ที่อยู่อาศัยแบบไหน ? ที่คุณเรียกว่า “บ้าน” ได้อย่างสนิทใจ แล้วบ้านในฝันสักหลังจะเกิดขึ้นในชีวิตของใครได้บ้าง ในยุคที่การมีบ้านกลายเป็นสิ่งไกลตัวออกไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่
เมื่อเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่ มีหมุดหมายการสร้างตัว สร้างอาชีพ อยู่ในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพฯ แต่กว่าจะไปถึงฝั่งฝันที่พวกเขาวาดหวัง ฝันนั้นก็อาจถูกบั่นทอนลงด้วยการไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยดี ๆ ให้ซุกหัวนอน เพื่อส่งต่อพลังชีวิตดี ๆ ให้พร้อมสู้งานในแต่ละวัน
“สถานที่แห่งหนึ่งที่เราแค่แวะผ่านเข้ามา เพื่อให้ตัวเองสามารถเดินต่อไปยังที่อื่น ๆ ได้ เราไม่ได้เรียกมันว่าบ้านหรือที่พัก เพราะมันไม่ได้ทำให้เราได้พักเลย แค่รู้สึกว่าเราไม่มีทางเลือก”
นี่คงนิยามคำว่า บ้าน ตามสิ่งที่เป็นไปในแบบฉบับของ เต (นามสมมติ) มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่จำต้องฝากชีวิตไว้ในเมืองกรุง เขาไม่ต่างจากเด็กต่างจังหวัดหลาย ๆ คน ที่เรียนจบแล้วก็เลือกมาหาโอกาสทำงานในเมืองใหญ่

ไม่ใช่แค่ความไกลบ้าน ไกลครอบครัว กำลังทำให้ช่วงเริ่มต้นชีวิตทำงานไม่ราบรื่นนัก แต่นานวันห้องเช่าเล็ก ๆ ที่เขาเองยังนิยามให้เป็นแค่สถานที่ที่เอาไว้แวะมาอยู่เท่านั้น กลายข้อจำกัด ทำให้ชีวิตคนรุ่นใหม่อย่างเขาหนักหนาสาหัสไม่ใช่เล่น
ไม่สบายตัว ไม่สบายใจ แต่ต้องอยู่
เต สารภาพเลยว่า ห้องของเขามีดีอย่างเดียวคือ ราคาประหยัด ในพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แห่งนี้ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใด ๆ มีแค่ฟูกไว้นอน ราวตากผ้า และโต๊ะญี่ปุ่น เอาไว้ทำงาน กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ที่หอบทุกสิ่งมาจากบ้าน ถูกใช้อย่างสารพัดประโยชน์ ทั้งเป็นตู้เสื้อผ้า ตู้วางหนังสือ และตู้เก็บของ


ทำไม ? ถึงเลือกอยู่แบบนี้… คำตอบง่าย ๆ คือ เพราะตั้งใจจะเก็บเงิน และลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดหลังได้ทำงานประจำที่แรก ซึ่งห้อง ๆ นี้ อยู่ไม่ไกลจากที่ทำงาน มันช่วยให้เขาประหยัดได้มาก โดยเฉพาะค่าเดินทาง
แต่อยู่ ๆ ไป ความคิดบวก ก็ค่อย ๆ หายไปทีละนิด เพราะที่อยู่อาศัยซึ่งน่าจะเป็นที่พักพิงที่มีคุณภาพให้กับชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยในแต่ละวัน กลับทำให้รู้สึกว่าที่นี่ไม่สามารถทำให้เขานอนได้เต็มอิ่ม ความอึมครึมของสภาพแวดล้อมโดยรอบ บดบังความคิดอ่าน ทำให้เขาไร้สมาธิ ขาดไอเดียคิดงานดี ๆ สิ่งนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่องานที่ทำ
“ผมเป็นคนชอบต้นไม้ ชอบอะไรเขียว ๆ แต่พื้นที่รอบ ๆ นี้ ไม่มีเลย ไม่สามารถมองเห็นต้นไม้ได้เลย นอกจากจะต้องขึ้นไปดูบนดาดฟ้า มันทำให้ผมรู้สึกไม่อยากจะอยู่ห้อง ขนาดที่ว่าหากมีคนซึมเศร้ามาอยู่ที่นี่ ก็คงอาการหนักกว่าเดิม อยู่ตรงนี้ เหมือนอยู่ในคุก”
เต ยอมรับถึงเหตุผลที่ทำให้เขาคิดจะย้ายไปหาที่อยู่ใหม่

เมื่อห้องไม่น่าอยู่ อีกต่อไป…
เมื่อชีวิตในห้องพักไม่ใช่ทุกอย่าง การพาตัวเองไปอยู่ภายนอก จึงเป็นทางออกที่เตเลือกทำ แต่นั่นก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย หากจะมองในแง่ดี เขาก็สามารถหาตัวเลือกให้กับพื้นที่ทำงานได้มากขึ้น รู้สึกมีพลังสร้างสรรค์ไอเดียได้ดีกว่าขลุกอยู่แต่ในห้อง ตรงกันข้าม ก็ปฏิเสธได้ยาก ว่าการออกจากห้องแต่ละครั้งเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น
เมื่อได้ลองคำนวณว่าตัวเองเสียค่าเดินทางเฉพาะการออกไปข้างนอกเพื่อหาที่นั่งทำงานมากมายขนาดไหน ปรากฏว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้รวม ๆ กับค่าเดินทาง ค่ากาแฟ ค่ากิน เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6,000 ถึง 7,000 บาทต่อเดือน ทำให้ประสบปัญหา “เดือนชนเดือน”
“สภาพห้องของเรามันไม่ดี เราไม่สามารถทำงานในห้องนี้ได้ตลอด แต่มันอาจจะมีบ้างที่งานไฟไหม้ ใกล้ถึงกำหนดส่ง แล้วคำนวณเวลาดูแล้วออกไปทำงานข้างนอกคงไม่ทัน ก็จำเป็นต้องนั่งทำอยู่ในห้องให้มันเสร็จ ลืมบรรยากาศ ลืมเสียงรอบข้าง แล้วอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด…ก็ต้องพยายามฝืนใจนั่งทำงานในห้อง”
เต อธิบายความรู้สึก

บรรยากาศการนั่งทำงาน มีผลต่อคุณภาพงาน การนอนอย่างเต็มตื่น ก็มีผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตไม่ต่างกัน เต ยอมรับว่า อยู่ที่นี่นอนไม่ค่อยหลับ ตื่นกลางดึกบ่อย มันทำให้รู้สึกเพลียและง่วงเวลาทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานก็จะต่ำลง เกิดอาการแทรกซ้อน อย่างการปวดหัวไมเกรน จนต้องถึงมือหมอ เขาเชื่อว่า ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกัน
#หอใหม่ใกล้ฉัน…อยากมีห้องที่เป็น Safe Zone
สำหรับเตแล้ว ห้อง ก็ควรเป็นที่ที่สามารถพักและอาศัยได้อย่างสนิทใจ พักแล้วรู้สึกได้ฟื้นตัวเอง เขาจึงตั้งใจอยากจะหาที่อยู่ใหม่ ที่สามารถใช้เวลากับตัวเองในห้องได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
“เรารู้สึกวิตกกังวลทุกครั้งที่ฝนตก รู้สึกร้อนทุกครั้งที่แดดออก ห้องนี้มันยังไม่ใช่พื้นที่พักอาศัย ที่จะปกป้องเราจากสภาพแวดล้อมภายนอกขนาดนั้น คนสามารถมองเข้ามาภายในห้องเราได้ตลอดเวลา เหมือนถูกจ้องมองตลอดเวลา เพราะคนฝั่งตรงข้ามอยู่เต็มเลย”
เต ย้ำความรู้สึก
หลายคนนิยามว่า บ้าน หรือ ที่พักอาศัย ต้องเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ที่นี่กลับให้เขาไม่ได้… หลังจากอยู่ห้องเช่าแห่งนี้มาได้ 1 ปีเต็ม จุดมุ่งหมายของ เต จากนี้คือ การหาหอพักใหม่ ในงบฯ ที่ต้องไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท ด้วยความหวังว่า หากได้ย้ายออกไป คงจะทำให้เขาได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม และลดค่าใช้จ่ายค่าเดินทางกับการต้องออกไปนั่งทำงานข้างนอก ช่วงนี้เขาจึงพยายามมองหาหอพักใหม่ ที่คิดว่าจะตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้จริง ๆ
“ในซอยที่อยู่ตอนนี้ เป็นพื้นที่แรงงานอยู่เยอะ ร้านขายของกินก็มีเยอะ ของก็ราคาถูก ทำให้พอประหยัดค่าใช้จ่ายได้บ้าง ในส่วนนี้ก็เป็นข้อดีสำหรับการใช้ชีวิตที่นี่ แต่ข้อเสียนอกจากห้องที่ไม่ตอบโจทย์แล้ว ถ้าฝนตกในซอยน้ำก็ท่วม เวลาเดินเข้าออกซอย ต้องเปลี่ยนใส่รองเท้าแตะ จนต้องพกรองเท้าไปเปลี่ยนเวลาไปทำงาน”
เต เล่าถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญ

เมื่อชีวิต มีค่า(ใช้จ่าย)
แล้วภาพฝัน บ้าน ของคนรุ่นใหม่ GEN Z อย่าง เต เป็นแบบไหน ? เขา สารภาพตามตรงว่า ยังเป็นเรื่องไกลตัวมาก ๆ และเกินเอื้อม ซึ่งเชื่อว่า นี่น่าจะเป็นความคิดคล้าย ๆ กับคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ เนื่องจากหลายปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะ ค่าแรง ในแต่ละเดือน ที่พ่วงมากับค่าใช้จ่าย ก็ยิ่งทำให้มองไม่ค่อยเห็นภาพฝันนี้สักเท่าไร
“เรายังไม่คิดว่าจะอยากมีบ้าน แต่ครอบครัวเขาคิด ซึ่งเราก็จะอธิบายกับเขาไปว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะมีได้ เพราะค่าแรงของเราไม่ได้สูงมากพอที่จะมีบ้านสักหลัง เราต้องมีความพร้อมก่อน”
เต ให้คำตอบ
ค่าใช้จ่าย ในแต่ละเดือน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เต มองภาพอนาคตตัวเองไม่ชัดเจน ไหนจะหนี้ กยศ. ที่ยังต้องเคลียร์ ขณะที่ครอบครัวของเขาก็ไม่ได้มีแรงสนับสนุนมากมาย สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง จนมีงานทำ
เต ยังยอมรับว่า ถ้าต้องย้ายที่อยู่ใหม่จริง ๆ ก็อาจช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ แต่ที่ยังกังวลคือภาระค่าใช้จ่ายที่อาจตามมา เพราะแน่นอนว่าการมีที่อยู่ดี ๆ สภาพแวดล้อมดี ก็คงต้องแลกมาด้วยค่าเช่าห้องที่แพงมาก นี่คือสิ่งที่ต้องหาจุดสมดุล
“ราคาหอพักหรือที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ แบบเช่าหรือซื้อ มันไม่ตอบโจทย์กับค่าแรงของเราเลยแม้แต่น้อย ห้องราคา 6,000 บาท แต่เรามีเงินเดือน 20,000 ก็คิดแล้วคิดอีก”
เต ยอมรับสภาพ

Gen Z ชีวิตเหมือนจะดี แต่ไม่ลงตัว
เต อาจเป็นหนึ่งในภาพแทนของคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนที่ใช้ชีวิตแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่ ที่ดูเหมือนจะมีเป้าหมาย แต่ความจริง ไม่ต่างจากการเดินหน้าสองก้าว ถอยสามก้าว เพราะติดกับดักบางอย่างที่ทำให้ชีวิตเผชิญความเสี่ยง เริ่มจากเรื่องที่อยู่อาศัย ที่หากไม่ตอบโจทย์ นี่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงจนของมนุษย์เงินเดือนได้ง่าย ๆ เลย
“เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่มีต้นทุนอะไร ต้องเสียทุกอย่าง เพราะเราไม่ใช่คนที่นี่ เราไม่มีบ้าน มันก็เป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องจ่ายสูงกว่าคนที่มีบ้าน มีครอบครัวในเมือง”
เต คิดแล้วก็น้อยใจ
แล้วถ้าได้กลับไปทำงานที่ต่างจังหวัด ก็สำหรับ เต ก็เชื่อว่า ชีวิตเขาน่าจะดีกว่านี้ มีที่อยู่ มีรถใช้ มีทุกอย่าง ได้อยู่ใกล้ครอบครัว ไม่ต้องมาดิ้นรนแบบนี้ ที่สำคัญ น่าจะช่วยให้มีเงินเก็บมากกว่าอยู่ในเมือง แต่ที่ต้องยอมรับความจริง คือ งานบางงาน หรืองานที่อยากทำ อาจไม่ได้มีในต่างจังหวัด โอกาสในเมืองใหญ่มีมากกว่า นี่จึงทำให้เขาต้องดั้นด้นมาอยู่กรุงเทพฯ
“ถ้าในอนาคต บ้านเกิดเรา หรือจังหวัดใกล้เคียง มีงานที่ตอบโจทย์กับความเป็นเรา มีเงินเดือนที่เหมาะสมกับภาระงาน เราก็พร้อมที่จะกลับไปอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกว่าที่นี่เป็นการมาอยู่เพื่อเพิ่มต้นทุนชีวิตของเราให้มากขึ้นเท่านั้น”
เต สะท้อนมุมมอง

สุดท้ายสำหรับ เต แล้วคาดหวังแค่การได้มีที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด ให้รู้สึกว่าอยากกลับห้องไปทิ้งตัว นอนพักที่เตียงหลังจากที่เสร็จงาน ให้เป็นห้องที่ปลอดภัย ก็แค่นั้นเอง ท่ามกลางหลายปัจจัยที่บั่นทอนชีวิตคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน อย่างน้อยขอแค่มีที่อยู่ที่ดี ๆ ก็น่าจะช่วยให้มีแรงสู้ต่อ
ถึงตรงนี้ในความเป็นจริง ไม่มีใครได้อะไรตรงอย่างที่ต้องการทุกอย่าง มีแต่ได้อย่างเสียอย่าง ในขณะที่มีมนุษย์เงินเดือนอีกจำนวนไม่น้อย ที่พวกเขาไม่ทำให้บ้าน หรือที่อยู่อาศัยเป็นข้อจำกัด แต่เลือกที่จะแลกกับปัจจัยอื่น ๆ เพื่อโอกาสการมีงานทำ
ยอมเดินทางไกล แลกกับการได้อยู่บ้าน
แนท (นามสมมุติ) เป็นคนหนึ่งที่มาแสวงหาโอกาสทำงานในกรุงเทพฯ เช่นกัน แม้บ้านจะอยู่ถึงศาลายา จ.นครปฐม ซึ่งถือว่าไกลมากถ้าวัดจากที่ทำงานที่อยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และปทุมธานี แต่สำหรับเธอแล้วก็เลือกที่จะอยู่บ้าน ไม่ไปหาห้องเช่าอยู่ใกล้ ๆ ที่ทำงาน ยอมแลกกับภาระค่าใช้จ่าย และความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง
“ถ้าต้องให้ไปเช่าห้องในเมือง ก็แอบรู้สึกว่าราคาแพง และกลายเป็นว่าเราจะใช้ชีวิตแค่แถว ๆ ที่ทำงานเท่านั้น”
แนท ยอมรับตามตรง ถึงเหตุผลของการเลือกอยู่บ้านโซนศาลายามากกว่า เพราะไม่แออัด เท่าในกรุงเทพฯ ที่สำคัญการได้พักอยู่บ้านยังทำให้เธอได้อยู่ใกล้ครอบครัว ได้ดูแลพาแม่ไปหาหมอแทบทุกสัปดาห์
แต่ที่ต้องยอมรับสภาพของคนที่บ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน คือ ค่าใช้จ่ายการเดินทาง แนท บอกว่า แต่ละวันรวม ๆ ค่าเดินทาง ทั้งค่ารถเมล์ รถตู้ ค่ารถไฟฟ้า ไปกลับนครปฐม – กรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 300 บาท เมื่อหักค่าแรงรายวัน เธอจะเหลือใช้อยู่ราว ๆ 200 บาท ยังไม่รวมค่ากิน เธอก็เป็นอีกคนที่แทบไม่เหลือเงินเก็บ
เหตุผลที่ทำให้ แนท เลือกอยู่บ้าน แทนไปเช่าห้องใกล้ที่ทำงาน หรือไปอาศัยอยู่ที่อื่น ก็เพราะอยากอยู่กับแม่ ซึ่งถ้าแนทไม่ได้อยู่ที่บ้าน แม่ต้องอยู่คนเดียว อีกอย่างสภาพแวดล้อมแถวบ้านแนทมองว่าน่าอยู่กว่าในเมือง ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ได้มากกว่า
นั่นเป็นเพียงเรื่องราว และเสียงสะท้อนแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของคนรุ่นใหม่ วัยเริ่มทำงาน ที่ต้องพบกับความเป็นจริงว่า ชีวิตไม่ได้ง่ายตั้งแต่ก้าวเท้าออกไปหาโอกาส หารายได้เลี้ยงตัวเอง เมื่อ บ้าน และที่อยู่อาศัย ซึ่งควรเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของชีวิต กลายเป็นตัวแปรที่ฉุดรั้งคนวัยสร้างตัว
ในวันที่ บ้าน กลายเป็น สินค้าฟุ่มเฟือย ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่กล้าฝันถึง การมีบ้านสักหลังในยุคนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ ความขยันทำงาน หรือ การวางแผนชีวิต แต่มันคือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ ไม่ได้เอื้อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม
เมื่อการมีที่อยู่อาศัยดี ๆ ของคนรุ่นใหม่ อาจถูกมองเป็นความฝันที่ยากจะเอื้อมถึง และกำลังถูกทำให้เชื่อว่า ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยไม่มีอยู่จริง นั่นก็อาจไม่ต่างจากการพาชีวิตคน ๆ หนึ่งให้ตกอยู่ในวังวน ความเสี่ยงจน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงเวลาหรือยัง ? กับการต้องเริ่มตั้งคำถามใหม่ว่า รัฐ มีนโยบายสาธารณะที่ทำหน้าที่ สร้างหลักประกันเรื่องที่อยู่อาศัย ให้ประชาชนแค่ไหน ? หรือปล่อยให้การมีบ้านกลายเป็นสนามแข่งขัน ที่ใครเริ่มต้นช้า ก็ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะฝัน และถูกทำให้กลายเป็น ภาระ ไม่ใช่ ที่พักพิง ที่ในระยะยาวอาจต้องแลกด้วยเสรีภาพทางการเงินของเขาทั้งชีวิต
คำถามจึงไม่ใช่แค่…ทำไม ? คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีบ้าน
แต่ควรต้องถามว่า “บ้านยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่คนธรรมดา ๆ สามารถเข้าถึงได้อยู่หรือไม่ ?”