“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนจะต้องอยู่ได้ก่อน เพราะว่าคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไร เขาไม่มีอำนาจ คนเหล่านี้อยู่กับธรรมชาติ ผมคิดว่าป่าจะอยู่หรือจะไป อยู่กับคนกลุ่มนี้ด้วย”
คือประโยคที่ สืบ นาคะเสถียร เคยพูดไว้เมื่อตอนยังมีชีวิต สะท้อนถึงแนวคิดการอนุรักษ์ของ ‘สืบ’ ที่มองว่านอกจากเจ้าหน้าที่แล้ว ‘ชาวบ้าน’ และ ‘ชุมชน’ คือกำลังสำคัญในการรักษาผืนป่าใหญ่ และสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน
‘ห้วยขาแข้ง’ บ้านของสัตว์ป่า
เสียงปืน และการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ 1 กันยายน 2533 ส่งผลสั่นสะเทือนผู้คนในสังคม ให้หันมาตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่เนื้อหาจากรายงานเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของห้วยขาแข้ง ที่ สืบ ทุ่มเทเขียนเพื่อนำเสนอต่อ ยูเนสโก (UNESCO) ส่งผลให้ปีถัดมา ผืนป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ก็ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย
ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี วันนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เนื้อที่กว่า 1 ล้าน 7 แสนไร่ ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เป็นแหล่งศึกษาและอนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลก และด้วยการทำงานอย่างจริงจัง ก็ทำให้พบสัตว์ป่าหลายชนิดเพิ่มประชากรมากขึ้น และกระจายตัวไปสู่ผืนป่าข้างเคียง
เมื่อสัตว์ป่าไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ ใน 3 จังหวัด แม้ว่าภายในไปเขตป่าห้วยขาแข้งจะไม่มีชุมชนตั้งอยู่ แต่รอบแนวเขตอนุรักษ์ ก็เป็นที่ตั้งของชุมชนจำนวนมาก แค่เฉพาะตำบลระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่ถือเป็นปากทางของห้วยขาแข้ง ก็มีถึง 11 หมู่บ้าน ที่มีพื้นที่ติดกับผืนป่ามรดกโลก
ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากเกษตรกรรม เมื่อแปลงเกษตรตั้งอยู่ชายป่า ก็เลี่ยงไม่ได้ที่บางครั้งจะมีสัตว์ป่าออกมาใช้พื้นที่และหาอาหาร จนพืชผลทางการเกษตรเสียหาย กลายเป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างชาวบ้าน สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่
“แม้ที่ผ่านมาจะมีเจ้าหน้าที่คอยลาดตระเวนผลักดันสัตว์กลับเข้าป่า แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เมื่อผลผลิตของชาวบ้านเสียหายก็ทำให้พวกเขามองสัตว์ป่าเป็นศัตรู ในขณะที่ผลประโยชน์อื่น ๆ จากการอนุรักษ์และการเพิ่มจำนวนขึ้นของสัตว์ป่า ชาวบ้านก็จับต้องไม่ได้”
เสียงสะท้อน ที่ชาวบ้านในพื้นที่เคยมีต่อสัตว์ป่า
ปรับแนวคิด สู่ประโยชน์ที่จับต้องได้
เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายปี มีการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนาแนวทางอนุรักษ์ควบคู่กับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของคนในชุมชนให้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด นำไปสู่การหาทางออก ด้วยแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสัตว์ป่า เพื่อการคุ้มครองประชากรสัตว์ป่าและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน
เกิดเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ” ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 โดยชาวบ้านปรับตัวและใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
จาก 11 หมู่บ้านรอบห้วยขาแข้ง ปัจจุบันมี 7 หมู่บ้านเข้าร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจ มีสมาชิกรวมกันมากกว่า 100 คน โดยกลุ่มวิสาหกิจแบ่งเป็น 9 กลุ่มย่อย เพื่อดูแลกิจกรรมท่องเที่ยวในแต่ละด้าน คือ
– กลุ่มรถนำเที่ยว
⁃ กลุ่มเรือนำเที่ยว
⁃ กลุ่มผู้นำเที่ยวชุมชน
⁃ กลุ่มหอชมธรรมชาติ (บ้านต้นไม้)
⁃ กลุ่มบ้านพักชุมชนและลานกางเต็นท์
⁃ กลุ่มอาหาร
⁃ กลุ่มศูนย์เรียนรู้
⁃ กลุ่มเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
⁃ กลุ่มเส้นทางจักรยาน
8 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มวิสาหกิจฯ มีรายได้รวมกันมากกว่า 1 แสนบาท ซึ่งกระจายไปยังชาวบ้านในชุมชน ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป โดยแบ่ง 5% ของรายได้ เป็นค่าบริหารจัดการของกลุ่มวิสาหกิจฯ
คนจน กับการปกป้องเพชรเม็ดงาม
แม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกัน ว่าการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยปกป้อง ป่าและชีวิตสัตว์ป่า และมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ เพื่อส่งเสริมการจัดการพื้นที่กันชนมรดกโลกฯ ที่มีทั้งหน่วยราชการ หน่วยงานทางวิชาการ ท้องถิ่น และชุมชนร่วมลงนาม แต่สำหรับชุมชนแล้ว พวกเขามองว่า ยังมีหลายเรื่องที่ไม่ชัดเจน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนมากกว่านี้ รวมถึงเรื่องกฎระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ ที่อาจส่งผลต่อการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน
“ตอนนี้ชาวบ้านรอบห้วยขาแข้ง คือคนที่ใส่เสื้อผ้าขาด ๆ นุ่งผ้าขาวม้า แต่ต้องคอยดูแลป่าห้วยขาแข้งที่เปรียบเหมือนเพชรเม็ดงาม จะทำยังไงให้ชาวบ้านที่ต้องปกป้องเพชรเม็ดงามเม็ดนี้ สามารถยกระดับอาจจะเปลี่ยนไปใส่เสื้อเชิ้ตได้หรือไม่”
บุญเลิศ เทียนช้าง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ เปรียบเปรยถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ชุมชนก็ยังจัดการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังขาดองค์ความรู้ที่จะช่วยสนับสนุน เช่น ความรู้เรื่องป่าและสัตว์ป่า สำหรับผู้นำเที่ยวชุมชน หากพัฒนาตรงนี้ได้ และชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พี่น้องเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นอาวุธสำคัญของหน่วยงานอนุรักษ์
อนุรักษ์-ท่องเที่ยว จุดสมดุลอยู่ตรงไหน
เพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เล่าว่า ในสมัยที่ สืบ นาคะเสถียร ทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ มองว่าชาวบ้านและชุมชนรอบเขตป่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในการใช้ทรัพยากร ก็พยายามสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด เพราะแนวคิดการอนุรักษ์คือการใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด การเปิดโอกาสให้ชุมชนใช้การท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อสร้างรายได้ก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ก็ต้องพูดคุยว่าจุดที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน
“การแก้ปัญหาสัตว์ออกนอกพื้นที่ ปัจจุบันมีชุดผลักดันช้าง ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน แต่เพื่อให้ทั้งคน และสัตว์ปลอดภัย ก็ต้องทำงานคู่ขนานกันไป เรื่องการท่องเที่ยวอะไรส่งเสริมได้ก็ส่งเสริม แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังต้องมี”
ขณะที่ วีรยา โอชะกุล ซึ่งคุ้นเคยกับพื้นที่มรดกโลกและผืนป่าตะวันตก เพราะเคยเป็นทั้งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ปัจจุบัน ดำรงดำแหน่ง ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ก็มองว่า กิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นวิธีการลดความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านรอบขอบป่ากับสัตว์ป่า
โดยอธิบายว่าในอดีตพื้นที่รอบขอบป่าของผืนป่าตะวันตกจะไม่ค่อยพบเห็นสัตว์ป่าได้ง่ายมากนัก แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่สัตว์ป่าจะขยายพื้นที่ออกมานอกป่า จนทำให้พบเห็นสัตว์ป่าได้ง่ายมากขึ้น ด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามดึงสัตว์ให้กลับเข้าป่า เช่นการเพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลา
“เห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์ของชุมชน เพราะหากบอกว่าประโยชน์จากป่าไม้ คือ น้ำ และอากาศ มันเป็นสิ่งที่ชุมชนจับต้องไม่ได้ แต่การจัดการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนมองเห็นประโยชน์ที่พวกเขาจับต้องได้ แต่ก็ต้องมีการทำแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ว่าแบบไหนถึงจะได้ประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจของชุมชน และการปกป้องคุ้มครองป่า และสัตว์ป่า”
ต้นแบบที่ต้องเดินต่อ
ก่อนถึงวันรำลึกครบรอบสืบ นาคะเสถียร ปีนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (PAC) ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ มีนัดหมายกัน ที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ปากทางเข้าห้วยขาแข้ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ พร้อมลงพื้นที่สำรวจเส้นทางส่องสัตว์ หรือที่เรียกว่า เกมไดร์ฟ
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ค่อย ๆ พาผู้โดยสารลัดเลาะเข้าไปตามถนนดิน และเมื่อรถวิ่งพ้นแนวป่าทืบ ก็เผยให้เห็นภาพของทุ่งหญ้าริมอ่างเก็บน้ำทับเสลา จุดนี้สามารถพบเห็นสัตว์ป่าได้หลากหลายชนิด เช่น เช่น ฝูงละมั่ง เนื้อทราย นกยูงพันธุ์ไทย รวมถึงเจ้าช้างยักษ์ใหญ่ของผืนป่า
ภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสัตว์ป่า ที่อยู่ไม่ห่างจากกิจกรรมของชาวบ้านและชุมชน ก็พอจะบอกเราได้ว่า สำหรับสัตว์ป่าแล้วพื้นที่ตรงนี้ปลอดภัยเพียงพอ
แต่เดิมบริเวณนี้เคยถูกใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ของชาวบ้าน แต่เพื่อป้องกันปัญหาระหว่างสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า รวมถึงโรคติดต่อระหว่างสัตว์ มีการให้ชาวบ้านอพยพสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่ และปลูกหญ้าทดแทนเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า
ระหว่างเส้นทางเรายังสามารถพบเห็นร่องรอยของสัตว์ป่า รวมถึงกล้องดักถ่าย ที่ติดไว้เพื่อเก็บข้อมูลสัตว์ป่า ที่บ่งบอกว่า พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งอยู่รอบพื้นที่มรดกโลกก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า
ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า สถานการณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และผืนป่าตะวันตกในปัจจุบัน สัตว์ป่า เริ่มขยายแนวเขตออกมาด้านนอกพื้นที่อนุรักษ์ เข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสร้างผลกระทบกับชุมชนที่อยู่แนวขอบของพื้นที่ หากปล่อยไว้ ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับสัตว์ป่าอาจรุนแรงมากขึ้น อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับผืนป่าตะวันออก แต่ยังถือว่าโชคดี ที่ป่าตะวันตกมีการทำงานกับชุมชนมายาวนาน หากวางแผนดี ทำให้มีมาตรการรองรับ
แต่ต้องย้ำว่า การจัดการและดูแลสัตว์ป่ามีหลายมิติ ท่องเที่ยวเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ซึ่งตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ เป็นตัวอย่างที่ดี แต่ก็กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ต้องค่อย ๆ พัฒนา และแก้ปัญหาร่วมกัน
ผ่านมาแล้ว 2 ปี ของการเริ่มต้นการท่องเที่ยวสัตว์ป่า รอบพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง แม้จะยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ชาวบ้านก็มองเห็นแล้วว่า ประโยชน์ของสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ที่พวกเขาจับต้องได้คืออะไร หลังจากนี้ก็คือการเดินหน้าต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ เครื่องมือที่เรียกว่าการท่องเที่ยว ช่วยอนุรักษ์และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างที่หวัง เพชรเม็ดงามที่ชื่อมรดกโลกห้วยขาแข้ง ก็จะมีกำแพงที่แข็งแรง เป็นชาวบ้านและชุมชนที่อยู่รอบผืนป่าช่วยปกป้องดูแล