ย้อนรอยความรุนแรง หนองบัวลำภู – เด็กอายุ 14 ปี สังคมเรียนรู้อะไร Policy Forum เสนอเปลี่ยนแปลงวิธิการป้องกันสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิตเชิงบวก
6 ต.ค.65 หรือวันนี้เมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศไทย เมื่ออดีตตำรวจนายหนึ่งใช้อาวุธมีดและปืน บุกเข้าไปทำร้ายคนภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู โศกนาฏกรรมครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 38 ราย (รวมผู้ก่อเหตุ) ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 24 คน
หลังเกิดเหตุการณ์ มีการณ์ถอดบทเรียนในเวทีต่างๆ มากมาย ทั้งมูลเหตุจูงใจ ซ้อมหลบหนีเมื่อเผชิญเหตุ การป้องกันและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน และยาเสพติด ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหายทั้งระบบ
หลายคนพยายามลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ภาวนาว่าสังคมจะเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ แต่ในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นระเบิดความรุนแรงที่ตามมาอีกหลายระลอก
- กราดยิงสายไหม 15 มี.ค. 66
- กราดยิงเพชรบุรี 22 มี.ค. 66
และล่าสุด 3 ต.ค. 66 เยาวชนอายุ 14 ปี กราดยิงในห้างสรรพสินค้าพารากอน กรุงเทพฯ
“สังคมไทยสมาธิสั้นไหม? ถอดบทเรียนอยู่เรื่องหนึ่ง พอมีเรื่องใหม่เราก็ทิ้งเรื่องเก่าไปเลย เหมือนเราเกาะทุกสิ่งที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่แก้ไขรากเหง้าแท้จริงของปัญหา”
ซานจู – อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Sati (สติ) หนึ่งในภาคประชาชนที่ผลักดันให้สังคมมีพื้นที่ปลอดภัย ให้คนสามารถระบายความเครียดหรือความรู้สึกเศร้าของตัวเอง สะท้อนถึงปัญหาการถอดบทเรียนความรุนแรงหลายครั้งของสังคมไทย ยกตัวอย่าง การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ก่อเหตุหรือผู้สูญเสียในเหตุการณ์ที่ จ.หนองบัวลำภู ครั้งนั้นสื่อถอดบทเรียนกันว่าจะไม่ทำอีก แต่พอเกิดเหตุเด็กอายุ 14 ปี สื่อก็ยังทำเหมือนเดิม รวมถึงการวินิจฉัยอาการของน้องแบบผิดๆ ถูก ๆ ซึ่งในทางจิตวิทยา กว่าที่คน ๆ หนึ่งจะก่อเหตุความรุนแรงมีหลากหลายองค์ประกอบด้วยกัน
หัวใจการสำคัญของการถอดบทเรียน คือไม่ใช่ว่าเหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นซ้ำ 100% แต่ถ้าเกิดแล้ว สังคมจะมีวิธีการรับมือที่ต่างออกไป และดีขึ้นกว่าเดิมทุก ๆ ครั้ง จากบทเรียนที่ผ่านมา
“ถ้าหาสาเหตุความรุนแรงด้วยคำตอบเดียว ไม่มีทางเจอต้นตอปัญหาได้อย่างแท้จริง”
สอดคล้องกับ ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสังคมอาจจะตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่เราจะเลิกถอดบทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งคำตอบคือ คงไม่สามารถหยุดได้หากสังคมยังไม่ร่วมถอดบทเรียนไปด้วยกัน และเรียนรู้ว่าการที่เด็กคนหนึ่งเติบโตมามีปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องชีววิทยา
แต่กว่าจะถึงจุดที่มีปัญหาต้องเจอปัจจัยต่าง ๆ มากมาย มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ถ้าเป็นการถอดเป็นเรียนเพื่อทำความเข้าใจเชิงระบบ สังคมจึงจะเปลี่ยนแปลงร่วมกันเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ นำไปสู่การเรียนรู้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ
“ให้เวลากับการถอดบทเรียน อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป”
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์แนวโน้มการเกิดเหตุซ้ำในอนาคตว่า เกิดขึ้นแน่นอน ถ้าสังคมยังโทษเกม โรคจิตเวช เพราะปัจจัยความเป็นไปได้อื่น ๆ จะถูกทิ้งไว้ใต้พรม โดยไม่ได้ถูกพูดถึงหรือได้รับการแก้ไข พร้อมย้ำว่าการป้องกันปัญหาความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้น ในการถอดบทเรียนจำเป็นต้องพูดถึงการส่งเสริม ป้องกัน ในอนาคตว่าปัญหาเกิดอะไร จำเป็นที่จะต้องจับมือหน่วยงานอื่น ๆ มาทำงานร่วมกันในเรื่องนี้
นี่เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งในเวที Policy Forum ครั้งที่ 2: นโยบายสุขภาพจิต : Mental Health Policy Ecosystem เปิดพื้นที่สนทนาเพื่อสร้างระบบนิเวศนโยบายสุขภาพจิต สู่ข้อเสนอเพื่อการสนับสนุนข้อมูลเพื่อต่อยอดนโยบายสุขภาพจิตของไทย