การผลักดันสุราก้าวหน้า ต้องคำนึงถึงการลดปัญหาสุขภาพ และสังคมไปพร้อมกัน
‘นโยบายสุราก้าวหน้า’ ยังคงถูกพูดถึงเรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ลากยาวมาถึงการเลือกตั้ง 66 ที่คนไทยกำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่เจ้าของนโยบาย ‘สุราก้าวหน้า’ มาผลักดันนโยบายของตัวเองต่อในสภาฯ หวังสร้างรายได้ขยายการเติบโตของ SME รายย่อยของไทย โดยการแก้ พ.ร.บ.สรรพสามิต เปิดทางให้การผลิตเหล้าเบียร์ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ลดการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่
นักวิชาการหลายคนมองว่า ‘สุราก้าวหน้า’ อาจเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้จริง แต่อีกด้านหนึ่งองค์กรและหน่วยงานภาคส่วนยังแสดงความกังวลว่า การแก้ไขกฎหมายควบคุมเหล้าเบียร์อาจนำไปสู่ ‘สุราเสรี’ ที่สร้างผลกระทบมากกว่าประโยชน์หรือไม่?
นักดื่มหน้าใหม่ ความกังวลของสังคม
“ลดทุนผูกขาดสุรา…ต้องลดปัญหาสุขภาพและสังคมด้วย”
ชูวิทย์ จันทรส เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ แสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของพี่น้องผู้ผลิตสุรารายย่อยที่ค้างอยู่ในสภาฯ ที่เปิดโอกาสให้สามารถขายแอลกอฮอล์บนออนไลน์ อนุญาตให้จำหน่ายสุราในร้านค้าสโมสรระดับมหาวิทยาลัย และนำผู้ประกอบการเหล้าเบียร์เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการควบคุมเหล้าเบียร์แทนภาคประชาสังคมคุ้มครองผู้บริโภค เด็ก และสตรี ว่าอาจนำไปสู่ ‘สุราเสรี’ ตามที่กังวล โดยจะนำเอาข้อกังวลนี้ไปคุยกับฝ่ายนโยบายของรัฐบาลก้าวไกลว่ามีข้อกังวลอย่างไรบ้าง
สำหรับนโยบายสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลที่เปิดโอกาสให้มีการผลิตสุราชุมชนสร้างเม็ดเงินแก่ SME รายย่อยจะเป็นการเพิ่ม ‘นักดื่มหน้าใหม่’ หรือไม่นั้น ชูวิทย์ เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ และเห็นแย้งกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่อธิบายว่าการเปิดโอกาสให้มีการผลิตสุราในระดับผู้ประกอบการรายย่อยนี้จะไม่เป็นการเพิ่มนักดื่ม โดยชี้ว่า ตัวชี้วัดว่านโยบายสุราก้าวหน้าจะเป็นการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่หรือไม่นั้น สามารถวัดได้จากสถิติหลังการประกาศใช้นโยบาย
ในแง่ของการลดทุนผูกขาด ชูวิทย์ ตั้งข้อสังเกตการแก้กฎหมายให้ผู้ประกอบกิจการสุราสามารถโฆษณาผลิตภัณฑ์ ขณะนี้มีสัดส่วนแบ่งทางการตลาดเบียร์มูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาท แต่มีผู้ผลิตรายย่อยอย่างคราฟเบียร์ และอื่น ๆ เพียง 3.1% โดยตั้งคำถามว่าจากมูลค่าตลาดเหล้า เบียร์ โดยรวมจากนโยบายสุราก้าวหน้าจะสามารถทลายทุนผูกขาดได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะสัดส่วนทางการตลาดที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ใครจะสามารถทำได้มากกว่ากัน
ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค โดย สารี อ๋องสมหวัง สนับสนุนให้ลดการผูกขาดการจำหน่ายสุรา เพราะมองว่าประเทศเราอยู่กับการผูกขาดการจำหน่ายสุราเพียงไม่กี่เจ้ามานานแล้ว เพราะฉะนั้นการลดการผูกขาด ทั้งการผลิต และจำหน่าย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ
ทั่วโลกก็ควบคุมการจำหน่ายสุรา การขายให้คนที่มีอายุ เท่าไหร่ ควบคุมการโฆษณา เราก็ไม่จำเป็นต้องไปส่งเสริม แต่สนับสนุนในแง่ของการผลิตและจำหน่ายที่ลดการผูกขาด ขณะเดียวกันก็ควรมีการกำกับ สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือ ไม่ควรส่งเสริมให้คนดื่ม
แม้ สารี จะยอมรับว่า สุราก้าวหน้า จะทำให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายขึ้น จะทำให้นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลหลังมีนโยบายออกมา แต่เชื่อว่าส่วนแบ่งการตลาดที่เคยผูกขาดมาจากกลุ่มเจ้าสัว จะถูกแบ่งมาสู่เกษตรกรรายย่อยมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้คนกินกันสนุกสนาน
“ยอมรับว่าถ้าเรามีการผลิตสุราเสรี ชาวบ้านก็อยากผลิตร่วมด้วย การเข้าถึงมันก็ง่ายขึ้น” รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเป็นห่วง หากเราหย่อนมาตรการลงไป บริษัทใหญ่ ๆ ก็จะใช้มาตรการส่งเสริมให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ง่ายขึ้นอีก เพราะฉะนั้นโดยรวมจะทำให้ประชากรดื่มสุรามากขึ้น เราก็อาจต้องเตรียมความพร้อม ในระบบสาธารณสุข
“ถ้าเราใช้ Best Buy Policy (นโยบายที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน) ไม่ได้ ในการควบคุมการดื่ม เราก็อาจจะต้องใช้ Good Buy Policy ที่มีการลงทุนเยอะหน่อย เช่นการให้ความรู้ เข้าใจ ตรวจจับกุมคนที่ดื่มแล้วมีปัญหา มากขึ้น”
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ
การควบคุมการเข้าถึงทั้งการจำกัดเวลาจำหน่าย จำกัดสถานที่ การโฆษณาในต่างประเทศเองมันถือเป็น Best Buy Policy เป็นนโยบายที่ดีไม่ต้องลงทุนแต่สามารถควบคุมปริมาณคนดื่ม รักษาสุขภาพของประชาชน
สังคมจะโฟกัสจุดไหน สิทธิ, เศรษฐกิจ, สุขภาพ เราคงต้องชั่งน้ำหนัก เพราะ ในฐานะคนทำงานด้านสุขภาพ ตระหนักว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบสุขภาพ แม้ดื่มได้อย่างเสรี ยกเว้นประเทศมุสลิม แต่จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ คือการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกาย มีกระทบต่อร่างสุขภาพ เราก็คงต้องหาทางบาลานซ์ ทั้งด้านสุขภาพ และเสรีการผลิต
“อย่างไรก็ตาม ยังคงสนับสนุนในการทลายการผูกขาดและสร้างการเติบโตให้กับผู้ประกอบการรายย่อย แต่การผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ต้องคำนึงถึงการลดปัญหาสุขภาพ และสังคมควบคู่ไปด้วยเช่นเดียวกัน”
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ
ทำเอง จำหน่ายง่าย ช่วยรายย่อย
สำหรับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าได้ปักหมุดหมายทางความคิดในการ ‘ทลาย’ ทุนผูกขาดของตลาดเบียร์ และสุรา ในการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 153 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 คลายล็อกให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตสุราบริโภคเองในครัวเรือนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และจำหน่ายได้ง่ายมากขึ้นโดยไม่ต้องมีกำลังการผลิตมาก ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ SME รายย่อยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
อนันตลักษณ์ สุวรรณลักษณ์ ผู้ประกอบการ จ.แพร่ บอกว่า กฎหมายเดิมยังควบคุมกำลังการผลิตสุราที่เอื้อต่อทุนใหญ่ที่มีทรัพยากรในการผลิตมาก ถ้าหาก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า สามารถคลายตรงจุดนี้ ตลาดสุราก็จะดูดผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยเข้ามาสู่การแข่งขันในตลาดอย่างเสรีและยุติธรรมมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับ พินิจ ทองคำ ภาคีเครือข่ายกลุ่มพิราบขาว กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจาก จ.ลำปาง มองว่า สุราก้าวหน้าจะเป็นกุญแจสำคัญในการคลายล็อกทุนผูกขาดเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงตลาดอย่างเท่าเทียมกัน การแก้ไข มาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 ถือเป็น ‘บันไดขั้นแรก’ ที่จะทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีของดีกระจายอยู่ตามแต่ละพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ยังมีจุดถกเถียงในเนื้อหาในแง่ของความเหมาะสมทางศีลธรรมและความปลอดภัยในเด็กและเยาวชน
ขณะที่ ชมพูนุช มณีโชติ เยาวชนกลุ่มพลังโจ๋ จาก จ.แพร่ มองว่า หาก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่าน ประชาชนจะมีตัวเลือกสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันเธอยืนยันว่าจำนวนคนดื่มสุรายังคงเท่าเดิม แต่ยังมีข้อกังวลในฐานะเยาวชน คือการปลดล็อกอนุญาตให้ร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยสามารถจำหน่ายเหล้าเบียร์ในละแวกโรงเรียน เกรงว่าจะเป็นการเปิดทางให้เด็กและเยาวชนซื้อแอลกอฮอล์ลักลอบนำเข้าไปดื่มในสถานศึกษาได้
ปัญหาสุขภาพ โจทย์ยาก สุราก้าวหน้า
โจทย์ใหญ่ของนโยบายสุราก้าวหน้าคงหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสุรามีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และมีสารก่อมะเร็ง ดังนั้นจึงไม่สามารถมองว่าแอลกอฮอล์เป็นสินค้าธรรมดา ซึ่งแอลกอฮอล์ยังมีผลต่อสมองของเด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี มีผลทำให้สมองฝ่อได้
กัณณิกา สิทธิพงษ์ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ได้หยิบยกผลของการใช้เหล้าต่อร่างกายและจิตใจผู้ใช้ โดยระบุว่าการดื่มสุรามากเกินไป เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้อันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกา และมีข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ในต่างประเทศที่ทำการทบทวนการศึกษา 83 งาน ในปี 2018 ระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย และอายุขัยที่สั้นลง การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการเจ็บป่วยทั้งทางกายทางใจ โรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล PTSD ความผิดปกติทางการกิน รวมถึงการนำไปสู่การใช้สารเสพติดตัวอื่น ๆ ได้เช่นกัน
การศึกษาในต่างประเทศ สอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์ในประเทศไทยที่พบว่าแนวโน้มสถานการณ์การเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2558-2562 ระบุว่าการเสียชีวิตในเพศชาย 5 อันดับแรก คือโรคตับจากการดื่มเหล้า ตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองแตก และมะเร็งช่องปาก/โพรงจมูก ส่วนใหญ่เพศหญิง คือโรคตับแข็ง โรคตับจากการดื่มเหล้า โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดสมองตีบตามลำดับ นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ จนเสพติดหรือเป็นโรคพิษสุราสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล ดังนั้นสถานบริการสุขภาพ ควรมีการคัดกรองความเสี่ยงเรื่องการฆ่าตัวตาย และมีการติดตามผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ
การดื่มเป็นประจำนำมาสู่ภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร นักจิตวิทยาอธิบายคร่าวๆ ว่าแอลกอฮอล์จะไปกระทบกับสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้การผลิตสารความสุขในสมองของเราเปลี่ยนแปลงไป การดื่มไปอย่างต่อเนื่องนานๆ ทำให้สารที่เคยสร้างความสุขลดลงไป พอไม่ได้ดื่มก็จะรู้สึกไม่มีความสุขเท่าที่ควรจะเป็น
ถ้าเริ่มดื่มจนมีผลกระทบด้านลบแล้ว ดื่มเกินกว่าปริมาณที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว จะเริ่มไปส่งผลต่อใช้ชีวิตประจำวันที่แย่ลง เรียนหนังสือแย่ลง ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง มีผลกระทบต่อสัมพันธภาพในครอบครัวและการเงิน ถ้าขับรถด้วยก็ผิดกฎหมาย เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ
“ต้องยอมรับเลยว่าการที่มีสุราก้าวหน้า น่าจะมีแนวโน้มเข้าสู่การดื่มและ ทดลองดื่มมากขึ้น และคงห้ามไม่ได้ แต่มุมของผู้บริโภคต้องมี การรับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ทราบว่าการดื่มไปแล้วมีผลกระทบไม่พึงประสงค์ อาจจะต้องระมัดระวังการดื่มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดี”
กัณณิกา สิทธิพงษ์
ภาคสังคมผุดไอเดีย ‘กองทุน’ เยียวยาปัญหาสุรา
การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่มกินสุรา คือการจัดเก็บภาษีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบขั้นบันได ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย และรายใหญ่ นำไปเป็น ‘กองทุน’ สำหรับเยียวยา รักษา และดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุโดยมีปัจจัยจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ โดยเป็นกองทุนที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
พินิจ ทองคำ ภาคีเครือข่ายกลุ่มพิราบขาว สะท้อนว่า กลุ่มคนที่ไม่สนับสนุน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ส่วนหนึ่งเพราะยังมีข้อกังวลทั้งอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยจากการดื่มสุรา ทางออกสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่มสุรา ปัญหาทางสังคมและการเจ็บป่วยคือ ‘กองทุน’ คลี่คลายปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสุราครอบคลุมในทุกมิติของประชาชน โดยการจัดตั้งกองทุน
สอดคล้อง กับ อนันตลักษณ์ สุวรรณลักษณ์ ผู้ประกอบการ จ.แพร่ กล่าวเห็นด้วยกับไอเดียดังกล่าว โดยมองว่า ในฐานะผู้ผลิตก็ควรจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม และยินดีจ่ายภาษีเหล้าเบียร์ทุกขวดที่ชำระผ่านกรมสรรพสามิตนำไปสร้างเป็นกองทุนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะเดียวกันการสร้างค่านิยมจิตสำนึกก็เป็นสิ่งที่จำเป็นพอ ๆ กับกองทุนเยียวยาเพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักคุณและโทษของสุรา เธอยังย้ำว่าการสร้างจิตสำนึกอาจสร้างผลลัพธ์ด้านบวกมากกว่าการควบคุมโดยกฎหมาย
สำหรับการจ่ายภาษีสรรพสามิตเพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสุรา เป็นการคืนเม็ดเงินสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม มีข้อเสนอจากเวทีว่าควรจัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้า ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ขายได้มากก็เอาเข้ากองทุนมาก ผู้ประกอบการทุนน้อยขายได้น้อยก็เอาเข้ากองทุนได้น้อย
ควบคู่ไปกับการสร้างค่านิยมในสังคมตั้งแต่โรงเรียน ครอบครัว ผ่านสถานศึกษาให้เด็กเรียนรู้เองว่าอายุเท่าไหร่เขาถึงจะดื่มได้ ดื่มแล้วผลกระทบเป็นอย่างไร เชื่อว่าเมื่อเกิดการพูดคุยจนรู้ว่าอะไรดี ไม่ดี การดื่มสุราก็จะอยู่ในหลักวุฒิภาวะมากขึ้น