“อาจารย์จอน เป็นคนทำงานทางสังคมที่ถ่อมตนมาตลอด
ยึดมั่นหลักการไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เรากราบท่าน ได้อย่างเต็มใจ”
คำจำกัดความง่าย ๆ สั้น ๆ แต่ถือว่าสะท้อนตัวตน จอน อึ๊งภากรณ์ ผ่านความทรงจำของ แสงศิริ ตรีมรรคา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในวันที่ อ.จอน จากไปอย่างสงบ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา
พลังการทำงานเพื่อช่วยคนตัวเล็กตัวน้อย
ในฐานะที่เคยร่วมงานกันกับ อ.จอน ที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แสงศิริ พบว่า ตลอดการทำงาน อ.จอน มีหลักการชัดเจน โดยเฉพาะการเชื่อในพลังการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม คนตัวเล็กตัวน้อย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ อ.จอน ได้ก่อตั้ง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษา

และยังมองการณ์ไกล ด้วยอุดมการณ์ที่ไม่ต่างจากคุณพ่อ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) เพื่อทำให้ประเทศไทยมีสวัสดิการทางสังคมที่ดี ด้วย รัฐสวัสดิการ ตามแนวคิดที่เป็นวลีอมตะ “จาก ครรภ์มารดา ถึง เชิงตะกอน”
“การผลักดันให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษา ได้เข้าถึงยา เป็นบทบาทการทำงานเพื่อสังคมที่เห็นได้ชัดเจนมาก ขณะเดียวกัน อ.จอน ก็พยายามเข้าไปมีส่วนผลักดันนโยบาย เป็นที่มาให้สมัคร สว. จนได้เข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภา ซึ่งตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้เลยว่า อ.จอน ถือเป็นกลไกหลักในส่วน สว.ภาคประชาชน ที่ผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นตัวหลักในการระดมรายมือชื่อ 80,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพให้เกิดขึ้น”
แสงศิริ ตรีมรรคา
แสงศิริ ยังเล่าอีกว่า ในช่วงที่ อ.จอน เป็น สว. ก็แทบไม่มีใครเคยทราบอีกเช่นกันว่า เงินเดือน สว.ส่วนหนึ่ง อ.จอน ได้แบ่งมาจ่ายค่ายาต้านไวรัส เพื่อช่วยเหลือให้เด็ก ๆ ที่ติดเชื้อได้เข้าถึงยาด้วย
พลังการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่ใช่แค่ฝัน
อ.จอน ยังสนใจและเชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรอย่าง iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน คือ รูปธรรมหนึ่งของการเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับการเมือง โดยเฉพาะเป็นพื้นที่กลาง หรือแพลตฟอร์ม รวบรวมไอเดีย รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย สิ่งนี้จึงไม่ใช่แค่ภาพฝัน แต่ อ.จอน ลงมือทำจริง จนเห็นพัฒนาการมาจนถึงทุกวันนี้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ย้อนถึงภาพความทรงจำ เมื่อครั้งที่ได้ทำงานร่วมกับ อ.จอน โดยเน้นย้ำถึงสิ่งที่ อ.จอน สอนไว้ คือ การกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด ทุกครั้งที่เกิดความเห็นต่าง ขอแค่คุยกันตรงไปตรงมา ทุกอย่างก็จะจบลงได้ โดยไม่มีอารมณ์ความรู้สึก หรืออีโก้ส่วนตัว สุดท้ายถ้าเห็นไม่ตรงกัน อ.จอน จะบอกว่า “ผมก็เห็นของผมอย่างนี้ ถ้าเป๋าจะทำอย่างนั้นก็ทำไป…”
“คนแก่ที่อายุมากกว่าผมเกือบ 40 ปี อายุงานมากกว่าผม 30 ปี ไม่เคยถือสา หรือไม่เคยส่งมวลความคิดว่า ไอ้เด็กนี่มาจากไหน ทำไมถึงไม่ฟังคนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน อ.จอน ส่งมาแต่ความรู้สึกท้าทาย สนุกสนาน ที่จะโต้เถียงกัน แบบเท่ากัน ในบรรดาหลาย ๆ อย่าง นี่เป็นสิ่งที่เลียนแบบไม่ได้ เอาอย่างไม่ได้”

สำหรับ ยิ่งชีพ แล้วคนแก่อย่าง อ.จอน คือผู้ที่ไม่เคยหมดไฟ ยังคงรู้สึกโกรธแค้นกับความไม่เป็นธรรม ติดตามทุกเรื่อง และตั้งคำถามใหม่ ๆ ทุกวันว่า เราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและประชาธิปไตย ซึ่งก็น่าจะเลียนแบบไม่ได้ในวันที่เราอายุเท่า ๆ กัน
สอดคล้องกับสิ่งที่ แสงศิริ ได้รับการปลูกฝังตลอดช่วงเวลาที่ทำงานร่วมกับ อ.จอน ที่ทำให้เห็นการยึดมั่นหลักการไม่เคยเปลี่ยน ไม่มีครั้งไหนที่เอนเอียง โดยทุกครั้ง อ.จอน จะมาพร้อมกับยุทธศาสตร์การต่อสู้ ที่แม้หลายคนไม่เห็นด้วย แต่ก็พยายามทำให้ทุกคนได้เรียนรู้กลไกการทำงาน
“จริง ๆ เรื่องรัฐสวัสดิการ ในช่วงที่ อ.จอน ป่วย ก็ยังได้เคยคุยกัน ท่านอยากเห็นรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในไทย หลักประกันสุขภาพ เป็นของประชาชนจริง ๆ ส่วนมุมมองการเมือง แน่นอนว่า สิ่งที่ อ.จอน ฝันมาตลอด คือ การเป็นประเทศแห่งประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบเสียที”
แสงศิริ ตรีมรรคา
‘ปฏิรูปสื่อ’ วิธีคิดด้านการสื่อสาร สู่สังคมเป็นธรรม
ในช่วงเวลาหนึ่งที่ภาคประชาสังคม เริ่มตื่นตัวมากขึ้นกับการเรียกร้อง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สิ่งนี้เกิดขึ้นควบคู่กับการผลักดัน การปฏิรูปสื่อ และ การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ถูกวางรากฐานในเวลานั้น คือ การมองคลื่นความถี่เป็น ทรัพยากรสาธารณะ ที่ควรอยู่ในมือของประชาชน
“ระบบสังคมที่เป็นธรรมไม่อาจเกิดขึ้น หากอำนาจการสื่อสาร
และกระจายข้อมูลยังไม่เป็นของสาธารณะ”
คำพูดนี้ คือตัวตนของ อ.จอน ที่ให้ความสำคัญกับความพยายามผลักดันวิธีคิดด้านการสื่อสาร ไปสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรม นี่เป็นสิ่งที่ สุภิญญา กลางณรงค์ จำขึ้นใจ

อดีตกรรมการ กสทช. ในฐานะของนักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ ที่เริ่มต้นจากการเข้าร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) องค์กรที่ อ.จอน มีบทบาทร่วมก่อตั้ง หลังเหตุการณ์ พฤษภา 2535 สะท้อนว่า อ.จอน คือ หนึ่งในแรงขับเคลื่อนผลักดันแนวคิดนี้ในระดับนโยบาย โดยผสานมิติของสิทธิมนุษยชน สุขภาพ และการสื่อสารให้เป็นเรื่องเดียวกัน ในบทบาทของ สว.ที่มาจากการเลือกตั้งในตอนนั้น อ.จอน ไม่เพียงตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังยืนหยัดวิพากษ์วิจารณ์การครอบงำสื่อ โดยกลุ่มทุนและรัฐในทุกรูปแบบ
สุภิญญา ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ อ.จอน แตกต่าง คือ ท่าทีที่แข็งแกร่งทางหลักการ แต่เต็มไปด้วยความอ่อนโยนในวิธีการ ท่านไม่เพียงพูดเรื่องเสรีภาพในเชิงนามธรรม แต่ลงมือทำอย่างจริงจัง ผ่านการสร้างพื้นที่สื่อใหม่ ๆ อย่าง ประชาไท หรือสนับสนุนองค์กรที่ตรวจสอบกฎหมายและอำนาจรัฐ อย่าง iLaw ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของสื่อภาคประชาชน แม้ตัวของ อ.จอน จะยอมรับว่า การทำสื่อไม่ใช่เรื่องที่ถนัดก็ตาม
“อ.จอน เป็นผู้อยู่เคียงข้างในการต่อสู้กับกฎหมายควบคุมสื่อหลายฉบับในช่วงปี 2550 เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายคลื่นความถี่ ทั้งคู่ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต เคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพอินเทอร์เน็ต หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการปีนรั้วรัฐสภา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐ ซึ่งนำไปสู่การถูกฟ้องร้องและสู้คดีนานถึง 5-6 ปี”
สุภิญญา กลางณรงค์
แม้จะถูกมองเป็น คู่แข่ง กันในช่วงสรรหากรรมการ กสทช. ชุดแรก แต่ในมุมมองของ สุภิญญา กลับยังนับถือในความสามารถของ อ.จอน ด้วยบริบทของสังคมในตอนนั้น ท่าทีของ อ.จอน ดูขัดกับแนวคิดของวุฒิสภา ทำให้ สุภิญญา ได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. แต่ถึงอย่างนั้น อ.จอน ก็ตอบรับมาเป็นที่ปรึกษา แม้จะมีปัญหาสุขภาพ ท่านก็ยังมาร่วมประชุม และทำหน้าที่ในอนุกรรมการด้านเนื้อหาสื่อโทรทัศน์ อย่างแข็งขัน
“อ.จอน เป็นคนที่เมื่อเราต้องเลือกใครสักคนมาเป็นที่ปรึกษา เราไม่ลังเลเลย และดีใจมากที่ท่านตอบรับ แม้ในช่วงที่ท่านเริ่มป่วย…ท่านก็ยังอยู่เคียงข้างเราจนถึงที่สุด”
สุภิญญา กลางณรงค์

จุดเปลี่ยนสำคัญคือวันที่ศาลฎีกาตัดสินคดี ปีนรั้วสภาฯ แม้ไม่ลงโทษจำคุก แต่คำตัดสินนี้ทำให้ทั้ง สุภิญญา และ อ.จอน ต้องพ้นจากตำแหน่งใน กสทช. และบทบาททางการเมือง สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ทว่าความผูกพันเชิงอุดมการณ์ยังดำเนินต่อไป
แม้ไม่ได้สนิทกันมากในระดับส่วนตัว แต่ความร่วมมือในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมือง และการสื่อสารไทย ก็เป็นช่วงเวลาที่ สุภิญญา รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับ อ.จอน
‘สื่อ’ ต้องเป็นของประชาชน
เธอย้ำว่า อ.จอนไม่ใช่เพียงนักเคลื่อนไหวผู้ยืนหยัดในหลักการ แต่ยังเป็นผู้ที่เข้าใจพลวัตของโลกเทคโนโลยีใหม่ และตั้งคำถามกับสิ่งที่ท้าทายสื่ออิสระในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นทุนข้ามชาติ Ai หรืออำนาจใหม่ที่แฝงมากับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
แนวคิดสำคัญที่ อ.จอน ฝากไว้คือ การพยายามทำให้สื่อสารมวลชน เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของรัฐ ทุน หรือชนชั้นนำ สื่อขนาดเล็ก สื่อพลเมือง หรือแม้แต่ภาคประชาสังคม ก็ล้วนเผชิญความท้าทายในการรักษาพื้นที่อิสระให้ดำรงอยู่ ซึ่งก็ได้ตั้งคำถามไว้เช่นกันว่า พื้นที่เหล่านี้จะสามารถยืนหยัดต่อไปได้อย่างไร ? ท่ามกลางโครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อนขึ้น และกระแสที่พัดแรงกว่าเดิมมาก
“หากเราจะศึกษาเจตนารมณ์ของ อ.จอน อย่างจริงจัง คงต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า ท่านยึดมั่นในหลัก เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งท่านอยากเห็นปรากฏอยู่ในทุกระดับของสังคม ผ่านการทำงานของสื่อ อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงอย่างแท้จริง”
สุภิญญา กลางณรงค์
แม้ในวันที่ อ.จอน ไม่อยู่แล้ว แต่หลายเรื่องราวที่ถูกสะท้อนผ่านมุมมองของใครหลายคนที่เคยได้สัมผัสตัวตน อ.จอน ก็พอทำให้ได้คำตอบ ว่าทำไม ? อ.จอน จึงกลายเป็นต้นแบบให้กับคนทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อความตั้งใจของงานที่ทำ คือ การสร้างประโยชน์ให้ตกอยู่กับประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อย อย่างแท้จริง…