เริ่มจากการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย กีฬา ต่อมาเมื่อได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ จนเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแล้วนั้น โอลิมปิก จึงจำเป็นจะต้องสร้างประโยชน์ไปอีกขั้น เพื่อรองรับความเป็นไปของโลก และพิสูจน์ให้เห็นว่าการที่มีมนุษยชาติมารวมตัวกันสามารถทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง
สำหรับ โอลิมปิก 2024 ในปีนี้ โจทย์ใหม่ล่าสุดที่หากจะให้การแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับชาติ สามารถรองรับความเป็นไปของโลกได้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ ที่คนทั่วโลกกำลังพูดถึงและจับตามองกันอยู่ ณ ขณะนี้
นี่เป็นโจทย์หินสำหรับประเทศฝรั่งเศสเจ้าภาพ หรือไม่ ? เมื่อ “กีฬา-เพศ-ความยุติธรรม” ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด โดยเฉพาะในปีนี้ เกิดประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับ เพศ ตั้งแต่พิธีเปิดไปจนถึงช่วงการแข่งขัน
The Active ชวนมองปรากฏการณ์ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใน โอลิมปิก 2024 กับ มะปราง-จิราเจต วิเศษดอนหวาย กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และผู้ให้คำปรึกษาแนวเฟมินิสต์ พร้อมหาคำตอบกับข้อสงสัยว่า ฝรั่งเศส ในฐานะเจ้าภาพการจัดแข่งขันจะสามารถแก้โจทย์นี้ได้ไหม ? ในอนาคตข้างหน้า เรื่องกีฬา และเพศจะทำให้กลายเป็นเรื่องความเท่าเทียมที่ไม่ใช่แค่โอลิมปิกได้หรือไม่ ?
เรื่อง ‘เพศ’ ในพิธีเปิด
ต้องถือว่า โอลิมปิก 2024 ฉีกทุกกรอบที่เคยมีมาไล่มาตั้งแต่ พิธีเปิดซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนจัดการแสดงนอกสนามกีฬามาก่อน แต่ ฝรั่งเศส เลือกที่จะจัดพิธีเปิดใจกลางแม่น้ำแซน ด้วยขบวนเรือ 85 ลำ นำพานักกีฬาจาก 206 ชาติ ประมาณ 10,500 คน ล่องเรือชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของกรุงปารีส เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร
จนมาถึงช่วงของการแสดงพิธีเปิด โดยศิลปินกว่า 2,000 คน กับการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สำคัญอย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส และความงดงามในงานศิลปะ รวมถึงวัฒนธรรมที่น่าหลงใหล ผ่านการแสดงโชว์ 12 องก์ ให้คนนับล้านได้เห็นถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินชาวฝรั่งเศสตลอด 4 ชั่วโมงของพิธีเปิด
แม้การแสดงจะออกมายิ่งใหญ่หรือมีความคิดสร้างสรรค์เพียงใด ก็คงหนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กับหนึ่งในชุดการแสดงโดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคล้ายคลึงกับภาพวาดฝาหนังที่มีความสำคัญต่อคริสต์ศาสนิกชน “The Last Supper” ของจิตรกรระดับโลก เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
ภายหลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความคล้ายคลึงของภาพวาดฝาผนัง The Last Supper ทางผู้จัด ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า แท้จริงแล้วฉากที่เป็นประเด็นนั้นคือการนำเสนอภาพของ “เทพเจ้ากรีก” ไม่ใช่ “พระเจ้าเยซู” อย่างที่สังคมกำลังเข้าใจผิด โดยเทพเจ้าทั้งหมดที่เห็นเป็นการสื่อถึงเทพเจ้าแห่งไวน์และการเฉลิมฉลอง ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพจำที่คนทั้งโลกมองเข้ามาที่ฝรั่งเศสแล้วรู้ว่านี่คือเสน่ห์ของเมืองนี้ ทั้งหมดจึงเป็นการหยิบเอาตำนานกรีกมาเล่า ไม่ใช่การล้อเลียนความเชื่อของผู้ที่มีความศรัทธาในศาสนาคริสต์
อย่างไรก็ตาม แม้มีการชี้แจงออกมาแล้วว่าฉากดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยและยังปักใจเชื่อว่า นี่คือการจงใจล้อเลียนความศรัทธาของเขาเหล่านั้น โดยเฉพาะการที่มีกลุ่ม LGBTQIAN+ อยู่ในฉาก ซึ่งสำหรับคริสต์ศาสนิกชนในบางพื้นที่ยังคงไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ
“เรามองว่ามันเป็นเหมือน DNA ของคนฝรั่งเศสไปแล้วที่เขาใช้เสรีภาพในการทำอะไรบางอย่าง ให้ฝรั่งเศสกลายเป็นคนแรกที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้”
จิราเจต วิเศษดอนหวาย
ดังนั้น ความแปลกใหม่ที่เราเห็นจากการแสดงพิธีเปิดในโอลิมปิก 2024 จึงเป็นเรื่องที่ จิราเจต มองว่า เป็นความตั้งใจของทางผู้จัดที่ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในมหกรรมระดับโลกเป็นครั้งแรก ด้วยพื้นฐานของการเป็นต้นกำเนิดในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกของฝรั่งเศสอย่างการปล่อยบอลลูน, การทำหนังฟิล์ม, และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ทำให้ หัวใจหลักของการแสดงในครั้งนี้ออกมาเป็นภาพของการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ หรือเป็นจุดเริ่มต้นอะไรบางอย่าง
เรื่อง ‘เพศ’ ใน ‘สนามการแข่งขัน’
ในปีที่ความเท่าเทียมทางเพศถูกพูดถึงมากขึ้น และดูเหมือนว่าภาพที่ใครหลายคนฝันเห็น ก็เริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน เพราะเมื่อมาดูจำนวนนักกีฬาในปีนี้เราจะเห็นว่า ในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ให้โควตานักกีฬาชาย-หญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ นักกีฬาชาย 5,250 คน นักกีฬาหญิง 5,250 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกและแตกต่างจากครั้งอื่น ๆ โดยทุกครั้งที่ผ่านมาจำนวนนักกีฬาหญิงน้อยกว่านักกีฬาชายเสมอ
ไม่ใช่เพียงนักกีฬาชาย-หญิง ที่โอลิมปิกทำให้เห็นว่าในวงการกีฬา เปิดรับในความเท่าเทียมทางเพศ แต่มากกว่านั้นคือ โอลิมปิก 2024 ทำให้เห็นว่ามีการโอบรับกลุ่ม LGBTQIAN+ ให้เข้ามามีพื้นที่ในวงการกีฬาเท่าเทียมกับเพศชายและเพศหญิงด้วยเช่นกัน โดยในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่สถิตินักกีฬา LGBTQIAN+ มากที่สุดในทุกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ถึง 191 คน
เรื่องของ ‘เพศ-กีฬา-ความยุติธรรม’
แม้เราจะเห็นนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในพื้นที่วงการกีฬาเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามถึง “ความยุติธรรม” ที่กลุ่ม LGBTQIAN+ เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งนี้อยู่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม Transgender ที่เป็น Trans Woman (จากชายเป็นหญิง) และกลุ่มที่เป็น Intersex (เพศกำกวม) ซึ่งจะต้องแข่งขันกับนักกีฬาที่เป็นเพศหญิงโดยกำเนิด จนทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยในเรื่องพละกำลังและสรีระที่อาจได้เปรียบมากกว่าร่างของเพศหญิงหรือไม่
สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับกลุ่ม Transgender นั้น จิราเจต เปิดงานวิจัยหนึ่งของ Canadian Centre for Ethics in Sport ซึ่งได้ตั้งคำถามเช่นเดียวกับสังคมว่า Trans Woman มีโอกาสชนะโอลิมปิกมากกว่านักกีฬาเพศหญิงหรือไม่ ? จนเกิดข้อสรุปที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลการสัมภาษณ์ทัศคติของคณะกรรมการและเพื่อนนักกีฬา รวมถึงการทดสอบสมรรถภาพต่าง ๆ
พบว่าในการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะการแข่งขันที่ไม่ใช่ระดับมือสมัครเล่นอย่าง High Performance Sport จะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างที่มีมากกว่าพละกำลังของนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นกีฬาที่ต้องใช้แรง เช่น กีฬานักน้ำหนัก ซึ่งต้องมีสภาวะอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- ประสบการณ์จากการฝึก
- สภาวะทางอารมณ์
- ความพร้อมของร่างกาย
“มันเป็น 3 ส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเพื่อให้คน ๆ หนึ่งได้เหรียญทอง เพราะฉะนั้นถ้าเรามองว่านักกีฬาทรานส์ มีข้อได้เปรียบเรื่องลักษณะทางชีวภาพ แต่อีก 2 ปัจจัย ก็เป็น 2 ปัจจัยที่สามารถแข่งขันกันได้ไม่ว่าคุณเป็นเชื้อชาติไหน หรือเพศอะไร นั่นคือสภาวะทางอารมณ์และประสบการณ์ จนคุณสามารถแข่งขันกันได้”
จิราเจต วิเศษดอนหวาย
ดังนั้นทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จึงมองว่าในการแข่งขันครั้งนี้ต้องสนับสนุนในส่วนของ 2 ปัจจัย นั่นคือ
- ประสบการณ์จากการฝึก โดยการสนับสนุนให้นักกีฬามีการฝึกซ้อมอย่างเหมาะสม เช่น การซ้อมเสมือนจริงของนักกีฬา (Rehearsal) หรือการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้อื่น
- สภาวะทางอารมณ์ อย่างความฮึกเหิมของกองเชียร์ที่เป็นส่วนสำคัญในการให้กำลังใจนักกีฬา หรือการไม่ถูกพูดจาเหยียดหยามทางเพศจนนักกีฬารู้สึกด้อยค่าในตัวเอง
- ความพร้อมของร่างกาย ทาง IOC ก็มีข้อกำหนดว่า จะต้องเข้าสู่กระบวนการแปลงเพศ (เริ่มใช้ฮอร์โมน) ตั้งแต่อายุ 12 ซึ่งก็เป็นตัวเลขโดยเฉลี่ยของประเทศที่มีสวัสดิการการในใช้ฮอร์โมน
อย่างไรก็ตาม จิราเจต ชี้ให้เห็นว่า เรายังไม่สามารถสรุปได้ในตอนนี้เลยว่านักกีฬาที่อยู่ในกลุ่ม Transgender จะมีข้อเสียเปรียบหรือข้อได้เปรียบอย่างไร เพราะนักกีฬาในกลุ่มนี้เพิ่งมีพื้นที่ในวงการกีฬาได้ไม่ถึง 10 ปี ล่าสุดคือ ลอเรล ฮับบาร์ด (Laurel Hubbard) นักกีฬายกน้ำหนักหญิงข้ามเพศ ชาวนิวซีแลนด์ ในสนามการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียวในปี 2020 จึงทำให้งานวิจัยในแง่จิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์การกีฬา ยังมีข้อพิสูจน์หรือผลการวิจัยไม่มากนักสำหรับข้อเท็จจริงดังกล่าว
46 วิฯ ที่ทั่วโลกได้รู้จัก Intersex
นอกเหนือจากการพูดคุยกันของคนในสังคมเกี่ยวกับ Transgender แล้ว อีกประเด็นร้อนที่ตอนนี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่และดูเหมือนว่าจะทวีคูณความเดือดมากยิ่งขึ้น ในกรณี “อิมาน เคลิฟ” นักชกเพศกำกวม (Intersex) จากแอลจีเรียที่ลงสนามกับ “แองเจลา คารินี” นักชกหญิงชาวอิตาลี เพียง 46 วินาที แองเจนาถึงกับต้องขอยอมแพ้ จนทำให้สังคมถามถึงความยุติธรรมและการได้เปรียบ-เสียเปรียบของการต่อสู้ในครั้งนี้
ส่วนการแข่งขันรอบรองชนะเลิศที่เพิ่งผ่านพ้นไป (7 ส.ค.67) เคลิฟ ก็สามารถเอาชนะ “จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง” ตัวแทนนักชกสาวไทย ส่งผลให้จันทร์แจ่ม ได้เพียงเหรียญทองแดงมาได้ครอง
“น้องเก่งที่สุดแล้ว แข่งกับโครโมโซมผู้ชาย ครบ 3 ยก”
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่นัดที่ชกกับนักชกอิตาลี มาจนถึงนักชกไทย จะเห็นว่ามีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจในความหลากหลายทางเพศ และกำลังใช้คำพูดความเกลียดชังโดยที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเกณฑ์ในการแข่งขัน
แต่อีกมุมหนึ่ง จิราเจต มองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ แม้ว่ากระแสจะแบ่งออกเป็นสองฝั่ง แต่การที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำให้เราเห็นความคิดที่หลากหลายในสังคม จนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิด
อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวงการกีฬาในด้านสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ เพราะการที่เคลิฟขึ้นชกในฐานะที่เป็นผู้หญิง ก็คือการให้พื้นที่กับผู้หญิงที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศมากขึ้น
แม้ว่า สมาคมมวยสากลนานาชาติ (IBA) ออกมาแถลงถึงผลการทดสอบ DNA ของเคลิฟว่าเธอมีโครโมโซม XY ซึ่งเป็นโครโมโซมที่ระบุไว้ว่าเป็นของเพศชาย แต่สำหรับ จิราเจต มองว่า ในกรณีของเคลิฟ ยีนที่พัฒนาต่อจากโครโมโซมของเธอไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชายแล้ว อีกทั้งเธอยังมีอวัยวะเพศที่เป็นลักษณะเดียวกับอวัยวะเพศหญิง และมีประจำเดือน ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของผู้หญิง เพียงแต่เป็นผู้หญิงที่มีความหลากหลายเท่านั้น
ส่วน ความยุติธรรม ที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงเรื่องการให้พื้นที่กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะ Intersex ในสนามการแข่งขันของผู้หญิง จิราเจต ให้ข้อมูลว่า ทาง IOC มีการตรวจสอบเพศโดยยึดให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยไม่ลิดรอนสิทธิ์ในเนื้อตัวและร่างกายของนักกีฬา
สำหรับตรวจสอบเพศโดยทดสอบ DNA อย่างที่ IBA ทำนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์อย่างหนึ่ง ซึ่งหากจะใช้เกณฑ์ในการตรวจสอบเพศโดยให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชน ก็มีเกณฑ์ที่สามารถใช้ตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ เช่น ในกรณีกีฬามวยของทางโอลิมปิกจะมีการทดสอบเรื่อง
- อัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งระบุไว้ที่เอกสารราชการ
- น้ำหนักตัวของนักกีฬา
- ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
ทั้ง 3 การทดสอบนี้ จะสามารถยืนยันได้ว่ามีผลต่อการแข่งขันในการขึ้นชก
อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของ Intersex โดยเฉพาะกรณีของ อิมาน เคลิฟ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมเห็นว่า การกำหนดเพศโดยใช้อวัยวะ หรือการใช้หลักฐานทางชีวภาพในปัจจุบันมีความหลากหลายไม่มากพอ และการแข่งขันในอนาคตควรทลายเส้นแบ่งระหว่างเพศที่มีเพียง ชาย-หญิง ซึ่งต่อไปต้องทำให้เกณฑ์การแข่งขันกีฬาไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิกหรือในพื้นที่ใด ๆ มีเฉดในเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบ ที่จะต้องเป็นด่านหน้าในการสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม รวมถึงองค์กรที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ความหลากหลายทางเพศด้วย
แม้จะไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยว แต่… “ความยุติธรรมก็ไม่เคยมีในวงการกีฬา”
“วงการกีฬาไม่เคยเท่าเทียม
เพราะแต่ละเชื้อชาติก็แตกต่างกัน
ซึ่งเราก็มองข้ามเหล่านั้นได้
แล้วทำไม ? เรื่องนี้ทุกคนถึงปล่อยผ่านไม่ได้”
ความเห็นหนึ่งจากโลกออนไลน์ ที่นอกเหนือจากเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ ที่หลายคนมองว่าทำให้การแข่งขันไม่ยุติธรรม ยังมีสังคมบางส่วนมองว่า แท้จริงแล้วในวงการกีฬาไม่มีความเท่าเทียมตั้งแต่แรก ซึ่งในประเด็นนี้ จิราเจต มองว่า ไม่สามารถปฏิเสธปัจจัยความได้เปรียบเรื่องเชื้อชาติที่มีผลต่อสรีระ หรือมวลกล้ามเนื้อของนักกีฬา หรือชนชั้นทางสังคมที่มีผลต่อการเข้าถึงพื้นที่ในการฝึกซ้อม ซึ่งมีผลต่อความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ในการแข่งขันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจุดประสงค์หลักในการแข่งขันกีฬาระดับชาติอย่างโอลิมปิก คือ การให้กีฬาสร้างความเท่าเทียม และทุกคนสามารถเล่นกีฬาได้ ในส่วนนี้เราจึงต้องมองว่าการจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสมากกว่า เพื่อในอนาคต “ความเท่าเทียม” ที่วาดฝันไว้ในพื้นที่กีฬาจะไปสู่หมุดหมายที่คิดไว้ตั้งแต่แรก
“โอลิมปิกมีคีย์เวิร์ดหนึ่งคือ เชื่อมั่นในศักยภาพมนุษย์ เราควรมองโอลิมปิกว่าเป็นพื้นที่แห่งโอกาส และสังคมควรเรียนรู้ว่า ในเมื่อพื้นที่ที่สร้างมาเพื่อความเท่าเทียมมันมีไม่มากพอ แล้วจะปรับมันยังไงให้มันมากพอ ตรงตามเจตนารมณ์ของโอลิมปิกจริง ๆ ที่มีมากกว่าการแข่งขัน”
จิราเจต วิเศษดอนหวาย ทิ้งท้าย
ยังมีเด็ก เยาวชน ที่มีความหลากหลายทางเพศอีกจำนวนไม่น้อย ที่อยากใช้กีฬาสร้างแรงบันดาลใจให้ได้ลุกขึ้นมาทำตามความฝันของตัวเอง ถึงวันนั้นยังไม่รู้ว่าพื้นที่ของพวกเขาในวงการกีฬาจะเป็นอย่างไร ? แต่อย่างน้อยการทำให้ประเด็นเหล่านี้ได้ถูกฉุกคิดขึ้นมา ในวงการกีฬาระดับโลก ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้มหกรรมกีฬานี้เป็นของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง