การสอนวิชาประวัติศาสตร์กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ มีแผนจะเพิ่มหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ – หน้าที่พลเมือง – จริยธรรม โดยหวังให้เด็กไทยมี ความรักชาติและภาคภูมิใจในความเป็นไทย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วิชาสังคมศึกษากลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของภาครัฐในการหล่อหลอมความคิดของพลเมือง และมันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะอดีตที่ผ่านมา เราจะพบความพยายามของกลุ่มอำนาจนำในการแย่งชิง “ความหมาย” ของตำราเรียนวิชาสังคมศึกษาอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และคำสั่งปรับโครงสร้างวิชาเรียนปี พ.ศ. 2552 ก็ได้กำหนดให้เด็กไทยต้องเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ที่ถูกแยกนับหน่วยกิตต่างหากออกมาจากวิชาหลักอยู่แล้ว มุ่งเน้นให้เด็กเข้าใจความเป็นมาของชาติไทย มีความรัก ความภูมิใจและธำรงความเป็นไทย (ตามมาตรฐาน ส 4.3) กล่าวคือ การศึกษาไทยเราเน้นให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ และสอนให้เด็กรักชาติมาร่วม 2 ทศวรรษแล้ว
หลักสูตรสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้เด็กรักชาติมาโดยตลอด แต่การบังคับให้เรียนเช่นนี้จะทำให้เด็กคนหนึ่ง “รักชาติ” ขึ้นมาได้จริงหรือไม่? เอาอะไรมาวัด? การศึกษาจำเป็นต้องสอนให้เด็กรักชาติใช่หรือไม่? รักแค่ไหนถึงจะพอ? และถ้าเลือกไม่รักชาติได้หรือไม่?
คำถามเหล่านี้จะมีคำตอบ หรือคนตอบไหม อาจไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ว่า ในห้องเรียนวิชาสังคมศึกษาฯ เราได้อนุญาตให้คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นได้หรือยัง?
เพราะสังคมศึกษาฯ นั้นไม่ได้ไร้เดียงสาอย่างที่ใครเข้าใจ แล้วเด็กไทยจะพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกได้อย่างไร ในวันที่ตำรายังอยู่กับความเป็นไทย The Active ชวนผู้อ่านย้อนประวัติศาสตร์แห่งวิชาประวัติศาสตร์ ตั้งคำถามต่อนิยาม “ความเป็นไทย” และค้นหา “ความเป็นไป” ของวิชาสังคมฯ ไปกับครูสอนวิชาสังคมศึกษาและวิทยากรด้านการเรียนรู้เชิงสืบเสาะ
ย้อนประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ และความพยายามให้รักชาติ
เมื่อปี พ.ศ. 2503 วิชาสังคมศึกษาฯ ได้ปรากฏในหลักสูตรการศึกษาไทยอย่างเป็นทางการและเป็นสากล หลังจากที่คณะราษฎรได้ประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 เพื่อผลิตพลเมืองที่พร้อมต่อการพาประเทศสู่โลกอุตสาหกรรมใหม่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งประกาศใช้ในปีต่อมา (พ.ศ. 2504) ในสมัยนั้น วิชาประวัติศาสตร์ถูกแยกสอนจากสาระวิชาอื่นใน “หมวดสังคมศึกษา” เพื่อให้สอดรับกับนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการสร้างชาติไทยให้แข็งแรง และให้คนไทยภาคภูมิใจในบ้านเกิด
ภายหลังสงครามเย็น กระแสชาตินิยมเริ่มเบาบางลง แทนที่ด้วยการตื่นตัวของกระแสเสรีนิยม ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และรัฐมีนโยบายรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2521 วิชาประวัติศาสตร์ถูกลดบทบาทลง ถูกสอนในเชิงบูรณาการ เกิดเป็นวิชา “ประเทศของเรา” “เพื่อนบ้านของเรา” และ “โลกของเรา” โดยหวังสร้างคนไทยพร้อมเป็นพลเมืองโลก
แต่แล้วในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจไทยเสียหายหนักจากวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยหมายเหตุการศึกษาไทย ของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ระบุใจความว่า “เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยไม่ได้ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ทำให้คนไทยขาดความภูมิใจในชาติ ขาดจิตสำนึกร่วมกัน จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด” พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปีพ.ศ. 2542 จึงถือกำเนิด และกำหนดให้วิชาประวัติศาสตร์มุ่งสอนให้คนไทยมีความภาคภูมิใจและธำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย
จนถึงยุคปัจจุบัน วิชาประวัติศาสตร์ถูกจัดเป็น 1 ใน 5 สาระวิชาสังคมศึกษา แต่ถูกสอนเพิ่มอีก 1 คาบเรียนและคิดหน่วยกิตแยกเฉพาะ (วิชาประวัติศาสตร์มี 1 หน่วยกิต และวิชาสังคมอื่น ๆ 4 สาระเรียนรวมกันอีก 3 หน่วยกิต ในชั้นเรียน ม.ปลาย) ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นเป็นสำคัญ นี่ยังไม่นับการบังคับให้ท่องค่านิยม 12 ประการทุกเช้าในโรงเรียน และการจัดอบรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อหวังให้เด็กรักชาติและประวัติศาสตร์ไทย
ครูคิน–ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษาและผู้เขียนบทความ “สู่ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต” ย้ำว่าการเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะรักชาติ พร้อมย้อนถามว่า “ความรัก” ในที่นี้มีนิยามอย่างไร เป็นความรักบนฐานของเหตุผล ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หรือรักโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ชี้ผู้ริเริ่มนโยบายต้องนิยามให้ชัด ห่วง “ความรักบนความไม่รู้” จะกลายเป็นความรักที่ไม่นำไปสู่การพัฒนาเยาวชนและประเทศ
“เด็กยังเรียนแบบเดิม ถูกบังคับให้ต้องสอบในเนื้อหาเดิม ผมเชื่อว่าถ้าท่านเข้าไปในโรงเรียนหลายแห่งก็สอนแบบเดิมแบบที่ท่านเรียนมา คือ สอนให้รักชาติ เคารพบรรพบุรุษ และประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายเด็กโตมาไม่ได้เชื่อแบบที่ท่านเชื่อ สุดท้ายความเชื่อของคน ๆ หนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาตำราเรียน แต่ขึ้นอยู่กับโลกทั้งใบที่เขาเติบโตมา และโลกกำลังเปลี่ยนแปลงแบบที่คุณหยุดยั้งไม่ได้”
ครูคิน-ภาคิน นิมมานนรวงศ์
คนเอ๋ย คนไทย ใครกำหนด ?
- เพลงชาติไทยเวอร์ชั่นแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2395
- ธงชาติไทยถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460
- ประเทศสยามเปลี่ยนชื่อเป็น “ไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2482
ในขณะที่นิยาม “ความเป็นไทย” เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ในนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อต้นทศวรรษ 2500 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสอนวิชาสังคมศึกษาแก่ราษฎรอย่างเป็นทางการในไทยด้วย เมื่อชั้นเรียนต้องเริ่มสอนให้เด็กเป็นคนไทย แล้วคำถามสำคัญคือ “แล้วเราจะใช้สิ่งใดนิยามความเป็นไทย?”
The Active ได้มีโอกาสเข้าไปติดตามการสอนในชั้นเรียน “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ครูคิน เริ่มต้นชั่วโมงเรียนและชวนตั้งคำถามในชั้นเรียนว่า “มีใครในที่นี้คิดว่าตัวเองเป็นคนไทยบ้าง” ซึ่งพบว่ามีผู้เรียนจำนวนหนึ่งยกมือ และให้เหตุผลประกอบ เช่น พ่อแม่และบรรพบุรุษเป็นคนอยุธยาจึงเชื่อว่าตัวเองมีเชื้อสายไทยแท้ บางคนก็ให้เหตุผลเชิงวัฒนธรรมว่าตัวเองกินอยู่แบบคนไทย หรือบางคนก็ยึดตามข้อมูลในบัตรประชาชน เป็นต้น
จากนั้นครูคินได้ฉายสไลด์ข้อมูลชุดหนึ่ง เกี่ยวกับบุคคลปริศนา 3 คนซึ่งมีปูมหลังความเป็นมาที่แตกต่างกัน เช่นว่า บุคคล A มีปู่พูดภาษาจีนฮกเกี้ยน บุคคล B มีปู่พูดภาษาจีนท้องถิ่น หรือบุคคล C มีพ่อชื่อว่า ‘ฉิม’ เป็นต้น โดยให้ผู้เข้าร่วมชั้นเรียนทายว่าใครใน 3 คนนี้มี “ความเป็นคนไทย” มากที่สุด ซึ่งชั้นเรียนก็ได้ถกเถียงและอภิปรายเหตุผลจากหลักฐานที่มีอยู่
ครูคิน ได้มาเฉลยทีหลังว่า ข้อมูลบุคคลทั้ง 3 ที่ปรากฏนั้นอ้างอิงมาจากปูมหลังของผู้ที่ได้เรียกว่าเป็น “ผู้สร้างชาติไทย” หรือก็คือพระมหากษัตริย์ไทยในในแต่ละรัชกาล ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น พร้อมกับทิ้งคำถามชวนคิดว่า ในเมื่อผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นผู้สร้างชาติไทย ยังมีเชื้อสายหรือต้นกำเนิดที่ไม่ได้เป็น “ไทยแท้” แบบที่เราเข้าใจ แล้วเราในฐานะปุถุชนคนรุ่นหลัง ที่ผ่านการผสมผสานหลากเชื้อชาติมาหลายต่อหลายรุ่น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราเป็น “คนไทยแท้?”
อุปสรรคของการนิยามความเป็นไทยนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่การนิยามนั้นยังแทรกปนไปด้วยอุดมการณ์ของภาครัฐในการกำหนดว่าสิ่งใดเป็นไทย หรือสิ่งใดไม่ใช่ไทย ครูคิน ได้อ้างถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 พระราชทานในการเปิดประชุม “โบราณคดีสโมสร” พ.ศ. 2450 ความตอนหนึ่งว่า
“เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใด ชาติใด วงษ์ใด สมัยใดรวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศ
สยามจำเดิมตั้งแต่ 1,000 ปีลงมา เรื่องราวเหล่านี้คงต้องจับตั้งแต่เมืองหลวงไทย… ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิมลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุธยาเก่า อยุธยาใหม่ และเมืองลโว้ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช ฤๅเมืองซึ่งเป็นเจ้าครองเมือง บรรดาซึ่งได้เป็นใหญ่ในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง แล้วรวบรวมมาเป็นประเทศสยามอันหนึ่งอันเดียวนี้”
ข้อสังเกตสำคัญของหลักฐานดังกล่าว คือรายชื่อเมืองทั้ง 10 ที่รัชกาลที่ 5 ทรงอ้างถึงนั้นมีความหมายต่อการประกอบสร้าง “ชาติ” กล่าวคือ เป็นหลักฐานชิ้นแรก ๆ ที่อาจแสดงให้เห็นว่า “ขอบเขต” ของความเป็นไทยในสายตาของรัชกาลที่ 5 คือสิ่งใดหรืออย่างน้อยอยู่ในบริเวณใด ครูคิน ชวนสังเกตว่า เมืองทั้ง 10 เมืองนี้นอกจากจะมีความสำคัญในเชิงการเมืองแล้ว ยังมีที่ตั้งเรียงเป็นเส้นตรงในลองจิจูดใกล้เคียงกันด้วย นำไปสู่คำถามในวงสนทนาว่า เหตุใดเมืองที่รัชกาลที่ 5 กล่าวถึงจึงเรียงตัวกันเกือบจะเป็นเส้นตรง ไม่ซ้าย ไม่ขวา และไม่บน ไม่ล่างไปกว่านี้
สิ่งนี้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความเป็นไทยหรืออาณาจักรของชาวไทยในสายตาของรัชกาลที่ 5 บ้าง?
ครูคิน เล่าต่อว่า ความพยายามค้นหาและกำหนดความเป็นไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามที่จะนิยามว่าอะไรคือไทยและอะไรไม่ใช่ไทย ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดทุกยุคทุกสมัย อีกทั้งยังมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นความพยายามรวมศูนย์กลางความเป็นไทยโดยรัฐกรุงเทพฯ ด้วยการแก้ไขพงศาวดาร อาทิ “พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ” ที่ถูกปรับปรุงใหม่จาก “พงษาวดารเมืองอุบลราชธานี” โดยขีดฆ่าคำว่า “ลาว” แล้วแก้ให้เป็น “ไทย” เป็นต้น
ในกิจกรรม ครูคินและครูแนน-ปาริชาต ชัยวงษ์ ครูวิชาสังคมศึกษาและผู้เขียนบทความ “สังคมศึกษาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” ได้ชวนผู้เข้าร่วมอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการนิยามความเป็นไทยในแต่ละยุค ได้แก่ สมัย ร.4-ร.5 สมัย 2470-2480 สมัยสงครามเย็น และสมัยปัจจุบัน พร้อมชวนตั้งคำถามอะไรคือความเป็นไทยและไม่ใช่ไทยในแต่ละยุค นิยามความเป็นไทยในแต่ละช่วงเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งช่วยให้เห็นว่านิยามความเป็นไทยเป็นสิ่งที่มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการค้นคว้าและแลกเปลี่ยนถึงนิยามความเป็นไทยในชั้นเรียน “สังคมศึกษาทะลุกะลา”
“มันมีความพยายามที่จะปลูกฝังความเป็นไทยมาตลอด เพียงแต่มันออกในรูปร่างหน้าตาที่ต่างกัน ค่านิยมบ้าง เพลงบ้าง หนังบ้าง แต่มันมีความพยายามช่วงชิงนิยามความเป็นไทยนี้อยู่เสมอ และมีคนพยายามเสนอนิยามขึ้นมาใหม่อยู่ตลอด เว้นแต่จะมีการพยายามควบคุมโดยรัฐ อย่างที่เห็นตอนนี้ว่าการคัดเลือกครูเล็งเพิ่มเกณฑ์รักความเป็นไทยเข้ามา”
ครูแนน-ปาริชาต ชัยวงษ์
ครูแนน ให้ความเห็นต่อแนวคิดคัดเลือกข้าราชการเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการไว้ว่า การจะวัดผลครูกันที่ “ความรักชาติ” นั้นอาจขัดแย้งต่อนโยบายลดภาระครูที่มุ่งหวังให้ครูได้มีเวลาทำงานสอน มากกว่างานประเมินผล หรืองานเอกสารอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ส่วนตัวมีข้อกังวลว่า นโยบายปลูกฝังความเป็นไทยนี้ จะนำมาซึ่งคาบเรียนที่เพิ่มขึ้นมาจากหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐานหรือไม่ หรืออาจจะไปเบียดบังเวลาเรียนในเนื้อหาสาระวิชาอื่น จนทำให้ประสิทธิภาพการสอนลดลง
การสืบสอบเชิงปรัชญา: สอนเด็กไทยให้รู้จัก “เอ๊ะ”
บรรยากาศตั้งคำถามและอภิปรายแบบ Active Learning ในชั้นเรียน “สังคมศึกษาทะลุกะลา” นั้นแทบจะเป็นไปได้ยาก หากในห้องเรียนวิชาสังคมศึกษา เยาวชนยังไม่อาจถกเถียงกันได้อย่างเปิดกว้างและปลอดภัย ครูแนน เชื่อว่า วิชานี้ควรจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยเด็กเข้าใจปัญหาของสภาพสังคม และสะท้อนกลับมายังตัวเขาในฐานะปัจเจกบุคคล แม้หลักสูตรจะส่งผลอยู่บ้างต่อภาพความเข้าใจสังคมของเด็ก แต่ครูผู้สอนมีความสำคัญกว่ามากที่จะช่วยทำให้นักเรียนมีกระบวนการคิดที่เฉียบแหลมมากขึ้น ผ่านการพลิกแพลงตัวชี้วัด เพื่อให้เขาสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับเนื้อหาในตำรา
“คำว่ากะลาจริง ๆ ไม่ใช่เนื้อหา กะลาจริง ๆ คือมุมมองที่เรามีต่อการสอนวิชาสังคมศึกษาต่างหาก ต่อให้หลักสูตรแกนกลางจะเก่า แต่ถ้าใช้ความสามารถในการตีความตัวชี้วัด ไปจนถึงการออกแบบการสอนเพื่อสร้างให้เด็กพร้อมเป็นพลเมืองโลก มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่กลับกันต่อให้หลักสูตรสมรรถนะใหม่ แต่การสอนยังติดกับกรอบเพื่อสร้างเด็กเป็นพลเมืองดีตามแนวคิดรัฐ สังคมศึกษาก็จะไม่ไปไหน”
ครูแนน-ปาริชาต ชัยวงษ์
ภี อาภรณ์เอี่ยม วิทยากรด้านการเรียนรู้และผู้เขียนบทความ “การสืบสอบเชิงปรัชญาในฐานะ “ทางเลือก” และ “ทางออก” ของชั้นเรียนสังคมศึกษา” ได้เสนอความเห็นผ่านบทความว่า การสอนวิชาสังคมศึกษาในไทยยัง ล้มเหลว ในการพัฒนานักเรียนให้พร้อมต่อการเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตย โดยมีเหตุผลอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ
- วิชาสังคมในแต่ละสาระการเรียนรู้ถูกสอนแยกกันโดยสิ้นเชิง เช่น เมื่อสอนวิชาเศรษฐศาสตร์จบ แล้วขึ้นบทภูมิศาสตร์ ก็ไม่ได้มีการนำความรู้บทก่อนหน้ามาเชื่อมโยงในบทเรียนถัดไปเลย
- การสอนยังขาดการสร้างการถกเถียงถึงคุณค่าและโครงสร้างสังคมที่เป็นแก่นแท้ของการเรียนวิชาสังคมฯ และการถกเถียงกันถึงคุณค่าบางสิ่งก็เป็นหัวใจของวิถีประชาธิปไตยด้วย
- การสอนยังมีลักษณะให้ผู้เรียนเป็นผู้ฟังอย่างเดียว มากกว่าผลักดันให้เด็กใช้ความคิดตั้งคำถามและอภิปราย
“หากเป้าหมายของการสอนสังคมศึกษาเป็นไปเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย ผู้เรียนก็ต้องได้เรียนผ่านกระบวนการประชาธิปไตยด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการได้มีประสบการณ์จริงในด้านแสดงความคิดเห็นและรับฟังความเห็นที่หลากหลายของเพื่อน ๆ ที่มีสถานะเท่าเทียมกัน ไม่ได้พึ่งครูในฐานะผู้รู้ที่มีสถานะเหนือกว่าตน”
ภี อาภรณ์เอี่ยม
ภี ยังมีความเห็นสอดคล้องกับครูแนนว่า การจะสร้างให้เด็กรู้จักตั้งคำถามได้นั้น อย่างแรกต้องมีพื้นที่ปลอดภัยครับที่ทำให้เขาสามารถจะพูดคุยถกเถียงกันได้ ครูต้องช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงความสำคัญของการตั้งคำถาม ไม่หัวเราะเยาะกัน และชวนนักเรียนสืบสอบคำถามให้ลงลึกถึงคุณค่าในเรื่องนั้นมากขึ้น และที่สำคัญคือครูต้องไม่มองตัวเองเป็น Google เป็นผู้รู้ตอบได้ทุกคำถาม แต่ครูต้องสอนเด็กว่า ถ้าสงสัยในเรื่องหนึ่ง จะมีวิธีการใดบ้างที่ทำให้เขาได้คำตอบหรือทางออกของข้อสงสัยนั้น ซึ่งนั่นจะมีความหมายต่อนักเรียนอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ภี ก็เข้าใจดีว่าระบบการสอบของประเทศไทย ยังบีบบังคับให้ห้องเรียนวิชาสังคมฯ ต้องเน้นการท่องจำไปสอบ แต่ด้วยเนื้อหาวิชาเรียน จำเป็นที่ต้องทำให้นักเรียนพร้อมต่อการเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่แค่พร้อมสอบอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ ภี ก็หวังให้สังคมเห็นว่า วิชาสังคมฯ จะช่วยทำให้เด็กเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของผู้คน และรับรู้ว่าสังคมโลกผูกโยงอย่างไรต่อตัวเราคนหนึ่ง ปัจจุบัน เราผลักให้หน้าที่การค้นหาตัวเองเป็นของครูแนะแนว แต่เรากลับลืมไปว่า วิชาสังคมฯ นี้เองจะช่วยทำให้เขาเข้าใจว่า “ในฐานะคนคนหนึ่งที่อาศัยในสังคม ตัวเขาเป็นใครกัน?”
และการถามคำถามเชิงสืบสอบในวิชาสังคมฯ นี้เอง จะพานักเรียนไปสู่คำตอบเหล่านั้นได้