ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และการเมืองไทย แนะหนทางฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 ต้องเอาทหารออกจากการเมือง (Demilitarize) ขจัดการผูกขาดเศรษฐกิจ (Demonopolize) และส่งเสริมการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง (Decentralize)
ดร.คริส เบเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองไทย ได้กล่าวปาฐกถาในช่วงหนึ่งของการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 22 ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 ในหัวข้อ “Demonopolize, Decentralize to Recover” ว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยหลังโควิด-19 ต้องมาจากข้างในไม่ใช่ข้างนอก และจากล่างสู่บน ไม่ใช่บนลงล่าง
ดร.คริส เห็นว่า วิกฤตโควิด-19 เป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” (Total War) มากกว่าการเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา “สงครามเบ็ดเสร็จ” มักหักเหทำให้โลกปรับเปลี่ยนอย่างพลิกผัน ทำลายวิธีเก่า ๆ แต่ก็เปิดโอกาสก้าวไปสู่ความคิดใหม่ ๆ
หลังโควิด-19 ผ่านไปยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบเดิมจะไม่ได้ผล และความเหลื่อมล้ำจะยิ่งสูง การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิดต้องมาจากข้างในไม่ใช่ข้างนอก และต้องมาจากล่างขึ้นสู่บน ไม่ใช่บนลงล่าง เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะต้องทำ 3 อย่าง
1. เชื้อเชิญทหารออกจากการเมือง (Demilitarize)
2. กำจัดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ (Demonopolize)
3. ขจัดการกระจุกตัวของอำนาจที่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ของคน โดยการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังอีกครั้ง (Decentralize)
ดร.คริส ได้สะท้อนให้เห็นภาพรวม อนาคตและทางออกของประเทศไทยปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่
1. ลักษณะเฉพาะของวิกฤตโควิด-19 ในบริบทของโลก
2. สถานภาพของไทย ในมิติประวัติศาสตร์ระยะยาวไกล
3. อนาคตไทยหลังโควิด-19
4. สภาพสังคม ความเหลื่อมล้ำ และความสำคัญของการกระจายอำนาจ
ลักษณะเฉพาะของวิกฤตโควิด-19 ในบริบทของโลก
โควิด-19 เป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” มากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ มีผลกระทบกับคนทั่วไปใกล้เคียงกัน ทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป เกิดการมองสังคมรอบตัวในมุมมองใหม่ และตระหนักว่าจำเป็นต้อง “ปฏิรูป”
ในบริบทโลก วิกฤตโควิด-19 เป็นเหมือนสงครามโลกในศตวรรษที่ 20 ที่ส่งผลกระทบทั้งหมดต่อทุกภาค ไวรัสทำให้เศรษฐกิจล้ม เรือสำราญ และเครื่องบินจอดทิ้ง คนจำนวนมากต้องหางานใหม่ คนในครอบครัวต้องแยกจากกันในช่วงล็อกดาวน์ จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 1.2 ล้านคน ซึ่งวิกฤตจากเศรษฐกิจไม่เคยมีผู้เสียชีวิตมากเช่นนี้
“จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผลกระทบของ“สงครามเบ็ดเสร็จ” คือ หลังสงคราม จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เสมอ”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศหลายประเทศในยุโรปต้องปรับจากระบบกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะล่มสลายไปและเกิดระบอบประชาธิปไตย เกิดการให้สิทธิเลือกตั้ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มอภิชน บรรดาศักดิ์ เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ล่มสลาย ทั้งในยุโรป จีน และญี่ปุ่น รัฐบาลโดยประชาชนมีบทบาทและอำนาจที่สูงขึ้น เกิดระบบสวัสดิการสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ (หลังสงครามเบ็ดเสร็จ) เกิดขึ้นเพราะประชาชนที่ประสบความยากลำบากจะ “ไม่ทน” อะไรที่เขาคิดว่า “ไม่ยุติธรรมอีกต่อไป”
สถานภาพไทย ในมิติประวัติศาสตร์ยาวไกล
ประเทศไทยเคยมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ แต่ถูกใช้งานแบบสาดเสียเทเสีย ย่ำยีธรรมชาติ ขณะที่ทรัพยากรมนุษย์ ถูกใช้เพื่อดึงดูดต่างประเทศให้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งประสบความสำเร็จในระยะสั้น ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก
ย้อนไปสมัยอยุธยา ดัชต์ที่เข้ามาในไทยบอกว่าไทยมีทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ และมีมากกว่าที่อื่นโดยเฉพาะผลไม้ ข้าวปลาอาหาร เพราะเราอยู่ในภูมิอากาศที่ดี จำนวนประชากรในอยุธยามีน้อย ใช้พื้นที่การเกษตรน้อยมาก ที่เหลือเป็นป่าหลากชนิด เมืองเหมือนเกาะเล็กๆ กลางทะเลป่าทึบ แต่ปัจจุบันที่ดินน้อย คนเยอะ จึงต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่
“ทิศทางการพัฒนาประเทศ เดิมเน้นให้ต่างประเทศกระจายการผลิตมาสร้างโรงงานในไทย ซึ่งในระยะเริ่มแรกสามารถดึงเงินทุนจากต่างประเทศได้สูงมาก แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ยั่งยืน ประเทศอื่นก็ทำได้”
ประกอบกับประเทศไทยเปลี่ยนเป็น Aging Society อย่างรวดเร็ว ส่วนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานก็ทำได้ไม่ดี “น้ำแล้ง” “น้ำท่วม” ควบคุมไม่ได้ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอุตสาหกรรมใหม่ไม่มาลงทุน
ส่วนธุรกิจบริการ เดิมมีกฎหมายปกป้องผู้ประกอบการไทย แต่เมื่อมีอินเตอร์เน็ต สายการบินราคาถูกและหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ไทยเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาเปิดบริษัทบริการ ธนาคาร โลจิสติก อสังหาริมทรัพย์ โรงเรียน นักลงทุนเข้ามามากขึ้นเพราะประเทศไทยแรงงานมีการศึกษาพอใช้ได้และมีนิสัยเหมาะกับงานบริการ แต่ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้นำเงินเข้าประเทศสักเท่าไหร่
“คนมองว่ากรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่ มีทั้งอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ มีคนต่างด้าว ทำให้ กทม. เป็นเมืองโพสต์โมเดิร์น มีคนหลากหลาย 40 ภาษา คล้ายอยุธยาสมัยพระนารายณ์”
ไทยมีจุดแข็งคือ มีแรงงานมาก และเหมาะกับธุรกิจบริการ และมีทรัพยากรอีกมาก เช่น อาหาร มรดกทางวัฒนธรรม จุดเด่น ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อาหารทะเล แต่ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเพิ่มสูงมากและรวดเร็วเกินไป ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมถูกใช้ไปมาก เกาะสมุยถูกฝังใต้กองขยะ เกาะมาหยาต้องสั่งปิดเพราะถูกทำลายไปมาก น้ำเสียจากโรงแรมทำลายปะการัง การท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วเกินไปได้ทำลายแหล่งท่องเที่ยว
อนาคตไทย หลังโควิด-19
โควิด-19 เกิดจากธรรมชาติขาดสมดุล และเราจะพบกับปัญหาที่มาจากผลกระทบของโลกร้อน การมองปัญหาหลังจากโควิด-19 จะต้องมองปัญหาโลกร้อนที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคตคู่กันไปด้วย
“โรคติดต่อสมัยใหม่หลายโรคที่เราเคยเผชิญ เช่น ซาร์ เมอร์ส ไข้หวัดนก อีโบล่า หลายโรคที่เราติดจากสัตว์ สะท้อนว่าขาดสมดุลย์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ”
ปัญหาโรคร้อนใกล้ตัวมากขึ้น Climate Change สะท้อนการขาดสมดุล เช่น ต้นปีนี้เกิดไฟป่าออสเตรเลียครั้งที่รุนแรงที่สุด ตามมาด้วยไฟป่าแคลิฟอร์เนีย ไฟป่าที่บราซิล ยุโรปเจอน้ำท่วมมากกว่าปกติ แคริบเบียนเผชิญกับพายุเฮอริเคนบ่อยขึ้น
เดิมคาดการณ์ว่าผลกระทบร้ายแรงจะอยู่ในยุโรป แต่ผลการศึกษากลับพบว่าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบแรงที่สุด (เช่น พายุโพดุล ขอนแก่น) อากาศในภูมิภาคนี้จะค่อยๆ ร้อนขึ้น จำนวนครั้งที่ฝนตกจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่เวลาฝนมาแต่ละครั้งจะหนักขึ้น ปีนี้ฝนแล้ง แต่ต้นเดือนตุลาคม ปากช่องกลับจมอยู่ใต้น้ำ เป็นความผันแปรตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้
ภาวะแล้งแล้วก็เกิดน้ำท่วม สลับกันไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เมื่อเจอบ่อยๆ ก็จะทิ้งไร่นา อพยพเข้ากรุง ก็ทำให้เมืองแออัดมากยิ่งขึ้น เกิดปรากฏการณ์ “Urban heat island” ใจกลางเมืองจะร้อนกว่าที่อื่น 3-4 องศา ในหลายประเทศ “รัฐบาลท้องถิ่น” เตรียมตัวรับมือด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่เมื่อ “ไม่มีการบริหาร-การเมืองท้องถิ่น” ทุกอย่างเลวร้ายลงอย่างเห็นได้ชัด
สภาพสังคม ความเหลื่อมล้ำ และความสำคัญของการกระจายอำนาจ
จากงานวิจัยของ ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง Unequal Thailand เห็นว่าวิธีลดความเหลื่อมล้ำทำได้ไม่ยาก คือ ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า แต่รัฐบาลไทยมีรายได้น้อย จึงวิจัยเรื่องระบบภาษีส่วนบุคคล พบว่า
1. ภาษีส่วนบุคคลไม่เป็นธรรม สามารถแก้ไขปัญหาได้ง่าย แต่ไม่มีรัฐบาลไหนสนใจจะแก้ไขจริงจัง เพราะทุกวันนี้คนมีรายได้มากจ่ายภาษีน้อย และกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
2. เบื้องหลังความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ คือ ระบบอุปถัมภ์ ระบบอภิสิทธิ์ การผูกขาดและการกระจุกตัวของอำนาจ ยิ่งสร้างปัญหา หลังโควิด-19 ควรใช้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เกื้อหนุนบางกลุ่มจะไม่ได้ผล
ปัจจุบันบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตกลับไปมากขึ้น อุตสาหกรรมการบินล่มสลายไป โดยมีรัฐบาลสนับสนุน แต่อีกไม่นานกระเป๋าจะฉีก โลว์คอสต์อาจจะหายไป การบินจะแพงขึ้น นักท่องเที่ยวจีนจะมาน้อยลงเพราะค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น การหวังพึ่งรัฐบาลกลางกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะไม่ได้ผลเพราะมีแต่หนี้
ต้องคิดฉีกแนวและมองแบบเศรษฐกิจเก่าไม่ได้ ต้องคิดใหม่โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรบุคคลและธรรมชาติ ต้องลงทุนในการฟื้นฟูธรรมชาติ แต่ยังไม่ให้โอกาสแก่ทรัพยากรมนุษย์เพียงพอ เพราะมีระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ ผูกขาด ทำให้ทุกอย่างกระจุกตัว เช่น อุตสาหกรรมเบียร์ อยู่ในตระกูลดัง 2 ตระกูล ปัญหานี้เปลี่ยนง่าย แต่ไม่ได้เปลี่ยน เพราะเหตุผลทางการเมือง
“ตัวอย่างความกระจุกตัวที่เห็นชัด คือทรัพย์สินของ 40 ครอบครัว มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 6 เท่าในรอบ 10 ปี (ข้อมูลนิตยสาร Forbes) และควบคุมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้รับแรงหนุนจากกฎหมายและนโยบายรัฐ”
นอกนี้ยังมีการผูกขาดอุตสาหกรรมพลังงาน โดยพบว่า กฟผ. และ ปตท. ผูกขาด ปิดกั้นการแข่งขัน ทำให้เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ในกลุ่มพลังงานและยานยนต์
การถือครองที่ดินของรัฐบาล คิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ เจาะจงให้เป็นป่าร้อยละ 40 และอีกร้อยละ 20 ก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่
การผูกขาดอำนาจทางการเมืองสูง เช่น สนช. เป็นผู้ผูกขาดกำกับการปฏิรูปประเทศ ผ่านการร่างยุทธศาสตร์ ร่างรัฐธรรมนูญ และกลับมาเป็น ส.ว. ส่วนมากมาจากข้าราชการเกษียณ ทหาร พลเรือน ตุลาการ และชายอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอำนาจเยอะมาก และผลจากการผูกขาดโดยรัฐบาลทหาร ยังยับยั้งจำกัดความคิดใหม่ จำกัดการสร้างสรรค์ของประชากร
รัฐบาลกลางไม่ยอมให้มีการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ ร.5 และหลัง 2475 จนหลัง 2540 จึงเกิดการกระจายอำนาจขึ้นอีกครั้ง มีการตั้งพรรคท้องถิ่น เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีนโยบายที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตในพื้นที่ถนน น้ำประปา บริการกำจัดขยะ และบริการพื้นฐานอื่นๆ มีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน พบว่า ตระหนักถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อมี อปท. สาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานตอบสนองชาวบ้านดี
แต่การกระจายงบประมาณลงไปกลับ “ต่ำกว่าเป้าหมาย” การถ่ายโอนอำนาจด้านสาธารณสุขถูกยกเลิกในปี 2545 การโอนคนด้านสาธารณสุขและการศึกษา ถูกตัดทอนอย่างต่อเนื่อง และหลังรัฐประหารก็เกิดการหยุดชะงักครั้งที่ 3 (ครั้งแรก ร.5 และ ครั้งที่ 2 คือ 2475) ด้วยมีการอ้างเรื่องการคอร์รัปชั่น โดยไม่มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริง