วันนี้ประเทศไทยกำลังจะมี กฎหมายสมรสเท่าเทียม เรากำลังจะมี นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ที่อาจหมายถึงการกระจายความเจริญ เราเห็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และบรรยากาศแห่งสิทธิ เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ที่กำลังผลิบานในทุกหย่อมหญ้า สิ่งที่เมื่อหลายสิบปีก่อนอาจไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้
สิ่งเหล่านี้คงยังไม่สามารถการันตีว่าประเทศไทยกำลังวิ่งขึ้นสู่ขาขึ้นได้นัก เพราะเรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตข้าวยากหมากแพง ค่าไฟพุ่งกระฉูด และอัตราของเด็กเกิดใหม่ลดลงชัดเจน สวนทางกับการเดินไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด ในขณะที่ รัฐสวัสดิการตามคำมั่นสัญญาของรัฐกลับแน่นิ่งราวกับกรวดหินที่กระเพื่อมน้ำแล้วจมหายไป
แต่วิกฤตท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากหลายทิศทางนี้ อาจเป็นเหมือนสายลมที่กำลังพัดให้บานประตูแห่งโอกาสของประเทศไทยเปิดออกขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้
The Active ชวนฟังเสียงของผู้คนแห่งยุคสมัย ถึงความฝัน ความหวัง และความเป็นไปได้ของ ‘รัฐสวัสดิการไทย’ ที่ว่ากันว่าจะกลายเป็นหนึ่งในเสาเข็มหลักของสังคมไทย ที่อาจชี้ชะตากรรม และคุณภาพชีวิตของคนไทยนับจากนี้ ว่าจะมั่นคงปลอดภัยได้แค่ไหน หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพฝันที่ไม่มีวันไปถึง
อัดงบฯ กองทัพ แต่ลงทุนกับ ‘มนุษย์’ แทบไม่มี ?
ก่อนการรัฐประหาร ปี 2549 หัวหอกขบวนการประชาชนที่เรียกร้องรัฐสวัสดิการ คือ กลุ่มแรงงานและผู้หญิงเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ต้องดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ จึงได้รับผลกระทบและเสียเปรียบทางสังคมมากที่สุด
และหากย้อนไปในอดีต ไทยต่อสู้เรื่องสิทธิ เช่น การทำแท้ง และผ้าอนามัย มาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้ถูกพูดถึงมาก่อนการมีคำว่า รัฐสวัสดิการ เสียอีก แต่ยังคงถูกมองว่าเป็นเพียงการเรียกร้องของแรงงาน ผู้หญิง หรือวัยรุ่นเท่านั้น
แต่ในเวลานี้ เราเห็นการหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาพูดอีกครั้ง แต่ถูกยกระดับเป็นในนามของ รัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นตัวชี้ชัดว่า พัฒนาการของการเรียกร้องในไทยเป็นไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่มีความหวังและไม่ใช่เพียงเรื่องเพ้อฝันเหมือนในอดีตอีกต่อไป
“สังคมไทยอยู่ในยุคตกต่ำมาหลายทศวรรษ เป็นประเทศที่ประชาชนถูกกดทับและมีความเหลื่อมล้ำอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งหมดนี้เกิดมาจากระบอบการเมืองที่ไม่ยุติธรรมและเผด็จการต่อเนื่องหลายสิบปี”
“เมื่อความคิดเรื่องประชาธิปไตยมันผนึกแนบแน่นกับการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รัฐสวัสดิการจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องประชาธิปไตยและกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกคนพูดถึง”
นั่นเป็นมุมมองส่วนหนึ่งจาก รศ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า การตื่นตัวเรื่องรัฐสวัสดิการในสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน แต่มากจากการเรียกร้องที่ผ่านการเดินทางไกลมาอย่างยาวนานจนกระทั่งวันนี้สังคมตกผลึก ข้อเรียกร้องกลายเป็นของคนทุกกลุ่มไม่เพียงแต่แรงงานหรือผู้หญิง แต่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ด้วย
ไม่ต่างจากความเห็นของคนของหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยอย่าง ธีรดนย์ พงษ์ดนตรี นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า คนในรุ่นเดียวกันกำลังอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวและต้องดิ้นรน การพึ่งพาตนเองอย่างเดียวอาจยังไม่สามารถทำให้ตนเองมีชีวิตที่ดีตามมาตรฐานได้ การได้รับความช่วยเหลือด้านรัฐสวัสดิการจากรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ตอนนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น
“เราได้ยินเสียงที่สังคมตั้งคำถามกับคนรุ่มผมว่า ‘เรียกร้องอะไรนักหนา ?’ นี่เป็นมายาคติที่ทำให้เราไม่อยากสื่อสารต่อ แต่หากถอยกลับมามองความเป็นจริง สิ่งที่เราเห็นคือ เรื่องพื้นฐานอย่างสาธารณูปโภคหรือค่าไฟที่แพง เรายังไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐเลย มันน่าเศร้าที่พวกเราต้องเติบโตในประเทศที่ไม่สามารถจินตนาการ หรือฝันถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ได้”
ธีรดนย์ พงษ์ดนตรี
เสียงสะท้อนของ ธีรดนย์ อาจสอดคล้องกับหนุ่มสาวอีกจำนวนมากในสังคม ที่กำลังสิ้นหวังกับการอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ การย้ายไปอยู่ในต่างประเทศ อาจทำให้เขามีโอกาส มีจินตนาการ และกล้าฝันถึงชีวิตที่ดีได้มากกว่านี้ ?
แต่ในความเป็นจริง เราอาจยังมีหวัง และเห็นความเป็นไปได้ ทนายแจม – ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล และคณะกมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ชวนให้เราดูข้อมูลงบประมาณมหาศาลของประเทศไทย ที่กำลังถูกใช้อย่างบิดเบี้ยว และหากถามเธอว่าเห็นโอกาสอะไรตอนนี้ ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า “เห็นเงิน”
“ก่อนมาเป็น สส. เราคิดว่าบ้านเราทำรัฐสวัสดิการไม่ได้หรอก เพราะจะเอาเงินที่ไหนมาทำ นั่นเป็นเพราะเราได้ยินนักการเมืองพูดฝังหัวแบบนี้มาตลอด แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่ามันไม่จริง”
“หากเอางบประมาณมากางดู เราเจอว่าที่ผ่านมา รัฐใช้งบฯ ไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติสูงมาก เช่น กองทัพ ในจำนวนหลายแสนล้านบาท แต่หน่วยงานที่เกี่ยวกับประชาชนจริง ๆ อย่าง พม. มีงบฯ แค่สามหมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น”
ศศินันท์ ยังเสริมอีกว่า แม้กระทั่งหน่วยงานอย่าง กระทรวงยุติธรรม ยังพบว่า งบประมาณถูกใช้ไปกับการสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาคารสถานที่เยอะมาก ขณะที่งบประมาณด้านการให้บริการประชาชน กลับสวนทางราวกับว่าการให้บริการประชาชนไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงาน สิ่งนี้ชี้ชัดว่ารัฐไม่ได้มีวิธีคิดที่มากจากการมองเห็น “ประชาชน” เป็นหลัก
“บางคนถามว่า จะมาอยากได้รัฐสวัสดิการเนี่ย เสียภาษีถึงหรือยัง หรือถ้าต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มเพื่อเอามาทำรัฐสวัสดิการจะยอมไหม คำถามแบบนี้มันไม่มีประโยชน์ เหมือนถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน”
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ศศินันท์ ย้ำว่า ควรเปลี่ยนจากคำถามเหล่านั้น แล้วหันมามองเรื่องนี้ด้วยสายตาแบบใหม่ ลดการใช้เงินเพื่อความมั่นคงภายนอก และหันมาลงทุนกับความมั่นคงภายในของประเทศอย่างทรัพยากรบุคคลแทน หากจัดสรรงบประมาณใหม่ รัฐสวัสดิการที่ดีของไทยจะไม่ไกลเกินฝันอย่างแน่นอน
‘สวัสดิการ’ ต้องไม่ใช่ ‘การสงเคราะห์’
ตอนนี้รัฐไทยกำลังใช้รัฐสวัสดิการกับประชาชนราวกับการสงเคราะห์ ต้องพิสูจน์ความยากจน และการจัดสรรที่อยู่ในระดับพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่ไม่ได้เอื้อให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลหรือโครงสร้างสังคมเลย
นี่เป็นอีกมุมมองจาก ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ เครือข่ายสหภาพบาริสต้า เชียงใหม่ เขาย้ำว่า การที่รัฐสวัสดิการ จัดสรรเรื่องพื้นฐานให้ประชาชนเป็นวิธีคิดที่ล้าหลัง และถูกใช้เมื่อร้อยปีก่อน หากไปดูรัฐสวัสดิการในประเทศตะวันตกตอนนี้ ไม่ได้ถูกคิดโดยสวัสดิการพื้นฐานอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องเป็นสวัสดิการที่ เหมาะสม ที่สุดสำหรับประชาชน
“ในโลกตะวันตก รัฐสวัสดิการไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่มันคือการจัดสรรให้อย่าง เต็มเม็ดเต็มหน่วย (optimal) เช่น การประกันการว่างงาน ในประเทศไทยหากคุณตกงาน คุณได้เงินประกันการว่างงานก็จริง แต่เพียงพอแค่การมีชีวิตรอดสั้น ๆ มันบีบให้คุณต้องหางานใหม่ให้เร็วที่สุด”
“แต่ถ้าคุณไปเดนมาร์ค คุณได้ประกันการว่างงานถึง 2 ปี นี่ไม่ใช่แค่สวัสดิการขั้นพื้นฐาน แต่แปลว่ามันคือสวัสดิการที่อนุญาตให้คุณตกงานหรือว่างงานได้ ต่างจากรัฐไทยที่มีแนวคิดว่าคนคือแรงงานที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา”
ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ
ตัวแทนจากเครือข่ายสหภาพบาริสต้า เชียงใหม่ มองว่า เราต้องต่อสู้กับแนวคิดที่ว่ารัฐสวัสดิการ ต้องไม่ใช่แค่เรื่องพื้นฐาน แต่มันต้องไปได้ไกลกว่านั้นให้ได้
สอดคล้องกันกับ ชานันท์ ยอดหงษ์ นักกิจกรรมอิสระ เห็นว่า “สวัสดิการโดยรัฐ ไม่ใช่ รัฐสวัสดิการ” เพราะการมี “สวัสดิการโดยรัฐ” เป็นเรื่องที่ดี หากเกิดในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เพราะจะหลากหลาย เติบโต และคุ้มครองประชาชนได้มากกว่านี้ แต่ปัญหาคือ มันถูกออกแบบโดยฐานคิดว่าดูแลคนเพียงคนเดียว ไม่ใช่ทั้งระบบ
“สวัสดิการโดยรัฐ เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐรูปแบบใด แต่โครงสร้างในการออกแบบมักกดให้อยู่ในระดับต่ำสุด (เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ) ที่เป็นเพียงการประกันว่าประชาชนจะไม่ฉิบหายไปมากกว่านี้ แต่นั่นเป็นการมองคนเพียงคนเดียว แต่จริง ๆ แล้วต้องมองไปถึงครอบครัวของเขาด้วย”
ชานันท์ ยอดหงษ์
สวัสดิการดีหน้าที่ใคร ?
ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการมี ‘รัฐสวัสดิการ’
ถ้าลองมองกลับมาที่วิธีคิดของประชาชนในชาติ ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการมีรัฐสวัสดิการ เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ เราได้เห็นกระแสในโลกออนไลน์เรื่องการหมดยุค Work life balance แต่ตอนนี้ต้อง Work hard to survive แทน มีนัยชี้ว่าไม่ได้สมาทานกับการมีรัฐสวัสดิการ แต่คนต้องพึ่งพาตนเองจากการทำงานหนักเป็นหลัก
หรือกระแสเรื่องการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ที่บางส่วนมองว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ทุกคนต้องจ่ายเงินภาษีเพื่อนำไปให้ลูกคนใดคนหนึ่ง หากใครอยากมีลูก ควรเป็นหน้าที่ดูแลลูกของตนเอง ไม่ใช่หน้าที่รัฐ
ประเด็นนี้ ศศินันท์ ในฐานะแม่, ภรรยา และผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการเด็กมาโดยตลอด มองว่า ปัญหาอยู่ที่ วิธีคิด เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ ที่ไม่ถูกวางแผนครอบคลุมทั้งวงจรชีวิตของคน
“หากเรามองว่าเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งมีลูก หญิงผู้นั้นต้องดูแลลูกเอง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ นั่นเพราะเราเห็นว่ารัฐไม่ได้บังคับให้มีลูก หากอยากมีก็ต้องดูแลตัวเอง รัฐไม่จำเป็นต้องมาดูแล
“แต่หากเรามองว่า หญิงคนนั้นกำลังทำหน้าที่สำคัญที่รัฐต้องทำ นั่นคือการดูแลเด็ก เพราะหากหญิงผู้นั้นไม่ดูแล ทอดทิ้ง สุดท้ายเด็กต้องเข้าสู่กระบวนการของ พม. ซึ่งรัฐก็ต้องเข้ามาดูแลอยู่ดี นี่หมายถึง หญิงกำลังทำหน้าที่แทนรัฐ รัฐจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือ”
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ศศินันท์ อธิบายเพิ่มว่า หากคิดแบบนี้จะเห็นว่า รัฐสวัสดิการไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่มันเป็นสิ่งที่รัฐต้องจ่ายให้กับ คนที่ทำหน้าที่แทนรัฐ ต่างหาก เพราะผู้หญิงที่มีลูกคนหนึ่งไม่ได้ทำหน้าที่แค่ความเป็นแม่ แต่ทำหน้าที่ในการบ่มเพาะประชากรคนหนึ่งให้เติบโต มีอนาคตที่ดี และกลับมาเสียภาษีให้รัฐต่างหาก
“รัฐสวัสดิการไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่คือการพยุงประชาชนเอาไว้ให้เขาหายใจได้ แล้วกลับมาเสียภาษีให้รัฐ หากคุณดูแลเขาไม่ดี ลืมตาอ้าปากไม่ได้ ท้ายที่สุด รัฐก็เก็บภาษีจากเขาไม่ได้อยู่ดี”
“หรือแม้แต่ประชาชนด้วยกันเองก็มีความคิดว่า ถ้าตัวเองไม่มีลูก ทำไมต้องเสียภาษีให้คนมีลูกใช่ไหม ? เราเคยนำคำถามนี้ไปถามเพื่อนที่โสดและอาศัยอยู่ในประเทศรัฐสวัสดิการอย่างสวีเดน คำตอบที่ได้ทำให้เราประหลาดใจมาก คือ ‘ฉันไม่เห็นต้องคิดเลยว่าจะเสียภาษีให้ลูกใคร เพราะเด็กพวกนี้ก็ต้องมาเสียภาษีให้ฉันตอนแก่อยู่ดี’ นี่แสดงชัดว่าในสวีเดน รัฐสวัสดิการของเด็กและคนแก่มันสมดุลกัน”
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ไม่เพียงแต่ในเรื่องเด็กเล็ก แต่กรณีของ LGBTQIAN+ เองก็ไม่ต่างกัน
มีข้อโต้แย้งจำนวนมากในเรื่องสิทธิการให้ฮอร์โมน จนเกิดคำถามว่า ทำไมคนทั่วไปต้องเสียภาษีให้กับการรับฮอร์โมนของคนที่ต้องการข้ามเพศ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจมาจากการขาดการสื่อสารที่ชัดเจนถึงความเข้าใจในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน
“การให้ฮอร์โมนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ เพียงแต่ยังไม่ได้ขยายงบประมาณสำหรับคนข้ามเพศ นั่นแปลว่า สิ่งนี้คือสวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน ถ้าคุณไม่ได้อยากข้ามเพศคุณก็ไม่ต้องใช้ มันเหมือนกับสิทธิการลาป่วย ถ้าคุณแข็งแรงดี คุณก็ไม่ต้องใช้สิทธินี้ไง แต่คุณไม่ได้ถูกริดรอนสิทธิใด ๆ เลย”
ชานันท์ ยอดหงษ์
เป็นหนึ่งเสียงสะท้อนที่ ชานันท์ ในฐานะผู้ติดตามประเด็นความหลากหลายทางเพศ ชี้ให้เห็นอีกมุมมอง
และถ้ามองจากสภาพความเป็นจริง รศ.เก่งกิจ ชวนให้มองถึงอีกปัจจัย ที่ทำให้การเรียกร้องเดินไปได้ช้า ส่วนหนึ่งอาจมาจาก บริบทของสังคมแบบปัจเจก
“ภายใต้โครงสร้างของไทยตอนนี้ที่เน้นความมั่งคั่ง เติบโต หรือการพยายามเป็นผู้ประกอบการของคน วิธีคิดแบบปัจเจกชน (individualism) เช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ เพราไม่ได้มี วิธีคิดแบบคติรวมหมู่ (collectivism)“
“การที่รัฐสวัสดิการจะประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องมีวิธีคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีความเป็นส่วนร่วมมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะมีได้นั้น ต้องมาจากการรวมกลุ่มกันอย่างแน่นหนา และปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียกร้องรัฐสวัสดิการเกี่ยวพันกับเรื่องชนชั้น คนจนระดับล่างสุดเขาอยู่ไม่ได้หรอกหากเขาไม่ต่อสู้เรื่องนี้ ต่างจากคนรวยที่มีเงินมากพอที่จะอยู่อย่างปัจเจกชนได้เหมือนทุกวันนี้”
รศ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
‘รัฐสวัสดิการ’ ให้มองจากสายตาคนที่ ‘จนที่สุด’ ในสังคม
เป็นเรื่องจริง ที่การต่อสู้เรื่องรัฐสวัสดิการไม่เคยมาจากการเรียกร้องของคนรวย และ ในประเทศที่มีความความเหลื่อมล้ำสูงอย่างไทย แทบเป็นไปได้ยากที่คนรวยจะเข้ามาร่วมขบวนหรือยินยอมให้เกิดการสร้างรัฐสวัสดิการ รศ.เก่งกิจ ยังให้ความเห็นว่า การคิดถึงการมีชีวิตที่ดีของคนในชาติ จำเป็นต้องมองจากมุมของคนที่มีชีวิตที่แย่ที่สุดในสังคม
“เวลาเจ็บป่วย คนรวยใช้ประกัน แต่คนจนใช้บัตรทอง ลองคิดถึงในมุมของคนจนว่าถ้าเขาไม่มีบัตรทองแล้วต้องตายว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ?”
“มันเลยทำให้เราคิดเรื่องรัฐสวัสดิการบนฐานของคนที่มีชีวิตที่ดีอยู่แล้วไม่ได้ คนที่มีชีวิตโคตรดี เขานึกไม่ออกหรอว่าชีวิตดี ๆ ที่คนจนเขาต้องการมันเป็นยังไง รัฐสวัสดิการจึงต้องมองจากมุมคนที่แย่ที่สุด เสียเปรียบที่สุด อ่อนแอที่สุด และแบกรับภาระในสังคมมากที่สุด และต้องไม่ใช่ในมุมมองของการสงเคราะห์”
รศ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
คงไม่ต่างจาก แรงงานข้ามชาติ ซึ่ง รศ.เก่งกิจ ย้ำว่า แรงงานข้ามชาติเป็นตัวแทนคนที่มีชีวิตแย่ที่สุดในสังคมกลุ่มหนึ่ง แต่อาศัยอยู่ร่วมสังคมเดียวกับเรา คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก ถ้าจะบอกว่าคนไทยมีชีวิตที่ดีได้ทั้ง ๆ ที่แรงงานข้ามชาติอีกสิบล้านคนมีชีวิตแย่
ท้ายที่สุดแล้ว คำพูดที่กล่าวว่า “จะเรียกร้องอะไรนักหนาไม่สิ้นสุด” อาจผิดฝาผิดตัวเกินไป เพราะความต้องการของมนุษย์แต่ละยุคสมัยย่อมต่างกัน หลายสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้เมื่อหลายร้อยปีก่อน กลับกลายมาเป็นสิ่งที่วันนี้เราเรียกว่า สวัสดิการขั้นพื้นฐาน การเรียกร้องเพื่อการมีชีวิตที่ดีของประชาชนจึงเป็นสิทธิ และเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง
ถึงตรงนี้เราได้เห็นการต่อสู้เรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการของไทย กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง นักเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วนมีข้อเรียกร้องเป็นของตัวเอง หากยกระดับให้เป็นประเด็นสาธารณะร่วมกัน และมองรัฐสวัสดิการใหม่ในมุมมองของสิทธิตามยุคสมัย ที่ไม่ใช่เพียงการสงเคราะห์ ฉันทามตินี้ก็คงจะเกิดขึ้นได้ภายใต้จังหวะที่บานประตูแห่งโอกาสกำลังเปิดรออยู่…