Save อโยธยา: “HIA” การประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก

ครั้งแรกในไทย กับ Heritage Impact Assessment
ชี้ชะตาโครงการรถไฟความเร็วสูง กับเมืองเก่าอโยธยา 

ปี 2570 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า เราอาจได้นั่งรถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่จุดที่กำลังมีปัญหา คือ ช่วงที่ผ่าน “เขตเมืองเก่าอโยธยา” ภาพจำลองทำให้เห็นว่าถ้ารถไฟความเร็วสูงผ่านจุดที่เป็นโบราณสถานจะเป็นอย่างไร บางคนมองว่าเป็นความสวยงามที่คู่ไปกับการพัฒนา แต่บางคนมีความห่วงกังวลมากกว่า

เวลานี้หลายฝ่ายกำลังกังวลว่าการก่อสร้างจะกระทบคุณค่าความเป็น “มรดกโลก” ของเมืองอยุธยาหรือไม่ จึงเกิดการทำ รายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA)​ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งหลายคนยังสับสนกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA)​  

อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันว่า จะเดินหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านในจุดเดิม โดยระบุว่าผ่านการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งกฎหมายไทยไม่ได้กำหนดให้โครงการฯ ต้องทำรายงาน HIA ดังกล่าว

การประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก HIA ครั้งแรกในไทย 

“สถานีอยุธยา” มีระยะทางห่างจากขอบเขตแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งศูนย์มรดกโลกมีหนังสือเมื่อเดือนกันยายนปี 2563 ผ่านสถานเอกราชทูตไทย ณ กรุงปารีส มายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงาน UNESCO กรุงเทพฯ แจ้งให้ประเทศไทยรายงาน HIA​

ขั้นตอนการทำ HIA จะมีกระบวนการที่พิจารณากันภายในประเทศไทย และกระบวนการพิจารณาในต่างประเทศที่ศูนย์มรดกโลก หากกล่าวเฉพาะขั้นตอนภายในประเทศ มี สผ. เป็นผู้พิจารณา และจะไปสิ้นสุดที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ก่อนส่งรายงานต่อให้ศูนย์มรดกโลก

กำพล บุญชม

กำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. บอกว่า​ จะลดขนาดอาคารสถานีอยุธยาให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม และยังคงอนุรักษ์อาคารสถานีอยุธยาหลังเก่าเอาไว้เช่นเดิม แต่ยืนยันไม่ย้ายสถานที่ตั้งสถานีไปยังที่อื่นตามที่กรมศิลปากรเสนอมา 

ก่อนหน้านี้ กรมศิลปากร เสนอสร้างอุโมงค์รถไฟลอดผ่านพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา แต่ รฟท. ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากใช้งบประมาณสูง เป็นที่ลุ่มต่ำท่วมถึง ต้องสร้างทางยกระดับเท่านั้น และหากจะให้ย้ายสถานีรถไฟออกไปอยู่ติดถนนสายเอเชียก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดินอีกเป็นจำนวนมาก 

ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือให้ทำรายงานการประเมินผลกระทบ HIA ซึ่งต้องถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รฟท. ก็ได้มีการดำเนินงานร่วมกับกรมศิลปากรว่าจ้างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ทำรายงานการประเมินผลกระทบ ซึ่งรายงานดังกล่าวจะถูกส่งให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก พิจารณา ก่อนจะส่งรายงานฉบับนี้ไปยังศูนย์มรดกโลก​ 

อย่างไรก็ตาม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษฯ ที่ดูแลโครงการก่อสร้างนี้โดยตรง เน้นย้ำว่าจะก่อสร้างตามแนวทางเดิมต่อไป เนื่องจากได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และได้รับการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 ขณะที่รายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ HIA กฎหมายไทยไม่กำหนดให้ต้องทำ

เวลานี้จึงถือว่า รฟท. มีความชอบธรรมที่จะก่อสร้างโครงการอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยจะลงนามในสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นเดือน ก.ค. 2566 และตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ในปี 2570

“โครงการคงหยุดไม่ได้ เพราะว่าเป็นเป้าประสงค์สำคัญของประเทศที่ต้องทำให้สำเร็จ เราออกแบบสัญญาไว้ว่าตัวสถานีเราอาจจะยังไม่สร้างจนกว่าจะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม แต่ตัวของทางวิ่ง (ราง) ถ้าไม่มีทางวิ่ง รถไฟก็วิ่งไม่ได้ เราจึงจะสร้างทางวิ่งให้เดินรถให้ได้ก่อน สถานีอาจจะไว้ทีหลังได้”

กำพล บุญชม

รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษฯ ยังบอกอีกว่า เมื่อถึงเวลาก่อสร้างจริง จะดำเนินงานร่วมกับนักโบราณคดีในระหว่างการขุดวางเสาตอหม้อ เพื่อที่จะรักษาหลักฐานทางโบราณคดีให้ได้มากที่สุด​ ส่วนในอนาคตการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ TOD (Transit Oriented Development) จะพัฒนาให้สอดคล้องกับความเป็นเมืองเก่า ไม่มีการสร้างตึกสูง หรืออสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างขนาดใหญ่เหมือนที่หลายฝ่ายกังวล

“ประเมินแล้วมองว่าด้วยปัจจัยนี้ (โครงการรถไฟความเร็วสูง) ไม่ได้รุนแรงจนขนาดที่ต้องถอนอยุธยาออกจากมรดกโลก จริง ๆ มีเหตุอื่นที่รุนแรงกว่านี้อีกเยอะ” 

กำพล บุญชม

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน มีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ประกอบด้วย 6 สถานีได้แก่ สถานีบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา

“อโยธยา” เป็นองค์ประกอบหนึ่งของมรดกโลก ?

กรมศิลปากรให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เมืองเก่าอโยธยาที่รถไฟความเร็วสูงจะวิ่งผ่ากลางว่าเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ได้ข้อมูลจนเป็นที่ยุติ แต่โดยภาพรวมเชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะย้ายข้ามแม่น้ำป่าสักมา

หลักฐานเมืองอโยธยา มีวัดรุ่นเก่าหลงเหลืออยู่ ลักษณะเป็นเมืองริมแม่น้ำป่าสักด้านล่าง คือ วัดใหญ่ชัยมงคล “เมืองอโยธยา” ถือว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่อง ที่กรมศิลปากรมีแผนแม่บทในการพัฒนา

สถาพร เที่ยงธรรม

สถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร บอกว่าถ้าดูตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน สิ่งที่เป็นโบราณสถาน คือ สถานีรถไฟอยุธยา นอกนั้นมีซากโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้น การขุดเพื่อวางตอหม้อเพื่อสร้างทางวิ่งรถไฟความเร็วสูง อาจทำให้พบซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ อย่างหนาแน่น คงต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน 

หากดูจากแผนปฏิบัติการการอนุรักษ์ และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กำหนด 7 พื้นที่ แต่เน้นโซน 1 คือ พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ 1,810 ไร่ และโซน 2 คือพื้นที่ในเกาะเมืองนอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ศูนย์มรดกโลกแนะนำให้กรมศิลปากร ขยายพื้นที่ออกมาครอบคลุมทั้งเกาะเมือง จึงพยายามกำหนดโบราณสถานขยายออกเป็นจุด ๆ เช่น พระราชวังจันทร์เกษม ป้อมเพชร วังหลัง ท้ายที่สุดก็จะเต็มทั้งเกาะเมือง 

“แหล่งโบราณสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนได้ ปัจจุบันเกาะเมืองควบคุมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน การปลูกสร้างอาคารต้องไม่บดบัง ในการขยายพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ออกมา ยอมรับว่ายุ่งยาก เพราะจะมีกฎเกณฑ์ของศูนย์มรดกโลกคุ้มครองดูแล พึงต้องปฏิบัติตาม”​

สถาพร เที่ยงธรรม

ส่วนพื้นโซน 3-6 ก็มีโบราณสถานกระจายอยู่ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของมรดกโลก เช่น วัดไชยวัฒนาราม อยู่นอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์ แต่อยู่ในพื้นที่โซน 4 ส่วนกลุ่มวัดที่อยู่ในเมืองอโยธยา ก็เป็นกลุ่มเป้าหมายในการอนุรักษ์​อยู่ในพื้นที่ โซน 3 

รองอธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า ตามเกณฑ์ของแหล่งมรดกโลกถ้าจะมีการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่หรือใกล้เคียง ก็กำหนดว่าต้องทำ HIA ที่จะกระทบต่อแหล่งมรดกโลก ศูนย์มรดกโลกก็สั่งผ่านสถานทูตมายังประเทศไทย 

หลักการของการเป็นมรดกโลกอยุธยา ต้องคงไว้ซึ่งการแสดงถึงความรุ่งเรืองของนคร ความเป็นอารยธรรมช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของสมัยอยุธยา รองอธิบดีกรมศิลปากรบอกว่า “เราต้องรักษาองค์ประกอบต่าง ๆ ของความเป็นนครประวัติศาสตร์ให้คงอยู่มากที่สุด” เพราะมีทั้งเรื่องของโบราณสถานต่าง ๆ คลองคูเมือง ผังเมือง ระบบชลประทานเดิม หากรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่ได้ครบถ้วน จะส่งผลให้ศูนย์มรดกโลกเตือนว่ามีคุณค่าที่ถูกลดทอนลงไป หากไม่สามารถดำเนินการตามแนวทาง ก็จะเตือนว่าอยู่ในบัญชีเสี่ยง ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขได้ ท้ายที่สุดก็จะถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลก

รถไฟความเร็วสูงจุดกระแสรักอยุธยา ที่หายไปนาน 

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี และรักษาการรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้จัดทำรายงาน HIA ฉบับแรกในไทย บอกถึงขอบเขตของการศึกษา HIA การประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทัศนียภาพ ด้านกายภาพ และด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้ง เสนอทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสม พร้อมกำหนดแนวทางและมาตรการลดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกอยุธยาและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาโครงการและการคงอยู่ของทรัพย์สินทางวัฒนธรรม 

“ประเมินออกมามีทั้งบวกและลบ เรื่องของทัศนียภาพบางจุด เรื่องของแรงสั่นสะเทือน ต้องลดขนาดสถานี ขณะที่ผลกระทบทางบวก คือ เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ยังไม่ไฟนอล สิ่งสำคัญคือรัฐบาลเอง จะมองว่าคุ้มหรือไม่คุ้มที่สร้าง” 

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว
ผศ.ชวลิต ขาวเขียว

HIA เป็นเหมือนเป็นไม้บรรทัดไว้ขีดว่าต้องระวัง ตระหนักว่าสิ่งที่ก่อสร้างจะไปกระทบอะไรบ้าง ซึ่งในคณะผู้จัดทำรายงานมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งโบราณคดี อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตย์ วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมราง มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ศิลปะ และผู้เชี่ยวชาญมรดกโลกจากต่างประเทศ  

ด้วยความละเอียดอ่อนของพื้นที่ อยู่ระหว่างตกผลึกกับผู้เชี่ยวชาญ เมื่อทำรายงานเสร็จแล้วจะส่งไปยัง สผ. และสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites หรือ ICOMOS) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพทางมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล ที่จะมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของ UNESCO มีการแก้ไข รายงานส่งไป ส่งกลับให้มีความสมเหตุสมผลมากที่สุด บางแห่งใช้เวลาเป็นปีในการปรับแก้รายงาน 

ผศ.ชวลิต มองว่า เมืองอโยธยาเป็นเมืองซ้อนเมือง คือเมืองล่มสลาย และมีคนเข้ามาอยู่และพัฒนา ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบบการจัดการ ทั้ง รฟท. กรมศิลป์ หน่วยท้องถิ่น ผังเมือง ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ถ้าจะรักษาความเป็นอยุธยาไว้ ถึงแม้จะย้ายทางวิ่งรถไฟความเร็วสูงออกไปได้ แต่ไม่อนุรักษ์ดูแล ก็เป็นเหมือนเดิม 

“ผมเข้าไปศึกษาแล้วเห็นปัญหาว่า เดิมก็ไม่มีการอนุรักษ์อย่างจริงจัง เพราะกรมศิลป์ ก็ได้รับงบประมาณน้อย ปล่อยให้รุกล้ำผุพัง ไปเรื่อย ๆ“ 

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว

ผู้จัดทำรายงาน HIA ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงจะผ่านหรือไม่ ก็ควรจริงจังกับการอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่าอโยธยา หลังรถไฟความเร็วสูง เป็นตัวกระตุ้นเกิดให้ความรัก ความหวงแหนอยุธยาขึ้นมาแล้ว ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน

อ่านซีรีส์ชุด Save อโยธยา ตอนอื่น ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์