คำสาปวัย 15: สังคมเปราะบาง เยาวชนอ่อนแอ ใครต้องแก้ปัญหาอาชญากรเด็ก?

จากเหตุการณ์เยาวชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรม ที่มีโซเชียลมีเดียเป็นองค์ประกอบของการก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุฆาตกรรมในจังหวัดตรัง หรือการจัดงานศพปลอมในจังหวัดอุดรธานี สังคมไทยต้องเผชิญกับคำถามสำคัญว่า อะไรคือปัจจัยที่ผลักดันให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่วังวนของพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคม ?

กรณีแรกเกิดขึ้นในจังหวัดตรัง เยาวชนชายอายุ 14 และ 15 ปี ร่วมกันก่อเหตุยิงชายวัย 33 ปี เสียชีวิตในสวนยางพารา ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่าสาเหตุมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยทั้งผู้ก่อเหตุและผู้เสียชีวิตมักพบปะและมั่วสุมกันในพื้นที่เกิดเหตุ ตำรวจสามารถสืบสวนจากการโพสต์ภาพในโซเชียลมีเดียของผู้ก่อเหตุ สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการแสดงอำนาจและข่มขู่คู่อริ

อีกกรณี เหตุเกิดที่จังหวัดอุดรธานี เยาวชนชายวัย 18 ปี จัดงานศพปลอมให้แม่ของตน โดยมีการตั้งโลงศพและรับเงินทำบุญจากครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน สุดท้ายเรื่องถูกเปิดเผยเมื่อมีการตรวจสอบพบว่าโลงศพบรรจุต้นกล้วยแทนศพจริง การสอบสวนเพิ่มเติมพบว่าเยาวชนและยายของเขายอมรับว่าทำไปเพื่อเหตุผลที่ยังไม่ชัดเจน อาจเป็นเพราะความเชื่อส่วนตัว หรือการเรียกร้องความสนใจ รวมถึงแรงจูงใจทางการเงิน

โซเชียลมีเดีย: พื้นที่แห่งอิทธิพลและการประกาศอำนาจ

จากกรณีทั้งสอง พบว่ามีปัจจัยร่วมที่สำคัญ คือ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการส่งสารและสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง เยาวชนที่ก่อเหตุฆาตกรรมในจังหวัดตรังใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อยืนยันการกระทำของตน ขณะที่กรณีของงานศพปลอมในจังหวัดอุดรธานี ก็อาศัยโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่เรื่องราวที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมของเยาวชนในปัจจุบันที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์

ปัญหาการเติบโตในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยข้อมูลจาก กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า 79.1% ของเด็กและเยาวชนที่ก่ออาชญากรรมอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีปัญหา เช่น ชุมชนที่มีการซื้อขายยาเสพติดหรือมีการทะเลาะวิวาทอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมเช่นนี้มักจะซึมซับพฤติกรรมไม่เหมาะสมและเลียนแบบการกระทำเหล่านั้น

นอกจากนี้ บทวิเคราะห์จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อออนไลน์ เช่น การนัดรวมตัวทำสิ่งผิดกฎหมาย การเสพสื่อเกี่ยวกับยาเสพติด หรือเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนพัฒนาพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงได้ง่ายขึ้น จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กที่เคยก่ออาชญากรรม พบว่าเด็กจำนวนมากเสพสื่อที่มีเนื้อหาก่อความรุนแรง เช่น การทะเลาะวิวาทหรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนออกมาในชีวิตจริงในสัดส่วนที่สูงถึง 57.6%

การเติบโตของโลกโซเชียลมีเดียทำให้การส่งผ่านข้อมูลเป็นเรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะภาพของความรุนแรงและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่สามารถกระจายไปยังผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักมีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยที่อยากรู้และอยากทดลองสิ่งใหม่ ๆ การเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากสื่ออาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ปกติและกลายเป็นปัญหาทางสังคม เช่น การก่ออาชญากรรม เช่น การกราดยิงหรือการทำร้ายบุคคลอื่นด้วยอาวุธ ซึ่งในหลายกรณีทำให้เกิดความสูญเสียในวงกว้าง

ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร ม.มหิดล วิเคราะห์กรณีนี้ว่า เยาวชนแสดงพฤติกรรมการโกหกหลายครั้ง โดยเริ่มจากการอ้างว่าทำงานส่งครู ก่อนเปลี่ยนเป็นอ้างว่าแก้เคล็ดให้แม่ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด จำเป็นต้องตรวจสอบเชิงลึกเพิ่มเติมว่าเยาวชนมีจุดประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องความสนใจ หวังเงิน หรือมีเจตนาอื่นใด

นอกจากนี้ ควรพิจารณาว่าเยาวชนมีความต้องการใช้เงินหรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ การโพสต์เรื่องราวลงในโซเชียลมีเดียเป็นความพยายามทำให้ตนเองดูเหมือนเป็นเหยื่อ มากกว่าผู้กระทำผิด การเผยแพร่ข่าวว่ามารดาเสียชีวิตและการเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม อาจเป็นกลยุทธ์เพื่อให้สังคมมองตนเองในฐานะผู้ที่ถูกกระทำ ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นผู้ก่อเหตุเอง

อาจารย์ด้านอาชญาวิทยาเพิ่มเติมว่า กรณีนี้สะท้อนถึงการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงอำนาจ รวมถึงปกปิดพฤติกรรม และมีแนวโน้มว่าผู้ก่อเหตุอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีพฤติกรรมรุนแรง การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อประกาศศักดา เป็นวิธีการแสดงอิทธิพลของตนเอง ซึ่งพบได้บ่อยในวัยรุ่นที่ติดสื่อออนไลน์และต้องการสร้างตัวตน การโพสต์ข้อความหลังเกิดเหตุ อาจเป็นการท้าทายกฎหมายหรือข่มขู่กลุ่มคู่อริที่ยังเหลืออยู่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองสามารถกระทำการดังกล่าวได้จริง

วัยรุ่น 15 ปี: ทางแพร่งสู่เส้นทางอาชญากรรม

ข้อมูลจาก กรมพินิจฯ ยังระบุอีกว่าอัตราการก่ออาชญากรรมของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา คดีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและร่างกายพุ่งสูงขึ้นแทนที่คดียาเสพติด ทำให้ดูเหมือนว่าความรุนแรงได้กลายเป็นปัญหาหลักของเยาวชน

การวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่พฤติกรรมอาชญากรรมของเยาวชนไม่ได้จำกัดอยู่ที่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสังคมและครอบครัวที่เปราะบาง กว่า 70% ของเด็กที่ก่ออาชญากรรมมาจากครอบครัวที่แยกทาง และมากกว่าครึ่งเคยเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว เช่น การถูกตี การถูกดุด่าอย่างรุนแรง หรือการถูกกลั่นแกล้งให้รู้สึกอับอาย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเอง พวกเขาจึงเลือกใช้ความรุนแรงเป็นทางออก

เยาวชน
ทิชา ณ นคร

ป้ามล หรือ ทิชา ณ นคร ผู้อํานวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ระบุว่า การแก้ปัญหาในระดับบุคคลไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ สิ่งสำคัญคือการผลักดันให้เกิดระบบสนับสนุนทางสังคมที่แข็งแรง เช่น การจัดให้มีโครงสร้างชุมชนที่ปลอดภัย การให้ความรู้และสนับสนุนพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็ก และการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเยาวชนที่กระทำผิดให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ

“แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าความสำเร็จระดับปัจเจกก็คือ ระบบที่ดีแล้ว และบ้านกาญจนาไม่กอดความสำเร็จระดับปัจเจก เพราะมันไม่ยั่งยืน แต่เราต้องการระบบที่ดี และคนที่จะทำให้เกิดระบบที่ดีต้องมีอำนาจแบบคุณ(รัฐ) ไม่ใช่แบบเรา

ทิชา ณ นคร

นอกจากนี้ ทิชา เน้นย้ำว่า ความสำเร็จระดับปัจเจกไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่การมีระบบฟื้นฟูและบำบัด ตลอดจนสังคมที่ปลอดภัยไร้อำนาจกดขี่เด็ก เป็นเป้าหมายสู่ความสำเร็จที่แท้จริง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เพื่อให้สามารถรับมือกับคดีอาชญากรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญกับการศึกษาและการแนะแนวเพื่อให้เยาวชนเข้าใจผลกระทบของพฤติกรรมรุนแรงก็เป็นอีกแนวทางที่ควรได้รับการส่งเสริม

คดีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาที่ใหญ่กว่าที่สังคมต้องเผชิญ และเป็นเพียงทางแพร่งของเรื่องราวแห่งอาเพศของอายุ 15 ปี นี่เป็นกระดุมเม็ดแรก ที่อาจนำไปสู่เรื่องราวของอาเพศในช่วงวัย 25, 35, 45, ไปจนถึง 55 ปี

การมองเยาวชนที่กระทำผิดเป็นเพียงอาชญากรอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือการเข้าใจปัจจัยที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าสู่พฤติกรรมเหล่านี้ และหาทางสร้างระบบสนับสนุนที่สามารถช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้อย่างแท้จริง

ติดตาม หลากหลายความสูญหายหมายเลข 5 ที่ไม่ใช่แค่โชคชะตากำหนด ใน No.5 Crisis|เบญจ-อาเพศ กับ Thai PBS in Focus

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง