6 ปมร้อน วงการสาธารณสุข ปี 2567

ปี 2567 นับเป็นอีกปีที่วงการสาธารณสุขไทย เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นอกจากการขยับจากนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็น “30 บาทรักษาทุกที่” อย่างเต็มสูบแล้ว ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สู่ สมศักดิ์ เทพสุทิน ก็นำมาซึ่งการสานต่อนโยบายเรือธงของ พรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งผลักดันโครงการ และนโยบายสำคัญในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพจิต และการแก้ไขปัญหายาเสพติด

สมศักดิ์ ในบทบาทเจ้ากระทรวงหมอ ยังได้พยายามผลักดันร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อวางรากฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในอนาคต ตัวอย่างสำคัญได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีเป้าหมายแยกตัวบุคลากรทางการแพทย์ออกจากกรอบของ ก.พ. เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขที่สะสมมายาวนาน

นอกจากนี้ ยังผลักดัน การแก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพจิต เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายด้านสุขภาพจิตและการจัดการปัญหายาเสพติด

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มุ่งให้ค่าตอบแทนและยกระดับบทบาทของ อสม. ให้รองรับสังคมสูงวัยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการปูทางสำหรับการพัฒนางานด้านสุขภาพระดับชุมชนในระยะยาว

แล้วตลอดช่วงปี 2567 ยังมีประเด็นในทางนโยบาย และเรื่องราวความเคลื่อนไหวอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง The Active คัดเลือก 6 ประเด็นเด่นสาธารณสุข ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในรอบปี 

’30 บาทรักษาทุกที่’ กับ ปัญหาใบส่งตัว กทม. และ รพ.ขาดทุน 

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้รับการขยายผลใน กรุงเทพมหานคร และครอบคลุมทั้งประเทศในระยะ 4 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ทุกที่โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายนี้พบอุปสรรคหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการและความยั่งยืนของสถานพยาบาล

ในเดือนกันยายน 2567 คลินิกชุมชนอบอุ่น ใน กทม. ประมาณ 200 แห่ง ประสบปัญหาการค้างจ่ายเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน ส่งผลให้คลินิกเหล่านี้ไม่สามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือออกใบส่งตัวได้ 

นอกจากนี้ โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งยังเผชิญกับปัญหาการขาดทุนจากการลดงบประมาณผู้ป่วยใน จากเดิม 8,350 บาทต่อหน่วย เหลือ 7,000 บาทต่อหน่วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการให้บริการและการรับส่งต่อผู้ป่วย 

แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา เช่น การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมและการปรับปรุงระบบการส่งต่อผู้ป่วย แต่ปัญหาด้านการเงินและการบริหารจัดการยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายสังกัดและมีระบบสาธารณสุขที่ซับซ้อนกว่าต่างจังหวัด

มะเร็งรักษา (ไม่) ทุกที่ ต่อสู้โรค NCDs เป็นวาระชาติ 

ในเดือนธันวาคม 2567 สปสช. ได้ประกาศปรับเงื่อนไขการเบิกจ่ายในโครงการ มะเร็งรักษาทุกที่ ให้เบิกจ่ายได้เฉพาะค่ายาเคมีบำบัดการฉายรังสี และฮอร์โมนเท่านั้น ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 แต่นั่นก็ ทำให้โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เริ่มออกแนวปฏิบัติให้ผู้ป่วยต้องมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการตามสิทธิก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง การเปลี่ยนแปลงนี้สร้างความกังวลในหมู่ผู้ป่วยและหน่วยบริการ เนื่องจากอาจเพิ่มความยุ่งยากและล่าช้าในการเข้าถึงการรักษา 

จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความกังวลที่เกิดขึ้น สปสช. ได้ตัดสินใจชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับใหม่ และยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวในการรับบริการรักษามะเร็ง พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยบริการต่าง ๆ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมภายในระยะเวลา 3 เดือน 

ขณะเดียวกัน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มีที่ต้องเสียไปกับโรคติดต่อเรื้อรังมีเป็นจำนวนมาก ในไทยมีผู้ป่วยโรคติดต่อเรื้อรังกว่า 14 ล้านคน โดยเฉพาะโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายเกือบ 10,000 ล้านบาทต่อปี

กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ในการลดอัตราการเกิดโรค NCDs ในประชากร 

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ดำเนินโครงการรณรงค์ คนไทยห่างไกล NCDs โดยปักหมุด 6 จุดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน มุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรค NCDs เช่น การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม การส่งเสริมการออกกำลังกาย และการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ศึก 2 วิชาชีพ แพทย์-เภสัช กรณีร้านยาจ่ายยา เจ็บป่วยเล็กน้อย 

ความขัดแย้งระหว่าง 2 วิชาชีพ คือ แพทย์ และเภสัชกร เกี่ยวกับโครงการที่ให้ร้านขายยาจ่ายยาสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดความแออัดในโรงพยาบาล และให้ประชาชนสามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ 

อย่างไรก็ตาม แพทยสภาได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อขอให้ยุติโครงการดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าการจ่ายยาโดยเภสัชกรโดยไม่มีการวินิจฉัยจากแพทย์อาจเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย 

ขณะที่ สภาเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์ ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการนี้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานวิชาชีพ โดยเภสัชกรจะประเมินอาการของผู้ป่วย และหากพบความเสี่ยงจะส่งต่อให้แพทย์ดูแลต่อไป 

ขณะนี้ ศาลปกครอง ได้รับคำฟ้องของแพทยสภาแล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งให้ยุติโครงการ ดังนั้น ประชาชนยังสามารถรับยาที่ร้านขายยาในโครงการได้ตามปกติ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น 

ความขัดแย้งระหว่าง 2 วิชาชีพนี้ สะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด

‘กัญชา’ นโยบายสุขภาพในมือนักการเมือง

นโยบายเกี่ยวกับกัญชา เปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เริ่มจากเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน มีแนวคิดที่จะนำกัญชากลับไปจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกครั้ง โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวง เพื่อควบคุมการใช้กัญชาให้จำกัดเฉพาะด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม อดีตนายกฯ เศรษฐา ได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยไม่ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่เน้นการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง เพื่อควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ พรรคภูมิใจไทย ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค 

ต่อมาในเดือนกันยายน เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร นโยบายเกี่ยวกับกัญชา ยังคงเน้นการควบคุมการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยเตรียมผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมการใช้กัญชา เพื่อให้การใช้กัญชาเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 

การเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับกัญชาในปีนี้ สะท้อนถึงความซับซ้อน และความท้าทายในการกำหนดทิศทางการใช้กัญชาในประเทศไทย ทั้งนี้ การตัดสินใจของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย รวมถึงแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลและความคิดเห็นของประชาชน การออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การใช้กัญชาเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพอย่างแท้จริง

ยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ! งานสุขภาพจิตที่ต้องแบก  

นโยบายเกี่ยวกับการครอบครองยาบ้า ปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 กระทรวงสาธารณสุข ออกกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยกำหนดให้การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ถือว่าเป็นผู้เสพ ซึ่งจะถูกส่งเข้าสู่ กระบวนการบำบัดรักษา แทนการ ดำเนินคดีอาญา 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2567 รัฐบาลได้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว โดยลดจำนวนการครอบครองยาบ้าที่ถือว่าเป็นผู้เสพจาก 5 เม็ด เหลือเพียง 1 เม็ด เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด 

การปรับเปลี่ยนนโยบายนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งในแง่ของความเหมาะสมและผลกระทบต่อผู้เสพและสังคม โดยมีการถกเถียงถึงประสิทธิภาพของการลดจำนวนเม็ดยาบ้าที่กำหนด และผลกระทบต่อกระบวนการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด

นโยบายการครอบครองยาบ้าในประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวมีผลต่อการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะยาว

ในส่วนของความพยายามที่จะเสริมสร้างการดูแลสุขภาพจิต และการบำบัดยาเสพติด รัฐบาลได้จัดตั้ง มินิธัญญารักษ์ ทุกจังหวัด หรือในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นสถานบำบัดยาเสพติดระดับชุมชน ที่มุ่งให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ติดยาเสพติดอย่างครบวงจร โครงการนี้ได้รับการติดตามและประเมินคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

นอกจากนี้ โครงการ ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx ได้ถูกนำมาใช้เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหายาเสพติด โดยมีการดำเนินงานในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Quick Win ที่มุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับสู่ชีวิตที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลจิตเวช ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการให้บริการ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชน ที่มีการตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดขึ้นใหม่ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่บุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการในการรักษา

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ติดสุรา เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ป่วยติดสุราในโรงพยาบาล ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนานโยบายและการจัดการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน

ดรามาสาธารณสุขชายแดน 

พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะ อ.แม่สอด จ.ตาก เผชิญกับความท้าทายด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเหตุการณ์สู้รบในเมียนมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้มีผู้อพยพหนีภัยเข้ามายังฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบสาธารณสุขในพื้นที่ต้องรับภาระหนักในการดูแลสุขภาพของผู้อพยพเหล่านี้ 

ในช่วงปลายปี ประเด็นการให้บริการสาธารณสุขแก่แรงงานข้ามชาติ ได้กลายเป็นที่ถกเถียงในสังคม โดยเฉพาะกรณีหญิงตั้งครรภ์จากเมียนมาเข้ามาคลอดบุตรในโรงพยาบาลไทย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาล และภาระค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า แรงงานข้ามชาติ ที่เข้ารับการรักษาในไทยจะต้องมีค่าใช้จ่าย ยกเว้นใน 3 กลุ่ม ได้แก่ บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (สิทธิ ท.99), แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม และ ผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพ 

นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม มีรายงานการระบาดของอหิวาตกโรค ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กก่ก ฝั่งเมียนมา กว่า 300 คน โดยพบผู้ป่วย 4 คน ที่โรงพยาบาลแม่สอด สถานการณ์นี้สร้างความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคจากฝั่งเมียนมาสู่ไทย ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองและป้องกันการลักลอบข้ามแดน 

สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความซับซ้อนของปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ที่ต้องเผชิญกับทั้งปัญหาการอพยพของประชากร การจัดการสิทธิการรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ และการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้การบริการสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ทั้ง 6 ปมร้อนที่ The Active รวบรวมเอาไว้ นับเป็นอีกความท้าทายของเจ้ากระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ว่า ตลอดปี 2568 นี้ จะสามารถแก้ปัญหาเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึง และได้รับประโยชน์จากบริการ และนโยบายด้านสุขภาพของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS