ครูเอ็ม-ณเอก ภัชรวาณิชสกุล l สถาปนิกออกแบบภายใน (ห้องเรียน)
“โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็ก ๆ ก็ไม่ซุกซน เราทุกคนชอบไปโรงเรียน ชอบไป ชอบไป โรงเรียน”
เนื้อหาเพลงคุ้นหู ที่เมื่อหลายคนอ่านคงจะแอบเผลอร้องเป็นจังหวะอย่างคุ้นเคย เนื้อเพลงที่ชี้ชัดถึงความสุขของการได้ไปโรงเรียนของเด็ก ๆ หลายคนที่ชอบไปโรงเรียน แต่อีกฝั่งยังมีเด็กจํานวนหนึ่งปฏิเสธที่จะไปโรงเรียนเพราะโรงเรียนไม่น่าอยู่ หรือคุณครูไม่ได้ใจดีกับเขา ทำให้เห็นว่ามีเด็กหนีเรียน ขาดเรียนบ้าง
พฤติกรรมแบบนี้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมต่อต้านสังคม อาจเกิดจากตัวของเด็กรู้สึกไม่ชอบโรงเรียน ไม่ชอบห้องเรียน รู้สึกว่าไม่ใช่ที่ของเขา เขารู้สึกไม่ปลอดภัย แนวทางแก้ไขปัญหาที่ควรจะเป็นคือการทำให้โรงเรียนเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เขามีรู้สึกมีตัวตน กล้าแสดงออก ไม่รู้สึกแบ่งแยกหรือรู้สึกถูกด้อยค่า
ภณเอก ภัชรวาณิชสกุล หรือ ครูเอ็ม เริ่มต้นอธิบายหลังจากเราชวนสนทนาเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน พื้นที่ปลอดภัย ประโยคนี้ คล้ายกับว่าจะถูกพูดและใช้บ่อยมากในปัจจุบัน แล้วทำไมเราจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัย และพื้นที่ปลอดภัยสำคัญอย่างไรกับเด็ก หลายครั้งที่มีข่าวร้าย ๆ เกิดขึ้นในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นการกระโดดตึก การทะเลาะกันของเด็กนักเรียน การทำร้ายร่างกายเพื่อน หรือการทำร้ายร่างกายตัวเองเพราะถูกเพื่อนล้อเรียน ถูกคำพูดครูกดดัน เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า บางรายบาดเจ็บ แต่บางรายถึงขั้นเสียชีวิต
เพราะเมื่อไรที่ตัวเราเองรู้สึกปลอดภัย และไว้วางใจใครสักคน เราจะเป็นตัวเองได้เต็มที่ โอกาสนี้ The Active ชวนไปสำรวจการออกแบบพื้นที่ปลอดภัยจากคุณครูที่ทำงานกับเด็ก ๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดว่า การมีพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนจะต้องมีกระบวนการและแนวคิดอย่างไรบ้าง
ครูเอ็ม สอนวิชาภาษาไทย แนะเเนว และศิลปะ ที่โรงเรียนวัดบูรพาพิทยารามธรรมรัตน์ศึกษาประชาอุทิศ จังหวัดจันทบุรี โอ้ว นั่นคือหน้าที่ครูหนึ่งคนจริงหรือ? ปัญหาภาระของครูที่หนักอึ้งก็เป็นอีก 1 ประเด็นที่ยังถกเถียงกันในสังคม แต่ ณ ที่นี้ เราจะพาไปคุยอีกหนึ่งปัญหาคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน ซึ่งนอกจาก สอนหนังสือแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ของครูเอ็มคือการเป็น สถาปนิก ออกแบบภายใน(ห้องเรียน)
บทสนทนาเริ่มขึ้นด้วยการที่ครูเอ็มได้ฟังคำถามแล้วตอบกลับมาว่า “ขออนุญาตเล่าเรื่องตัวเองก่อนหน่อยหนึ่ง” นี่ไม่ใช่การร่ายให้เราเสียเวลาแต่คือจุดเริ่มต้นของ แรงบันดาลใจและการเกิดขึ้นของแนวคิดที่อยากจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย
“เมื่อก่อนเราเป็นเด็กหลังห้อง ไม่ได้เก่งอะไรและเราก็รู้สึกว่าเด็กที่ครูสนใจคือเด็กที่เรียนดี เด็กที่มีมารยาทดี เรียบร้อย เรียนเก่ง แต่เมื่อมองกลับมาที่เด็กธรรมดาอย่างเรากลับถูกคุณครูละเลย”
ครุเอ็มเล่าว่า เมื่อก่อนเขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมครูถึงละเลยเด็กเหล่านี้ไป แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ได้มาเป็นครูทำให้เขาเห็นได้ว่าการละเลยของครู เริ่มจากตัวเด็กไม่ได้มีอะไรตอบแทนให้ครู เพราะถ้าคุณใส่ใจเด็กที่เรียนดีกูก็อาจจะเลือกไปแข่งขันทางวิชาการและอาจจะได้เป็นผลงานและอาจจะได้มีรางวัลติดไม้ติดมือมา แต่ถ้ามองกลับกันเป็นเด็กที่รั้งท้ายหน่อย ถ้าเกิดครูใส่ใจก็อาจจะไม่ได้อะไรกลับมา
Author : นี่คือสถานการณ์ร่วมที่เด็กไทยจำนวนไม่น้อยถูกกระทำ รวมถึงตัวของผู้อ่านด้วยหรือไม่?
“ประสบการณ์ที่เลวร้ายกับคุณครูมีค่อนข้างเยอะเราเลยรู้สึกว่าโรงเรียนไม่น่าไป ห้องเรียนก็ไม่น่าไปหรือแม้กระทั่งเพื่อนในห้องเองก็ไม่ได้มีความรู้สึกทำให้เราอยากจะอยู่กับพวกเขา เพื่อนในห้องไม่ได้มีแรงจูงใจหรือตัวคุณครูเองไม่ได้สร้างแรงบวกให้กับเราในการไปโรงเรียนตอนนั้น”
Author : นี่ไงคือหนึ่งสาเหตุที่เราจับใจความได้ว่าเป็น 1 แรงผลัก
เรารู้สึกว่าไปโรงเรียนเพราะเป็นหน้าที่ ที่พ่อกับแม่ให้เราไปศึกษา เรารู้สึกแค่นั้นจริงๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราจะต้องได้เอามันไปใช้อะไรเพราะเราไม่ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญเราเริ่มจากการมองคุณครูคือเขาก็ไม่ได้น่ารักกับเราเรา รู้สึกว่าเราเป็นคนที่ถูกละเลย
ขณะที่ตอนนั้นพ่อและแม่ส่งเรียนโรงเรียนที่คิดว่าดี เท่าที่เขาจะส่งเราได้ อีกทั้งเมื่อก่อนเราก็ คิดว่าเราได้เรียนโรงเรียนที่ดีเราคิดว่าในโรงเรียนที่ดีจะต้องมีครู แต่ในโรงเรียนที่ดีก็ไม่ได้ตอบโจทย์เสมอไปว่าจะต้องมีครูที่ดี
ครูเอ็ม ยกสถานการณ์ตัวอย่าง โดยเล่าว่า สิ่งเลวร้ายที่สุดในตอนนั้นคือ ครูถามเราเป็นภาษาอังกฤษว่าพ่อทำงานอะไรในหัวคำศัพท์ของเด็ก ป.6 มันมีไม่กี่คำหรอก แล้วพอหันกลับมามองที่ครอบครัวเราเปิดร้านทำรถยนต์ พ่อทำทุกอย่างตั้งแต่ซ่อมเครื่องยนต์ยกรถยนต์ ทำช่วงล่าง ทำสี ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ว่าในมุมมองของเด็ก ป.6 จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่าอะไร
ที่บ้านบอกว่าเมื่อไม่รู้อะไรให้ถามครู ครูเองก็ชอบพูดเมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจให้ไปถามครู ขณะนั้นก็มีเพื่อนหลายคนไม่เอาทุกอาชีพพ่อตัวเองจริง ๆ แต่ก็เลือกที่จะตอบ โพลิสแมน โพสต์แมน เพื่อที่จะได้ผ่านช่วงเวลา ที่เป็นสูญญากาศตรงนั้นไป เพื่อให้ตัวเองรอด แต่สิ่งที่มันวนอยู่ในหัวเราคือถ้าไม่รู้ก็ให้ถามครู
“ผมเชื่อว่าในห้องเรียนถ้าเราไม่รู้เราก็ต้องมาเรียนเราอยากรู้เราก็ต้องเรียนต้องถามครู เราก็เลยยืนขึ้นเพื่อที่จะตอบครู เป็นภาษาอังกฤษว่า I don’t know คืออยากจะบอกครูว่าผมไม่รู้ครับ แต่มันเป็นคาบภาษาอังกฤษ ผมไม่แน่ใจ แต่เราก็ตอบคำนั้นออกไป ครูก็ไม่เข้าใจ สั่งให้ผมยืนขึ้น แล้วก็ให้เพื่อนชี้ประจานบอกว่าผมเป็นคนนิสัยก้าวร้าว เกเร”
นั่นคือคาบแรกแล้ว ก็สงสัยว่าอ้าวหรอเราอยู่ในโหมดก้าวร้าวไปแล้วหรอ แค่เราไม่รู้จักอาชีพพ่อตัวเอง ครูก็ลงโทษด้วยการให้ไปยืนหน้าชั้นเรียน จากตอนนั้นถึงตอนนี้ ความรู้สึกนั้นยังอยู่เลยนะครับ ต่อให้มันผ่านมานานแสนนาน เพราะมันเหมือนว่าครูได้ตอกปมเข้าไปในหัวใจของเด็กแล้วว่า “เธอมันแย่”
จนวันนึงเราเติบโตขึ้นและได้กลับมาเจอเขาอีกครั้งนึง ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งตอนนั้นเขาก็มีอายุมากขึ้นและผมเองก็ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ รู้แค่ว่าเราต้องเดินไปบอกเขา กับสิ่งที่เขาเองเคยทำกับเด็กคนหนึ่ง เราไม่รู้ว่าหลังจากที่เราจบออกไปแล้วครูคนนั้น ได้ทำแบบนี้กับเด็กคนไหนอีกหรือเปล่า
“สวัสดีครับคุณครู ครูจำผมได้ไหม?” นี่คือคำทักทายแรกของครูเอ็มที่เอ่ยขึ้นกับครู
ผมพยายามเล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้ง 10 ปีที่แล้วที่ผมถูกกระทำให้กับเขาฟัง และท้ายสุดครูเอ็มตัดสินใจบอกไป
“ว่าครูอย่าไปทำแบบนี้กับใครอีกเลยนะครับ”
ผมตัดสินใจบอกเช่นนั้นออกไปเพราะผมรู้สึกว่านั่นคือการตัดการเรียนรู้ หยุดการเรียนรู้ของเด็ก เพราะนั่นคือการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเด็ก ซึ่งขณะนั้นการเรียนรู้ของเด็กถูกกดจากครูไปแล้วมันจบแล้วมันค่อนข้างมีผลยาวนาน ครูเอ็มเล่า
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น
ครูเอ็มเล่า พอเราได้เข้าไปร่วมกระบวนการกับ ก่อการครู ทำให้ได้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น ได้เริ่มรู้จักคำว่าพื้นที่ปลอดภัย จริง ๆ ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เบสิก มากเพราะเด็ก ๆ ควรที่จะมีพื้นที่ปลอดภัย แต่พอเอาเข้าจริงมันกลับเป็นเรื่องที่ห่างไกลกับเด็กมาก
ที่ผ่านมา เราอยู่ในห้องเรียนที่ครูเป็นคนจัด โดยทำให้ตัวนักเรียนรู้สึกว่าเขาไม่เคยมีส่วนร่วมในห้องเรียน เพราะครูก็จัดเตรียมห้องไว้ อีกทั้งนั่นไม่ใช่การสร้างพื้นที่ปลอดภัย เรารู้สึกว่าการมีพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนหรือโรงเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญ
ตั้งแต่อบรมมาหรือเรียนมา พื้นที่ปลอดภัย เราไม่เคยทดลองให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ในห้องเรียน เปิดเรียนทุกครั้งครูต้องไปจัดห้องเรียนก่อน เราจะคุ้นกับห้องเรียนที่ครูจัดมาเสมอ ส่วนตัวครูเอ็มมองว่า ไม่เวิร์ก จากเสียงสะท้อนว่าไม่ชอบ ไม่อยากจะนั่งตรงนั้น ไม่อยากจะทำตรงนี้
แต่เมื่อมองกลับมาที่จุดประสงค์เราว่าเราอยากจะสร้างห้องเรียนปลอดภัย มันก็อาจจะต้องเริ่มจากการ “ฟัง” เรายังไม่ได้ฟังเสียงเด็ก ๆ เลยแล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าพวกเขาอยากจะทำอะไร แล้วทำอย่างไร ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าต้อง “ตั้งวงคุยกัน” เราอาจจะต้องยอมให้เวลากับมันหรือบางคนอาจจะมองว่าเป็นการเสียเวลาแต่ผมมองว่ามันดี
ก็ตั้งวงคุยกันแล้วร่วมกันคุยว่าอยากให้ห้องเรียนเป็นแบบไหน ห้องเรียนของเราควรจะเป็นอย่างไร คำถามนี้ก็จะถูกเขียนไว้บนกระดาน
คำตอบของเด็กก็จะฟุ้งหน่อยมีไฟเธคบ้าง เปิดเพลงตื้ดบ้าง อะไรแบบนี้ในความคิดของเขานั่นแหละซึ่ ผมก็ให้พื้นที่กับความคิดเขา แต่ก็ต้องอธิบายว่านั่นก็เป็นห้องเรียนในจินตนาการ แล้วถ้าเป็นห้องเรียนจริง ๆ ห้องเรียนของพวกเราอยากจะให้มันเป็นแบบไหนอยากจะออกแบบอย่างไร
จนสุดท้ายก็ได้คำตอบจากพวกเขาว่าถ้าอย่างนั้นเริ่มต้นเลยคือเราอยากจะมีห้องเรียนที่มันสะอาด เรื่องของโต๊ะเรียนก็คุยกัน ว่าอยากได้รูปแบบอย่างไร อยากได้โต๊ะเรียนที่มีลักษณะอย่างไร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเด็กก็จะคิดรูปแบบโต๊ะเรียนแบบแปลก ๆ ออกมา เช่นการนั่งเป็นกลุ่มอยากนั่งกับเพื่อนคนนี้ไม่อยากนั่งกับเพื่อนคนนี้ เราก็จะถามเขาว่าการนั่งด้วยกันอะไรคือสิ่งที่บ่งบอกว่ามันจะดีขึ้น
เราจะไม่ได้ให้เขาบอกเฉย ๆ แต่อาจจะถามข้อดี และไม่ดี ซึ่งเด็กผู้ชายก็จะชอบนั่งด้วยกัน เด็กผู้หญิงก็จะแย้งขึ้นมาว่าถ้าเกิดว่าเด็กชายคนที่หนึ่ง นั่งกับเด็กชายคนที่สอง เขาจะคุยกันเก่งมากเลยค่ะครู
แต่เด็กชายสองคนก็แย้งขึ้นมาว่า มันอาจจะดีก็ได้นะครับครู เพราะเวลาเราคุยกันเราคุยได้หลายเรื่อง
การตัดสินใจของครูเอ็มคือ ลองอย่างที่พวกเขาอยากจะทำ ให้พวกเขานั่งด้วยกันถ้าเกิดไม่ดีต้องเปลี่ยน และต้องยอมรับ เด็กก็โอเค อย่างน้อยก็มาเรียนอย่างมีความสุขแล้ว นั่นก็เพราะเขารู้สึกว่าเขามีความสุข ที่ได้ใช้ชีวิตด้วยกัน ในสิ่งที่เขาออกแบบเองเลือกเองเขาก็จะรู้สึกรักห้องเรียนมากขึ้น
เราจะใช้คำถามเพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสตอบ แต่ในห้องก็จะมีคนที่ไม่ตอบคนที่รู้สึกว่าไม่อยากจะตอบพระกลัวโดนด่า อาจจะเคยถูกตำหนิจากครูมา เวลาเราชวนเด็กคุยเราก็จะชวนเขาคิดอย่างเช่น การเลือกภาชนะในการใส่ของ ทำไมคนนึงเอาแก้ว ทำไมคนนึงเอาถ้วย เราก็จะได้เห็นแนวคิดของเขาว่าเหตุผลที่เขาเลือกภาชนะแต่ละอย่างมาใช้เพราะอะไร ทำให้เราเห็นถึงทัศนคติของเด็ก
ไม่ใช่เพียงแค่ห้องเรียน แต่เป็นโรงเรียนเดียวกันก็มีปัญหาให้แก้ นี่คือความท้าทาย ไม่เคยเบื่อเวลามีเด็กวิ่งมาเกาะแขนกับขาเพราะเรารู้สึกว่าพื้นฐานของเด็ก ประมาณร้อยละ 80 มีปัญหาครอบครัว พ่อแม่แยกทางกันอาจจะมีลูกตอนอายุยังน้อย เราก็รู้สึกว่าเขาต้องการครอบครัว ต้องการคนฟัง คนเข้าใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยในสภาวะจิตใจ เพราะตัวของครู เริ่มที่จะเปลี่ยนและรับฟังมากขึ้น กระบวนการเรียนรู้ก็เปลี่ยนทัศนคติของเด็กก็เปลี่ยน
การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ฉบับครูเอ็ม
หนึ่ง รับฟัง โดยครูต้องเปิดใจก่อน อย่าพึ่งตัดสินว่าเรื่องนี้จะถูกหรือจะผิด ต้องรับฟังก่อนฟังในทุก ๆ เรื่อง เรื่องไร้สาระก็ต้องฟัง เพราะมันอาจจะมีสาระสำหรับเขาก็ได้ เช่นวันนี้ข้างบ้านตบกันเด็กมาเล่า ก็ ‘ฟัง’ และชวนเขาวิเคราะห์ เห็นเค้าตบกันแล้วรู้สึกยังไงหยิบมาเป็นประเด็นแล้วทำโฮมรูมเลย
เด็กก็จะเล่าว่า สนุกมากเลยค่ะครู เขาตบกันหน้าหันเลย เล่าให้เราได้เห็นภาพ เราแค่ให้เด็กได้พูดและรับฟัง และพยายามสังเกตมีเด็กหลายคนที่ไม่อยากพูด หรือไม่ค่อยพูด ซึ่งมันจะทำให้เราเห็นได้เลยว่าเด็กกลุ่มนี้อาจจะต้องเข้าไปช่วย เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่าความคิดของเขาไม่มีใครฟังเขาหรอ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อยากตัวเราเองที่เป็นครูจุดชนวน หรือชวนเขาพูด เด็กเหล่านี้เขามีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย ที่ครูอย่างเราคาดไม่ถึง บางทีความคิดหรือความรู้สึกของเค้าอาจจะเป็นอีกแบบนึง อาจจะพูดแล้วความคิดไม่ตรงกับเพื่อนเขาก็ตัดสินใจว่าไม่พูดดีกว่า ฉะนั้นครูก็ต้องมีบทบาทเป็นผู้สังเกตด้วย
สอง เข้าใจ เรื่องเข้าใจนี้เป็นเรื่องที่ยากมากเพราะว่า ฟังที่ว่ายากแล้วเข้าใจยากกว่า เพราะครูบางคนมีอคติของตัวเอง ตัดสินไปแล้วทัศนคติของครู มันถูกตัดสินไปแล้วว่าเด็กคนนี้จะต้องเป็นแบบนี้จากข้อมูลพื้นฐานที่ได้ยินมาแบบนี้ ดาต้าเบสเก่า ๆ เช่น จากครูประจำชั้นเดิม ครูมีภาพลบในใจเขาพูดอะไรไป ครูก็จะตัดสินเรียบร้อยแล้วว่าเค้าเป็นเช่นนั้น
เช่น ถ้าของหายโทษใครก็ต้องโทษเขาก่อน ทั้งที่เค้าอาจจะไม่ได้เป็นคนขโมยหรือครูอาจจะไปลืมทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้
เรื่องเข้าใจมันเป็นเรื่องที่ยากอย่างเราจะให้คำปรึกษากับใครสักคน ชีวิตเด็กคนหนึ่งเราไม่สามารถที่จะเอาเรื่องของเค้ามาคุยให้จบได้ภายใน 1 นาที ครูอาจจะต้องใส่ใจและให้เวลามากกว่านั้น อาจจะคุยกับเด็กอย่างเดียวก็ไม่พออาจจะต้องมีคุยกับผู้ปกครอง พ่อและแม่ของเขาในเรื่องนั้นนั้นด้วย ครูเข้าใจคนเดียวไม่ได้บางทีก็ต้องสื่อสารให้ไปถึงที่บ้าน เพราะเด็กกับที่บ้านอาจจะคุยกันคนละภาษา แล้วมันอาจจะดีด้วยซ้ำถ้าเกิดเราที่เป็นครูอยู่ตรงกลาง
รับฟังเข้าใจแล้วอย่าพึ่งตัดสินเขา ถ้าเกิดครอบครัวมีปัญหาแล้วเราจะไปคาดหวังอะไรในตัวของเด็ก เราคาดหวังกับเขาไม่ได้ เพราะบางสิ่งบางอย่างเป็นวัฒนธรรมของเขามาแล้วเป็นสิ่งที่เขาคุ้นชินมาแล้ว สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่ดูเขาและแนะนำเขา
สาม ปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยอยู่อันดับสาม เพราะว่าปลอดภัยคือมันต้องปลอดภัยจริง ๆ และไม่ใช่เพียงแค่ว่าพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเท่านั้นโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครูตัวเองด้วย แต่ขณะที่หลายครั้งก็มักจะมีเรื่องที่โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับครูเหมือนกัน
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยจะต้องปลอดภัยและไว้ใจได้ด้วย เมื่อเด็กคนหนึ่งเลือกที่จะไว้ใจเรา บอกเรา คุยกับเรา และคิดว่าเราเป็นครูที่น่าจะเป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ เพราะบางทีเด็กบางคน ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ฉะนั้นหนึ่งพื้นที่ปลอดภัยที่เขารู้สึกว่าจะรับฟังเขาได้ก็อาจจะเป็นครู
สี่ เปลี่ยนแปลง สำหรับครูเอ็มแล้ว ตัวของครูจะต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน เริ่มเปลี่ยนจากกระบวนการคิดของผู้ที่รับบทครู จากคำคุ้นหูที่เมื่อนักเรียนพูดบางอย่างขึ้นมา การอาบน้ำร้อนมาก่อนมักจะถูกนำมาใช้ จากครูที่รู้ดี เป็นครูที่รู้แล้ว
ครูรู้แล้วว่าเราเป็นแบบนี้ ครูรู้แล้วว่าสิ่งนี้มันไม่ดี ส่วนอันไหนที่ครูไม่ดีก็ให้นักเรียนให้คะแนนครูหน่อย ครูรู้แล้วว่าที่บ้านมีปัญหา แม่อาจจะใช้งานเราดึกใช่ไหม เราก็จะบอกว่าไม่เป็นไรการบ้านเอาไปน้อย ๆ ก่อน คุยกับเด็กเป็นเคสไป ไม่ต้องให้เขาทำเท่าเพื่อนก็ได้ ให้เขาทำเท่าที่เค้าไหว เอาให้เขารอดและเขาได้ทำ เด็กก็จะรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา พอเราเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดเวลาที่เด็กมีปัญหาอะไรเค้าก็จะไว้ใจเราและมาปรึกษา เปลี่ยนที่ตัวเราเปลี่ยนที่ทัศนคติ ข้างในจิตใจ จากที่มองหลายเรื่องในแง่ลบก็เปลี่ยนมามองในแง่บวกเข้าใจว่าทุกอย่างสามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ เปลี่ยนที่ตัวของเราเด็กก็จะเปลี่ยนไปด้วยได้
“พอเด็กกล้าพูดและรักห้องเรียน สาระการเรียนรู้ที่เราสอนไปมันก็จะได้ตามมา ซึ่งปกติเราไม่ได้มองในสี่เรื่องนี้กันมากนัก เวลาสอนเราจะพูดแค่จุดประสงค์ข้อที่หนึ่ง บอกชื่อผลไม้ได้ ทั้งที่บางครั้งทั้งชีวิตของเด็กคนนั้นอาจจะไม่เคยเจอผลไม้ชนิดนั้นก็ได้ จุดประสงค์ให้เด็กบอกวิธีการทำประมงได้ทั้งที่ชีวิตเด็กคนนั้นทำสวน
การไม่ตัดสิน แต่บางทีแค่รับฟัง หลายเรื่องสามารถคลี่คลายได้ ตัวเด็กก็เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะเขากล้าที่จะเรียนรู้มากขึ้น เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงให้เกียรติและรักตัวเอง”
ครูเอ็ม กล่าวทิ้งท้ายว่าคนที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้คือตัวของคุณครู บางครั้งห้องเดิม สภาพแวดล้อมเดิม แค่เปลี่ยนครูก็อาจไม่ปลอดภัยแล้ว กระบวนการพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากตัวของครู ไม่เกิดการเข้าใจ หรือเห็นคุณค่าของพื้นที่ปลอดภัยมากพอ ถ้าหากครูไม่เปิดใจที่จะเข้าใจ ผู้เรียนของตัวเองมากพอพื้นที่ปลอดภัยจะไม่มีวันเกิดขึ้น เด็กเรียนในสภาพแวดล้อมเดิมแค่เปลี่ยนครูเด็กก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม
ป้ามล บ้านกาญจนา มักมีคำพูดหนึ่งให้กับเขาเสมอว่า เมื่อโรงเรียนหันหลังหรือปิดประตูใส่เด็ก คุกจะเปิดต้อนรับเด็ก การจะทำห้องเรียนที่ปลอดภัยหรืออาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มันไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ในห้องเรียนอาจจะหมายถึงทุกที่ที่มีครูคนนั้นไปอยู่ด้วย
เขาไม่ได้นิยามมันเป็นห้องเรียนอย่างตายตัวเพียง ห้องสี่เหลี่ยม แต่ห้องเรียนปลอดภัยแค่มันมีครูที่ปลอดภัย อยู่ตรงนั้น
เมื่อก่อนคำนิยามการนิยามห้องเรียนปลอดภัยมันแคบอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน แต่ความจริง กลับกลายเป็นว่าทุกที่ที่ครูคนนั้น เข้าใจว่าพื้นที่ปลอดภัยทุกที่ คือ ที่ปลอดภัย ต่อให้จะเป็นที่ไหนหรือแม้กระทั่งที่ไหนโรงพัก ก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน นั่นไม่ได้หมายถึงว่าพูดถึงเรื่องผิดกฎหมายแต่หมายถึงคำพูดของเขา หรือแม้กระทั่งเจตนาที่เราอยากจะช่วยเขาเพื่อที่จะทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นเราก็จะทำให้เขารู้สึกว่าเขามีพื้นที่
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยฉบับครูเอ็มไม่ใช่สูตรที่ตายตัว ชี้วัดว่า ทำแล้วผลจะออกมาดีทั้งหมด แต่เป็นอีกหนึ่งการทดลองและผลการทดลองออกมาว่าผลคือดี ทำให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัยซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจ และการเรียนรู้ ยิ่งในสภาวะที่สังคมมีการลื่นไหลของข้อมูลจำนวนมหาศาล ห้องเรียนไร้ขีดจำกัด ไร้ขอบเขตมากกว่า ห้องสี่เหลี่ยม การสร้างพื้นที่รองรับสภาวะจิตใจของเด็ก ให้เขาได้มีพื้นที่พูด พื้นที่แสดงความคิดเห็น การสร้างพื้นที่ปลอดภัย อาจเป็นหนึ่งช่องที่ที่ช่วยรับแรงกระแทกจากแรงกระทบ ในสังคมเช่นนี้