อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่บ่อยครั้งกลับพบว่า สังคมไทยต้องสูญเสียเด็ก เยาวชน จากอุบัติเหตุบนท้องถนนทุก ๆ ปี จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 0-19 ปี ในช่วงปี 2562-2566 พบว่า รถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุที่ทำให้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต สูงสุดถึง 71.38 %
ทุกคนรับรู้กันดี ว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทั้งปัญหา โครงสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัด, ระบบใบอนุญาตขับขี่ที่ไม่เข้มงวด, การเข้าถึงรถจักรยานยนต์ได้ง่าย และเร็วขึ้น อีกทั้งคงต้องมองลึกไปถึงมาตรการเรียนรู้เพื่อขับขี่ ที่ต้องสอน และปลูกฝังกันตั้งแต่ในโรงเรียน
ในชุมชนเมืองที่เต็มไปด้วยรถที่หนาแน่นบนท้องถนน วิถีความเร่งรีบของผู้คน ส่วนบริบทชุมชนชนบท จะเกิดอีกภาพ คือ การใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และอาจเป็นปัจจัยที่ 5 เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จุดนี้อาจผลักให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ของ เด็ก เยาวชน เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ…ความเสี่ยง!!
The Active ชวนมองบริบทสังคมที่ต่างกัน ว่าจะมีผลแค่ไหน ? ต่อความเสี่ยงการใช้รถ ใช้ถนนของเด็ก เยาวชน พร้อมวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ใช่เพียงแค่การกล่าวถึง “เด็กขับรถซิ่ง” ยังมีอะไรลึกกว่านั้นที่เราต้องพิจารณา เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน
วัฒนธรรมการขับขี่ที่เลี่ยงไม่ได้
อะไร ? ที่เป็นภาพชินตาทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยต่อการใช้รถ ใช้ถนนในต่างจังหวัดบ้าง สิ่งที่นึกถึงคงหนีไม่พ้น ภาพของการขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่ใช้กันทุกเพศทุกวัย ไปจนถึงเด็กอายุน้อย ๆ หมวกนิรภัยที่มีส่วนน้อยเท่านั้นที่สวมใส่ การยืน ห้อยโหน รถสองแถว รถสาธารณะที่มีสภาพเก่ามีทั้งข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง และความรวดเร็ว นี่แค่บางส่วนที่สะท้อนถึงข้อจำกัดที่ทำให้บางครั้ง คนต่างจังหวัดหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ได้
สุรสม กฤษณะจูฑะ รองคณบดีฝ่ายบริหารและอาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิเคราะห์บริบทสังคมต่างจังหวัดกับการใช้รถ ใช้ถนน ที่มีทั้งข้อจำกัด และความจำเป็น… และเมื่อมองถึงบริบทสังคมต่างจังหวัด กับการขับขี่รถจักรยานนยต์ของเด็กและเยาวชน ก็ดูเหมือนว่า ปัญหาจะไม่ได้มีเพียงจำนวนการเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น แต่มองได้ลึกไปถึงรากของปัญหาที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน
“พอเรียนมัธยมระยะทางจะไกลขึ้น เพราะไม่มีโรงเรียนในหมู่บ้าน ต้องเดินทางด้วยพาหนะที่พึ่งพาตัวเอง ทั้งสะดวก และประหยัด”
สุรสม กฤษณะจูฑะ
สุรสม ยังมองว่า มีหลายปัจจัยที่ผลักให้เยาวชนในสังคมต่างจังหวัดต้องเริ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยตัวเอง อย่างแรก คือ ความจําเป็น เพราะเมื่อระยะโรงเรียนไกลขึ้น การจะเดินทางด้วยรถสาธารณะอาจจะทำได้ แต่ก็ยังมีความลำบากอยู่ดี เช่น การเดินทางด้วยรถสองแถวที่แออัด ทำให้เกิดความอันตราย เด็ก ๆ จึงเลือกที่จะไปใช้จักรยานยนต์ในการเดินทางไปโรงเรียน
อีกประเด็น คือ การเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์นั้นสะดวกกว่าเดินทางด้วยพาหนะอื่น ๆ อย่างบริบทสังคมพื้นที่ภาคอีสาน ที่มักจะต้องเคลื่อนที่ สัญจรหรือทั้งอพยพไปต่างถิ่น ด้วยชีวิตที่ต้อง ดิ้นรน ไปข้างหน้า หรืออาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการออกไปข้างนอกคือ ชีวิตของเขา
เงื่อนไขที่สําคัญที่สุด คือ ความจําเป็นทางเศรษฐกิจ เพราะว่ารถจักรยานยนต์มีราคาถูก ไม่มีเงินก็ออกรถได้ ซื้อได้เลยแล้วก็ไปผ่อนเอา สิ่งนี้เป็นโจทย์และเป็นคำตอบสำหรับชีวิตของคนที่เรียกว่า อยู่ในเมืองที่กําลังจะเติบโต แต่การย้ายชีวิตจากชนบทมาอยู่ในเมือง หรือว่า วิถีชีวิตแบบคนชนบทอยู่ในเมือง การเดินทางจึงถือเป็นเรื่องสําคัญ เพราะจะต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว สามารถไปที่ที่ตัวเองต้องการได้ เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจว่าชีวิตของผู้คนไม่ได้ต้องการหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรืออยู่แบบเรียบง่าย ต้องการไปแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ
ข้อจำกัดการเดินทาง เส้นบาง ๆ ความเสี่ยง
ถ้าจะมองให้การเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ของคนต่างจังหวัด เป็นทั้งข้อจำกัด และเป็นการส่งเสริม…วิถีชีวิตของเยาวชนที่ต้องเดินทางไปเรียน ผู้ใหญ่ต้องเดินทางไปนาไปไร่ จักรยานยนต์จึงเป็นทางเลือกการเดินทางที่สำคัญ
“เมื่อที่นาไม่ได้ติดอยู่บ้าน การเดินทางด้วยถนนลูกรัง เอารถยนต์ไปอาจสิ้นเปลือง ไปไม่สะดวก ฉะนั้น เป็นวิถีของเขาที่พ่อแม่ก็ใช้จักรยานยนต์อยู่แล้ว เมื่อคุ้นเคยกับอะไรแล้วก็จะทําสิ่งนั้น พ่อแม่ทําอะไรลูกก็ต้องทําสิ่งนั้นได้ เหมือนกับเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง”
สุรสม กฤษณะจูฑะ
แต่ปัญหาคือ เด็ก เยาวชนที่ใช้จักรยานยนต์ ไม่ได้มีวุฒิภาวะมากพอกับการระมัดระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่พบ เพราะเมื่อทดสอบความรู้การจราจร พบว่า เด็กที่ได้คะแนนต่ำมีถึง 70% ส่วนที่ได้คะแนนสูงมีอยู่แค่ประมาณ 10% เท่านั้น ชี้ให้เห็นว่า เด็ก เยาวชนไร้ซึ่งทักษะการขับขี่ และเรื่องความปลอดภัย ก็เป็นเป็นโจทย์สำคัญว่า จะนำทักษะนี้เข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างไร
สุรสม ยังวิเคราะห์อีกมิติสำคัญ คือ การมีรถจักรยานยนต์ ไม่ต่างจากการ “ปลดปล่อยออกจากครอบครัว”
“บางครั้งเด็ก ๆ เขาก็เบื่อ เพราะงั้นรถมอเตอร์ไซค์ มันเป็นเครื่องมือที่นําพาให้ชีวิตเขาไปได้ไกล อย่างไม่มีข้อจํากัด”
สุรสม กฤษณะจูฑะ
มิตินี้อาจทำให้มองได้ว่า ทําไม ? เด็ก เยาวชน บางกลุ่มถึงหลงไหลรถจักรยานยนต์ ทำไม ? แต่ง ทำไม ? ชอบแว้น ซึ่งนอกจากเป็นเรื่องของการเคลื่อนที่แล้ว อีกลักษณะหนึ่งก็เป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ ต้องการการยอมรับจากเพื่อน
“ถ้าเราไม่วิเคราะห์กันให้ชัดเจน เราก็จะแก้ไขปัญหาเรื่องอุบัติเหตุไม่ได้ เพราะว่าเรื่องอุบัติเหตุมันไม่ใช่เรื่องแค่ว่าไม่รู้กฎจราจร แต่มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วยว่ามีการสั่งสมอะไรมาในสังคมของเรา”
สุรสม กฤษณะจูฑะ
หากพูดว่าเป็นเรื่องของจิตสํานึกอาจกว้างไปพอสมควร… ทั้งที่ความจริงแล้วสังคมไทยไม่ค่อยคํานึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก แต่กลายเป็นเรื่องที่เอาไว้ท้ายสุด ทั้งหน่วยงานรัฐ ทั้งคนขับขี่
ความเหลื่อมล้ำของขนส่งสาธารณะ ทำให้ต้องพึ่งพาตัวเอง
อีกปัจจัยที่ต้องไม่ลืม คือ ความเหลื่อมล้ำในระบบขนส่งสาธารณะ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีหน่วยงานไหนสามารถยกระดับ หรือแก้การขาดแคลน การเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ยังมีความละเลยของการพัฒนาขนส่งสาธารณะเข้ามาเกี่ยวเนื่องอีกด้วย
สุรสม ให้ความเห็นว่า แม้จะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ก็เกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่นทีเดียว… เพราะถ้าถามว่าเด็กอยากใช้จักรยานยนต์หรือไม่ คำตอบก็รู้อยู่แล้วว่า ใช่ เพราะสะดวกสบายกว่า แต่ในความเป็นจริงทางเลือกที่เห็นก็คงมี แต่การพึ่งพาตัวเองในการเดินทาง ส่งผลให้ผู้ขับขี่ที่มีรายได้น้อยลงมา ต้องเลือกใช้รถจักรยานยนต์ราคาถูก
“เมืองไม่ได้ถูกออกแบบที่จะให้เห็นโครงข่ายการขนส่งที่ดีพอ เมื่อไม่มีการออกแบบ ทำให้ขนส่งสาธารณะที่มีการสัมปทาน เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ยังเป็นขนส่งสาธารณะในรูปแบบเดิมอยู่ เส้นทางเดิม รถก็สไตล์เดิม ทำไมไม่มีการปรับปรุงที่ดีกว่านี้ ?”
สุรสม กฤษณะจูฑะ
ทำไม ? ในแง่ของการติดต่อ ความสัมพันธ์ โครงข่ายของความเป็นเมือง ดูเหมือนไม่ค่อยขยับมากนัก โดยเฉพาะในเรื่องของขนส่งที่ยังมองพื้นที่ที่คนต้องใช้ในการเคลื่อนที่สัญจรอย่าง ถนน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน ไม่พอที่จะรองรับให้เกิดความปลอดภัย
“ไม่ได้โทษถนนว่าเป็นต้นเหตุของความของอุบัติเหตุ แต่ว่าเอาเข้าจริง ไม่ว่ามันจะเป็นหรือไม่เป็นต้นเหตุก็แล้วแต่ เราควรจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ที่รัฐจะต้องดําเนินการในเรื่องพวกนี้ ตอนนี้เหมือนกับว่ามีการถ่ายโอน แบ่งพื้นที่กันดูแล อย่างทางหลวงดูแลทางหลวง ในเมืองก็จะเป็นเทศบาลดูแล ทีนี้มันก็เลยเกิดปัญหา การดูแลแบ่งกันดูแลเลยเกิดการไม่เท่ากัน งบประมาณไม่เท่ากัน หรือว่าไม่ได้เกิดการประสานงาน บูรณาการร่วมกัน เพราะฉะนั้น เรื่องความปลอดภัยมันไม่ใช่การคุยหน่วยงานเดียวแล้วจบ แต่ต้องคุยทุกหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุข ทางหลวง ตํารวจจราจร เทศบาล และ อบต.”
สุรสม กฤษณะจูฑะ
ส่วนคําตอบเรื่องรถจักรยานยนต์ คงต้องมองลึกไปถึงความเหลื่อมล้ำของเมือง ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม นี่เป็นโจทย์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เพราะหน่วยงานรัฐอาจมองไม่เห็นว่า การออกแบบเมืองเป็นเรื่องสําคัญที่ต้องเน้นระดับชุมชน
ความปลอดภัยบนถนน บทสรุปที่ยังหาไม่เจอ ?
นักวิชาการด้านการพัฒนาสังคม ยังค้นพบข้อสรุป ว่า ปัจจัยภายใน คือ ตัวเยาวชน ที่เหมือนกับว่ายังไม่มีความพร้อมในการขับขี่บนท้องถนนอย่างปลอดภัย แต่มีใจอยากจะขับขี่รถจักรยานยนต์ ประเด็นสำคัญ คือ กติกา กฎเกณฑ์ต่าง ๆ อาจจะยังไม่ถูกนําเข้าไปในตัวของเยาวชน เหมือนกับว่าไม่รู้ถึงสถานการณ์เฉพาะหน้าที่จําเป็น จะเอาตัวรอดต้องทําอย่างไร อย่างน้อยก็ควรจะมีความรู้ก่อน ส่วนจะเอาไปใช้ได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่อง มีความเห็นควรเพิ่มลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอน
ปัจจัยภายนอก คือ จะไปโทษว่าคนขับขี่รถจักรยานยนต์ ขับเร็ว ขับปาดหน้าอย่างเดียวก็ไม่ใช่ แต่ต้องมีภูมิทัศน์ที่เอื้อให้เกิดความปลอดภัยด้วย จึงเลี่ยงไม่ได้ว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องดําเนินการให้เกิดขึ้นจริง เพราะไม่ว่าประเทศไหนก็แล้วแต่ที่พยายามสร้างมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน ก็ยังมีอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้อุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นมีโอกาสลดลง หรือรุนแรงน้อยลงได้ นี่คือปัญหาระดับโลก
ที่ผ่านมามีโครงการรณรงค์ ว่า ภายใน 30 ปี ต้องลดอุบัติเหตุสาเหตุของการเสียชีวิตให้ได้ 50% เป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ที่สุดแล้วเมื่อพูดถึงเรื่องอุบัติเหตุ จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ จากที่เคยสนใจเพียงว่า ชีวิตอยู่กันอย่างสบาย ๆ ไม่ต้องมีกฏกติกา ไม่ต้องคํานึงถึงความปลอดภัยมาก เปลี่ยนมาเป็นการมองเห็นเรื่องของ ความปลอดภัยเป็นหมุดหมายสําคัญที่จะต้องใช้ดําเนินชีวิต
มาถึงจุดนี้ทำให้ต้อง คิดว่า สังคมต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง ในการทําให้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนลดลง คําตอบของผลพวงปัญหาเหล่านี้ต้องไม่ใช่แค่แก้ปัญหาระดับเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องของทั้งประเทศ ว่า จะสร้างมาตรฐานการขับขี่อย่างไร ? อาจจะแก้วันนี้ไม่ได้ ต้องใช้เวลา 10 – 20 ปี จะทําอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเปลี่ยนเจนเนอเรชันที่มีความคํานึงถึงความปลอดภัยได้มากขึ้น
นั่นอาจเป็นเพียงความหวังที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า จะลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้แค่ไหน ? แต่อย่างน้อยหลายเหตุการณ์ที่ปรากฎภาพความสูญเสียจากการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะความเสี่ยงจาก รถจักรยานยนต์ ก็กำลังทำให้สังคมร่วมกันตระหนัก
เพราะในบางครั้งปัจจัยของความอุบัติเหตุ อาจไม่ได้มาจากการขับรถประมาทเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงข้อจำกัด ความจำเป็นของวิถีชีวิตผู้คน ที่บางครั้งอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้… ทำยังไงจึงจะรับมือความเสี่ยง ได้ คงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันต่อไป