จาก ‘เคเดอร์’ ถึง ‘ตึก สตง.ถล่ม’…ผ่าน 3 ทศวรรษ ความปลอดภัยแรงงาน ยังถูกละเลย ?

เหตุการณ์ ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จากแผ่นดินไหว เมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เปิดแผลในหลายมิติปัญญาที่ซุกซ่อนอยู่ในระบบโครงสร้างของไทย

ความปลอดภัยในการทำงาน ก็เป็นหนึ่งในปัญหานั้น และยังเป็นคำถามสำคัญที่ลูกจ้าง แรงงาน ถามหามาตลอดทุกยุค ว่าอะไรทำให้ระบบความปลอดภัยของแรงงานบกพร่อง ถูกละเลย แล้วต้องมีวิธีไหนจึงจะปกป้องแรงงานฟันเฟืองชิ้นสำคัญของการเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสักที

ปัจจัยของความไม่ปลอดภัย ส่วนสำคัญมาจาก อุบัติเหตุ ซึ่งคำ ๆ นี้ วิกิพิเดีย ให้ความหมายไว้ว่าคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดหวังและไม่ตั้งใจในเวลา และสถานที่แห่งหนึ่ง เกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า แต่มีสาเหตุ และส่งผลกระทบที่สามารถชี้วัดได้ อุบัติเหตุเป็นผลเชิงลบของความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไว้แต่แรก โดยพิจารณาจากปัจจัยสาเหตุต่างๆ อันที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุจากการทำงาน ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยแม้แต่ในที่ทำงาน ทั้งที่น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง หรือป้องกันได้ อย่างน้อยเพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 (ภาพ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย)

10 พฤษภาคม อาจเป็นแค่วันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง แต่สำหรับแรงงานแล้ววันนี้ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายดูแล ปกป้องแรงงานจากความไม่ปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ซึ่งถือเป็นการรำลึกถึง บทเรียนโศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เหตุการณ์ซึ่งนำมาสู่ความสูญเสียชีวิตแรงงานมากถึง 188 คน บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน และยังนำไปสู่การเรียกร้องผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2554 ขึ้น…แต่ทุกวันนี้ความปลอดภัยของแรงงานอยู่ตรงไหน ?

ในโอกาสของวันความปลอดภัยในการทำงาน The Active ชวนสำรวจข้อจำกัด และปัญหาที่แรงงาน รวมถึงประชาชนยังต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง ซึ่งไม่เพียงกรณีเหตุการณ์ตึกถล่ม และอุบัติภัยใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นจนเกิดการสูญเสีย แต่ยังรวมถึงความเจ็บป่วยที่มาจากการทำงานในทุก ๆ วันด้วย

เพราะปัญหาด้านคุณภาพชีวิต และการทำงาน ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแรงงานในประเทศไทย แม้จะพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหา เพิ่มสิทธิให้แก่กลุ่มแรงงานที่เสี่ยงกับการเจ็บป่วย มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่สถานการณ์กลับไม่ได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลายกรณีที่การชดเชยเยียวยา ยังมาจากการเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน และโดยเฉพาะในช่วงหลังที่การจ้างงานเปลี่ยนรูปแบบไป เรามีลูกจ้าง มีแรงงานที่อยู่ในรูปแบบ การจ้างเหมาช่วง (Outsourcing หรือ Subcontracting) ซึ่งพวกเขาได้ถูกรวมอยู่ในรูปแบบของสิทธิ สวัสดิการ และถูกคุ้มครองความปลอดภัยตามกฎหมายแรงงานด้วยหรือไม่ นี่คือคำถามสำคัญ

รอยแผลจากตึก สตง.ถล่ม จุดบกพร่องที่แรงงานยังเผชิญ

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม ไม่เพียงสะท้อนแค่เรื่องอุปกรณ์ หรือการป้องกันตัวของแรงงานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการจ้างงานทั้งระบบ

เขา อธิบายถึง ความเปลี่ยนแปลงในระบบการจ้างแรงงานช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะการมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ผุดขึ้นมามากมาย และในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มักมีการจ้างเหมาแรงงานเป็นช่วงต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้ความรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยถูกละเลย และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

“ในโครงการของรัฐควรมีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยให้ชัดเจน เช่น ตัวผู้รับเหมาแต่ละราย ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ มีการตรวจสอบว่าเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมารายใหญ่ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้”

อดิศร เกิดมงคล

ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุขึ้น จึงทำให้เห็นจุดบกพร่องในประเด็นของความปลอดภัยในการทำงาน การปกป้องแรงงานจากอันตราย และสิทธิที่ควรได้รับความช่วยเหลือ เยียวยาของกลุ่มแรงงานอย่างเหมาะสม

แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยมี พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน แต่กฎหมายนี้กลับมีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานรัฐ ทำให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐมีช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย

“ตัวกฎหมายมันใช้งานได้ ยังมีระบบการดูแลที่ดี ชดเชยเยียวยาที่ชัดเจน ประเด็นคือ มันครอบคลุมเฉพาะกลุ่มคนงานของเอกชน พอเป็นงานของรัฐ มันครอบคลุมรึเปล่า กฎหมายบอกว่าไม่บังคับใช้กับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ หรือพอจ้างเอกชนทำ ตัวรัฐที่เป็นผู้จ้างดูจะไม่รับผิดชอบใด ๆ

อดิศร เกิดมงคล

กรณีอุบัติภัยใหญ่ ๆ ที่มีตัวเลขของผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตในที่ทำงาน มักเป็นกระแสข่าวใหญ่ ที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แตกต่างจากกรณีการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุเล็กน้อยที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ สำหรับกลุ่มแรงงานในประเทศไทย

จุดเปลี่ยนความปลอดภัยแรงงาน จากเหตุการณ์ ‘เคเดอร์’

เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม เป็นอุบัติภัยในที่ทำงานขนาดใหญ่ เป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นับเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน 

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 (ภาพ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย)

รศ.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย อดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ในอดีต ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการความปลอดภัยในการทำงานของไทย และเป็นที่มาของ วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ทุกวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี

“กว่าจะได้วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติมาไม่ใช่เรื่องง่าย มันมาจากโศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเมื่อปี 2536 ที่มีคนเสียชีวิตถึง 188 คน เกิดจากโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีการกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามกฎหมาย”

รศ.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์

เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้น เกิดจากการสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่ จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้คนงานเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจน บางส่วนกระโดดมาจากอาคารสูง รวมถึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ทางหนีไฟมีของวางกีดขวางทั้งหมด

ภายหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์ ประเทศไทยจึงได้ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจัง โดยมี

  • นโยบายแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” (Safety Thailand) ปี 2550 เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน

  • แผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ

  • พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

  • การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ปี 2559 เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นสากลและลดอุบัติเหตุ/เจ็บป่วยจากการทำงาน

ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายที่ประเทศไทยมีอยู่นั้นครอบคลุม และช่วยปกป้องแรงงานจากอันตรายได้อยู่แล้ว ปัญหาใหญ่นั้นกลับติดอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินการตามกฎหมายของนายจ้าง

“กฎหมายเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเลยที่ต้องปฏิบัติตาม เรามีกฎหมายพร้อมอยู่แล้ว แต่มันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ โดยเฉพาะนายจ้างที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักเลย”

รศ.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์

ภาพ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

มีกฎหมายกลับไม่ช่วยให้ชีวิตแรงงานปลอดภัยขึ้น

สอดคล้องกับมุมมองของ สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ย้ำว่า แม้จะพูดถึงประเด็นนี้มานานกว่า 30 ปี แถมยังคลอดกฎหมายเรื่องความปลอดภัยมาแล้ว แต่สถานการณ์ความปลอดภัยของแรงงานในประเทศไทยกลับแย่ลงกว่าเดิม

“ในประเด็นความปลอดภัย มันมีแต่ความเลวลง มันไม่คืบหน้าเลย ผลกระทบมันไปทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่สารเคมีที่ไปปล่อยจังหวัดหนึ่งเดือดร้อนแค่คนในโรงงานไม่พอ แต่ยังเดือดร้อนคนในชุมชนอีกด้วย”

สมบุญ สีคำดอกแค

เธอ ระบุอีกว่า ปัญหาหลักคือ การขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แม้จะมีกฎหมายที่ชัดเจน เช่น มาตรา 6 ของ พ.ร.บ. ความปลอดภัยในการทำงาน ที่ระบุว่า นายจ้างต้องมีหน้าที่ดูแลให้ลูกจ้างทำงานมีความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ และจิตใจ

“กฎหมายความปลอดภัยออกมาน่าจะสิบกว่าปี ตั้งแต่ปี 2554 มาถึงปัจจุบัน กว่าจะเกิดมาได้ก็สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทยผลักดันกันมา 20 กว่าปี แต่พอกฎหมายเกิดมาแล้วกลับขาดการบังคับใช้”

สมบุญ สีคำดอกแค

Zero Accident ปลอดภัยจริง หรือ ไม่แจ้ง!

สมบุญ ยังชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งของนโยบาย Zero Accident หรือ อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ที่หลายโรงงานนำมาใช้ โดยเป็นการกดดันให้คนงานไม่รายงานอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน

“เดี๋ยวนี้เขามีทางเลี่ยง พอมีนโยบาย Zero Accident รัฐส่งมาว่าลดอุบัติเหตุกี่เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นลูกจ้างไม่ได้เข้า ก็ไม่ได้วินิจฉัยแต่ต้นเหตุ พอมารู้อีกทีเป็นมะเร็ง เสียชีวิต หลายโรงงานเขียนไว้เลยว่า ในโรงงาน อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ถ้าใครทำศูนย์แตกจะโดนเพ่งเล็ง ถ้าสถิติอุบัติเหตุเป็นศูนย์ จะให้เงินคนละ 70 บาทต่อปี พอมีคนป่วยแจ้งกองทุน ทุกคนในโรงงานเป็นพัน ๆ คนจะถูกตัดเงิน และคนที่ป่วยจะถูกกระแสสังคมบีบ กลายเป็นตัวตลก ทุบหม้อข้าวตัวเอง”

สมบุญ สีคำดอกแค

สมบุญ ยังเล่าถึงกรณีตัวอย่างจำนวนมากที่เธอได้พบ เช่น กรณีคนงานที่นิ้วถูกเครื่องจักรตี เพราะไม่ได้รับการฝึกอบรมมาก่อน เขาเข้ามาทำงานใหม่แล้วจับเข้าเครื่องเลย ไม่มีคนยืนเฝ้า พอเขาเกิดอุบัติเหตุ เขาก็กลัวเพราะเพิ่งเข้างาน เขาก็เลยบอกว่า ขอกลับบ้านและไปหาหมอเอง เพราะโดนหัวหน้างานขู่เลยไปโกหกหมอด้วย กระดูกมันหักอย่างนั้นอยู่หลายเดือน นี่คือความไม่รู้

หรือกรณีคนงานที่เป็นมะเร็งจากการสัมผัสสารเคมีในพื้นที่ระยอง เคสนี้พอไปร้องกระทรวงแรงงาน มีแพทย์กองทุนประกันสังคม ไปให้เขาประเมินทุพพลภาพของคนงาน สุดท้ายเสียชีวิต ไม่ทันได้ร้องเรียนอะไรเลย ไม่ทันได้ไปตรวจ

ทางออกเพื่อความปลอดภัยที่ยั่งยืน

ในความเห็นของเครือข่ายด้านสิทธิแรงงาน ทั้ง อดิศร และ สมบุญ ต่างมองตรงกันพร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การเพิ่มบุคลากรในการตรวจสอบ และการให้ความรู้แก่แรงงาน

“วันนี้ เราควรต้องทำให้ความปลอดภัยในการทำงานเป็นวาระแห่งชาติ ความปลอดภัยในการทำงานคือความปลอดภัยของทุกคน”

อดิศร เกิดมงคล

“ต้องแก้ตั้งแต่นโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มพลังกำลังคนของกระทรวงแรงงาน ให้สามารถตรวจสอบโรงงานได้ เข้าไปเดิน ถ้าลองเข้าไปเดินจะรู้เลยว่าลูกจ้างเขาลำบากอย่างไร”

สมบุญ สีคำดอกแค

ทั้งยังเรียกร้องให้ไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงาน และอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม

“เรื่องรับรองกฎหมาย อนุสัญญา 155, 87, 98 ให้คนงานเขารวมกลุ่มได้ ลูกจ้างต้องเข้มแข็งด้วย เกาะกลุ่มให้ความรู้กันเอง”

สมบุญ สีคำดอกแค

สอดคล้องกับ รศ.เฉลิมชัย ที่มองว่า ในด้านของกฎหมายยังเหลือประเด็นความครอบคลุมไปสู่ภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ส่วนภาคปฏิบัตินั้น อยากให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยสำหรับทุกคน

“ผมคิดว่ากฎหมายเราพร้อมมากเลย เรามีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ระดับบริหาร เป็นผู้กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยโดยตรง เรามี จป.เฉพาะทาง จป.วิชาชีพ เรามีคณะกรรมการความปลอดภัย และกฎหมายเฉพาะอีกมากมาย”

รศ.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์

ที่สำคัญ คือ นายจ้าง ต้องบริหารจัดการ กฎหมายกำหนดเป็นหน้าที่นายจ้าง กำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานอยู่แล้ว ภาครัฐเองก็ต้องกำกับดูแลเช่นกัน ซึ่งรัฐเองก็มีข้อจำกัด คือไม่สามารถไปตรวจสอบทุกโรงงานได้ เนื่องจากบุคลากรและงบประมาณมีจำกัด สถานประกอบการเองต้องดูแล รัฐใช้ระบบการจัดการเข้ามา ปัจจุบันให้รายงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รัฐทำงานเต็มที่อยู่แล้ว อยู่ที่โรงงานเอง สถานประกอบการเอง นายจ้างลูกจ้างต้องร่วมมือกัน

สำหรับความเห็นในการพัฒนาด้านความปลอดภัยในอนาคต รศ.เฉลิมชัย เสนอว่า เรื่องความปลอดภัย ควรเข้าไปทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพราะใน พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน มาตรา 3 วรรค 1 ไม่ให้ใช้บังคับกับราชการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น แต่วรรค 2 กำหนดให้แต่ละหน่วยงานรัฐบริหารจัดการเอง

ดังนั้น นโยบายต่าง ๆ ควรลงไปถึงราชการส่วนกลาง ท้องถิ่น อย่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ สถาบันการศึกษาต้องดำเนินการเรื่องความปลอดภัยไปด้วยกัน

“อยากให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะภาครัฐ หน่วยงานส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย ภาคเอกชนเองก็ต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการขนาดไหนก็ตาม”

รศ.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์

รศ.เฉลิมชัย ทิ้งท้าย พร้อมเสนอแนะให้สถานประกอบการขนาดใหญ่ควรร่วมมือกับภาครัฐ เป็นพี่เลี้ยงให้สถานประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อถ่ายทอดความเข้าใจ ความรู้ และเทคโนโลยีไปสู่สถานประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือ SME ด้วย

30 กว่าปีผ่านไป นับจากโศกนาฏกรรมเคเดอร์ มาจนถึง ตึก สตง.ถล่ม ความสูญเสียคือสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ความปลอดภัยที่อาจควบคุม ป้องกันได้ ก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ค่อยถูกมองเห็น เครือข่ายแรงงานเองจึงยังคงเฝ้ารอว่าเมื่อไรประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับชีวิตของแรงงานอย่างรอบด้าน

อย่างน้อยสิ่งที่กระทรวงแรงงาน ชูธง Safety Thailand เพื่อหวังยกระดับความปลอดภัยแรงงานไทยอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าลดจำนวนอุบัติเหตุไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 และลดการเสียชีวิตไม่เกิน 3 คนต่อ 100,000 คนภายในปี 2573 ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์นับจากนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

อนวัช มีเพียร

รักโลก แต่รักคนบนโลกมากกว่า