ภาคีการศึกษา หวังเห็นระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น รองรับทุกรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กไทย
สถานการณ์โควิด-19 ความยากจนฉับพลัน ทำให้เด็กไทย และทั่วโลก ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดโรงเรียน เด็กปฐมวัยต้องเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย และซ้ำร้ายกว่านั้น คือ เด็กที่มีฐานะยากจนก็ยังเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น แม้ที่ผ่านมารัฐจะพยายามแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วยการดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ก็ยังกลายเป็นคำถามสำหรับนักการศึกษาบางกลุ่มที่มองว่า แนวทางนี้อาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มเด็กที่ตั้งใจหนีออกจากระบบการศึกษา จึงมีข้อเสนอให้เพิ่มทางเลือก และให้ระบบการศึกษาการันตีว่า เด็กๆ ที่ออกมาเรียนรู้นอกระบบ สามารถมีวุฒิการศึกษาที่เทียบเท่ากับการศึกษาในระบบได้
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระดมภาคีการศึกษาช่วยกันหาแนวทางแก้ปัญหาการศึกษาในระบบ ที่ไม่สามารถเชื่อมประสานกับการศึกษานอกระบบได้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ ภายใต้ชื่อ ภาคีการศึกษาเครือข่าย Education Journey Forum ครั้งที่ 4 โดยในครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษามาร่วมสะท้อนความคิดเห็นอย่าง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานที่ปรึกษา SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ด้วยเน้นย้ำว่าการทำงานมิติการศึกษาเป็นภาระใหญ่ที่ทุกหน่วยงานต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว โดยฝากโจทย์สำคัญเรื่องการเทียบโอนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน แม้จะอยู่นอกห้องเรียนให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยลดปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา และสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการศึกษาไทย
“พวกเราทุกคนยังต้องพัฒนากันอีกมากเลยละครับ… ไปคิดต่อว่า จะเทียบโอนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้อย่างไร แม้พวกเขาจะไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียนก็ตาม…”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานที่ปรึกษา SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้
โลกการศึกษาที่ซับซ้อน ภายใต้การวัดผลแบบเดียว
รศ.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงความซับซ้อนของโลกการศึกษา ที่ไม่อาจใช้เพียงกระบวนการสอน และวัดผลจากในรั้วโรงเรียนได้อีกต่อไป โดยหยิบยกข้อมูลของสถาบันการศึกษาภายใต้การดูแลของ สพฐ. ที่ดูแลโรงเรียนประมาณ 3-4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เช่น การศึกษาปฐมวัย 1.6 ล้านคน ,ประถมศึกษา 4.2 ล้านคน, มัธยมศึกษา 2.2 ล้านคน, อาชีวศึกษา 1 ล้านคน, มัธยมศึกษาต้น และ มัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 2 ล้านคน, อาชีวศึกษา 1 ล้านคน, อุดมศึกษา 1.9 ล้านคน และการศึกษานอกระบบ 1.5 ล้านคน
ซึ่งข้อมูลที่มียังไม่ครอบคลุมการศึกษามิติอื่น เช่น โรงเรียนในท้องถิ่น, โรงเรียนนานาชาติ, เอกชน, บัณฑิตพัฒนศิลป์, การศึกษาพิเศษ,โรงเรียนพระปริยัติธรรม สะท้อนว่า การศึกษาไทยมีความหลากหลาย แต่เด็กๆ กลับต้องวัดผลประเมินผลผ่านรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Onet, VNET, I net, B net, SAR, การประเมินภายนอก ฯลฯ
จึงมีข้อเสนอสำคัญไปถึงระบบการผลิตและพัฒนาครู ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย, ระบบราชการที่ต้องลดการรวมศูนย์, และการสร้างเส้นทางการเรียนรู้ให้เด็กวิ่งเล่นกันได้อย่างเชื่อมโยง รองรับสมรรถนะแห่งอนาคต จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมว่าเราจะสร้างเส้นทางเหล่านี้ได้อย่างไร ภายใต้ระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน และภาคีการศึกษาที่เรามีอยู่ในเวลานี้
โดยในครั้งนี้มีภาคีทางการศึกษามาร่วมระดมความเห็นกันมากกว่า 20 องค์กร แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ หน่วยงานและองค์กรขับเคลื่อนในระดับพื้นที่, องค์กรพื้นที่การเรียนรู้ (Organization & Learning Space), คนรุ่นใหม่ที่ทำงานมิติการศึกษา ทำงานเชิงนวัตกรรม และเครื่องมือใหม่ (Edupreneurs ), และกลุ่มสื่อและเทคโนโลยี (Learning Technology & Media) โดยแต่ละกลุ่มภาคีการศึกษา ยังได้สะท้อนถึงข้อจำกัด-อุปสรรคที่ทำให้การศึกษานอกระบบ และการศึกษาทางเลือกอื่นๆ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ The Active รวบรวมการระดมความเห็นจาก ทั้ง 4 กลุ่ม ออกมาเป็นข้อเสนอที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย
กลุ่มสื่อและเทคโนโลยี (Learning Technology & Media) : ตั้งใจเป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
สื่อสารมวลชนออนไลน์ เช่น The Active, The Kommon, Startdee, และเพจอะไรอะไรก็ครู มีจุดร่วมเดียวกัน คือ เป็นพื้นที่ หรือ สื่อกลางที่สะท้อนปัญหาทางสังคม ผ่านกลุ่มหลักคือ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ขาดโอกาสในสังคม โดยทุกสื่อที่มาระดมความคิดกันวันนี้เห็นตรงกันว่า หัวใจสำคัญของการทำงานสื่อสาร คือ ผลสะเทือนที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง
โดยการทำเนื้อหาการสื่อสารและประสบความสำเร็จ มักจะเป็นข่าวที่เน้นสถานการณ์ปัจจุบัน, โมเดลความสำเร็จ, บทสัมภาษณ์, การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกผ่านงานวิจัย ฯลฯ ด้วยเชื่อว่า การมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และหนักแน่นมากพอ จะทำให้ผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ได้เข้าใจ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายให้ตอบโจทย์กับทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมิติการศึกษา
แต่ที่ผ่านมา บทบาทของสื่อสารมวลชน ก็มีอุปสรรคฉุดรั้งความสำเร็จ เช่น ปัญหาความขัดแย้งกันเองระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองภาพไม่ต่างกัน และหาแนวทางการแก้ปัญหาในรูปแบบต่างคนต่างทำ
ขณะที่ ผู้มีอำนาจระดับนโยบายก็เพิกเฉยต่อการแก้ปัญหา ทั้งที่มีทั้งข้อเสนอ และแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นในสื่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ถูกนำไปปรับใช้จริง สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
กลุ่มนี้จึงมีข้อเสนอให้ สื่อสารมวลชน เป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมจะนำเสนอ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อของสังคม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบาย และโครงสร้างทางสังคม โดยสิ่งที่สื่อสามารถทำได้เอง คือ คุณภาพของสื่อที่ผลิตจะต้องถูกยกระดับ และสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม และกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยกลุ่มสื่อสารมวลชนจะมี DNA สำคัญทั้งการเฝ้าสังเกตปรากฎการณ์ต่างๆ ในสังคม, การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคม, และการสร้างการขับเคลื่อนเชิงสังคม ฯลฯ ผู้ปฏิบัติจึงเป็นกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ มีจุดยืนแต่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานมิติการศึกษา-เชิงนวัตกรรม และเครื่องมือใหม่ (Edupreneurs) : ความหวังให้ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการทำงานมิติการศึกษา ผ่านเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ได้ทำงานเพื่อตอบโจทย์คนในระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเน้นการผลิต และใช้เครื่องมือตอบโจทย์คนหลากหลายกลุ่มในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น “ลูกค้า” เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีใจอยากจะขับเคลื่อนการศึกษา ไม่ค่อยถูกมองเห็น และดึงศักยภาพของพวกเขาไปใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานหลักที่อยู่ในระบบการศึกษา
คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ผู้ประกอบการการศึกษา หรือ Edupreneurs เช่น Inskru กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานกับครูในระบบเป็นส่วนใหญ่ เปิดพื้นที่กลางให้ครูสะท้อนปัญหา และแลกเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน วิธีคิด เป็นเหมือนเพื่อนครูที่ช่วยให้คุณครูมีที่ปรึกษา และมีเครื่องมือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของตัวเอง ถัดมาคือ Deschooling Game กลุ่มนี้ทำงานร่วมกับเด็กนอกระบบการศึกษา ด้วยเครื่องมืออย่างบอร์ดเกม, Blackbox หรือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็น Learning designer ซึ่งมีความพร้อมที่จะออกแบบการเรียนรู้ให้กับทุกกลุ่มที่สนใจ
โดยกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า สังคมปัจจุบันขาดกรอบคิด “การเป็นเจ้าของความรู้ตัวเอง” โดยเราถูกสอนให้การเรียนรู้อยู่ในตำรา พอเติบโตออกมาก็พบว่า หลายเรื่องในตำราไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ขณะที่รัฐเองก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมทั้งในระบบ และนอกระบบ และเข้าใจผิดว่า การศึกษาในระบบดีแล้วและมองไม่เห็นคุณค่าของคนทำงานนอกระบบการศึกษา จึงเป็นโจทย์ยากของการดึงทรัพยากรจากในระบบออกมาใช้ภายนอก พร้อมกับตั้งคำถามว่า เพราะอะไรยุคนี้นักเรียนจึงไม่มีสิทธิ์เรียนแบบ Project Learning ออกแบบการเรียนด้วยตัวเอง เพราะเหตุผลใหญ่มาจากการที่คุณครูไทย สอนตามตัวชี้วัดของ สพฐ.
ภาคีการศึกษาคนรุ่นใหม่ มองว่า ความรู้ คือ อำนาจ การเปลี่ยนอำนาจความรู้ให้ผู้คนจัดการเรียนรู้ของตัวเองได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ครูเองก็เป็นคนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงห้องเรียนได้ โดยย้ำว่าหากไทยยังไม่เปลี่ยนแนวคิดการให้กระทรวงฯ เป็นศูนย์กลาง การศึกษาไทยก็จะเปลี่ยนแปลงยากเช่นเดิม
กลุ่มพื้นที่การเรียนรู้ : แหล่งเรียนรู้ชุมชน รากฐานชีวิตของการศึกษาเชิงพื้นที่
อีกกลุ่มหนึ่งที่ถือว่าเป็นภาคีสำคัญในมิติการศึกษา คือ แหล่งเรียนรู้ชุมชน หรือกลุ่มพื้นที่การเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นจากชุมชน คนในพื้นที่โดยในครั้งนี้มีตัวแทนจาก “กิ่งก้านใบ,โครงการบ้านไร่อุทัยยิ้ม,เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง” มาร่วมสะท้อนปัญหาที่แหล่งเรียนรู้กำลังพบเจอ โดยมองว่าประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้หลักสูตรการเรียนรู้การสอนในระบบ ทำงานร่วมกับในพื้นที่ได้อย่างไม่โดดเดี่ยว
เป้าหมายสำคัญของการเป็นแหล่งเรียนรู้ คือ เด็กและเยาวชน สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข อิสระ การสร้างความรู้สึกให้ท้องถิ่นต้องการจะลุกขึ้นมาจัดการบ้านของตัวเอง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตเป็นพลังสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนงานในมิติการศึกษาในท้องถิ่นประสบความสำเร็จ
แต่การศึกษาในลักษณะแหล่งเรียนรู้ชุมชน ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องทุนในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มย้ำว่าเป็นข้อจำกัด แต่ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้คนทำงานหยุดความพยายาม จึงมีข้อเสนอให้สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ นอกจากการทำแค่ศูนย์เด็กเล็ก แต่ควรจัดตั้งกลุ่มเยาวชนเพื่อทำงานเชิงสังคมร่วมเป็นเจ้าของ และทำให้ภาพการเรียนรู้เหล่านี้ชัดเจน และจับต้องได้ ทำให้เห็นว่า “ทักษะเหล่านี้ เปลี่ยนชีวิตเด็กได้ เครื่องมือการเรียนรู้ได้มาตรฐาน และกิจกรรมที่กลุ่มพื้นที่การเรียนรู้พยายามทำกันมามีมาตรฐานในทางวิชาการ ให้เด็กใช้รับรองในทางการศึกษาได้จริง”
กลุ่มพื้นที่การเรียนรู้ Learning Speace (ภายใต้งบประมาณของรัฐ)
ความสำเร็จขององค์กร คือ ความจำเป็นต้องใช้ภาษีอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทำให้สังคมเข้าใจการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น แต่ระบบนิเวศการเรียนรู้ รูปแบบการปกครอง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กดทับการเรียนรู้ โดยในครั้งนี้ มีตัวแทนจากกลุ่มพื้นที่การเรียนรู้ เช่น หอภาพยนตร์แห่งชาติ, TK Park ฯลฯ โดยกลุ่มนี้มีข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีอื่นในหาความร่วมมือกับกลุ่มแหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อเชื่อมเครื่องมือ หาแนวทางใหม่ๆ สำหรับการแก้ปัญหาการศึกษาร่วมกันในอนาคตขณะที่ข้อเสนอจากทุกภาคีเครือข่ายการศึกษาโดยสรุป คือการมีจุดยืนที่มองเห็นนิเวศการศึกษาที่กว้างขึ้นทั้งการศึกษาในระบบ และนอกระบบ เช่น
- การปรับบทบาทครู ผู้บริหารที่ควรเน้นสร้างวิธีการจัดการเรียนรู้ของตัวเอง,
- การมี Sand Box ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้มองเห็นทั้งการเรียนในห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ในชุมชนนอกห้องเรียน,
- การมีตัวกลางที่ช่วยเชื่อมโยงการศึกษาในและนอกระบบ,
- การเปิดทางเลือกให้สังคมแข่งขันในลู่การแข่งขันที่มีทางเลือกเป็นของตัวเอง สร้างระบบใหม่ที่สามารถแข่งขันกับระบบและมีมาตรฐานรองรับ
- ทำข้อมูลฐานการเรียนรู้ และสามารถเชื่อมโยงกับกาเรียนรู้เชิงพื้นที่นวัตกรรมได้ ฯลฯ
รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว. มองว่าสถานการณ์การศึกษาของไทยเปลี่ยนไป ทัศนคติความต้องการเรียนในระบบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แนวทางการศึกษาที่เชื่อมโยงในและนอกระบบจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ แต่ทางออกอยู่ตรงที่ว่าแต่ละภาคส่วนจะร่วมทำงานเปิดประตูประสบการณ์ และโอกาสได้อย่างไรให้เห็นความก้าวหน้า ในส่วนของ สกสว.ก็เตรียมเดินหน้าทำฐานข้อมูล และทำงานวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลไปต่อยอดการแก้ปัญหาการศึกษาในอนาคต
“จุดสำคัญ คือ กลับมามองที่เด็ก มีผู้ใหญ่ที่ต้องการการเรียนรู้ที่อยู่นอกระบบ เชื่อมโยงเนื้อหาการเรียนรู้กับสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ อาจจะต้องมีการรับรองการประเมินผล…
ระบบที่อยากเห็น คือ ระบบที่รองรับ และยืดหยุ่นพอ…
ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นกระทรวงฯ ปรับกฎระเบียบเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ และนอกระบบได้”
รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว.