เป็นชนชั้นกลาง…ใครว่าไม่(เสี่ยง)จน ?

ความจน กับ ชนชั้นกลาง อาจดูเป็นสองคำที่ยากจะโคจรมาพบกัน ด้วยภาพจำของ ชนชั้นกลาง อันเป็นตัวแทนของความมั่นคงในระดับหนึ่ง เป็นชนชั้นที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ชนชั้นสูง (คนรวย) และ ชนชั้นล่าง (คนจน) อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันตามการตีความ เช่น มีรายได้สูงกว่ารายได้ขั้นต่ำ, มีรายได้มั่นคง, มีเงินเก็บเงินออม, มีเงินเหลือพอใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบาย, มีสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น บ้านหรือรถ อาจเรียนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป, อาจประกอบอาชีพเป็นบุคลากรวิชาชีพ ที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทาง รวมถึงเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ในสังคมได้

นอกจากนี้ ชนชั้นกลางมีภาพลักษณ์ที่มุ่งมั่นและทะเยอทะยานที่จะก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานะและมีชีวิตที่ดี ใครที่เป็นชนชั้นกลางแล้วก็คงไม่อยากจะตกลงมาอยู่ในชนชั้นล่าง จึงอาจเกิดคำถามตามมาว่าแล้ว ความจน กับ ชนชั้นกลาง เกี่ยวกันอย่างไร

แม้มีรายได้ที่มั่นคงและดูจะมีชีวิตที่ดี แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของชนชั้นกลางอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะชีวิตล้วนไม่แน่นอน และมี ปัจจัยเสี่ยง ต่าง ๆ ทั้งจากพฤติกรรมในระดับปัจเจกบุคคล หรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้กลุ่มชนชั้นกลางเหล่านี้ พลิกผันจากชีวิตที่เคยมีกินมีใช้ ตกไปอยู่ในวังวนของความยากจนได้ทุกเมื่อ

ความจน และ ชนชั้นกลาง จึงอาจอยู่ใกล้กันมากกว่าที่เราคิด ใครว่าชนชั้นกลางจะ ไม่เสี่ยงจน หากลองส่องกระจก หรือหันซ้ายมองขวาในออฟฟิศใจกลางเมือง ก็อาจเจอหน้าตาของคนเสี่ยงจนได้ทุกเมื่อ

The Active ชวนสำรวจปัจจัยเสี่ยงจนของชนชั้นกลางในมิติต่าง ๆ ทั้ง 4 มิติ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงมิติอื่น ๆ ในชีวิต ทั้ง งาน ความสัมพันธ์ และสุขภาพ ที่อาจทำให้เราเสี่ยงจนได้ทุกเมื่อ

เงิน

แน่นอนว่าเรื่องเงินเกี่ยวข้องกับความยากจนโดยตรง มองอย่าวเร็ว ๆ อาจบอกได้ว่าคนไม่มีเงินคือคนจน คนมีเงินน้อยคือคนเสี่ยงจน อย่างไรก็ตาม การเสี่ยงจนอาจไม่ใช่แค่การมีเงินเดือน-รายได้ที่น้อยอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการมีหนี้ต่าง ๆ

เสี่ยงจน…เพราะ ‘มีหนี้’

หนี้ ถือหนึ่งปัจจัยใหญ่ที่ทำให้คนเสี่ยงจน ซึ่งมีอยู่ในทุกช่วงวัย และมีหลายหลากรูปแบบ เช่น หนี้ส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต บทความเรื่อง ttb analytics ส่องสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย…น่าห่วงแค่ไหน? โดย ttb analytics สะท้อนสถานการณ์ภาพรวมหนี้ของคนไทย จากการสำรวจข้อมูลบัญชีลูกหนี้จากฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบว่า ปี 2567 มีประชากรไทยเป็นหนี้ในระบบกว่า 38% หรือเกินกว่า 1 ใน 3 และมีค่ากลางยอดหนี้สิน (Median) อยู่ที่ 1.18 แสนบาท/คน

Image Name

นอกจากนี้ คนไทยทุกช่วงวัยล้วนประสบปัญหา รายได้โตไม่ทันรายจ่าย ไม่ว่าจะเป็น

  • วัยเริ่มทำงาน ที่แม้จะเริ่มมีรายได้ แต่รายได้ที่มียังไม่สูงมาก และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตาม รวมถึงการขาดวินัยการเงินที่ดี ส่งผลให้รายได้อาจไม่เพียงพอกับรายจ่าย และก่อหนี้ตามมาได้ โดยเฉพาะหนี้รถที่เริ่มมีในช่วงวัยนี้

  • วัยสร้างครอบครัว แบกรับภาระหนี้สูงกว่าวัยเริ่มทำงาน รวมถึงภาระอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว การสร้างครอบครัว ดูแลพ่อ-แม่–ลูก รวมถึงภาระหนี้ที่มีมาตั้งแต่วัยเริ่มทำงานและก่อเพิ่มขึ้นอีกในภายหลัง ซึ่งวัยนี้เป็นวัยที่ก่อหนี้มากที่สุด ซึ่งคิดเป็น 62% ของประชากรอายุ 35-50 ปี โดยมีทั้งหนี้ส่วนบุคคล (43%), หนี้รถ (23%), หนี้บัตรเครดิต (17%) รวมถึงหนี้บ้าน ซึ่งมีลักษณะเด่นคือกินระยะเวลาผ่อนค่อนข้างนาน นอกจากนี้ ราคาบ้านที่สร้างเพื่อลงหลักปักฐาน สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ยังมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี และการจะมีบ้านอาจเป็นได้แค่ความฝันที่ไม่อาจลงหลักปักฐานบนความเป็นจริงได้

  • วัยเกษียณ รายได้น้อย แต่รายจ่ายไม่ได้น้อยลงตาม คนกลุ่มนี้เน้นพึ่งพาเงินออมเกษียณและสวัสดิการเป็นหลัก รวมถึงมีหนี้ หนี้บัตรเครดิตที่คงไว้ตั้งแต่วัยเริ่มทำงานจนถึงวัยเกษียณ

เสี่ยงจน…เพราะ ‘ราคาบ้านโต’ แต่ค่าแรงโตตามไม่ทัน

บทความเรื่อง บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง จาก 101PUB ระบุว่า ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วงปี 2556 ถึง 2564 (รวมระยะเวลา 8 ปี) ราคาที่พักในในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27 – 62% ไม่ว่าจะเป็น คอนโดมีเนียม เพิ่มขึ้น 62% ทาวน์เฮาส์ เพิ่มขึ้น 45% และบ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้น 27% ซึ่งสวนทางกับค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวลดลง 6%

ไม่ใช่แค่มิติการซื้อบ้านเท่านั้น หากพิจารณาถึงภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน จะพบว่าครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ นั้น มีครัวเรือนกว่า 80% ที่มีภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยต่อรายได้ สูงกว่าเกณฑ์ 15 – 20% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนดไว้ แม้แต่กลุ่มที่อาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง อย่างกลุ่มที่ 3 (กลุ่มที่มีรายได้สูง 40-60% จากบนสุด หรืออยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 40 และ 60) และกลุ่มที่ 4 (กลุ่มที่มีรายได้สูง 20-40% จากบนสุด หรืออยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 60 และ 80) ก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยสูงถึง 29.1% และ 22.2% ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าที่เกณฑ์ที่กำหนดไว้

เสี่ยงจน…เพราะ ‘เงินออม’ ไม่พอเกษียณ

สถานการณ์การเงินไม่ได้กระทบแค่ในช่วงวัยทำงานเท่านั้น แต่อาจกระทบไปถึงวัยใกล้เกษียณ และวัยเกษียณ โดยรายงานในปี 2566 เรื่อง ต้องปรับการออมอย่างไรในวันข้างหน้า เมื่อเวลากำลังนับถอยหลัง ของ SCB EIC ระบุว่า สังคมไทยกำลังเผชิญความไม่พร้อมหลังวัยเกษียณ เนื่องจากครัวเรือนไทยกว่า 42% มีคนที่มีรายได้สูงสุดในครัวเรือนอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปและมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน และสังคมไทยยังมีปัญหาเรื่อง แก่ก่อนรวย เนื่องจากกลุ่มช่วงอายุ 51 – 60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานใกล้เกษียณ มีทรัพย์สินน้อย มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน

นอกจากนี้ 56% เป็นกลุ่มที่มีหนี้และมีทรัพย์สินรวมต่ำกว่า 1,000,000 บาท และ 57% เป็นกลุ่มที่ออมไม่ค่อยได้ในแต่ละเดือนและมีทรัพย์สินรวมต่ำกว่า 100,000 บาท

งาน

งานถือเป็นที่มาของความมั่นคงอื่น ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะเงินหรือรายได้ ที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้

เสี่ยงจน…เพราะ ‘งานไม่มั่นคง’ – เสี่ยงตกงาน

ข้อมูลจาก นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่ โดย 101PUB ระบุว่า แรงงานไทยอย่างน้อย 31% หรือเกือบ 1 ใน 3 และอาจมากถึง 1 ใน 2 กำลังเสี่ยงตกงานหากไม่มีการปรับตัวหรืออัพสกิล (Upskill) จาก 2 ปัจจัย ได้แก่

  1. การทดแทนของเทคโนโลยี ทั้งการใช้ AI และหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนการทำงาน 

  2. การย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

แม้การอัพสกิลจะเป็นหนทางเพื่อลดความเสี่ยงตกงาน แต่มีแรงงานที่อัพสกิลรวมเฉลี่ยเพียง 3-12% ต่อปีเท่านั้น และแรงงานกลุ่มเสี่ยงตกงานสูงมีโอกาสอัพสกิลน้อยกว่ากลุ่มอื่น เช่น เสมียน พนักงานทำความสะอาด ซึ่งมีอัตราอัพสกิลที่ 1.5% เท่านั้น หรือแรงงานกลุ่มเสี่ยงตกงานปานกลาง เช่น ช่างเทคนิค ก็มีการอัพสกิลเพียง 2.6% เท่านั้น

เสี่ยงจน…เพราะ ‘จบใหม่’ หางานยาก

ข้อมูลเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2567 และ ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2568 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ปี 2567 และไตรมาส 1 ปี 2568 ประเทศไทยมีคนว่างงานพอ ๆ กันถึง 3.6 แสนคน 

ข้อมูลของไตรมาส 1 ปี 2568 พบว่า กลุ่มที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษายังคงมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด ที่ 1.84% และกลุ่มคนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาและไม่เคยทำงานมาก่อน (หรือมองว่าคือกลุ่มบัณฑิตจบใหม่) มีคนว่างงานถึง 9.68 หมื่นคน หรือคิดเป็น 27.06% ของคนว่างงานทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 7.32%)

หากลองเปลี่ยนมุมมอง มาดูในฝั่งนายจ้างผ่าน ประกาศรับสมัคร ว่าเหตุใดจึงมีบัณฑิตจบใหม่ว่างงานเยอะ บทความเรื่อง โอกาสและความหวังของ “เด็กจบใหม่” ในตลาดแรงงาน โดย TDRI วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 พบว่า ภาพรวมตลาดงานเน้นรับคนที่มีประสบการณ์ โดยมีประกาศรับสมัครที่ต้องการคนมีประสบการณ์ 1 – 2 ปี ถึง 38.3% และคนมีประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป 24.8% (รวมแล้วต้องการคนมีประสบการณ์อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ถึง 63.1%) สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ มีการเปิดรับเพียง 22.3% เท่านั้น

พิจารณาตำแหน่งงานระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นงานที่ใช้ทักษะความรู้หรือเป็นทักษะอาชีพสูง จะพบว่า ยิ่งงานที่ต้องการจบสูง ยิ่งอยากได้คนมีประสบการณ์” โดยตำแหน่งงานกว่า 40.0% ต้องการคนจบ ป.ตรี ที่มีประสบการณ์ทำงาน 1 – 2 ปี และ 38.6% ต้องการคนจบ ป.ตรี ที่มีประสบการณ์ทำงาน 3 ปีขึ้นไป (รวมแล้วต้องการคนจบ ป.ตรี ที่มีประสบการณ์อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป กว่า 78.6%) และเปิดสำหรับคนจบ ป.ตรี ไม่มีประสบการณ์เพียง 16.8% เท่านั้น

สอดคล้องสถานการณ์ในต่างประเทศ เช่น ผลการสำรวจของ Hult International Business School ร่วมกับ Workplace Intelligence สำรวจผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้บริหารกว่า 89% มีแนวโน้มที่จะเลี่ยงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ โดย 60% มองว่ายังขาดประสบการณ์ทำงาน, 55% มองว่าขาดทักษะการทำงานเป็นทีม, 51% มองว่าไม่มีทักษะที่เหมาะสม และ 50% มองว่ายังมีมารยาททางธุรกิจที่ไม่ดีนัก 

สะท้อนให้เห็นว่าคนจบใหม่หางานยากจริง และมีอัตราการว่างงานที่สูง ส่วนหนึ่งมาจากการที่ตลาดแรงงานต้องการคนมีประสบการณ์ (ซึ่งคนจบใหม่ยังไม่มี)

ความสัมพันธ์

แม้ดูไม่เกี่ยวข้องกับความ(เสี่ยง)จน แต่ในทุกความสัมพันธ์ล้วนมีค่าใช้จ่าย ทั้งในเชิงความรักแบบคู่รัก พ่อแม่เลี้ยงลูก หรือลูกเลี้ยงพ่อแม่ ก็ตาม

เสี่ยงจน…เพราะ ‘แบกรับค่าใช้จ่าย’ ดูแลลูก – พ่อแม่

รายงานและตารางบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564 ระบุถึงค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูแต่ละช่วงอายุไว้ โดยการเลี้ยงเด็ก 1 คน ตั้งแต่อายุ 0 – 21 ปี ใช้เงินประมาณ 3.00 ล้านบาท แบ่งเป็นพ่อแม่จ่ายเอง 1.49 ล้านบาท และรัฐสนับสนุน 1.51 ล้านบาท

ส่วนการดูแลคนวัยเกษียณ อายุ 60 – 85 ปี ใช้เงินรวม 4.02 ล้านบาท(ต่อคน) แบ่งเป็นจากส่วนตัว (ซึ่งอาจมาจากเงินเก็บออมส่วนตัว หรือลูกหลานช่วยดูแล) 2.75 ล้านบาท และจากรัฐสนับสนุน 1.27 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่จำนวนเงินน้อย ๆ ในการดูแลใครสักคนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงจนได้เช่นกัน

เสี่ยงจน…เพราะเป็น ‘คนโสด’ (ที่จ่ายเงินเยอะกว่าคนมีคู่)

ในบริบทของสังคมไทย ไม่ได้มีงานวิจัยที่ทำการสำรวจเรื่อง คนโสดมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนมีคู่อย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาข้อมูลของต่างประเทศ หลาย ๆ ข้อมูลบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “คนโสดจ่ายเงินเยอะกว่าคนมีคู่”

BBC รายงาน ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (The Office for National Statistics) ของสหราชอาณาจักร ในปี 2560 ระบุว่า คนโสด (ที่อยู่คนเดียว) ใช้จ่ายเฉลี่ย มากกว่าคนที่อยู่เป็นคู่ถึง 21 ปอนด์/สัปดาห์ โดยปัจจัยส่วนหนึ่งอาจมาจากการแบกรับค่าใช้จ่ายด้วยตัวคนเดียว เช่น ค่าเช่าบ้าน และการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้านมากกว่าคนมีคู่

ในบทความเดียวกัน ยังพูดถึงผลการวิจัยเรื่องค่าครองชีพขั้นต่ำของ Loughborough University และ Resolution Foundation พบว่าในสหราชอาณาจักร (ไม่รวมลอนดอน) คนโสดที่อาศัยอยู่คนเดียว ต้องมีรายได้ 9.50 ปอนด์/ชั่วโมง เทียบคู่รักที่ไม่มีลูกที่ต้องมีรายได้น้อยกว่าที่ 6.15 ปอนด์/ชั่วโมง ถึงจะมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมเท่ากัน

ไม่ใช่แค่ในสหราชอาณาจักร แต่สหรัฐอเมริกา ก็มีข้อมูลที่สอดคล้องกัน บทความเรื่อง 2023 cost of living data: Singles vs. married couples ของ Bankrate รายงาน ข้อมูลสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ในปี 2564 พบว่า คนโสดโดยเฉลี่ยใช้จ่ายเงิน 48,108 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่คู่รักที่ไม่มีลูก ใช้จ่ายเฉลี่ย 76,046 ดอลลาร์ต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 38,023 ดอลลาร์ต่อปี น้อยกว่าคนโสดถึง 10,085 ดอลลาร์ต่อปี

นอกจากนี้ ค่าที่อยู่อาศัยของคนโสดอยู่ที่ 17,899 ดอลลาร์ต่อปี เทียบกับคู่รักที่ไม่มีลูกซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 24,811 ดอลลาร์ต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 12,405.50 ดอลลาร์ต่อปี น้อยกว่าคนโสดเกือบ 5,500 ดอลลาร์ต่อปี

สุขภาพ

สุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญ การเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ ก็อาจนำมาซึ่งปัจจัยของการเสี่ยงจนได้ โดยเฉพาะโรค NCDs ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เสี่ยงจน…เพราะ ‘ภาวะเครียด’ ระดับปานกลางถึงเครียดจัดในวัยทำงาน

รายงาน Champion Health Mental Health & Wellbeing ปี 2566 พบว่า คนวัยทำงานในไทยมีภาวะเครียดระดับปานกลางถึงเครียดจัด โดย 76% มาจากบรรยากาศในที่ทำงานไม่ดีและภาระงานที่หนักเกินไป สถานการณ์คนป่วยจากความเครียดยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าห่วง โดย 60% ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่ามีภาวะวิตกกังวล และ 56% เผชิญปัญหาป่วยซึมเศร้า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและภาวะหมดไฟในการทำงานร่วมด้วย

เสี่ยงจน…เพราะ ‘เสี่ยงเป็นโรค NCDs’

สถานการณ์ปี 2568 มีคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) ถึง 14 ล้านคน ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยที่ 400,000 คน/ปี หรือคิดเป็น 76% ของการเสียชีวิตทั้งหมด

นอกจากนี้ โรค NCDs ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากปี 2565 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 170,000 คน ที่อยู่ในกลุ่มคนอายุน้อยและวัยทำงาน รวมถึง ข้อมูลทะเบียนการเสียชีวิตของสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ระหว่างปี 2555 และ 2558 พบว่า แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (ช่วงอายุ 30-69 ปี) เพิ่มสูงขึ้น ใน 4 โรค NCDs สำคัญ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง 

ข้อมูลจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ ปี 2560 ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของโรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจขาดเลือด และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของโรคเบาหวาน พบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลปี 2568 ระบุว่า โรค NCDs ที่คร่าชีวิตคนวัยทำงานมากที่สุดคือโรคเบาหวาน ถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปัญหาทางสาธารณสุข รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง

บทส่งท้าย :
เพราะ ‘ความจน’ ใกล้ตัวว่าที่คิด ไม่ว่าชนชั้นไหน ก็ควรทำความเข้าใจความจน

เงิน งาน ความสัมพันธ์ และสุขภาพ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คำว่า ชนชั้นกลาง และ ความจน เคลื่อนตัวเขาหากันมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำความเข้าใจ ความจน ในมิติต่าง ๆ ทั้งชนชั้นของตัวเอง (ที่อาจจะเป็นชนชั้นกลาง) และของชนชั้นอื่น ๆ โดยเฉพาะชนชั้นล่าง เพื่อทำความเข้าใจความยากลำบากที่พวกเขาเหล่านั้นเผชิญอยู่ 


The Active ขอเชิญชวน สำรวจความจน-ความเหลื่อมล้ำ ที่อาจใกล้ตัวกว่าที่เราคิด อาจเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้สึก ในงาน “เท่าหรือเทียม : เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง” จัดขึ้นในวันที่ 15 – 27 ก.ค. 2568 (ปิดวันจันทร์) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ติดตามรายละเอียดได้ทาง The Active และ Thai PBS

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่