Kidfluencer เฟื่องฟู! เมื่อ ‘ลูก’ คือ ‘คอนเทนต์’ แต่ สิทธิ-ความปลอดภัย(เด็ก) ถูกลืม ?

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นสมุดบันทึกชีวิตรายวันของหลายครอบครัว ‘เด็ก’ กลับกลายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ยอดนิยมที่พ่อแม่มักหยิบมาแบ่งปัน ไม่ว่าจะด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ หรือ ความเอ็นดูในพฤติกรรมลูกหลาน

ทว่าการแชร์เรื่องราวเหล่านั้นกลับแลกมาด้วย ร่องรอยทางดิจิทัล (Digital Footprint) ที่ไม่อาจลบเลือน และบางครั้งอาจทำให้เด็กเผชิญกับความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว

เรื่องสิทธิของเด็กในโลกออนไลน์ ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากข่าวการละเมิดในกรณีเด็กถูกนำไปทำคอนเทนต์ โดยไม่ได้รับความยินยอม เช่นเดียวกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้ออกข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการคุ้มครองสิทธิเด็กในยุคดิจิทัล โดยระบุถึงความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว และการตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์

งานวิจัยของ ณัฐสริดา จันทร์น้อย (2563) เรื่อง พฤติกรรมการแบ่งปันเนื้อหาลูกของพ่อแม่ไทย ระบุว่า 93.4% ของผู้ปกครองโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับลูกลงในโซเชียลมีเดีย แต่มีเพียง 20.3% เท่านั้นที่ขอความยินยอมจากลูกก่อนทุกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้ปกครอง เกือบ 40% เห็นว่า การถ่ายภาพเด็กในสภาพเปลือย หรือขณะอาบน้ำเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางออนไลน์ของเด็ก

การเลี้ยงดูเด็กในยุคที่โลกทั้งใบอยู่ปลายนิ้ว ไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวของเขาควรถูกเผยแพร่ได้โดยไม่มีขอบเขต สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญจึงไม่ใช่ยอดไลก์หรือเอ็นเกจเมนต์ แต่คือ ความตระหนักรู้ในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่เด็กทุกคนพึงได้รับ

กฎหมายมี แต่ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาทั้งหมด

Kidfluencer คือ เด็กที่มีบทบาทเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ โดยมักปรากฏตัวในคอนเทนต์ที่พ่อแม่หรือครอบครัวผลิตเพื่อสร้างยอดผู้ติดตาม รายได้ หรือชื่อเสียง แต่เบื้องหลังความน่ารักและยอดไลก์กลับแฝงด้วยปัญหาสิทธิความเป็นส่วนตัวที่เด็กไม่อาจเลือกเองได้ และอาจไม่ได้รับความยินยอม โดยเฉพาะในช่วงวัยที่ยังไม่สามารถตัดสินใจแทนตนเอง อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและความปลอดภัยในระยะยาว ทั้งยังละเมิดหลักสิทธิเด็กตามที่ระบุไว้ในกฎหมายไทยและปฏิญญาสากล

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กอย่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 และ 27 ที่ห้ามมิให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพลักษณ์ของเด็กในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ แต่การตีความของกฎหมายยังคลุมเครือ อีกทั้ง แพลตฟอร์มออนไลน์ยังคงเป็นพื้นที่สีเทา (Grey Area) ที่ไม่อาจควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง

ประเด็นเรื่องการเคารพสิทธิของเด็กบนโลกออนไลน์ ยังเชื่อมโยงโดยตรงกับ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งประเทศไทยให้การรับรองและผูกพันตามหลักการนี้มาตั้งแต่ปี 2535 โดยเฉพาะใน ข้อ 16 ที่ระบุชัดว่า “เด็กมีสิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงในเรื่องความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ และชื่อเสียง” นั่นหมายความว่า การเผยแพร่ภาพหรือข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยไม่ได้รับความยินยอม ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างครอบคลุม ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ย่อมเริ่มต้นจากความเข้าใจของคนรอบตัวเด็กในเรื่องสิทธิ ความเป็นส่วนตัว ดังนั้น การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถึงสิทธิเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน การนำสิทธิของเด็กมาเป็นกรอบในการกำหนดพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ทั้งผู้ปกครองหรือผู้ผลิตสื่อ คือความจำเป็นที่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน ไปจนถึงระดับนโยบายและการกำกับดูแลของแพลตฟอร์มออนไลน์

#ProtectMePlease
จากการเรียนรู้เรื่องสิทธิในครอบครัว สู่การตระหนักรู้เรื่องสิทธิในเนื้อตัวของเด็ก

ท่ามกลางความเปราะบางทางสิทธิของเด็กบนสื่อดิจิทัล กลุ่มนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงริเริ่มโครงการ #ProtectMePlease ในฐานะปริญญานิพนธ์ด้านวารสารสนเทศและสื่อใหม่ เพื่อ จุดประกายการตระหนักรู้เรื่องสิทธิของเด็กบนโลกออนไลน์ ผ่านการจัดทำพอดแคสต์พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจเชิงลึก ทั้งในด้านกฎหมาย นโยบายแพลตฟอร์ม และบทบาทของผู้ใหญ่ในสังคม

จากประเด็นเรื่องเด็กที่ใคร ๆ ก็มองว่า “คิดมากไปหรือเปล่า” สู่คำถามที่สังคมต้องตอบ ณัฏฐิดา คะสีทอง ผู้ริเริ่มโครงการ Protect Me Please หวังปลุกจิตสำนึกผู้ใหญ่ให้เคารพสิทธิของเด็กในโลกออนไลน์ เธอมองว่า การที่พ่อแม่โพสต์รูปลูกโดยไม่ขอความยินยอม ด้วยเหตุผลว่า “ทำเพราะรัก” กลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็กถูกลดทอนคุณค่าโดยไม่รู้ตัว

“แค่เพราะเขาเป็นเด็ก ไม่มีปากมีเสียง
เรื่องนี้ถึงกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่น่าใส่ใจรึเปล่า ?”

ณัฏฐิดา คะสีทอง

ท่ามกลางกระแสของอาชีพ Kidfluencer และ Family Content Creator ที่กำลังเฟื่องฟูบนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ณัฏฐิดา ตั้งคำถามว่า รายได้ที่เกิดขึ้นควรต้องแลกมากับความเป็นส่วนตัวของเด็กหรือไม่ ? และรัฐหรือแพลตฟอร์มทำหน้าที่ปกป้องเด็กได้เพียงพอหรือยัง โครงการของเธอจึงไม่ใช่แค่แคมเปญสื่อเพื่อความเข้าใจ แต่เป็นเวทีถกเถียงร่วมกันของผู้ใหญ่ในทุกบทบาท ตั้งแต่พ่อแม่ ครู ไปจนถึงนักพัฒนาแพลตฟอร์มและนโยบายรัฐ

ด้วยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา กฎหมาย และสื่อใหม่ รายการ Protect Me Please จึงลงลึกถึงหลายมิติ ทั้งจิตวิทยาการเลี้ยงดู การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว กฎหมายแรงงานเด็ก และบทบาทของรัฐในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล เพราะการโพสต์รูปลูก ไม่ใช่แค่การเก็บความทรงจำ แต่มันเกี่ยวพันกับสิทธิ การคุ้มครอง และอนาคตของพวกเขา

ในยุคที่โซเชียลมีเดีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเลี้ยงลูก การโพสต์ภาพหรือเรื่องราวของเด็กโดยไม่ได้รับความยินยอมกลายเป็นประเด็นที่ควรตระหนักอย่างยิ่ง

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น

รายการ Protect Me Please ตอนแรก จึงหยิบยกประเด็น “การขอความยินยอมลูกก่อนโพสต์” มาพูดคุยผ่านมุมมองของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเน้นย้ำว่า สิทธิ คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมีตั้งแต่เกิด ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ถ้าอยากให้เด็กเติบโตอย่างปลอดภัยในโลกดิจิทัล การเคารพในสิทธิของเขาต้องเริ่มจากในบ้าน หากจุดประสงค์ของการถ่ายภาพลูกเป็นเพียงการเก็บความทรงจำ ก็ควรเก็บไว้ดูในครอบครัว มากกว่าการโพสต์สาธารณะ และหากเคยลงรูปไปแล้ว ก็ควรถามความรู้สึกของลูก หากลูกไม่สบายใจ ก็ต้องลบรูปนั้นออกทั้งหมด

“แต่คำถามคือ คุณลบได้จริงไหม ? เพราะภาพที่เคยแชร์มันแพร่ไปไกลจนกลายเป็น ร่องรอยทางดิจิทัล ที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายลูกเราเองในอนาคต”

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

รศ.นพ.สุริยเดว อธิบายว่า การให้ความสำคัญกับสิทธิของเด็ก ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนตัว แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางจิตใจในระยะยาว เมื่อเด็กได้รับการเคารพในสิทธิของตน พวกเขาย่อมเรียนรู้ที่จะเคารพตัวเอง เข้าใจความต้องการของตนเอง และเคารพความต้องการของผู้อื่นในอนาคตการขอความยินยอมจึงไม่ใช่เพียงแค่การ ขออนุญาต ก่อนโพสต์ภาพ แต่คือการปลูกฝังคุณค่าของคำว่า “สิทธิ” ให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้ว่าตนมีเสียง มีพื้นที่ และมีอำนาจในการปกป้องตัวเอง แม้ในพื้นที่ดิจิทัล

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง