศาล การปิดปากพี่น้องประชาชนเหล่านี้ต้องจบไป คำพูดด้ามขวานทองจะหายไป เพราะรัฐปิดเอาไว้ไม่มีพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็น
- ปฏิรูประบบราชการ กอ.รมน., ศอ.บต. การยุบ กอ.รมน. คือ เอาโครงสร้างทหารออก เพราะทหารมีโครงสร้างอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องสวมหมวก กอ.รมน.
‘จัดการตัวเอง’ ไม่ใช่ ‘แบ่งแยกดินแดน’
แล้วสันติภาพปาตานีจะไปสุดทางตรงไหน กัณวีร์ ตอบชัดว่า สุดทางตรงที่ ‘จังหวัดจัดการตัวเอง’ ที่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน สันติภาพ คือ สิทธิเสรีภาพในการพูดคุยการแสดงออกของผู้คน ถ้าอยากพูดการแบ่งแยกให้พูดไป แต่คนที่ตัดสินใจคือประชาชนในพื้นที่ 3-4 ล้านคน ไม่ใช่แกนนำการพูดคุย พร้อมทั้งต้องเน้นการกระจายอำนาจ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนเอารูปแบบการปกครองมหานคร ลงไปอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ด้วยนั่นเอง
“กว่าจะมาเป็น MOU เราพูดคุย ถกเถียงกันอย่างเข้มข้น จนวินาทีสุดท้ายก่อนการประกาศ MOU พรรคร่วม ก็ยังเจรจากันต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง และมี 2-3 ประเด็นที่ทุกพรรคพยายามแสดงความคิดเห็น ตกแต่งกันจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อย่างของ พรรคเป็นธรรม พูดถึงแต่ สันติภาพปาตานีเท่านั้น เพราะแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ต่าง ๆ แต่ใน MOU ไม่มีคำว่าปาตานี ใช้คำว่าสันติภาพชายแดนใต้ สุดท้ายเราก็ต้องถอยคนละก้าวไม่ให้ทะลุเพดาน แต่ละพรรคก็มีความเคี่ยว ถึงขั้นพูดกันว่า ถ้าคุณไม่ทำอย่างนี้ ผมจะขอสงวนสิทธิ์ และไม่ลงนาม“
กัณวีร์ สืบแสง
MOU ที่ระบุถึงทิศทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ด้วยรูปแบบ และวิธีใหม่ ๆ จึงไม่แปลกที่จะถูกจับตาจากภาคประชาชนในพื้นที่ เพราะสิ่งที่ปรากฎใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล ข้อที่ 5 ย้ำชัดถึงการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
สลายอำนาจทับซ้อน ยุติต้นตอปัญหา
ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ ‘อานัส พงศ์ประเสริฐ’ นายกสมาคม The Looker มองว่า แม้ MOU เป็นเรื่องใหม่ แต่สำหรับคนในพื้นที่ มีทั้งคาดหวัง และไม่ได้คาดหวังอะไร
แต่อย่างน้อยก็มีกรอบนโยบายกว้าง ๆ เพื่อไว้เป็นพันธะสัญญา ซึ่งถ้าเทียบกับความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาหลายยุค ต้องยอมรับว่า นโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบ และการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ที่ปรากฎใน MOU มองเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่หลายเรื่องก็อาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะประเด็นโครงสร้างอำนาจ และเรื่องความมั่นคง ที่ถูกมองว่าเป็นอำนาจซ้อนทับกัน ถึงอย่างไรก็ยังอยู่ในความคาดหวัง ต้องไปให้ถึงการปรับเปลี่ยน เพราะถือเป็นต้นตอของปัญหา
“โครงสร้างอำนาจที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. และ ศอ.บต. อยู่ในพื้นที่มานาน ถ้ามองต้องว่าปรับเปลี่ยน ยุบ ยกเลิก ก็เชื่อว่าน่าจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน หากนโยบายเหล่านี้ถูกนำไปใช้จริงไม่ว่าจะเป็นที่พรรคก้าวไกลเสนอ หรือ พรรคเป็นธรรมเสนอ ก็มองว่า เป็นอำนาจที่ซ้อนทับซ้อนกันจริง ๆ ดังนั้นบทบาทของรัฐบาลใหม่ ต้องทำให้การปรับเปลี่ยนนี้เป็นไปได้ เพราถือเป็นใจกลางปัญหา อยู่ที่ว่ากระบวนการลดทอนอำนาจของหน่วยงานในพื้นที่จะเป็นแบบไหน ซึ่งในฐานะประชาชน ก็ยังมองไม่เห็นภาพ แต่ที่รู้คือตอนนี้หลายอย่างผิดสเตปไปหมด ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น หากทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถปรับเปลี่ยนอำนาจทับซ้อนที่เกิดขึ้นได้ ก็จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีของทั้งประเทศ”
อานัส พงศ์ประเสริฐ
งานความมั่นคง ไม่ใช่ทุกเรื่องของกระบวนการสร้างสันติภาพ
สอดคล้องกับ ‘สมใจ ชูชาติ’ รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ คาดหวังกับรัฐบาลใหม่ น่าจะช่วยปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่าง ในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ฝังรากลึกมานานได้ เพราะนอกจากปรับเรื่องโครงสร้างอำนาจแล้ว ก็อยากเห็นการสร้างกลไกใหม่ ๆ เกิดขึ้น ที่สำคัญหน่วยงานความมั่นคงเองก็ต้องปรับบทบาท หน้าที่ ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และต้องสร้างการมีส่วนร่วมประชาชนให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย
“รัฐบาลต้องเป็นตัวหลักการแก้ปัญหา แต่ต้องเอาคนในพื้นที่เป็นตัวรอง ขยับขับเคลื่อนเพื่อให้เดินไปข้างหน้าจริง ๆ เปลี่ยนจากของเดิมที่ทำมานานให้ดีขึ้น ไม่ใช่ใช้แบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ต้องมองบางเรื่องให้เป็นระบบโครงสร้าง ถ้ามองที่นโยบายถูกสั่งการจากบนลงล่าง ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะที่ผ่านมานโยบายที่หวังจะแก้ปัญหากลับทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าจะแก้จริง ๆ รัฐบาลต้องเอาประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก แล้วมาทำโมเดลไปปรับแก้ให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะทำ อย่างเรื่องเรื่องพหุวัฒนธรรม ที่อยากแก้ไขปัญหา ก็ต้องให้หน่วยงานวัฒนธรรมในพื้นที่รับผิดชอบ อาศัยความร่วมมือของผู้นำศาสนา ทั้งพระ และอิหม่าม มาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ทุกเรื่องด้านพหุวัฒนธรรมแต่กลับให้หน่วยงานความมั่นคงทำทั้งหมด อย่างในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยทหารก็รับไป อยากให้แค่หน้างานของตัวเอง งานพัฒนาต่าง ๆ ก็ให้คนที่อื่นที่เหมาะสมทำจะดีกว่า แต่ตอนนี้ทหารทำทุกเรื่องบางครั้งก็ไม่ตอบโจทย์”
สมใจ ชูชาติ
เกือบครบ 2 ทศวรรษของเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ สิ่งที่รัฐทำคือเติมโครงสร้างการบริหารงานเฉพาะในพื้นที่ แต่การแก้ปัญหาแทบไม่เกิดรูปธรรม เช่นเดียวกับงบประมาณ มหาศาลที่ถูกทุ่มลงไปด้วย
ปรับโครงสร้างอำนาจ ด่านหินรัฐบาลใหม่
แม้นโยบายแก้ไขปัญหาของว่าที่รัฐบาลใหม่ จึงถูกคาดหวัง แต่ก็ยังมีข้อท้าทาย ในมุมมองของ ‘รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ’ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะหากตั้งรัฐบาลได้แล้ว ในทางปฏิบัติจะเดินหน้าเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตาม MOU ได้ด้วยกระบวนใด โดยเฉพาะการใช้การเมืองนำการทหาร หรือแม้แต่ความพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ไปจนถึงการยกเลิก กอ.รมน. และ ศอ.บต.
“แน่นอน 3 จังหวัด ต้องเผชิญกับหน่วยงานความมั่นคง และราชการที่ฝังรากลึกมา 20 ปี พอดำเนินการ ก็เลยไม่ง่าย เพราะมีคนเสียประโยชน์เยอะ อาจเจอการต่อต้าน กลายเป็นข้อท้าทายอย่างมาก จึงต้องมานั่งคลี่ลำดับปัญหา เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องขอสภาฯ ให้พิจารณา ต้องรายงานผลต่อสภาฯ หรือไม่ หรือจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วทำกฎหมายใหม่ขึ้นเพื่อให้กฎหมายนั้น ครอบคลุมบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไม่มีความผิดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจทำให้เกิดการละเมิด ได้ อย่าง ศอ.บต. หรือ หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคที่ทำในลักษณะพิเศษ ระเบียบราชการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องคุยว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ
นักรัฐศาสตร์ ยังเชื่อว่า แนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบ ที่ปรากฎใน MOU ข้อ 5 น่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่น ให้กับฝั่งคู่ขัดแย้ง กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ อย่างกลุ่ม BRN ได้ไม่น้อย เพราะเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับข้อเสนอ และความพยายามหาทางออกด้วยกระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงหลายปีมานี้
“นโยบายพรรคการเมืองจำเป็นต้องหาทางเพื่อเป็นสะพาน สร้างการพูดคุยได้จริง ถ้าดูจาก ข้อ 5 ใน MOU ก็เชื่อว่าทางฝั่ง BRN ก็คงคิดไม่ต่างกัน ทั้งกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน การใช้กฎหมายก็ต้องคำนึงผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิประชาชน มองอย่างไรก็เป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกฝ่ายรวมทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ดังนั้นสิ่งที่เป็นจุดตัดสำคัญ คือคณะทำงานที่จะตั้งโต๊ะพูดคุย เจรจาสันติภาพกัน ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมานำโดยทหาร ซึ่งทหารคือคู่ขัดแย้ง ยังไงก็คุยกันลำบาก แต่ถ้านำด้วยการเมืองกระบวนการสันติภาพน่าจะเดินไปได้เร็วขึ้น พูดคุยกันง่ายมากขึ้น เพิ่มโอกาสการพูดคุยที่มีคุณภาพตามไปด้วย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ก็สะท้อนให้เห็นภาพสำคัญ และถือเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐก็จับตาการตั้งรัฐบาลของไทยไม่น้อย ว่าจะเคารพเสียงข้างมากตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะหากตั้งรัฐบาลโดยไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ก็อาจกระทบความเชื่อมั่นของการพูดคุยสันภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ
2 ทศวรรษ ของความรุนแรงในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม เชื่อชาติ ศาสนา ทำให้ความไม่สงบชายแดนใต้ ถูกนำไปถอดบทเรียนเพื่อหาทางออกกันมาตลอด แต่รูปธรรมการแก้ปัญหา ยังคงเป็นคำถาม
ทิศทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่แหวกแนวไปจากเดิม จึงมาพร้อมความหวังของผู้คน… สันติภาพอย่างยั่งยืน จะเดินไปถึงจุดหมายปลายทางได้หรือไม่ คือ บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลใหม่