‘มรดกโลก’ แต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ควรได้รับคือการดูแลรักษาให้คงอยู่
สังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่อง โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางผ่านพระนครศรีอยุธยา ที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มรดกโลกสำคัญของไทย บ่อยครั้ง เกิดการโต้เถียงกันผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งประเด็นการพัฒนาที่ลดคุณค่าการอนุรักษ์ การอนุรักษ์ที่ถ่วงความเจริญ รวมไปถึงการเปรียบเทียบมรดกโลกของไทยกับต่างประเทศว่า ทำไมในต่างประเทศถึงมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ แม้อยู่ใกล้กับมรดกโลก
ปัญหาและคำถามเหล่านี้คงยังไม่หมดไปจากสังคมไทยเสียทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่อยากชวนร่วมทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘มรดกโลก’ คือ เงื่อนไขของการจะถูกรองรับเป็นมรดกโลก และการทำความเข้าใจกรณีอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากับมรดกโลกอื่น ๆ ถึงลักษณะและโครงสร้าง ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร หากเราต้องการให้การพัฒนาอยู่คู่กับการอนุรักษ์ได้
The Active ชวนเปิดเงื่อนไข ทำความเข้าใจ “มรดกโลก” ให้มากขึ้น และทำความเข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ผ่านมุมมองของ รศ.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์สังคม เมื่อรถไฟความเร็วสูงกำลังทำหน้าที่นำพาความเจริญ
ข้อกังวลและการถกเถียงที่ยังไม่สิ้นสุด
รศ.ประมวล ให้ความเห็นว่าประเด็นที่เป็นข้อกังวลของประชาชนทั่วไปนั้น อาจระบุได้ 3 ข้อ คือ
- การก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมจะส่งผลกระทบต่อกายภาพของโบราณสถานต่าง ๆ ภายในพื้นที่มรดกโลกหรือไม่
- โครงสร้างทางวิศวกรรมที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับทางยกระดับที่ค่อนข้างสูง จะกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างแปลกปลอมใกล้เคียงกับพื้นที่มรดกโลกจนกระทบกับเงื่อนไขการได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกหรือไม่
- ประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลก เป็นคนละประเด็นกับตำแหน่งของสถานีอยุธยาและเขตทางของการรถไฟอยู่ในพื้นที่ของ “เมืองอโยธยาโบราณ” ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสักในปัจจุบัน จึงทำให้กลุ่มนักโบราณคดีเกิดข้อกังวลในการอนุรักษ์พื้นที่ส่วนนี้ไว้ เพราะสำคัญต่อการศึกษาพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในอนาคต
“โดยกรณีพื้นที่มรดกโลกนั้น จะอยู่ในเกาะอยุธยาฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ส่วนอโยธยาเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางขวาของแม่น้ำ ที่หลายคนเถียงกัน ต้องแยกเรื่องอยุธยากับอโยธยา ออกจากกัน”
รศ.ประมวล สุธีจารุวัฒน
การทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่เมืองโบราณกับที่ตั้งสถานีอยุธยาก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดความสับสนของตำแหน่งมรดกโลกว่าถูกกระทบหรือบดบังมากน้อยเพียงใด
เข้าใจการเป็น ‘มรดกโลก’ มากพอหรือยัง
เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกว่าการที่ประเทศได้ถูกรับเลือกให้มีมรดกโลกนั้นสำคัญมากแค่ไหน เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่าประเทศของเรามีความโดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม แต่กว่าจะได้รับรองขึ้นเป็นมรดกโลก ต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของ ‘UNESCO’ ซึ่งแต่ละสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็มีข้อเสนอเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป โดยเกณฑ์การคัดเลือกมีอยู่ 10 ข้อ และการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต้องตรงตามเกณฑ์อย่างน้อย 1 ข้อ นอกจากนี้ มรดกโลกก็แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ‘ด้านศิลปวัฒนธรรม’ กับ ‘ด้านธรรมชาติ’
ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านธรรมชาติ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กลุ่มป่าแก่งกระจาน ขณะที่มรดกโลกซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม ประเพณี เมืองเก่า อาคารเก่า เหล่านี้ อยู่ในด้านศิลปวัฒนธรรม
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกทั้ง 10 ข้อ มีระดับความเข้มข้นในความเป็นวัฒนธรรมหรือการเป็นธรรมชาติต่างกัน ดังนั้น เวลาเสนอหรือขอยื่นสถานะการเป็นมรดกโลกประเทศนั้น ๆ ต้องเลือกว่าอยากจะเข้าตามเกณฑ์ไหน หรือถ้าคิดว่ามากกว่า 1 ข้อ ก็เสนอได้มากกว่า 1 ข้อ คือ
1. ผลงานชิ้นเอกที่แสดงถึงการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติในด้านศิลปกรรม
2. เป็นการแลกเปลี่ยนที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ทางวัฒนธรรมใดใดของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือด้านเทคโนโลยี ด้านอนุสรณ์ศิลป์ ไปจนถึงการวางผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ต่าง ๆ
3. เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลงานหรือหลักฐานที่มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวกับอารยธรรมที่มีอยู่หรือเคยมีอยู่และหายไปแล้ว
4. เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นด้านสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม หรือ การผสมผสานทางเทคโนยี หรืองานภูมิทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
5. เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากผืนดืนหรือผืนทะเล ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมหรือการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพื้นที่ตรงนั้นมีความเสี่ยงภายใต้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจย้อนกลับได้
6. มีความเชื่อมโยงโดยตรงหรือมีความเป็นรูปธรรมต่อเหตุการณ์หรือประเพณีที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต ความคิด ความเชื่อ มีความเกี่ยวข้องกับศิลปะและงานวรรณกรรมที่มีความสลักสำคัญในระดับสากล (คณะกรรมการเห็นว่าเกณฑ์นี้ควรใช้ควบคู่กับเกณฑ์อื่น ๆ )
7. เป็นแหล่งที่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว หรือเป็นพื้นที่ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติและมีคุณค่าทางด้านสุนทรียศาสตร์
8. เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นซึ่งแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาสำคัญของลักษณะทางธรณีวิทยา ไม่ว่าจะเป็นบันทึกร่องรอยการใช้ชีวิต ลักษณะสำคัญทางด้านธรณีวิทยาที่แสดงถึงการก่อตัวของผืนดินหรือลักษณะภูมิประเทศ รวมไปถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือสรีรวิทยาที่มีความสำคัญ
9. เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยา ในด้านวิวัฒนาการและการพัฒนาของระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศบนบก ระบบนิเวศน้ำจืดระบบนิเวศชายฝั่งและท้องทะเล รวมไปถึงชุมชนของพืชและสัตว์
10. เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุมคามและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณค่าในระดับสากลในมุมของวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์
สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เสนอในเกณฑ์ข้อที่ 3 แสดงถึงการมีอยู่ในอดีตของศิลปะไทยโบราณ เป็นหลักฐานที่มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งก็ต้องครอบคลุมไปถึงเรื่องพื้นที่และทัศนียภาพของอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงนำมาสู่ข้อห่วงใยว่าหากเป็นสิ่งก่อสร้างที่มาบดบังทัศนียภาพก็มีความเสี่ยงที่อาจจะถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก
มรดกโลกเหมือนกัน แต่เกณฑ์การขึ้นทะเบียน ไม่เหมือนกัน
รศ.ประมวล ยกตัวอย่างโดยการนำพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไปเปรียบเทียบกับมรดกโลกในต่างประเทศอย่าง “วัดโฮริวจิของญี่ปุ่น” ซึ่งขึ้นทะเบียน “เฉพาะตัวอาคาร” ต่างจากที่อยุธยาที่ขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่”
“ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้หรือถกเถียงกัน ต้องไปดูที่เกณฑ์ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก”
วัดโฮริวจิ จังหวัดนาระ ประเทศญี่ปุ่น เป็นอนุสรณ์สถานทางพุทธศาสนา มีอยู่ประมาณ 48 แห่ง บางหลังมีอายุย้อนไปถึงปลายศตวรรษที่ 7 หรือต้นศตวรรษที่ 8 นับเป็นอาคารไม้ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ยังหลงเหลืออยู่ สถาปัตยกรรมไม้ชิ้นเอกเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก ไม่เพียงแต่สำหรับประวัติศาสตร์ศิลปะเท่านั้น ยังแสดงให้เห็นการปรับตัวของสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาแบบจีนและการจัดวางให้เข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมถึงประวัติศาสตร์ศาสนาด้วย เนื่องจากการก่อสร้างเหล่านี้ใกล้เคียงกับช่วงที่มีการนำพระพุทธศาสนาจากจีนเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นผ่านคาบสมุทรเกาหลี
โดยวัดโฮริวจิตรงตามเกณฑ์ของการเป็นมรดกโลกในข้อ 1. อนุสาวรีย์ทางพุทธศาสนาในพื้นที่โฮริวจิเป็นผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมไม้ และแสดงถึงฝีมือของมนุษย์ 2. สิ่งเหล่านี้เป็นอนุสรณ์สถานทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น แสดงให้เห็นคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลานั้น ในแง่การออกแบบพื้นที่ เทคโนโลยีการสร้าง 4. เป็นอนุสาวรีย์ทางพุทธศาสนาของมนุษยชาติที่มีความโดดเด่น และ 6. แสดงถึงการปรับตัวของสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาของจีนและแผนผังของวัด ให้เข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมถึงการพัฒนารูปแบบของชาวพื้นเมือง ส่งผลให้มีความโดดเด่นในเวลาต่อมา
ในกรณีของวัดโฮริวจิ หากลักษณะของตัวอาคารถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อการเป็นมรดกโลก ซึ่งต่างจากกรณีอยุธยา เนื่องจากวัดโฮริวจิต้องอนุรักษ์ตัวอาคารให้คงอยู่เท่านั้น แม้จะมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ แต่หากไม่กระทบต่อรูปทรงอาคารก็ไม่เกิดปัญหา
การที่คนในสังคมจะถกเถียงกันก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่การจะหาทางออกร่วมกันนั้น เราอาจจะต้องถอยกลับมาทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ของการเป็นมรดกโลกเสียก่อน
ยุติการถกเถียง สู่การผลักดันมรดกโลกในประเทศ
การที่ในประเทศมี ‘มรดกโลก’ อยู่ ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ประเทศได้รับการยอมรับว่ามีอารยธรรมที่คนทั้งโลกควรรักษาไว้ แต่เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว คนในสังคมควรทำอย่างไรให้การถูกยอมรับนี้ไม่สูญเปล่า
รศ.ประมวล ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขามองว่ายังไม่มีรัฐบาลไหนช่วยดึงศักยภาพของการเป็นมรดกโลกออกมาใช้ได้จริง ๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ไม่เพียงแค่ฝั่งรัฐบาลเท่านั้นที่ต้องช่วยกันผลักดันคุณค่าของมรดกโลกในประเทศ แต่รวมไปถึงประชาชนก็ต้องเห็นว่าการมีมรดกโลกในพื้นที่ของตนนั้นสำคัญแค่ไหน แม้ปัญหาที่สำคัญที่สุดของสังคมไทยยังคงเป็นเรื่องของปากท้องและเศรษฐกิจ แต่ทำอย่างไรที่เราจะปรับให้เศรษฐกิจกับมรดกโลกให้ผนึกรวมกันได้
เขาเสนอทิศทางที่มองว่าอาจช่วยให้สังคมไทยสามารถดึงศักยภาพของมรดกโลกที่มีในพื้นที่ออกมา โดยแบ่งเป็น 2 ทิศทาง คือ
- รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายนำ หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของการเป็นมรดกโลก จะต้องใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึง soft power ถ้านำมาประยุกต์กับพื้นที่มรดกโลกได้ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย
- ถ้าคนในพื้นที่มีความเข้าใจความสำคัญของมรดกโลก สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องผลักดันคือความเป็นอยุธยา หรือคนในชุมชนต้องหากิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเผยแพร่ให้ชาวโลกได้เห็น เช่น พัฒนาเป็นสินค้า หรือสิ่งที่คิดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา
รศ.ประมวล คิดว่า หาก 2 ทิศทางสามารถผนึกกันได้ พื้นที่มรดกโลกก็จะเป็นได้มากกว่าที่เป็นอยู่
“เราจะสร้างคุณค่าใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เดินทางมาเสพความเป็นอยุธยา”
ความเห็นของ รศ.ประมวล เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ว่า อยากเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่กระทบต่อพื้นที่มรดกโลก
“คุณจะละทิ้งสถานที่ที่มีป้ายมรดกโลก เพราะคุณอยากได้รถไฟความเร็วสูง แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกที่ที่จะได้เป็นมรดกโลก”
การมีป้ายยืนยันว่าสถานที่แห่งนั้นเป็นมรดกโลก ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า ซึ่งในบางประเทศที่ยอมถูกถอดถอนออกจากการเป็นมรดกโลกก็ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักว่าให้ความสำคัญกับสิ่งไหนมากกว่ากัน ซึ่งแต่ละกรณีก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ในกรณีของอยุธยาคงต้องเวลาในการทำความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่ คนนอกพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาบทสรุปของสถานการณ์นี้
อ้างอิง
- UNESCO World Heritage Centre – The Criteria for Selection
- Buddhist Monuments in the Horyu-ji Area – UNESCO World Heritage Centre
- Historic City of Ayutthaya – UNESCO World Heritage Centre