สร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนบน
“ผมฝัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ฝันเห็นภาครัฐลงมากระตุ้นให้ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อแสดงออกไม่ใช่ให้มาประท้วงนะ แต่มาแสดงออกเพื่อบอกในสิ่งที่เขาอยากเห็น อยากเป็น ให้เขากำหนดอนาคตของตนเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ไม่ใช่กีดกันไม่ให้เขาแสดงออกเพราะกลัว กลัวเสียงของชุมชนจะดังขึ้นมา”
ภาพฝันที่ดูห่างไกลจากความจริง ในมุมมองของ “หมอหัวขบถ” ที่กำลังจะฉายภาพ “แรงกดทับ” จากวิธีคิดแบบรัฐ และระบบราชการ ที่ส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิต สิทธิ และทำให้เสียงของชาวบ้านแผ่วเบาและห่างไกลเกินกว่าผู้มีอำนาจจะได้ยิน
The Active สนทนากับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อหาคำตอบให้กับการเปลี่ยนผ่าน และไปต่อของประเทศไทยหลังได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เสียงจากชุมชนที่เคย “ถูกลืม” กลับมามีพลังเพื่อขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไปถึงโครงสร้างส่วนบน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับนโยบายการพัฒนา และสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้อย่างแท้จริง
ผ่านมากว่า 6 เดือน หลังมีคำสั่งย้ายของกระทรวงสาธารณสุขให้เดินทางมารับหน้าที่ผู้อำนวยการ รพ.สะบ้าย้อย ชายขอบจังหวัดสงขลาติดชายแดนมาเลเซีย นพ.สุภัทร หรือ “หมอจุ๊ก” เริ่มนับหนึ่งในการพัฒนาโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน ก็เริ่มสานสัมพันธ์กับชุมชนที่เพิ่งรู้จักกันไม่นาน ได้ลงเยี่ยมชุมชนบ้าง แต่ไม่บ่อยเหมือนในพื้นที่ อ.จะนะ ที่เขามีบริบทงานมากกว่าด้านสาธารณสุข คือการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มานาน 24 ปี วันนี้เขายังสวมหมวกหลายใบ ทั้งในฐานะข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานชมรมแพทย์ชนบท และประธานมูลนิธิภาคใต้สีเขียว
แรงกดทับจากรัฐและระบบราชการ ทำให้เสียงของชาวบ้าน “ถูกลืม”
“ผมก็หมอบ้านนอกนะ เข้ากรุงไม่บ่อย นั่งแท็กซี่ทุกครั้งเห็นตึกสูงใหญ่ รถไฟฟ้าขวักไขว่หลายเส้น แต่คนจนเมืองในกรุงเทพฯ ก็ยังมีชีวิตไม่ต่างจากเดิม ไม่มีเงินขึ้นรถไฟฟ้า ส่วนคนชนบทก็ยังคงวนเวียนอยู่กับวิถีเดิม วิถีที่ไม่ถูกสนับสนุนให้จัดการตนเอง หรือจัดการฐานทรัพยากรหน้าบ้านอย่างจริงจัง”
“หมอบ้านนอก” เริ่มฉายภาพปัญหาที่เกิดจากวิธีคิดแบบรัฐ และระบบราชการรวมศูนย์ ฟังเสียงจากชาวบ้านแค่พอเป็นพิธี แต่ฟังเสียงจากกระทรวงจากผู้มีอำนาจเป็นหลัก เห็นได้จากโครงการทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ที่ลงมาในพื้นที่ก็เป็นโครงการที่สำเร็จรูปมาแล้ว ชาวบ้านอาจมีพื้นที่สิทธิและเสียงบ้างเล็กน้อยแต่แทบไม่มีผลกับการเปลี่ยนแปลงเลย
“สังคมไทยลืมฟังเสียงชุมชน มองว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกคัดค้านการพัฒนา ล้าหลัง มันเป็นเพราะกลไกและชุดความคิดของรัฐไทยที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจ ปรากฏการณ์ 9 ปี ของรัฐบาล คสช. ชัดมาก มีการยึดอำนาจส่วนบนไปเยอะมากผ่านกลไกกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กลไกการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 60 หรือการออกระเบียบ คสช. และ พ.ร.บ.ชุมนุม ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิ แทนที่จะส่งเสริมให้มีการชุมนุมโดยปราศจากความรุนแรง”
แรงกดทับจากรัฐและระบบราชการถูกอธิบายจาก นพ.สุภัทร ผู้ที่อยู่ในสองสถานะที่ดูเป็นคู่ขนาน ทั้งในฐานะผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิกับชาวบ้าน กับอีกฐานะคือคนที่อยู่ในระบบราชการ ซึ่งถูกผลกระทบมากหน่อยจากปรากฏการณ์ “แพทย์ชนบท” ที่ออกแสดงความเห็นต่าง จนตามมาด้วยการถูกสอบวินัย และมากสุดคือการถูกคำสั่งย้าย
“กลไกและชุดความคิดของรัฐไทย ที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางส่งผลชัดเจนต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นกับแพทย์ชนบทก็ไม่ต่างกัน คือคนในพื้นที่ต้องเชื่อฟัง ไม่ฟังจะโดนสอบวินัย คือเห็นต่างจากส่วนกลางไม่ได้เลย เมื่อไหร่ที่ทักท้วง แสดงความเห็นต่าง ก็จะไม่เจริญเติบโตในทางราชการ ที่มีวิถีของระบบราชการที่ต้องอยู่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ดูเหมือนจะไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องนโยบายกระทรวง ก็จะโดนเยอะหน่อย มากสุดคือโดนย้ายและโดนตั้งกรรมการสอบวินัย”
วาทกรรม “การพัฒนา” กับความหมายที่สวนทาง
สังคมไทยตกอยู่ในวาทกรรมว่า “ต้องพัฒนา” ไปข้างหน้า ต้องเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งสวนทางกับความยั่งยืนของชุมชนและมุมมองของคนในพื้นที่ในเรื่องการพัฒนา ที่มองว่าต้องเป็นไปอย่างช้า ๆ ปกป้องฐานทรัพยากรหน้าบ้านให้ได้มากที่สุด ตัดต้นไม้ให้น้อยที่สุด ให้มีปูมีปลาในทะเล รักษาคูคลองให้ลูกหลานให้กินได้อยู่ จีดีพีอาจขึ้นน้อยแต่ฐานชีวิตอยู่ได้ ขณะที่ความฝันของภาครัฐคือการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เน้นจีดีพีขึ้นเร็ว คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้สมดุลของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้
ยกตัวอย่างความขัดแย้งที่สำคัญ อย่างเช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร – ระนอง ในมุมของรัฐบาลก็อาจพัฒนาให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศ เปิดรับการลงทุนมาก ๆ แต่ในอีกด้าน ในปัจจุบันจังหวัดชุมพรได้สถาปนาตัวเองเป็นเมืองหลวงแห่งทุเรียนของภาคใต้ และสามารถสร้างรายได้จนเศรษฐกิจโตเป็นอันดับสามของของภูมิภาค ส่วนจังหวัดระนองก็นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในฝั่งอันดามัน สะอาดและมีความเป็นธรรมชาติสูง
คำถามคือ ในสองชุดความคิดที่ขัดแย้ง แตกต่างกันจะทำอย่างไร ให้เสียงของชุมชนดังขึ้นมาเมื่อเทียบกับเสียงของรัฐบาล หรือนายทุนที่พยายามผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ดังนั้นมันจะต้องมีกลไกหรือโครงสร้างที่ช่วยดึงเสียงของชาวบ้านขึ้นมา แค่การทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA อย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ถ้ามีกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ. SEA หรือการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ในภาพรวมของพื้น ที่เป็นคำตอบที่ดีในการให้พื้นที่กับสิทธิ และเสียงของคนในพื้นที่มากกว่ากลไกที่มีอยู่
“ที่ผ่านมาพอชาวบ้านไปประท้วงหน่อยนึง เขาก็โดน พ.ร.บ.ชุมนุมเล่นงาน เช่น ไม่ขอล่วงหน้า ขอแล้วไม่ถูกต้อง หรือขอแล้วไม่ตรงกับที่ขอ สารพัดข้อที่จะทำให้ชาวบ้านมีโอกาสถูกจับดำเนินคดี ที่สำคัญคือ การดำเนินคดีในลักษณะที่เอามาเป็นเครื่องมือในการกดชาวบ้านไม่ให้ประท้วงอีก เพราะจะโดนคดีซ้ำอีก”
“รัฐธรรมนูญ” เปิดพื้นที่สิทธิ และเสรีภาพ แต่ “กฎหมายรอง” ลดทอนสิทธิ และเสียงชาวบ้าน
หนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือการมีรัฐธรรมนูญ ปี 40 ถือเป็นความหวังของชาวบ้าน เกิดองค์กรอิสระขึ้นหลายองค์กร ชาวบ้านมีสิทธิ เสียงตามตัวบทกฎหมายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน อำนาจรัฐ และอำนาจทุนใหญ่ก็ใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ เช่น การแทรกแซงการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึง “กฎหมายรอง” ที่กลายเป็นเครื่องมือให้รัฐใช้จำกัดสิทธิชาวบ้าน
“ความยากคือเราจะออกแบบโครงสร้างข้างบนอย่างไรให้เอื้อกับข้างล่างมากที่สุด การรวมตัวกันเพื่อขึ้นไปคานโครงสร้างส่วนบน ไม่ให้ถูกยึดไปโดยอำนาจรัฐหรือทุน ถึงเราจะมีรัฐธรรมนูญเป็นโครงสร้างใหญ่ที่ให้สิทธิ เสรีภาพเราอยู่ แต่ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ สิทธิตามรัฐธรรมนูญเหล่านั้นกลับถูกจำกัดด้วยกฎหมายรอง และเป็นการจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผล ถ้าจะให้ดีจะต้องจัดการกับกฎหมายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ต่าง ๆ หรือระเบียบสำนักนายกฯ ระเบียบราชการต่าง ๆ ให้เอื้อต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย”
“หมอจุ๊ก” ยกตัวอย่าง ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้มีการทำ EIA หรือการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นรายโครงการ แต่สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีหลายโครงการย่อยและจะทำให้พื้นที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ ก็ต้องใช้วิธีเดินทางไปกดดันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ให้ ครม. ใช้อำนาจผ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ทำเป็นบางโครงการไป แต่ถ้าออกเป็นกฎหมาย เมื่อมี พ.ร.บ. SEA ก็จะทำให้เกิดการศึกษาผลกระทบโดยภาพรวมก่อน จากนั้นค่อยศึกษาในรายโครงการย่อยอีกที ซึ่งจะทำให้เกิดความเห็นร่วมมากขึ้น
“อย่างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อศึกษา SEA แล้ว อาจเห็นว่าควรทำ แต่ควรทำในสเกลไหน อาจจะมีขนาดเล็กลงและจะมีเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ชาวบ้านยอมรับ จากนั้นก็ค่อยมาศึกษา EIA ย่อยเป็นรายโครงการไป ความขัดแย้งก็จะลดลง ไม่ใช่มีเวทีรับฟังแบบมีส่วนร่วมแค่ 3 ชั่วโมง แล้วพูดฝ่ายเดียว คนค้านก็บอกว่าทำไมค้าน คนหนุนก็บอกว่าหนุนเพราะอะไร แต่ไม่มีการสื่อสารสองทางเพื่อหาข้อสรุป อย่างนี้ก็ไม่ลงตัว ”
“หมอบ้านนอก” กับความเชื่อ ความฝัน ถึงความเปลี่ยนแปลง
นอกจากความเป็นหมอ นพ.สุภัทร เริ่มเข้าสู่ขอบวงของนักกิจกรรมเคลื่อนไหวตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตแพทย์ จุฬาฯ ปี 4 ในฐานะนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาฯ ก่อนจะขยับมาเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 ความคิดในเวลานั้น คือการเรียกร้องประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
“ชุดความคิดตอนที่เป็นนิสิตนักศึกษา เราเชื่อว่าถ้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนได้ ข้างล่างก็จะมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ชาวบ้านก็จะอยู่ดีกินดี ความเหลื่อมล้ำน้อยลง”
แต่เมื่อเริ่มชีวิตความเป็นแพทย์ชนบท ที่บ้านเกิด จ.สงขลา ความจริงที่เห็นคือชาวบ้านอยู่ไกลมากจากโครงสร้างส่วนบน และประสบปัญหาพื้นฐานคือแทบไม่มีสิทธิ เสียงในการพูด และเมื่อได้เรียนรู้ และร่วมเคลื่อนไหวกับคนในพื้นที่ คัดค้านหลายโครงการขนาดใหญ่ อย่างเช่น โครงการตัดถนนผ่านป่าต้นน้ำเทพาที่ อ.สะบ้าย้อย โครงการโรงแยกก๊าซไทยมาเลเซีย โรงไฟฟ้าจะนะ และโครงการนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำมาสู่จุดเปลี่ยนความคิดของ “หมอบ้านนอก” อีกครั้ง
“พอเข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้าน ก็คิดว่า เอ๊ะ หรือคำตอบต้องอยู่ที่หมู่บ้าน อยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนรากฐาน ให้เห็นของจริง เผื่อว่ารูปธรรมจริงจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เลยลงไปทำงานกับฐานรากมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง ต่อสู้ให้สิทธิ และเสียงของชาวบ้านดังขึ้น”
พูดคุยถึงตรงนี้ “หมอจุ๊ก” หยุดคิด ก่อนบอกว่า เมื่อผ่านพ้นการทำงานกับชุมชนมา 20 ปี จึงเห็นว่าความคิด ความเชื่อที่ว่าคำตอบของความเปลี่ยนแปลงต้องอยู่ที่หมู่บ้าน “มันไม่ใช่ทั้งหมด” เพราะสุดท้ายแล้วหมู่บ้านเข้มแข็งอย่างไร ก็ไม่สามารถสู้ หรือทัดทานอำนาจรัฐได้
“ความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก คือรากฐานที่สำคัญ แต่รากฐานนี้จะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงส่วนบนด้วย ไม่ใช่เอาแต่ปกป้องชุมชนตัวเอง การต่อสู้เชิงประเด็นเหล่านี้ ต้องช่วยกันผลักดันการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างด้วย หมายความว่าต้องเปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนการจัดการภาครัฐ เปลี่ยนชุดความคิดในการพัฒนาประเทศให้มีความสมดุลมากขึ้น มันต้องสู้กันในสองระดับ”
สร้างเครือข่าย เข้มแข็งที่ฐานราก เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนบน
คำตอบใหม่ของการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริง คือการ “ถักทอเครือข่าย” สานพลังของชุมชนหมู่บ้าน เข้ากับนักวิชาการ ศิลปิน สื่อ เอ็นจีโอ ข้าราชการ รวมตัวกันเพื่อไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง จึงจะเป็นกลไกที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านได้จริง ยกตัวอย่าง เช่น การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ปกติที่ผ่านมา ก็มีกระบวนการมีส่วนร่วมอยู่ในนั้น โดยเปิดให้ชาวบ้านมาร่วม 3 ครั้งอย่างน้อย แต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง แต่ก็พบว่ากระบวนการมีส่วนร่วมที่ออกแบบมามีความไม่ลงตัว พราะให้บริษัทเจ้าของโครงการ เป็นผู้จ้างบริษัทมาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ สุดท้ายบริษัทผู้รับจ้างก็ต้องทำรายงานตอบสนองเจ้าของโครงการว่าสมควรสร้าง
“ถ้าชาวบ้านสู้แบบชาวบ้านบางระจัน ในบางชุมชนที่เข้มแข็งก็จะปกป้องตัวเองได้ แต่ชุมชนอื่น ๆ ก็อาจจะสู้ไม่ไหว แต่เมื่อชาวบ้านตื่น หลายชุมชนเข้มแข็ง ก็จะรวมตัวกันไปสู้เพื่อเปลี่ยน พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการศึกษาอีไอเอ ให้มีกองทุนเพื่อการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วบริษัทที่ต้องการศึกษาอีไอเอ จ่ายเงินเข้ากองทุนนี้ เพื่อให้กองทุนในฐานะองค์กรกลางเป็นผู้จ้างบริษัทมาศึกษา ก็จะได้ไม่ต้องขึ้นกับบริษัทเจ้าของโครงการอีกต่อไป”
“หมอบ้านนอก” ทิ้งท้ายบทสนทนา ด้วยความหวัง ที่เขาเห็น ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะขยับเสียงของจากหมู่บ้านให้ดังพอจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริง แม้ว่าวันนี้จะยังไม่ถูกเติมให้เต็มด้วยส่วนที่ยากที่สุดก็ตาม
“ผมยังเห็นความหวัง จากบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน เสียงของชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับอำนาจรัฐและรัฐบาลก็ดังขึ้น สื่อโซเชียลที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็ทำให้เสียงของชาวบ้านและชุมชนดังขึ้น หรือแม้แต่กลุ่มก้อนของนักวิชาการ สื่อสารมวลชน ศิลปิน เอ็นจีโอ และข้าราชการที่สนใจปัญหาสังคมก็ดูจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น เหล่านี้เป็นความหวัง เพียงแต่สิ่งที่ยังขาดคือ ชุดความคิดของรัฐบาลและผู้มีอำนาจรัฐในวันนี้ที่ชัดเจนพอที่จะนำไปสู่การปรับสมดุลเพื่อความเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบเชิงโครงสร้าง ที่จะเอื้อให้คนข้างล่างมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองมากขึ้น ไม่ใช่การกำหนดอนาคตของเขาที่มาจาก กรม กอง ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น”
ติดตามซีรีส์ “อย่าลืม”
- ‘สงครามสีเสื้อ’ สู่ ‘นิติสงคราม’ กับการเปิดพื้นที่เสรีภาพลดความรุนแรง I พิภพ ธงไชย
- รักษาพื้นที่สาธารณะให้ความคิดต่าง I ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
- เปลี่ยนผ่านประเทศไทย ต้องกลับไปตั้งต้นที่ “รัฐธรรมนูญ ” I ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
- อย่าลืม “รักษาคำพูด” เดินหน้านโยบาย ส่งมอบความหวังให้ประชาชน I ดวงฤทธิ์ บุนนาค
- เคลื่อนไหว ต่อสู้ด้วยความเป็นมนุษย์ บนเพดานสันติวิธีที่ไม่เท่ากัน I อานนท์ นำภา
- การสร้างความปรองดอง ต้องทำเป็นขั้นตอน และใช้เวลา I ศ.วุฒิสาร ตันไชย
- นโยบายที่ดีที่สุดต้องวัดผลได้ ครั้งหน้าจะได้ไปถูกทางมากขึ้น I ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
- อย่าลืมความสูญเสีย จาก “พิษการเมือง” ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิม I ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์