‘วิทยาศาสตร์’ ยังคงรักมนุษย์ แม้ในวันที่มนุษย์ ไม่รู้จักตัวเอง

“ล่าสุด คุณได้มีบทสนทนาซึ่งเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เมื่อไร ?” อาจจะเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือบางคนอาจนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่ารูปแบบของบทสนทนาที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร และด้วยคำตอบในใจเหล่านั้น มันจึงไม่ผิดนักหากเราจะมอง ‘วิทยาศาสตร์’ เป็นเรื่องไกลตัว

ยิ่งถ้าเราอาศัยอยู่ในเมืองหรือสังคมที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยพลังวิทยาศาสตร์เป็นฐานคิด การให้พูดเรื่องวิทย์ ๆ ยาก ๆ ให้เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

“แต่เพราะมันดูเป็นเรื่องไกลตัว เราจึงยิ่งต้องพูดถึงมันให้มากขึ้น” The Active มีโอกาสสนทนากับ นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ หรือ ‘หมอกิ๊ก’ แพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในงาน ‘Wit in Bangkok’ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งสิ้นสุดลง

“ความรู้อาจจะไม่ได้พาเขาไปไหน
แต่ถ้าเขามีความรัก เขาจะเป็นใครก็ได้”

นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

‘หมอกิ๊ก’ ชวนทำความเข้าใจถึงเรื่องวิทย์ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นคือ ‘สมอง’ ที่เปรียบได้ดั่งก้อนฟองเต้าหู้ยัดสารสื่อประสาท มันใช้พลังงานเทียบเท่ากับไฟตู้เย็นเท่านั้น แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้มนุษย์มีชีวิตรอด

อย่างไรก็ตาม สมองก็เหมือนกับมนุษย์ มันไม่ได้เกิดมาแล้วเก่งเลย ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ทุกวันนี้โลกกลับหมุนเร็วมากขึ้น เร็วเสียจนนิวรอน** ในสมองวิ่งตามไม่ทัน จึงไม่แปลกนักที่สมองของเราจะเหนื่อยล้าอยู่เสมอ

แม้เราพูดกับสมองไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์เข้าใจตัวเองมากขึ้นได้ และการเข้าใจวิทยาศาสตร์ คือการเรียนรู้วิธีที่จะรักตัวเองให้มากขึ้น อย่างน้อยก็มี สมอง ที่ยังคงรักและหาวิธีการทำให้มนุษย์มีชีวิตรอดในทุกวัน

บทความชิ้นนี้จึงชวนสำรวจสมอง มองเมืองในมุมประสาทวิทยา พร้อมหาคำตอบว่าเมืองที่ถูกคิดและสร้างบนฐาน วิทยาศาสตร์ จะมีหน้าตาอย่างไรกัน มันอาจจะไม่มีคำตอบตายตัว แต่สิ่งสำคัญคือการได้ลองตั้งสมมติฐานบนฐานคิดที่ว่า “วิทยาศาสตร์คือคำตอบของสังคม”

นิยามตัวเองเป็น ‘นักวิทยาศาสตร์’ สาขาใด และเรื่องที่ว่ามันคืออะไร ?

หลัก ๆ แล้วคือ Cognitive Neuroscience เราใช้สัญญาณสมองทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ เป็นการศึกษา เข้าใจกระบวนการการทำงานสมองของคนปกติเลยด้วยซ้ำ ไม่เหมือนกับจิตแพทย์ที่จะเน้นไปที่การใช้เวชบำบัดรักษาผู้ป่วย 

“ศาสตร์นี้มีขอบเขตค่อนข้างกว้าง โดยคนที่เราทำงานด้วย แน่นอนว่ามีนักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักภาษาศาสตร์ สถาปนิก นักฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์​ ตลอดจนนักปรัชญา ฯลฯ ทำให้ศาสตร์นี้มีความเป็นสหวิทยาการ เพราะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ตั้งคำถามว่าสมองของเราทำงานอย่างไร แยกขาดจากร่างกายเราหรือไม่ ขนาดตอนไปเรียนต่างประเทศ ผมต้องถอดหมวกของการเป็นหมอออกไปเลย และผนวกเอาความรู้ทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เข้ามา เราต้องอาศัยความรู้จากหลายมิติเพื่อทำความเข้าใจจิตใต้สำนึกของมนุษย์

นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ 
หมอกิ๊ก – นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

เราจะรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สมองไปทำไม ?

หมอกิ๊ก ยอมรับว่า ศาสตร์ที่เรียนนับว่ามีความเป็นศาสตร์วิทยาศาสตร์พื้นฐานพอสมควร ซึ่งอาจจะมองเห็นไม่ชัดว่านำไปสู่อะไร แต่ขอยกตัวอย่างประโยชน์ที่เกิดขึ้น เช่น 

  1. ปลดล็อกขีดจำกัด AI: วิทยาการ AI เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีมานานมากแล้ว เพียงแต่ AI สมัยก่อนทำงานและเรียนรู้แบบ ‘Rule-based‘ เช่น ถ้าจะให้หุ่นยนต์ไปจ่ายตลาด มนุษย์ต้องกำหนดทิศทางให้มัน หุ่นยนต์ไม่อาจเรียนรู้เส้นทางเองได้ 

    ต่อมานักวิทยาศาสตร์จึงได้พยายามออกแบบระบบประสาทเทียมที่ลอกมาจากสมองมนุษย์ แต่ยังไม่สำเร็จดีนัก ก็ถูกสั่งห้ามให้ศึกษาเรื่องนี้ เพราะถูกมองว่าทำไปก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่ในยุคปัจจุบัน เรามี Hardware กำลังสูง ประกอบกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ผนวกเข้ากับแนวคิด ‘Artificial Neural Network‘ ทำให้วิทยาการ AI มีประสิทธิภาพอย่างก้าวกระโดด คือ สร้างสรรค์ วิเคราะห์ข้อมูลได้คล้ายคลึงกับระบบสมองมนุษย์

  2. ปลดล็อกขีดจำกัดร่างกายมนุษย์: การศึกษาสัญญาณสมองทำให้เราเข้าใจความหมายของสัญญาณสมองในแต่ละบริเวณ นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือเพื่อทดแทนร่างกายมนุษย์ เช่น ผู้ป่วยมีปัญหาที่ไขสันหลัง ซึ่งเปรียบเสมือนสายไฟขนาดใหญ่ที่วิ่งจากสมองแล้วส่งเซลล์ประสาทไปควบคุมทั่วร่างกาย เมื่อสายไฟขนาดใหญ่ถูกทำลายก็หมายความว่าคำสั่งจากสมองไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ เขาก็จะมีภาวะเหมือนเป็นอัมพาต ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น

    สิ่งที่เราทำได้ คือ ‘ฟัง’ เราใช้เครื่องมือเข้าไปอ่านสัญญาณสมองในส่วนที่ควบคุมร่างกาย และเขาสามารถนำสัญญาณสมองส่งเข้าเครื่องมือ เช่น แขนเทียม ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ เราเรียกวิทยาการนี้ว่า ‘Brain-computer interface’
Brain Computer Interface: Nicolas Ferrando, Lois Lammerhuber
  1. ทำความเข้าใจและรักษาความเป็นมนุษย์: บางคนบอกว่า จริง ๆ มนุษย์เราไม่รู้ความต้องการของตัวเองด้วยซ้ำ คำตอบเป็นแบบหนึ่ง แต่ลึก ๆ ในใจคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราอาจไปอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง ดูการเปลี่ยนแปลงของสมอง อาจจะทำความเข้าใจคนนั้นได้มากขึ้น นี่ก็เป็นศาสตร์ที่เรียกว่า ‘Neuro-marketing’

    ถ้าทางการแพทย์ อาจมีคนไข้ที่ไม่สามารถตอบสนองได้ เราไม่มีทางรู้ว่าคนไข้ที่ตอบสนองไม่ได้ มีคนอยู่ในนั้นหรือเปล่า ? มีความเข้าใจอย่างนั้นหรือเปล่า ? เราเข้าไปดูสัญญาณสมอง พยายามจะคุยกับเขา ปรากฏว่า การทำงานของสมองเขาเปลี่ยนแปลงในแบบเดียวกับคนปกติ เราก็บอกได้ว่าในร่างมนุษย์นี้ ยังมีคนอยู่ในนั้น เขาก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นคืนได้

  2. ศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อความคิดมนุษย์: ทำในมุมของภาษาศาสตร์ ศึกษาได้ว่าแต่ละภาษามีฐานร่วมกันหรือเปล่า แต่ละภาษา Shape ความคิดของคนในชาตินั้นอย่างไร เช่น คนเอเชียเมื่อพบกันจะมีการประมวลข้อมูลเรื่องความอาวุโส เพราะมีสรรพนามที่บ่งถึงลำดับขั้นที่แตกต่างกัน อย่างภาษาไทยก็มีสรรพนามบุรุษที่ 1 (แทนผู้พูด) มากกว่า 20 คำ นัยยะความหมายของสรรพนามได้เข้าไป Encode สมอง ทำให้สมองของคนเอเชีย ไวต่อความอาวุโส มากกว่าคนยุโรป

    ขณะที่ไวยากรณ์ตะวันตก เน้นย้ำว่าประโยคต้องมีประธานมารองรับ ต้องมีผู้กระทำ อย่างประโยค ‘แจกันแตก’ คนไทยหรือคนญี่ปุ่นสามารถพูดได้โดยไม่ต้องมีประธาน แต่คนยุโรปต้องมีประธานรองรับ เพราะฉะนั้น แนวคิดการรับผิดชอบในการกระทำก็จะค่อนข้างเข้มข้นกว่าเอเชีย เป็นต้น

สมองไปเกี่ยวกับเมืองได้ยังไง ?

หมอกิ๊ก ยอมรับ เราอาจมองไม่เห็นว่าสมองไปเกี่ยวข้องอะไรกับเมือง ศึกษาสมองก็สมองใครสมองมัน แต่จริง  ๆ แล้ว การทำงานของสมองเกี่ยวข้องกับคนรอบข้าง หรือที่เรียกว่า Social Psychology หรือ Social Neuroscience และยังเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหรือสิ่งของที่เรียกว่า Embodied cognition หมายความว่า การอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันก็จะทำให้เกิดการทำงานสมองที่แตกต่างกัน เพราะว่าสมองของเราถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องมือที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากสิ่งรอบตัว ไม่ใช่ว่าเราเกิดมาแล้วมีสมองที่พร้อมใช้งานและคงสภาพนั้นไปตลอดชีวิต 

“การเรียนรู้ของสมองเราไม่ใช่แค่เรียนรู้แค่เลข หรือตัวหนังสือ แต่ยังพยายามเข้าใจถึงความเป็นไปรอบตัวว่า ‘อ๋อ พื้นแบบนี้มันเดินได้นะ’ ‘พื้นแบบนี้เดินลำบากกว่านะ’ ‘ท้องฟ้ามันเกิดอะไรได้บ้าง’ ‘ทำยังไงให้เรามีชีวิตรอด’ เป็นต้น นั่นหมายความว่า สมองก้อนเดียวกัน เมื่อไปวางอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เกิดการทำงานสมองที่แตกต่างกัน

นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ 

ถ้าเราอยู่ในเมืองที่ไม่เอื้อให้สมองเติบโตได้ดีนัก
แปลว่า…คนในเมืองมีการเรียนรู้ที่แย่ลงใช่ไหม ? 

ต้องบอกว่า ‘สมองถูก shape ให้เหมาะกับเมือง’ อย่างเมืองที่บีบให้คนต้องเอาตัวรอดอยู่เสมอ สมองจะถูกบีบให้เรียนรู้และปรับตัว ทำให้สมองต้องใช้พลังงานในการปรับตัวตามมาด้วย ก็เหมือนต้องฝืนตัวเองทำเรื่องยากอยู่ตลอดเวลา สมองก็จะล้า นำมาสู่ปัญหาเรื่องโรคทางสมอง หรือโรคทางจิตได้เช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น ทหารผ่านศึกก็จะมีภาวะหวาดผวาอยู่ตลอด สิ่งของที่ดูเหมือนไม่อันตราย เขาก็จะมองเป็นของอันตราย เวลาเขานอนอยู่เฉย ๆ ก็จะสะดุ้งตื่นเหมือนต้องระแวดระวัง เหมือนกับสถานการณ์มันทำร้ายเขาเลย แต่มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าเขาไม่ผวา ไม่มีภาวะวิตกกังวล โอกาสที่อันตรายจะเกิดต่อตัวเขามันสูงมาก ภัยอันตรายคาดเดาไม่ได้ สมองจึงต้องหวาดผวาไว้ก่อน เพราะการหวาดผวาย่อมจะเดาถูกได้มากกว่า 

Bucha. Faces of War. – Ukraine War Photo Exhibition 2023; Alex Kent

พอเขากลับมาในเมืองที่เป็นปกติ เขากลับกลายเป็นคนป่วย เพราะว่าในเมืองที่ปกติสุข เขาไม่จำเป็นต้องหวาดผวา เราก็ไปมองว่าเขาเป็นคนที่มีภาวะเจ็บป่วยหรือเรียกว่า Post-traumatic Stress Disorder (PTSD) จริง ๆ สมองพยายามปรับตัวกลับแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ยิ่งถ้าเครียดมันก็ยิ่งติดทนนานจนเอาไม่ออกก็มี เห็นชัดเลยว่าสมองก้อนเดียวกัน อยู่ต่างที่ มันก็หนังคนละม้วน 

กลับมาที่บ้านเรา เมืองอาจจะไม่ถึงขนาดเป็นสงคราม อาจจะไม่ใช่สงครามทางกายภาพที่ต้องหยิบปืนมายิงกัน แต่สังคมที่ต้องเอาตัวรอด หรือมีการแข่งขันสูงจะเปรียบเทียบว่ามันเป็นสงครามก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง ดังนั้นทั้งความวิตกกังวล ความเครียดที่ก่อตัวในคนรุ่นนี้ ก็เป็นผลพวงมาจากเมืองได้เช่นกัน 

“คนชอบพูดกันมากว่า ‘ทำไมคนเราเดี๋ยวนี้มีโรคทางใจเยอะ’ ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่แค่เหตุผลว่า ‘เพราะคนรุ่นนี้มันเปราะบาง’ เพียงอย่างเดียว เราลองจินตนาการว่า สิ่งแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมออนไลน์ที่มีข้อมูลมหาศาล ทั้งให้คุณค่าและไม่ให้คุณค่า ด้วยแวดล้อมเช่นนี้ จะไม่ให้คนมันเครียดได้อย่างไร ฉะนั้น โรคสมองกับเมืองจึงเกี่ยวข้องกันด้วยประการนี้”

นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ 

แปลว่าสังคมเมือง ‘หมุนเร็ว’ เกินกว่าที่สมองมนุษย์จะปรับตัวได้ทันใช่ไหม ?

เรื่องของค่านิยมและวัฒนธรรมก็เรื่องหนึ่ง แต่มีอีกเรื่องหนึ่งคือ เมืองก็ไม่เอาคนออกไป เมืองมีปัญหามลภาวะที่ทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น ทั้งแสง เสียง ฝุ่นควัน สิ่งเร้ารบกวน ฯลฯ คนในเมืองจึงเผชิญทั้งปัญหาทางสังคม และปัญหากายภาพของเมืองโดยตรง ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ ก่อให้เกิดการทำงานของสมองที่แย่ลง ส่งผลต่อโรคทางสมองในระยะยาว สังเกตว่า เดี๋ยวนี้คนบ่นกันมากว่า ‘สมาธิสั้น’ ‘ความจำสั้น’ มันอาจมาจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ, การทำงานแบบ multitasking หรือ ทุกอย่างที่กล่าวมาบดขยี้รวมกัน ?

หมอกิ๊ก เลยชวนย้อนเวลากลับไปสมัยก่อน จะเห็นว่ามนุษย์วิวัฒนาการตามสิ่งแวดล้อมมาเรื่อย ๆ ซึ่งใช้เวลานานมาก แต่ทุกวันนี้ สิ่งแวดล้อมรอบตัววิวัฒน์ไปอย่างก้าวกระโดด มันเร็วเป็นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับความสามารถของมนุษย์ที่จะเติบโตได้ทัน ทำให้มนุษย์อาจอยู่ในภาวะที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสปีชีส์ของเรา

ในเมื่อสมองเราตามโลกไม่ทัน แล้วที่ผ่านมามนุษย์เราเอาตัวรอดกันอย่างไร ?

“จริง ๆ เราไม่ควรต้องไปตามมันนะ ผมว่า อย่างเรื่อง Productivity ที่พยายามบอกว่าเราต้องใช้ 24 ชั่วโมงให้เต็มที่ คือมันก็ทำได้นะ แต่ว่าเราจะอยากทำมันไหม ?” 

เป็นคำตอบที่หมอกิ๊ก เชื่อว่า เทคโนโลยีอาจจะอนุญาตให้เราทำงานได้มาก ๆ เพราะมีเครื่องมือเต็มไปหมด แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง อาจจะต้องยอมรับว่า เราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มี Productivity ทุกวินาที พอพูดแล้วก็เหมือนด้อยค่าความสามารถ แต่มนุษย์เราควรตระหนักรู้ถึงขีดความสามารถของร่างกาย สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ การรู้เท่าทัน รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เกินกำลังของเรา 

อาจมีจุดตรงกลางที่พอดี ทำไม่เยอะ ไม่น้อยเกินไป ทำในสิ่งที่มีความหมาย ทำในสิ่งที่เราเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ทำด้วยความรัก ทำด้วยความรู้สึก แค่ได้ทำก็โอเคไม่ต้องไปขยี้ บีบคั้น ตัวเองอะไรนัก 

ทักษะการรับรู้ตัวเอง (Self-Perception) คือ ทักษะสำคัญของยุคนี้ ? 

ใช่ หมอกิ๊ก ยืนยัน เพราะมนุษย์เราต้องเลือก สมองเราแบกรับข้อมูลมหาศาล มีทั้งภาพและเสียง ทั้งกลิ่นและสัมผัส ทั้งอารมณ์และเหตุผล ในทุกวินาทีมีข้อมูลใส่สมองก็น่าจะหลาย Gigabyte แต่มนุษย์เราไม่ได้ประมวลทั้งหมด เพราะสมองรู้ตัวเองว่ามีขีดจำกัด การทำงานของสมองใช้ไฟเท่ากับหลอดไฟในตู้เย็น Hardware ของเราเป็นแค่เซลล์สมองต่อกันเหมือนฟองเต้าหู้ เพราะฉะนั้นสมองเราก็เลือกอยู่แล้ว เขาเลือกประมวลในสิ่งที่เข้ากับเป้าหมายของเขา ซึ่งหลัก ๆ คือ การเอาชีวิตรอด

“ชีวิตเรามันก็อาจจะต้องเลือกเหมือนกัน เราต้องกรองเอาเฉพาะสิ่งที่เราสนใจ เราไม่สามารถประมวลผลทุกอย่างได้”

นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

ถ้าพัฒนา ‘กรุงเทพฯ’ โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน เมืองจะไปได้ไกลกว่านี้ ?

วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการสร้างสังคม ว่ากันตามประวัติศาสตร์ของนครในอดีต สังคมใดที่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น หรือเจริญขึ้น เราจะเห็นว่าวิทยาศาสตร์มักเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนา แต่มากไปกว่านั้น ประเทศเหล่านั้นมีการพูดถึงวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง มีการจัดงบประมาณในการพัฒนาโดยเฉพาะ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าวิทยาศาสตร์ประยุกต์ไม่สำคัญ แต่ทุกครั้งที่โลกมีนวัตกรรมซึ่งเปลี่ยนสังคมอย่างก้าวกระโดด ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นฐานมาจากวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่พูดถึงอย่างเดียว หรือมีงบประมาณจัดสรรให้ สิ่งที่สำคัญคือการที่สังคมให้ความสำคัญกับคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ อย่างกิจกรรมในวันนี้ (Wit In Town) ลองหันไปมองรอบ ๆ จะพบว่าช่วงอายุของคนที่มาเข้าร่วมก็คือเด็กและเยาวชน

“ผมคิดว่านี่คือความพยายามที่จะยิงเป้าในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ การสร้างเยาวชนที่มีความรักในวิทยาศาสตร์มากกว่ามีความรู้ เพราะว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ความรู้อาจจะไม่ได้พาเขาไปไหน แต่ถ้าเขามีความรัก เขาจะเป็นใครก็ได้”

นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

อย่าลืมว่า สังคมต่างประเทศเขามีกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนรักในวิทยาศาสตร์ เขามีพิพิธภัณฑ์ เขาเปิดให้เด็ก ๆ ได้เข้าร่วม ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจ และนำไปต่อยอดเป็นแรงบันดาลใจของพวกเขา วิทยาศาสตร์เขาอยู่ยืนยงได้ เพราะสังคมมีพื้นที่ให้วิทยาศาสตร์ยังเป็นวาระสำคัญ 

ถ้าเกิดคุณมีความรักในบางสิ่ง แต่อยู่ในที่ที่ไม่มีสิ่งที่ตัวเองรักอยู่เลย คุณก็จะอยู่ไม่ได้ สุดท้ายคนที่มีความรัก ก็จะพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่อนุญาตให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขารัก เมล็ดพันธุ์ที่ดีจะเติบโตได้ เราต้องช่วยกันเตรียมดินและปุ๋ย ให้น้ำและแสงแดด เช่นนั้นวิทยาศาสตร์ก็จะเติบโตได้ ตัวผมเองก็หวังว่ามันจะเกิดขึ้นเช่นกัน”

นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ ฝากทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง