ตัวเลขการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” วันเดียว มากถึง 516 คน (19 ธ.ค. 2563) และส่วนใหญ่เป็น “แรงงานข้ามชาติ” ใน จ.สมุทรสาคร ทำให้บรรยากาศของประเทศไทยปลายปี 2563 อยู่ในภาวะวิตกกังวล ไม่ต่างจากการระบาดใหญ่ในระลอกใหม่ของหลายประเทศ ที่มักพบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ทำงานและพักอาศัยกันอยู่ในสภาพที่แออัด
ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสอบสวนโรค และควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายในวงกว้าง อีกคำถามสำคัญ คือ เมื่อมีการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเช่นนี้ งบประมาณ ที่ใช้ในการตรวจ รักษา และชดเชยหลังจากนี้ ถูกดึงมาจากส่วนไหน?
ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ระบุว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เดือนตุลาคม 2563 ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 แล้ว อยู่ที่ราว 2.4 ล้านคน ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่สถานประกอบการณ์บางประเภท นายจ้างบางราย ไม่ได้นำลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าสู่ระบบประกันสังคม
ส่วนแรงงานข้ามชาติ ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และเข้าสู่ประกันสังคมตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 33 “ให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ เป็นผู้ประกันตน…” นั่นหมายความว่า ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ไม่ต่างจากแรงงานไทย
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก สมาคมพราว (Proud Association : PAT) องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพและความยุติธรรมทางสังคมของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า แม้จะมีผู้ติดเชื้อเป็นแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ที่อาจรวมถึงแรงงานที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่สถานะของกองทุนประกันสังคมและกองทุนหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ซึ่งครอบคลุมถึงครอบครัวหรือผู้ติดตามแรงงานที่ต้องจ่ายเงินซื้อประกันล่วงหน้า ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมดนี้ รวมกันไม่ต่ำกว่า 4 ล้านราย ซึ่งสถานะของกองทุนยังถือว่ามีกำไร นายกสมาคมพราว จึงเสนอว่า รัฐควรใช้เงินส่วนนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
ขณะที่ ข้อมูลจากภาควิชาการและภาคประชาสังคม ระบุว่า ในกระบวนการขอใบอนุญาตทำงาน มีรอยต่อระหว่างการทำประกันสุขภาพและประกันสังคม ที่ยังขาดกลไกติดตามว่านายจ้างได้ส่งเงินสมทบหลังขอใบอนุญาตแรงงานหรือไม่ เพราะหากแรงงานข้ามชาติไม่ได้เข้าประกันสังคม การซื้อประกันสุขภาพก็จะไม่ได้ทำต่อเนื่อง บางโรงพยาบาลปฏิเสธขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ ด้วยข้อจำกัดเรื่องบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงมาตรการเยียวยา 5,000 บาท สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับแรงงานนอกระบบ ก็ไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ
เข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม ไม่มีประกันสุขภาพ
ตกหล่นจากรอยรั่วของตาข่ายคุ้มครองทางสังคม
คำถามต่อมา คือ เมื่อการค้นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มีทั้งแรงงานที่ถูกและผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติบางคน อาจเข้าข่ายเป็นผู้ตกหล่นจากระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ นอกจากนี้ เมื่อมาตรการควบคุมโรคเข้มข้นปิดสถานประกอบการณ์ หรือปิดพื้นที่แหล่งงานของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ พวกเขาก็อาจจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการเงินชดเชยทดแทนการว่างงาน จากโควิด-19 เช่นกัน
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมราว 1.2 ล้านคน ก็ยังแทบเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษา กระบวนการดำเนินงานทั้งหมดที่ใช้เอกสารภาษาไทย รวมทั้งอคติทางเชื้อชาติของสังคม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงสื่อมวลชน ก็กีดกันกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติออกจากระบบบริการสุขภาพ
ตัวแทนจากภาครัฐเสนอให้แรงงานข้ามชาติทำประกันสังคมตั้งแต่รับสิทธิในการเข้าประเทศไทยผ่านด่านตรวจเข้าเมือง เนื่องจากเห็นว่า แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนไม่อาจเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากการว่างงานที่ผ่านมา
ในขณะที่ระบบประกันสังคม เป็นมาตรการสำคัญในการคุ้มครองเยียวยากรณีว่างงานเนื่องจากโควิด-19 สำหรับแรงงานในระบบ ซึ่งครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ด้วย
โครงการการพัฒนานโยบายสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อตอบรับวิกฤตโรคระบาด: กรณีศึกษาไวรัสโควิด-19 โดย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อสังคมเป็นธรรม (JuSNet) ระบุผลสำรวจพบว่า 52% ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่สำรวจ ไม่มีประกันสังคม โดย 43% ไม่รู้ว่า “ตัวเองที่เป็น” แรงงานข้ามชาติ ได้รับสิทธิประกันสังคมเรื่องอะไรบ้าง และ “อีก 43% เท่ากัน” ไม่รู้ว่ามีมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติช่วงโรคระบาดใหญ่
ทั้งนี้ 92% ของกลุ่มสำรวจยืนยันว่าไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเยียวยาช่วยเหลือใด สาเหตุหลัก คือ ส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม (85%) และอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (11%) รองลงไป คือ ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก และกรอกข้อมูลออนไลน์ภาษาไทยไม่ได้
สะท้อนให้เห็นว่าในภาวะวิกฤตโรคระบาดใหญ่ในระลอกแรก แม้ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม
ทำไมไทยไม่เรียนรู้บทเรียนการดูแลแรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่
สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ถูกนำมาเทียบเคียงทันที เมื่อมีการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ทำงานและพักอาศัยในสถานที่ที่มีความหนาแน่นสูง จากกรณีพบผู้ติดเชื้อในย่านตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร และหอพักศรีเมือง ย่านมหาชัย แม้ก่อนหน้านี้ แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข จะออกมาส่งสัญญาณเตือน เพราะประสบการณ์การระบาดระลอกสองของหลายประเทศ มักเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แต่ในกระบวนการดูแลแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกมาก ที่ต้องร่วมกันทำงานเชิงรุก
พวกเขาเข้าไม่ถึงข้อมูลและความช่วยเหลือทางสุขภาพ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันก็ต้องเสี่ยงติดเชื้อ แต่กระนั้น ก่อนกรณีพบผู้ติดเชื้อในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ประเด็นนี้ก็ไม่ได้อยู่ในจุดสนใจของสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าที่ควร
จากรายงานของ JuSNet ระบุว่า ในช่วงการระบาดใหญ่ กลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติในเมืองเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสุขภาพรวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันตัวเองได้น้อย ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงยังคงถูกละเมิดสิทธิแรงงาน จากการลดวันทำงาน โดยไม่ได้ค่าตอบแทน ทำให้รายได้ลดลงแม้ว่าภาระค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม
พวกเขาไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ เนื่องจากลักษณะงานที่ทำไม่สามารถทำจากบ้านได้ นายจ้างไม่จัดอุปกรณ์ป้องกันตัวให้ หรือจัดแต่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยค่อนข้างแออัดและไม่มีสุขอนามัย ป้องกันการติดเชื้อได้ยาก และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น ห้องพักบางห้องที่แรงงานเช่าอยู่รวมกัน มีข้อจำกัดเรื่องขนาดและพื้นที่ประกอบอาหาร การกักตัวเองอยู่เพียงภายในห้องพักจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้
ข้อมูลจากการสำรวจของ JuSNet ยังพบอีกว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ปานกลาง โดยวิธีหลักที่ใช้ในการป้องกันตัวเอง คือ หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และใช้เจลล้างมือ นอกจากนี้ ยังพบว่า ช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารสุขภาพในช่วงโรคระบาดใหญ่ คือ โทรศัพท์มือถือ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตผ่านโทรทัศน์และวิทยุที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ไม่อาจส่งต่อข้อมูลสถานการณ์โรคระบาดไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้
เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต พบว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองมากที่สุด คือ 43% แหล่งความช่วยเหลือรองลงไป คือ ชุมชนแรงงานข้ามชาติ 24% ส่วนเอ็นจีโอและนายจ้างมีสัดส่วนไม่มากนัก ไม่ต้องพูดถึงการที่พวกเขา เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทั้งจากรัฐบาลตนเองและรัฐไทย ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนามาตรการเชิงรุกในการสื่อสารและส่งต่อความช่วยเหลือไปที่กลุ่มชุมชนแรงงานข้ามชาติโดยตรงให้มากขึ้น
JuSNet วิเคราะห์ว่า เหตุผลที่การช่วยเหลือทางสังคมมักจะมาถึงกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติเป็นอันดับท้าย ทำให้การรับมือวิกฤตช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดจากกลไกเครือข่ายชุมชนแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่เดิม มาตรการหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ เป็นต้นว่า ภาษา การศึกษา จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่ว่ากลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติจะมีต้นทุนในการเผชิญหน้ากับวิกฤตได้มากขึ้น
อะไรคือสิ่งที่ต้องทำต่อ และหวังว่าจะยังคงทันต่อสถานการณ์
JuSNet มีข้อเสนอทางนโยบาย ให้ใช้ “มาตรการเชิงรุกในภาวะเผชิญหน้ากับการระบาด” ที่หมายถึง กลไกสื่อสารข้อมูลและข่าวสารสุขภาพในภาวะวิกฤตที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายแรงงานข้ามชาติ เช่น จัดตั้งศูนย์ประสานงานการแปลภาษา (Tranaslation Hub)
“กลไกรับมือภาวะวิกฤตในกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ” โดยเป็นการทำงานร่วมระหว่างสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานประกันสังคม กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และภาคประชาสังคม เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤต เชื่อมโยงกับอาสาสมัครสาธารณสุข ชุมชนแรงงานข้ามชาติ
“เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ” ทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ประกันตน กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มไม่มีเอกสารใด ๆ
“แรงงานข้ามชาติผู้หญิงที่ตั้งครรภ์” เพื่อคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤต ห้ามเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ กรณีที่เป็นแรงงานนอกระบบ ห้ามโรงพยาบาลปฏิเสธการขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
“ขยายระยะเวลาหานายจ้างใหม่เป็น 60 วัน” กรณีแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างหรือลาออกในภาวะวิกฤต และใช้สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงานได้
นอกจากนี้ JuSNet ยังเสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพประกันสังคมและประกันสุขภาพให้คุ้มครองแรงงานข้ามชาติได้มากขึ้น รวมถึงบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่มุ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
บทส่งท้าย
จากโลกยุค “เทคโนโลยี ดิสรัปชัน” ที่มีความท้าทายสำคัญ อย่างโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) โควิด-19 ประเทศไทยเองใช้วิธีเฝ้าระวังทางสาธารณสุขในชุมชนและสกัดกั้นผู้ติดเชื้อนอกประเทศ ด้วยมาตรการนำทุกคนเข้าสถานกักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) และ สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine)
ขณะเดียวกัน ความหมายของ โลกไร้พรมแดน อาจไม่ได้หมายความเฉพาะแค่โลกที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทางการสื่อสารเท่านั้น แต่ “พรมแดน” ที่หมายถึงเส้นเขตแดนจริง ๆ ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ของการนำมาสู่สถานการณ์การระบาดในระลอกใหม่
แนวทางการสอบสวนโรค อาจนำไปสู่การค้นพบต้นทางของการแพร่เชื้อรอบนี้ได้ ว่าเป็นเชื้อนำเข้ามาจากการลักลอบข้ามแดนหรือไม่ หรืออาจเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ที่เราเพิ่งรู้จัก ว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้หายไปไหน…
แต่การไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่กลุ่มและสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงตั้งแต่แรก ทั้งที่พวกเขาก็เป็นทรัพยากรในตลาดแรงงานที่สำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ อาจเป็นความรับผิดชอบที่ต้องน้อมรับร่วมกัน
อ้างอิง
รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการพัฒนานโยบายสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อตอบรับวิกฤตโรคระบาด: กรณีศึกษาไวรัสโควิด-19 โดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อสังคมเป็นธรรม (JuSNet) จัดทำร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เสนอดึงเงิน 2 กองทุนสุขภาพ รักษาโควิด-19 แรงงานข้ามชาติ
สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร เดือนตุลาคม 2563