จบลงไปสักพักแล้วสำหรับซีรีส์ดัง Squid Game ซีซัน 3 ที่แม้การเคลียร์เกมในด่านสุดท้ายนี้ จะทำให้แฟนซีรีส์จากทั่วโลกคอมเมนต์กันเสียงแตกมีทั้งประทับใจ และน่าผิดหวัง แต่จากกระแสก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การสร้างปรากฎการณ์เป็นซีรีส์เปิดตัวรายได้สูงสุดของแพลตฟอร์ม Netflix และตัวละครหลายคนกลายเป็นที่จดจำไปเป็นที่เรียบร้อย
โชฮยอนจู ผู้เล่นหมายเลข 120 หรือที่แฟนๆ เรียก ออนนี่ ซึ่งหมายถึงพี่สาวในภาษาเกาหลี รับบทโดยนักแสดงชาย พัคซองฮุน อดีตทหารกองกำลังพิเศษของเกาหลีใต้ ที่เป็น ผู้หญิงข้ามเพศ ทุกคนต่างลุ้นเอาใจช่วยให้เธอเอาชนะเกมปลาหมึก เพื่อนำเงินรางวัลไปผ่าตัดข้ามเพศที่ประเทศไทย พร้อมกับสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ หลีกหนีจากอดีตอันเจ็บปวดของสังคมในบ้านเกิดของเธอ

แม้ท้ายที่สุด บทสรุปของออนนี่จะเป็นอย่างที่หลายคนได้รับชม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งความพยายามของทั้งนักแสดง และผู้กำกับ ที่ต้องการยกระดับบทของตัวละครคนข้ามเพศ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ให้เกิดความหลากหลาย เฉกเช่นแก่นสารของ Squid Game ที่ต้องการสื่อถึงแง่มุมของมนุษย์ ล้วนมีเฉดที่หลากหลาย ทั้งเรื่อง เพศ ความรัก โลภ โกรธ หลง
แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องเผชิญการตัดสินใจ ทุกคนล้วนกลับมาที่จุดเดียวกัน คือ ในฐานะ มนุษย์
ถึงอย่างนั้น Squid Game ตั้งแต่ซีซันที่ 2 ที่ได้นักแสดงชายระดับแนวหน้าของเกาหลีใต้อย่าง พัคซองฮุน มารับบทผู้เล่น 120 แต่ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม และมีอีกส่วนที่รู้สึกว่าบทบาทนี้ควรไปที่นักแสดงหญิงข้ามเพศจริง ๆ มาแสดงมากกว่า แต่ใน บทสัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เขาย้ำว่า ตระหนักดีถึงความสำคัญของบทบาทนี้ แต่แทนที่จะหลบเลี่ยงเขากลับยอมรับทุกความเห็นอย่างรอบคอบ และเอาใจใส่
“ฉันรู้ว่าจะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับผู้ชายแท้ที่เล่นบทบาทนี้ และนั่นก็สมเหตุสมผล นั่นเป็นเหตุผลที่ได้พบปะกับบุคคลข้ามเพศ เพื่อขอคำแนะนำ และรับฟังเรื่องราวของพวกเขา ฉันต้องการเข้าใจประสบการณ์ของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง และหลีกเลี่ยงการลดทอนบทนี้ให้เป็นเพียงภาพล้อเลียน”
พัคซองฮุน

การเตรียมตัวของ พัคซองฮุน ไม่ใช่แค่อ่านบทเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงการพูดคุยอย่างจริงใจกับชุมชนคนข้ามเพศด้วย เพราะเป้าหมายของเขาไม่ใช่แค่การ แสดง บทของโชฮยอนจูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้เกียรติความเป็นจริง ทั้งทางอารมณ์ สังคม และวัฒนธรรมของผู้หญิงข้ามเพศในเกาหลีใต้ ซึ่งยังคงมีการนำเสนอตัวตนของผู้หญิงข้ามเพศน้อยมาก
ความทะเยอทะยานพลิกบท ‘ตัวละครข้ามเพศ’ ในเกาหลีใต้
กลายเป็นข้อความส่งถึงคนทั่วโลก
ที่ผ่านมาตัวละครข้ามเพศโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก มักถูกนำเสนอด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาเป็นเวลานาน เช่น ถูกนำเสนอเป็นตัวตลก เหยื่อ หรือผู้ถูกสังคมรังเกียจ แต่กลับไม่ค่อยได้รับบทบาทที่มีความซับซ้อนในฐานะมนุษย์เท่ากับบทตัวละครชาย หรือหญิง สำหรับทีมงาน Squid Game พวกเขาไม่ต้องการแบบนั้นอีกต่อไป และเลือกที่จะทำให้ตัวละครโชฮยอนจูมีมิติ ละเอียดอ่อน
มันก็ประสบความสำเร็จทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับความแท้จริงในการเล่าเรื่อง แม้ในช่วงแรกคนดูจะเอาใจช่วยเธอในฐานะคนที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ แต่สุดท้ายผู้คนต่างยกย่องผู้เล่นหมายเลข 120 ในฐานะ ผู้ปกป้อง ที่ไม่ได้ยึดติดกับเรื่องเพศสภาพอีกต่อไป และในท้ายที่สุด คือ การมองเห็นที่มากขึ้นสำหรับบุคคลข้ามเพศในวงการบันเทิง
“ฉันหวังว่าเราจะได้เห็นตัวละครข้ามเพศเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในเกมเอาตัวรอด หรือเรื่องราวโศกนาฏกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องราวความรัก เรื่องตลก และเรื่องราวอื่นๆ อีกด้วย เราทุกคนสมควรได้รับการมองเห็น”
พัคซองฮุน

Squid Game จึงไม่ใช่แค่รายการของเกาหลีเท่านั้น แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ที่มีผู้ชมหลายล้านคนทั่วโลก สะท้อนความเป็นจริงของสังคมที่ไม่เท่าเทียม ศีลธรรม และความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่เข้าถึงผู้คนอย่างกว้างขวาง ซึ่งการเพิ่มตัวละครข้ามเพศเป็นหัวใจสำคัญของซีรีส์ที่มีผู้ชมจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงการตัดสินใจที่สร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นการตัดสินใจทางการเมืองและวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งต้องจับตาเมื่อ Netflix เริ่มลงทุนกับความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ
เน้นเรื่องรัก ไม่เน้นเรื่องสิทธิ
ความหลากหลายในอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง
แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนัง และซีรีส์ไทย จะมีพื้นที่ให้กับความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงบทของตัวละครที่เริ่มมีมิติของความเป็นมนุษย์ แต่ก็ยังไม่ใช่แกนหลักของเรื่อง เท่ากับการเน้นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ เอาใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นเมื่อซีรีส์วาย ยูริ ของไทยได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมเป้าหมายทั้งในไทยและต่างประเทศ นับเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมหรือ ซอฟต์พาวเวอร์
สะท้อนผ่าน ผลสำรวจซีรีส์วายใน 2 แพลตฟอร์ม OTT ได้แก่ iQIYI และ VIU ที่ออกอากาศในปี 2566 จากแต่ละแพลตฟอร์ม โดย Media Alert ที่พบว่า ซีรีส์วายไทย มักเน้นที่การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ความโรแมนติก เป็นหลัก แม้จะพบว่า มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ แต่ยังอยู่ในระดับสอดแทรก และมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเวลารวมของซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง
จากการศึกษาพบว่า ซีรีส์วายส่วนใหญ่ยังคงเน้นเล่าเรื่องในระดับความสัมพันธ์รักของตัวละคร ที่เสมือนว่าไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของชายรักชาย หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ตัวอย่างเช่น อิสระในการใช้ชีวิต ความปลอดภัยในชีวิต การเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด สิทธิในการสมรส การมีบุตร สิทธิในการเข้าถึงความรู้เรื่องเพศศึกษาที่มีความเฉพาะ รวมถึงการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ
โดยความเป็นจริงแล้ว ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ยังคงเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย พยายามเคลื่อนไหวและเรียกร้อง และเป็นประเด็นที่ซีรีส์วายไทยสามารถนำมาใช้พัฒนาบทหรือการเล่าเรื่องเพื่อทำหน้าที่สะท้อนสังคมได้เช่นกัน แม้ซีรีส์วายที่ศึกษาบางเรื่องจะสะท้อนให้เห็นปัญหาดังกล่าว แต่อาจยังไม่มีน้ำหนักสำคัญมากเท่าการเน้นเล่าเรื่องความรักของตัวละครหลัก อาจสรุปได้ว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง ประเด็นเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ อาจไม่ใช่แก่น เป้าหมาย หรือกระทั่งองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเนื้อเรื่องของซีรีส์วายไทย
นอกจากนี้ การนำเสนอชายรักชายผ่านอาชีพที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่แกนหลักของเรื่อง จากผลการศึกษาที่พบว่า ตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายไทยทั้ง 6 เรื่อง ถูกนำเสนอผ่านบริบทการทำงานที่มีความหลากหลาย มีเพียงตัวละครเดียวเท่านั้นที่ไม่พูดถึงเรื่องอาชีพอย่างชัดเจน ข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพัฒนาการการเล่าเรื่องของซีรีส์วายไทย จากที่ผ่านมามักเน้นนำเสนอความรักของตัวละครในรั้วสถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยเป็นหลัก การที่ตัวละครหลักทั้ง 12 ตัว จากซีรีส์วายไทยที่ศึกษา มีอาชีพที่หลากหลาย อาจช่วยส่งเสริมให้สื่อและสังคมหันมาใส่ใจและนำเสนอตัวละครกลุ่มเพศหลากหลายในมิติทางอาชีพ ทางสถานภาพ ที่หลากหลาย จากเดิมที่มักจำกัดบทบาทหรือเหมารวมให้ตัวละครกลุ่มนี้มีอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

จากการศึกษา ยังพบว่า ตัวละครทั้ง 12 ตัว ไม่ได้ถูกเลือกปฎิบัติในด้านหน้าที่การงานแต่อย่างใด ซึ่งอาจถือเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า สังคมไทยยอมรับความสามารถของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในมิติการทำงานที่หลากหลาย แต่การเลือกเล่าเรื่องที่ไม่มีการกีดกันหรือไม่มีอุปสรรคในการทำงานของตัวละครอาจเป็นการหลีกเลี่ยงหรือเซ็นเซอร์สิ่งที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญในชีวิตจริงก็ได้เช่นกัน และอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า อาชีพ ยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องของซีรีส์วายไทย เช่นเดียวกับเรื่อง พ่อ-แม่ และ ครอบครัว
รวมถึงพ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจ-ยอมรับ แต่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อเรื่อง ซึ่งการไม่ได้รับการยอมรับ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า ทำให้มีความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเองน้อย เชื่อมโยงกับติดยาเสพติดสูง เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งการขาดโอกาสทางด้านอาชีพและรายได้ เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกในครอบครัวสามารถมอบให้ลูกหลานที่เป็น LGBTQ ได้ก็คือ ความรัก การสนับสนุน และยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ด้านสุขภาพในเชิงบวก รวมถึงความนับถือตนเอง
ผลการศึกษาครั้งนี้ พบด้วยว่า ตัวละครพ่อแม่ส่วนใหญ่ยอมรับตัวตนและรสนิยมทางเพศของลูกแบบเต็มใจ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของสังคมและความเปิดกว้างของพ่อแม่ในปัจจุบันมากขึ้น แต่พบว่าในซีรีส์ที่ศึกษา ส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงแบบผิวเผิน และไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดของความสัมพันธ์ รองลงมาเป็นการไม่กล่าวถึงตัวละครพ่อแม่ในเรื่อง นอกนั้น เป็นการแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครพ่อแม่ ที่อาจเริ่มจากการไม่ยอมรับ การยอมรับแบบไม่เต็มใจ สู่การยอมรับแบบเต็มใจ หรือไม่สนใจใยดีในภายหลัง และมักถูกเล่าแบบผิวเผิน หรือรวบยอดนำเสนอเพียงไม่กี่ตอน
ทั้งหมดอาจสะท้อนให้เห็นว่าพ่อ/แม่ของตัวละครหลักในซีรีส์วายไทยนั้น ยังไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญในการเล่าเรื่อง และยังไม่ใช่การเล่าเรื่องเพื่อมุ่งสะท้อนให้สังคมเห็นความสำคัญของพ่อแม่ในการยอมรับ การสนับสนุนตัวตนของลูก ที่อาจเป็นชายรักชาย หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างที่ควรจะเป็น
อนุชา บุญยวรรธนะ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มองว่า สิ่งที่ทำให้ซีรีส์วายของไทยต่างจากประเทศอื่น ๆ มาจากการที่ไทยเป็นสังคมเปิดกว้าง ทำให้ซีรีส์มีความหลากหลาย ส่งผลให้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก และทำให้คนทำงานเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น รวมไปถึงการมีนักแสดงอยากที่จะเล่นบทนี้มากขึ้น เทียบกับสังคมที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม นักแสดงอาจจะคิดหนักหากจะต้องเล่นบทผู้มีความหลากหมายทางเพศ
แต่ไทยยังต้องพัฒนาคอนเทนต์ให้หลากหลายมากขึ้น ทางออกดีที่สุดคือ ต้องเปิดพื้นที่ให้คนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าในทำงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ เพราะหากนับจำนวนผู้กำกับที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนเขียนบท ทีมงานเบื้องหลัง นักแสดง ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก จึงจำเป็นต้องมีความหลากหลายทางเพศทุกกลุ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เราเห็นเฉดสีของคนในสังคมผ่านโลกของภาพยนตร์ ซีรีส์ มากขึ้นอีก
“ส่วนหนึ่งของการพัฒนานอกจากจะเป็นศิลปะ ภาพยนตร์ ความบันเทิง ยังต้องมีหน้าที่ในการนำเสนอชุมชนด้วย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องเอาคนกลุ่ม LGBTQIAN+ เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนสิ่งที่คิดออกมา ไม่ใช่แค่รายได้อย่างเดียว สังคมต้องได้ประโยชน์ด้วย”
อนุชา บุญยวรรธนะ
ความหลากหลายในสื่อบันเทิง
สะท้อนความจริง หรือ กำลังยัดเยียด ?
หากสื่อบันเทิง หรือสื่อมวลชน มีอิทธิพลต่อการรับรู้ในวงกว้างของสังคม เช่นเดียวกับประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัว สิทธิพลเมือง การนำเสนอบทบาทของตัวละครคนข้ามเพศ หรือกลุ่มความหลากหลายอื่น ๆ ก็คงไม่ต่างกัน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเพิ่มความหลากหลายทางเพศเข้าไปในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ยกระดับให้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์มากที่สุด
ในทางกลับกันหากมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมมากจนเกินไป อาจเกิดปรากฎการณ์เช่นเดียวกับภาพยนตร์ของดิสนีย์หลายๆ เรื่องในช่วงที่ผ่านมา ที่ถูกมองว่า ยัดเยียด จนกลายเป็นกระแสตีกลับ อาจเพราะความหลากหลายที่เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวละคร ไม่ใช่แกนหลักของเรื่องตามที่ควรจะเป็นเป้าหมายของการสื่อสาร ให้ผู้ชมตีความ หรือเกิดการรับรู้ด้วยตนเองจากภายใน
เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าในโลกของภาพยนต์ ซีรีส์ หรือความเป็นจริง มนุษย์ล้วนแล้วแต่มีมิติที่ซับซ้อน มีสิ่งที่รัก มีสิ่งที่ต้องปกป้อง และบางครั้งก็ทำผิดพลาด แต่ทั้งหมดประกอบสร้างจนเป็นเกิดเป็นสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายให้ผู้คนได้เรียนรู้
Squid Game ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จึงอาจนับเป็นหนึ่งในความทะเยอทะยานยกระดับจากสื่อบันเทิง กลายเป็นสื่อสะท้อนโลกตามที่เป็นอยู่ และโลกที่เราต้องการสร้างขึ้น