ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ กับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 24 พ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่ จ.อุดรธานี, นครศรีธรรมราช และ เพชรบุรี ซึ่งทั้ง 3 สนามถูกจับตาอย่างมาก โดยเฉพาะที่อุดรธานี กับการปรากฎตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในนามผู้ช่วยหาเสียงของ พรรคเพื่อไทย จนได้รับชัยชนะ
ทางฝั่ง ภูมิใจไทย พรรคสีน้ำเงินของ อนุทิน ชาญวีรกุล มท.1 ก็ลงใต้ จ.นครศรีธรรมราช จนผู้สมัครจากพรรคล้มแชมป์เก่า ประชาธิปัตย์ ลงได้
เพื่อให้เห็นภาพการแข่งขันที่ใช้ทั้ง ฐานเสียงพรรค, ฐานเสียงจากตระกูลบ้านใหญ่ และนโยบาย ที่เข้ามาทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้น The Active ชวนวิเคราะห์กลเกมการเมืองเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. ที่หวังผลสู่เป้าหมาย เลือกตั้งระดับประเทศ พร้อมมุมมองภาคประชาชนกับความคาดหวัง นโยบาย ที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น
เพื่อไทย ‘เปิดหน้าสู้’ สะท้อนความได้เปรียบ พรรคใหญ่ ต้นทุนดี
จากชัยชนะ 327,487 คะแนน ของ ศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย กลายเป็นว่าที่นายก อบจ.อุดรธานี สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า นี่คือความได้เปรียบของการเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีทรัพยากรเยอะ มีเครือข่ายและฐานเสียงแน่น จะส่งผลให้ได้เปรียบในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น และการที่พรรคเพื่อไทยชนะครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นอีกสนามที่พิสูจน์ได้ว่า เมื่อพรรคการเมืองใหญ่ประกาศตัวชัดและลุยลงเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีความได้เปรียบพรรคเล็กแน่นอน แต่การได้เปรียบที่ว่านี้ ไม่ใช่มาจากการประกาศตัว แต่มาจากการลงมือทำ
“อันนี้เป็นเรื่องที่ได้รับการพิสูจน์อีกรอบหนึ่ง พิสูจน์ให้เราเห็นว่าการที่พรรคใหญ่ประกาศตัวชัด ลงลุยเลือกตั้งท้องถิ่นก็คือได้เปรียบพรรคเล็ก ๆ แน่นอน การได้เปรียบนะครับ คือไม่ใช่แค่ประกาศอย่างเดียว ประกาศแล้วต้องลงมือทําด้วย”
สติธร ธนานิธิโชติ
ในมุมของพรรคการเมือง แน่นอนว่าเป้าหมายหลักอยู่ที่สนามระดับชาติ แต่ สติธร ก็มองว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เป็นการวางรากฐานให้มั่นคง เพื่อเก็บเสียงประชาชนไว้เป็นฐานคะแนน เพราะจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่า การจะได้มาซึ่งคะแนนของพรรคการเมือง มี 2 ปัจจัย คือ ฐานเสียง และ กระแส ซึ่งสิ่งที่ต้องสร้างและสั่งสมไว้คือฐานเสียง และฐานเสียงที่สำคัญก็คือจากท้องถิ่นที่ต้องรักษาไว้ให้ยาวนาน
“เรื่องกระแสมันไปสู้กันตอนโค้งสุดท้าย มันอาจจะมีการปูทางไปก่อน ในเรื่องของการก่อตัวเชิงนโยบายหรือการเปิดตัวบุคคลเพื่อสร้างความนิยม แต่สุดท้ายมันไปวัดกันจริง ๆ ตอนท้าย แต่ว่าอีกขาหนึ่ง คือ ขาฐานเสียงมันต้องสร้างระยะยาว แล้วก็ต่อเนื่องด้วย ซึ่งสนามท้องถิ่นนี่แหละ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะสร้างฐานเสียงตรงนี้ เพราะว่ามันมันมันไม่ใช่แค่มาเอาอกเอาใจผู้คนในช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น แต่มันหมายความว่า พอชนะแล้วเข้าไปมีตําแหน่ง ยังสามารถทํางานในเชิงพัฒนา ทํางานในเชิงสร้างประโยชน์สร้างความพอใจให้กับผู้คนได้ต่อเนื่องไปจนหมดสมัย แล้วมันก็เป็นฐานทรัพยากรด้วย”
สติธร ธนานิธิโชติ
ทำไม ? คนมองภาพ ‘บิ๊กเนม’ ชัด กว่า ‘นโยบาย’ อบจ.
แม้ในภาพที่เห็นจากสื่อ อาจไม่ค่อยเห็นบทบาทของ ผู้สมัคร และความสนใจกลับไปโฟกัสอยู่ที่ บุคคลที่ลงหาเสียง อย่างกรณีของ ทักษิณ อละ อนุทิน ที่ลงพื้นที่ แต่บทบาทของนโยบายที่ควรจะถูกนํานำเสนอถูกมองข้ามไป ประเด็นนี้ สติธร เห็นว่า เป็นภาพที่คนนอกพื้นที่มองเห็น แต่เชื่อว่าในพื้นที่เองตัวผู้สมัครลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านตลอด และสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง แต่อาจจะไม่ใช่ตัวชี้เป็นชี้ตาย หรือชี้ขาดผลการเลือกตั้งมากนัก เพราะสุดท้ายต้องย้อนกลับมาดูว่า อบจ. มีอํานาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ อะไรบ้าง ซึ่งจะเห็นว่า อบจ. ไม่ได้ดูแลทุกอย่างให้กับประชาชนได้ทั้งหมด
“แม้กระทั่งการให้บริการพื้นฐาน ยังไม่ค่อยได้ให้ด้วยซ้ำนะ การให้บริการทั่วไปรายวัน มันจะเป็นเรื่องของ เทศบาล อบต. เช่น การเก็บขยะการ การดูแลความสะอาด สุขอนามัย ตัว อบจ. เป็นตัวเสริม ซึ่งมีงบประมาณไปเสริมท้องถิ่นขนาดเล็กที่เขาศักยภาพน้อย เช่น เขาอยากทําศูนย์เด็กเล็ก เขามีงบประมาณจํากัด ก็เอางบของ อบจ.ไปเสริม การให้บริการโดยตรงก็ไม่ได้ชัดมาก และที่สําคัญ คือ จะไปกระโดดไปทํางานระดับใหญ่ ศักยภาพไม่ถึง ก็ต้องไปพึ่งพาการเมืองระดับชาติ ต้องให้ส่วนกลางลงมาทํา คือ โดยศักยภาพตามที่กฎหมายให้อํานาจก็ไม่ได้ทำให้สามารถโชว์เชิงนโยบายได้ถึงจะไปดึงเสียงคน”
สติธร ธนานิธิโชติ
พรรครัฐบาล กับความได้เปรียบ ‘สนามนอกฤดูกาล’
สติธร ยังชี้ว่า จากเหตุผลเรื่องอำนาจ อบจ. ดังกล่าวเป็นที่มาว่า ทําไม ? ทักษิณ จึงลงไปหาเสียงเอง ย้ำว่า ถ้าจะพัฒนาได้มันต้องเชื่อมโยงท้องถิ่นกับระดับชาติ “คุณต้องเลือกเรา เพราะว่าเราเป็นรัฐบาลอยู่” อาจจะเรียกว่าคนที่เป็น ปฏิบัตินิยม หรือคนที่อยากเห็นอะไรทํางานได้ จับต้องได้ คำนึงถึงความเป็นไปได้มากกว่าความชื่นชอบ นี่คือปัจจัยสำคัญที่มาประกอบการตัดสินใจ
“ข้างหลังเขา มีรัฐบาลอยู่นะ มีกระทรวงสําคัญอยู่นะ ถ้ามันจะเชื่อมโยงการพัฒนาเข้ามาได้จริง เขาก็อาจจะคิดในเชิงนั้นได้ มันเป็นความได้เปรียบ พอสนามท้องถิ่นมันอาจจะเป็นเหมือนกับสนามนอกฤดูกาล ด้วยที่ว่าใครที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลได้ มันก็จะดูมีความได้เปรียบ ไม่เหมือนกับสนามระดับชาติที่ทุกคนเริ่มใหม่ ยุบสภาไปแล้ว แต้มต่อตรงนี้จะลดลง”
สติธร ธนานิธิโชติ
โจทย์ยาก ผู้ท้าชิง ‘สีส้ม’ บนสนามท้องถิ่น
ส่วนกรณีการลุยสนามเลือกตั้งท้องถิ่นของ พรรคประชาชน ที่ยังต้องเผชิญความพ่ายแพ้ ถึงนโยบายจะดีแค่ไหนก็ตาม ซึ่ง สติธร อธิบายว่า แม้คะแนนของพรรคประชาชน ที่ จ.อุดรธานี จะจ่อมาเป็นอันดับ 2 แต่จะเห็นว่า คณิศร ขุริรัง ผู้สมัครของพรรค ได้คะแนนรวม 268,675 คะแนน เพิ่มจากเดิม 82,874 คะแนน จากที่เคยส่งผู้สมัครในนามคณะก้าวหน้า สิ่งนี้แสดงถึงแนวโน้มที่ดี แต่สิ่งที่ต้องทำงานหนัก คือ สนามท้องถิ่น คนอื่นมีแต้มต่อ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล มีตระกูลบ้านใหญ่ที่ทํางานในพื้นที่มานาน ในฐานะ ผู้ท้าชิง
ดังนั้น พรรคประชาชน ต้องอ่านโจทย์ให้ชัดว่า สนามระดับชาติอาจจะประสบความสําเร็จด้วยกระแสของพรรค กระแสคนต้องการความเปลี่ยนแปลง กระแสตัวบุคคล ซึ่งต้องเทียบลงมาสู่สนามท้องถิ่นด้วย ว่า ปัจจัยเหล่านี้ เมื่อต้องลงแข่งสนามท้องถิ่น…มีครบหรือไม่ ?
“ถ้าสังเกตดี ๆ ความผิดหวังซ้ำซาก ในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะท้องถิ่นใหญ่ ๆ อย่าง อบจ. ต้องมีความเป็นกระแส เมื่อได้เปรียบจากคนเขาอยากเปลี่ยนแปลงการเมือง เขาก็รู้สึกว่าเลือกพรรคคุณไม่ผิดหวัง แต่ในแง่ของการไปเป็นผู้ปฏิบัติ ตัวบุคคล คณะทํางานที่เสนอลงไปแข่ง พอจะทําให้คนเขารู้สึกว่าถ้าเลือกทีมนี้แล้ว จะเข้ามาทํางานในเชิงพัฒนา ในเชิงปฏิบัติได้จริงหรือเปล่า คือ เราจะเจออยู่บ่อย ๆ ว่าทีมพรรคประชาชน ตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ส่งขุนพลลงไปช่วยหาเสียงเต็มกําลังเลย คือ มันเปรียบเสมือน เอาดาวฤกษ์ไปล้อมผู้สมัคร จนคนไม่รู้ส่งใครลงสมัคร เราเห็นแต่ ธนาธร พิธา”
สติธร ธนานิธิโชติ
สติธร บอกอีกว่า ต้องมีกลุ่มคนที่เขาทํางานได้จริง และคนพื้นที่ก็รู้สึกว่าพรรคเสนอตัวคนแบบนี้มาให้ และมีศักยภาพทํางานได้ เขาก็จะสนับสนุน ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนในการหาคน หาทีม ที่จะสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งต้องอาศัยการสร้างทีม ทุ่มเททํางานใกล้ชิด สร้างพื้นฐานเครือข่ายกับผู้คน เพราะ “ถ้าของเก่ามันไม่ได้แย่มาก เขาก็ไม่อยากเปลี่ยนหรอก”
บ้านใหญ่ – พรรคย่อย หนุน ‘สีน้ำเงิน’ ล้มแชมป์ ‘สีฟ้า’
สติธร ยังระบุไปถึง สนามเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ที่อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันกับ อุดรธานี คือ สนามท้องถิ่น เวลาที่มีการแข่งขันจะไม่แข่งกันทั้งหมด ส่วนใหญ่จะมีประมาณ 2 พรรค และพรรคอื่นหายไปไหน ? ซึ่งต้องบอกว่าพรรคที่ไม่ได้มาแข่งขันอาจจะไปหนุนพรรคอื่น และมีการแบ่งผลประโยชน์ต่าง ๆ อย่างสนามนครศรีธรรมราช ปกติจะแข่งกัน 5 พรรค ก่อนเลือกตั้งใหญ่ ทั้งประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ และ ก้าวไกล แต่ครั้งนี้มีพรรคการเมืองหลักแค่ 2 พรรค คือ ภูมิใจไทย และ ประชาธิปัตย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วมีพรรคอื่นอยู่แต่ไม่ได้ประกาศชัดว่าสังกัดพรรค เป็นอดีตผู้สมัคร แต่เขารวมกันเป็น 2 ทีม คือ ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย และเพื่อน
“คือ เอาง่าย ๆ คนที่เคยหนุนพลังประชารัฐตอนเลือกตั้งใหญ่ คนที่เคยหนุนรวมไทยสร้างชาติ คนที่เคยหนุนภูมิใจไทยมาเป็นกำลังกัน หรืออาจจะมีคนที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ด้วยก็ได้ เพราะเราเห็นว่าประชาธิปัตย์ หลังเลือกตั้งเขาก็ขัดแย้งกัน กลุ่มเดชเดโช อาจจะยึดพรรคได้ แต่กลุ่มนามสกุลอื่นในนครฯ เขาไม่ได้โอเค รอบนี้เขาอาจจะมาหนุนภูมิใจไทย ก็เลยเกิดผลแบบนี้ขึ้นมา”
สติธร ธนานิธิโชติ
บ้านใหญ่ – พรรคการเมือง ข้อได้เปรียบสนามท้องถิ่น
สติธร สรุปว่า การเมืองท้องถิ่น ต้องมีทั้งบ้านใหญ่ และ พรรคการเมือง เพราะหากบ้านใหญ่ลุยเดี่ยวก็จะยาก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว อย่างที่ จ.ขอนแก่น พยายามทําตัวเป็นบ้านใหญ่อิสระ ซึ่งในอดีตอาจจะได้เปรียบ แต่รอบนี้เจออีกทีมที่มีพรรคเพื่อไทยหนุนก็ได้ชัยชนะไป ก็เลยต้องอาศัยการผสมสูตร
“บ้านใหญ่ต้องหาพรรคพึ่งพิง พรรคใหม่ที่ได้กระแสก็จะยากหน่อยให้การกระตุ้นคนแบบสนามระดับชาติ”
สติธร ธนานิธิโชติ
‘นโยบาย’ เครื่องมือ กระตุ้นพรรคใหญ่ – บ้านใหญ่ ปรับตัวสนามท้องถิ่น
สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้สัมภาษณ์รายการ ตรงประเด็น Thai PBS มองว่า ลักษณะของการเมืองท้องถิ่นที่ต้องอาศัยฐานของการเมืองท้องถิ่น ที่เรียกว่า บ้านใหญ่ ตระกูลการเมืองประจำจังหวัด ยังมีความได้เปรียบในทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ใน 3 – 4 จังหวัด คือ ตั้งแต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมา ที่มีการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า เข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่น ทำให้นักการเมืองเดิม ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหญ่ หรือ ตระกูลการเมืองเดิม ไม่สามารถใช้วิธีการทางการเมืองแบบเดิมเพียงอย่างเดียวได้
แน่นอนว่า การเป็นบ้านใหญ่หรือตระกูลการเมืองมีความได้เปรียบ แต่กลไกการเมืองแบบเดิมก็ไม่สามารถที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่มี นโยบาย
รศ.โอฬาร ชี้ว่า นโยบาย คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นว่าผู้สมัครแต่ละคน แต่ละฝ่าย มาจากบ้านไหน พรรคไหน และต้องมีนโยบายมาประชันแข่งขันกัน ว่า ถ้าตัวเองได้มีโอกาสเป็น นายก อบจ. จะทำนโยบายอะไร เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน นี่ทำให้เห็นว่ากระบวนการกระจายอำนาจภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เริ่มออกดอกออกผลเป็นรูปธรรม ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดูแลประชาชนในมิติใดบ้าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าหากสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้จะมีประโยชน์ในด้านการจัดการ ความสัมพันธ์ต่ออำนาจระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่นได้มากขึ้น
ถึงแม้นโยบายสำคัญ แต่ รศ.โอฬาร เชื่อว่า บ้านใหญ่ยังได้เปรียบ ในการสร้างฐานเสียงสำหรับพรรคการเมือง เนื่องจากกลุ่มบ้านใหญ่จะต้องผลิตสร้างนโยบายการแข่งขัน และหากดูจากผลการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าพรรคประชาชนที่พ่ายแพ้ในพื้นที่ จ.อุดรราชธานี แต่ตัวเลขที่ได้กลับมีนัยสำคัญ ทั้ง 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทยชนะ แต่ไม่ใช่ชัยชนะแบบถล่มทลาย แสดงให้เห็นว่า ทักษิณ ลงไปปลุกมวลชนคนเสื้อแดง ปลุกเครือข่ายบ้านใหญ่ใน อุดรฯ แล้ว ยังได้คะแนนเท่านี้ แสดงให้เห็นว่า คนที่เป็นพี่น้องเสื้อแดงยังไม่ได้เทใจ 100%
ขณะที่คะแนนของพรรคประชาชน แสดงให้เห็นว่า คนจำนวนมากเริ่มที่จะคล้อยตามกับทิศทางการเมืองของพรรคประชาชน ก็จะสามารถนำจุดที่พ่ายแพ้นี้ไปถอดบทเรียน ว่า แพ้เพราะอะไร ต้องกลับไปทำการบ้านระยะยาว
การเมืองระดับเล็ก หวังผลกระดับชาติ
เมื่อจะมองความคาดหวังของพรรคการเมืองที่ลุยสนามท้องถิ่น หวังผลสู่ระดับประเทศ เพราะมีหลักประกัน ว่า พรรคไหนสามารถยึดครอง อบจ. ได้ ก็จะมีความได้เปรียบที่จะใช้ทรัพยากรของ อบจ. กระจายผลประโยชน์ให้กับเครือข่ายทางการเมืองในระดับจังหวัด ทั้งระดับ อบต. เทศบาล และหน่วยงานอื่น ๆ
เพราะ อบจ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ในระดับท้องถิ่น ได้รับงบประมาณเยอะ และภารกิจของเขาคือ การสนับสนุน ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ซึ่งในความหมายของ รศ.โอฬาร มองว่า บ้านไหนได้ อบจ. ก็จะเท่ากับว่าได้หลักประกันขั้นพื้นฐาน และบรรดานักเลือกตั้งระดับชาติอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย ก็อาศัยฐานตลาดทางการเมืองนี้ แม้ว่าจะมีเรื่องของนโยบายเข้ามาแต่ทุกคนก็เชื่อว่าถ้าเป็นพรรคบ้านใหญ่ ในจังหวัดนั้นมาเป็นพรรคพวกเป็นพันธมิตร อยู่ในพรรค ก็จะมีโอกาสมีการชนะเลือกตั้งระดับชาติ
“ไม่แปลกที่เราจะเห็นพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย การเดินสายของทักษิณ ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายบ้านใหญ่ทั้งหมด หรือการขยับอย่างลับ ๆ ของพรรคภูมิใจไทยที่เราเห็น ซึ่งผู้คนเห็นและมีทฤษฎีตรงกันก็คือ พรรคอย่างเดียวไม่พอ นโยบายอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเครือข่ายบ้านใหญ่ประจำจังหวัดเข้าร่วมในพรรคด้วย เป็นหลักประกันว่าพรรคจะมีโอกาสชนะในการเลือกตั้งระดับชาติ เลยทำให้การเลือกตั้งในระดับชาติ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่าง อบจ. ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์กับแนวโน้มการเลือกตั้งทางหน้า”
รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
ชวนประชาชน ตรวจสอบ ‘คำสัญญา’ นโยบาย ทำได้จริง ?
รศ.โอฬาร ยังทิ้งท้ายว่า นโยบายที่ผู้ชนะการเลือกตั้งสัญญาไว้ ประชาชน ต้องศึกษาให้ดี ว่า ใครสัญญาอะไรกันไว้ ประชาชนต้องดูว่า อบจ. มีขอบเขตอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง โดยหลังจากนี้อีก 100 วัน หรือ 1 ปี สัญญาเหล่านั้นถูกขับเคลื่อนและนำไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าทำไปแล้วหรือทำไม่ตรงกับที่กล่าว ต้องส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเมื่อการเมืองเปลี่ยนผ่านจากตัวบุคคล การเมืองที่อาศัยเครือข่าย มาสู่การเมืองเชิงนโยบาย ประชาชนในฐานะผู้ทรงสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของงบประมาณตัวจริง จะต้องส่งเสียงกลับไปที่ตัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัว นายก อบจ. ที่สัญญากับประชาชนเอาไว้ผ่านนโยบายต่าง ๆ
ความหวังประชาชน อยากเห็น ‘นโยบาย’ ทำได้จริง
ขณะที่ ปัญญา คำลาภ เครือข่ายภาคประชาชน อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เชื่อว่า ตัวหลักที่ทำให้ผู้สมัครได้คะแนนเสียง คือ พรรคการเมือง เพราะ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในพื้นที่มานาน มีทั้ง สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และมีคณะทำงานที่เป็นกลุ่มเสื้อแดงเดิม แม้อาจจะไม่เข้มข้นเหมือนเดิม แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งภายในระดับพื้นที่อยู่
ขณะที่พรรคประชาชน คะแนนพัฒนาขึ้นจากเดิม ด้วยความที่เป็นพรรคใหม่ และผู้สมัครเป็นคนที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่รู้จัก แต่ด้วยความสัมพันธ์ในชุมชนตามอำเภอต่าง ๆ อาจจะทำให้คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ในชุมชนที่มีจำนวนมากกว่ากลุ่มวัยรุ่น อาจจะยังไม่เข้าใจถึงแนวทางหรือทิศทางนโยบาย หรือตัวบุคคลที่จะเชื่อใจว่าจะเข้ามาทำงานได้สำเร็จ
“ส่วนมากผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะยังยึดโยงว่าเพื่อไทยจะทำได้มากกว่า แต่พรรคประชาชนยังขาดระหว่างกลางตรงนี้อยู่ คือระหว่างตัวผู้สมัครกับชุมชนที่อยู่รอบนอก เช่น อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ตัวผมเองยังไม่เห็นรถหาเสียงวิ่ง และทำให้เราจำหมายเลขของผู้สมัครพรรคประชาชนได้ เราก็มองว่าทำไมเขาไม่ค่อยวิ่งมา แล้วที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยความสัมพันธ์ในชุมชนที่แน่นแฟ้นมายาวนาน ก็เลยมีความคาบเกี่ยวกันตรงนี้ รวมไปถึงการหาเสียงที่เข้มข้นกว่าของพรรคเพื่อไทย ทั้งเรื่องของการใช้สื่อ การใช้ผู้นำ ผู้ใหญ่ในพรรค เช่น ทักษิณ ลงมาในพื้นที่ ก็จะเกิดภาพจำบางอย่างขึ้นมา นโยบายที่นำมาหาเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ว่าจะเห็นการชูเรื่องน้ำประปาสะอาดเป็นหลัก หรือ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ถ้าให้เปรียบเทียบกันระหว่าง 2 พรรค พบว่า พรรคประชาชนมีความครอบคลุมปัญหาชัดเจน ในเชิงนโยบายที่จะเข้ามาทำงานมากกว่า และจากนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงค่อนข้างตรงกับปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน เช่น น้ำประปาสะอาด”
ปัญญา คำลาภ
“ผมเชื่อว่า ชาวบ้านก็คงอยากจะได้ เพราะหลายพื้นที่เจอปัญหาน้ำประปาไม่สะอาด แต่ว่าขาดงบประมาณที่จะมาสนับสนุนในเรื่องนี้ ซึ่งต้องทำระบบ หมายความว่าทั้งระบบส่งน้ำ ไม่ใช่เพียงระบบการกรองน้ำ ส่วนปัญหา ถนนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม ถนนที่อยู่ในการดูแลของ อบจ. ซ่อมแซมบ่อยมาก พังบ่อยมาก ผมเคยยื่นหนังสือให้เข้ามาทำใหม่เพราะมันซ่อมบ่อยและได้แค่ปีเดียว อาจจะเป็นปัจจัยหลัก อย่างถนนเส้นหลากหลายที่จะเลี่ยงไม่ใช้ถนนเส้นนั้น เพราะว่าถนนไม่ดี ผมคิดว่าทั้งถนน และประปาต้องมาคู่กัน”
ปัญญา คำลาภ
ปัญญา เสนอว่า นโยบายของการแก้ปัญหาน้ำท่วม ถ้าแก้ทั้งระบบก็ทำได้ แต่ต้องดูว่าจะทำเป็นจุดหรือไม่ โดยส่วนตัวรู้สึกเสียดายพื้นที่รับน้ำ ที่จะเอาไปจัดงานพืชสวนโลก ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกพื้นที่ลุ่มนั้นบริเวณนั้น ซึ่งเป็นจุดที่จะรองรับและแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างดี เป็นห่วงว่าจะทำให้พื้นที่รับน้ำลดลง
“เห็นด้วยกับการจัดงานพืชสวนโลก แต่พื้นที่บริเวณนั้นไม่เหมาะ เพราะถ้าหากกำลังคิดจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่กลับทำให้พื้นที่เคยรับน้ำกลายเป็นพื้นที่รับน้ำไม่ได้มันก็จะย้อนแย้งกัน เชื่อว่าพี่น้องประชาชนใน จ.อุดรธานี คงมองเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก เพราะทุกปีเราเจอปัญหาแบบนี้ ถ้าแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดแก้ไม่ได้อยู่แล้ว มองมาตั้งแต่เขื่อนห้วยหลวง เวลาน้ำมาจุเต็มอัตราก็ระบายน้ำท่วมตัวเมือง คิดว่าต้องทำความเข้าใจ ว่าเวลาแก้ต้องแก้ทั้งระบบไม่ใช่แก้เฉพาะจุด”
เครือข่ายภาคประชาชน ทิ้งท้าย