สังคมนิยม(วุฒิ) : มองคุณค่า ‘คน’ ที่มากกว่าใบปริญญา จากกรณีศึกษา ‘หมอเกศ’

ไทยกำลังมี ‘วุฒิสภา’ ชุดใหม่
ที่ไร้การตรวจสอบ ‘วุฒิ’ อย่างโปร่งใส

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ ภายหลังสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ป้ายแดงที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดอย่าง พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ หมอเกศ

เมื่อสังคมออกมาตั้งข้อสังเกตกรณีวุฒิปริญญาโท และปริญญาเอก ของเธอที่ได้มาจาก Califonia University ว่ากันว่าสถาบันที่อ้างนี้ผลิตใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยห้องแถวหรือไม่ ? ทำเล่มวิจัยเองหรือไม่ ? และจ่ายเงินเพื่อซื้อวุฒิจริงหรือไม่ ?

เบื้องต้นมีข้อพิสูจน์บางประการแล้วว่า วุฒิฯ ที่หมอเกศแสดงให้เห็นนั้นเป็น ใบเทียบวุฒิ และ Califonia University เป็นเพียงหน่วยงานให้บริการเทียบโอนวุฒิฯ มีชื่อเต็มว่า California University for Credential Evaluation กล่าวคือ หน่วยงานแห่งนี้ไม่ได้มีศักดิ์เป็น มหาวิทยาลัย ที่สามารถมอบ วุฒิการศึกษา เพียงแต่มีชื่อเฉพาะที่ชวนทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัย (University) นั่นเอง

เรื่องราวของหมอเกศที่กลายเป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ The Active ไม่ได้ชวนขุดคุ้ยประวัติการศึกษาของใคร และตัดสินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหมาะสมหรือไม่ ? เพราะนั่นขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคลตัดสินได้เอง (และนี่เป็นหน้าที่ของ กกต. ในการตรวจสอบให้เรื่องนี้เกิดความชัดเจน โปร่งใส)

แต่สิ่งที่เราตั้งใจคืออยากชวนทุกคนช่วยกันตั้งคำถาม ว่า ทำไมผู้คนจึงยังต้องดิ้นรนเพื่อการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา ? มีเหตุผลอะไรที่เราต้องยอมจ่ายจำนวนมากเพื่อแลกกับใบปริญญา ? หรือจริง ๆ ไม่เฉพาะแค่หมอเกศเพราะเราเอง ต่างก็เป็นเหยื่อของระบบวุฒิการศึกษาเหมือนกัน

แล้วทำอย่างไรเพื่อให้ วุฒิการศึกษา สามารถสะท้อน ทักษะ และ คุณค่า ของผู้คนได้อย่างแท้จริง

เชื่อมั่นใบปริญญาจนสุดใจ
จนเผลอมองข้ามคุณค่าเนื้อในตน

ก่อนไปให้ถึงคำตอบ ของคำถามว่า ทำไมคนเราต้องการมีวุฒิการศึกษา ? ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ชวนทำความเข้าใจโจทย์ของโลกความเป็นจริงก่อนว่า “เราไม่อาจรู้ได้ด้วยตาเปล่า ว่าใครมีทักษะอะไรบ้าง”

ดังนั้น ระบบวุฒิการศึกษาจึงทำหน้าที่เป็น ตัวแทน (Proxy) ให้กับทักษะของมนุษย์ ใบวุฒิฯ สามารถบ่งชี้ได้คร่าว ๆ ว่า คนแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญอย่างไร เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างเลือกรับคนให้ตรงกับงาน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบวุฒิการศึกษาปัจจุบันนี้ มีอยู่ 2 ข้อหลักด้วยกัน คือ

  1. วุฒิการศึกษาไม่อาจสะท้อนทักษะของแรงงานได้อย่างครบถ้วน: เราอาจจะได้พบเห็นตามหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง เกี่ยวกับปัญหาที่นายจ้างรับสมัครคนจบวุฒิฯ ป.ตรี แต่กลับไม่ได้ศักยภาพตามที่คาดหวัง หรือที่เรียกกันว่า Underqualified คือ การที่คนเรียนจบมาแล้วมีความสามารถต่ำกว่าระดับวุฒิการศึกษา ตรงกันข้าม ก็มีคนที่จบวุฒิฯ ป.6 แต่มีทักษะสูง กลับไม่มีโอกาสเข้าถึงใบวุฒิฯ ที่สามารถสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของเขาได้ ดังนั้นจึงมีคนที่มีวุฒิฯ แต่ไม่มีทักษะ หรือมีทักษะแต่กลับไม่มีวุฒิฯ

  2. ใคร ๆ ก็เริ่มออกวุฒิการศึกษาได้เองมากขึ้น: หลายหน่วยงานเริ่มออกแบบวุฒิการศึกษาของตัวเอง อย่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ก็ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยรับรองบุคคลที่มีทักษะ หรือความชำนาญ แต่ไม่มีวุฒิฯ ก็สามารถมาเข้ารับการทดสอบที่สถาบันเพื่อขอรับคุณวุฒิ นำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีการออกแบบการทดสอบและรับรองทักษะอย่างมีมาตรฐาน แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่ทุกสถาบันจะมีมาตรฐานเดียวกันหมด

นักวิจัยด้านการเรียนรู้ อธิบายอีกว่า ลำพังแค่ 2 ปรากฏการณ์ข้างต้น ไม่ได้นำไปสู่การพยายามซื้อขายวุฒิการศึกษา หรือการปลอมแปลงวุฒิเพื่อให้บรรลุประโยชน์บางอย่าง แต่ยังมีอีก 3 เงื่อนไขสำคัญ คือ

  • สังคมยังให้คุณค่ากับวุฒิการศึกษา และวุฒิฯ ยังมีชนชั้น: แน่นอนว่าถ้าสังคมยังนิยมวุฒิฯ กันอยู่ คนก็ต้องอยากมีวุฒิฯ เป็นธรรมดา แต่ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น เพราะคนยังมีอคติกับวุฒิฯ เช่น “วุฒิฯ จากมหาวิทยาลัยดังย่อมดีกว่ามหาวิทยาลัยเฟรนไชส์” หรือ “การได้วุฒิฯ ต่างประเทศย่อมดูโก้กว่าได้วุฒิฯ ในไทย” การมีชนชั้นเช่นนี้ ทำให้คนพยายามไขว่คว้าวุฒิฯ ที่มีศักดิ์สูงกว่า เพื่อการยอมรับที่มากกว่า และอาจนำไปสู่วิธีการได้วุฒิฯ ที่ไม่ถูกต้อง เช่น การซื้อขาย การปลอมแปลง เป็นต้น แต่ท้ายที่สุด การมีวุฒิฯ ชั้นสูงก็ไม่ได้แปลว่าคนนั้นจะเก่งกว่าหรือมีทักษะมากกว่า เพราะการทำงานจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับวุฒิฯ เพียงอย่างเดียว

“คงพูดได้ยากถ้าจะเคลมว่า การที่มีคนเก่ง ๆ จบจากสถาบันนี้ แปลว่าสถาบันนี้มีฝีมือมีคุณภาพ หรือเป็นเพราะสถาบันนี้ได้หัวกะทิเข้าไปเรียนกันแน่ (Cream in – cream out)”

ณิชา พิทยาพงศกร
  • มีช่องทางให้ได้มาซึ่งวุฒิการศึกษาโดยง่าย: ปฏิเสธไม่ได้ว่า “จ่ายครบ จบแน่” ยังเป็นเงื่อนไขของการได้วุฒิฯ ในหลายสถานศึกษา และไม่ใช่แค่การซื้อวุฒิฯ แต่การใช้เงินเพื่อเป็นแต้มต่อในการเข้าถึงโอกาสก็ยังพบเห็นมาก เช่น การซื้อขายงานวิจัย การซื้อข้อสอบ ตลอดจนกรณีอย่าง Califonia University ที่เป็นประเด็นอยู่ ก็เป็นหน่วยงานให้บริการเทียบโอนวุฒิฯ เพื่อให้คนต่างประเทศได้มีวุฒิฯ ใช้ในการทำงานในสหรัฐอเมริกาได้ แต่คำถามคือ สถาบันที่ให้วุฒิฯ เหล่านั้นจะการันตีได้อย่างไรว่า วุฒิฯ จะสะท้อนทักษะของผู้ถือวุฒิฯ ได้อย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน

  • ผู้ว่าจ้างหรือองค์กรไม่ให้ความสำคัญในการตรวจสอบวุฒิการศึกษา: แม้ปัญหาการปลอมวุฒิฯ ระบาดหนักในสังคมไทย แต่กลับพบว่า ท่าทีของหน่วยงานส่วนใหญ่ยังไม่เข้มงวดต่อการ ตรวจสอบ วุฒิฯ เท่าที่ควร การตรวจสอบที่ว่า ไม่ใช่แค่การโทรไปสอบถามสถาบันที่เรียนจบ แต่หมายถึงการสร้างชุดการทดสอบทักษะเพื่อวัดผู้สมัครว่ามีทักษะตามที่วุฒิฯ ได้กล่าวอ้างจริงหรือไม่ เช่น การสัมภาษณ์ทัศนคติ การให้โจทย์ผลิตชิ้นงาน ตลอดจนการทดลองให้ทำงานเป็นทีม เพื่อวัดว่าคน ๆ นี้มีทักษะตรงตามความต้องการขององค์กรหรือไม่

เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน มนุษย์เองก็มีทักษะที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการจะหวังให้สถาบันการศึกษาที่เชื่องช้า ออกวุฒิฯ ได้ตรงกับผู้เรียนได้อย่างแม่นยำ คงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ณิชา จึงเสริมว่า ในขณะที่เราพยายามออกแบบระบบวุฒิการศึกษาให้มีความจำเพาะและหลากหลาย เพื่อสามารถ ใส่รหัส (Encode) ทักษะของมนุษย์แต่ละคนได้นั้น อีกฟากหนึ่งอย่างสถานประกอบการ องค์กร และหน่วยรับแรงงานต่าง ๆ ก็ควรมีวิธีการ ถอดรหัส (Decode) ทักษะของมนุษย์ที่หลากหลายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องคัดเลือกบุคคลมาทำงานให้กับสาธารณชน ที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน

“มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะบรรจุประสบการณ์ทักษะความรู้ของคนทั้งชีวิตเข้าไปอยู่ในกระดาษใบเดียว และอ้างอิงคุณค่าของเขาจากกระดาษใบนั้น ด้วยเหตุนี้ มันเลยจำเป็นต้องมีกระบวนการคัดเลือกอื่นเหมือนที่หลายบริษัททำ เช่น การสัมภาษณ์ การทำชิ้นงานตัวอย่าง การทำงานเป็นทีมเพื่อคัดคนไปอยู่ในงานที่เหมาะสม หรือ ‘Put right man in the right job‘”

ณิชา พิทยาพงศกร
ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้

จากวุฒิสภา สู่วิกฤตวุฒิการศึกษา

บริษัทระดับโลกอย่าง Google และอีกหลายบริษัทในปัจจุบันนี้ มีขั้นตอนคัดเลือกคนเข้าทำงานอย่างละเอียดมากขึ้น ล้ำหน้าไปมาก ซึ่งนักวิจัยด้านการเรียนรู้ ตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานที่เป็นหลักประกันอำนาจประชาชนอย่าง รัฐสภา รวมถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ดูแลการคัดเลือกบุคคล กลับแทบไม่มีขั้นตอนการตรวจสอบวุฒิฯ หรือทักษะเลย หรือถ้าอ้างว่าคัดแล้ว กระบวนการคัดเลือกนั้น ได้เอื้อให้ประชาชนได้ สว. ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มอาชีพ หรือมีความเข้าใจในกระบวนการนิติบัญญัติมากขึ้นหรือไม่ ? แล้ว กกต. ในฐานะ HR ของประชาชนจะจัดการความคลางแคลงใจของผู้คนอย่างไร ?

“เราเห็นว่าเอกชนมีการตรวจสอบวุฒิฯ แล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการเมืองอย่างสมาชิกวุฒิสภ ดังนั้น กกต. ต้องทำหน้าที่เหมือนเป็น HR แทนประชาชน แต่คุณแทบไม่ตรวจสอบวุฒิฯ ผู้สมัครเลย ค่าสมัคร 2,500 บาทคุณเอาไปทำอะไร ?”

ณิชา พิทยาพงศกร

ไม่ใช่แค่วุฒิสภา แต่วิกฤติวุฒิการศึกษานี้กำลังระบาดในสังคมไทย เมื่อใบแสดงคุณวุฒิมีกันอย่างเกลื่อนกลาด และเชื่อมั่นในพลังของใบปริญญามากจนสุดใจ แต่ไม่ได้ผิดที่หากจะเชื่อเช่นนั้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องถอยกลับมามองว่า บทบาทของวุฒิการศึกษาควรถูกจัดวางอย่างไร ? เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม ซึ่งนักวิจัยเสนอทางออก 4 วิธีด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. เปิดเผยข้อมูลการพัฒนาผู้เรียนของสถาบันการศึกษา: หากเรามองบทบาทของภาครัฐเป็นธุรกิจ เป็นผู้ให้บริการด้านวุฒิการศึกษา ประชาชนที่เป็นผู้รับบริการก็ควรได้รับข้อมูลว่าแต่ละสถาบันการศึกษามีผลประกอบการอย่างไร กล่าวคือ สถาบันการศึกษาต้องเปิดข้อมูลให้กับสาธารณะ เช่น อัตราการจบมามีงานทำ, อัตราเงินเดือนบัณฑิตจบใหม่, คุณภาพขององค์กรที่เข้าทำงาน ตลอดจนความพึงพอใจของบัณฑิตที่มีต่อสถาบัน เพื่อให้คนเห็นคุณภาพของสถานศึกษาว่าได้ให้อะไรกับบัณฑิตมากกว่าใบปริญญาหรือไม่ ?

  2. สร้างระบบประเมินทักษะก่อนเข้าทำงาน: เพื่อวัดว่าผู้สมัครมีทักษะตามที่อ้างไว้ในวุฒิการศึกษาจริงหรือไม่ ดังที่กล่าวไปข้างต้น

  3. สภาวิชาชีพต้องกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ: หากเราไม่อาจพึ่งสถานศึกษาให้เปิดข้อมูล หรือหวังให้นายจ้างคัดกรองคน สภาวิชาชีพก็ควรออกมาเรียกร้องในกรณีที่มีบุคคลแอบอ้างถึงวิชาชีพ แต่กลับปฏิบัติตนไม่สอดคล้องตามมาตรฐานหรือจรรยาบรรณ การตรวจสอบที่เข้มแข็งของผู้คนในอาชีพเดียวกัน จะช่วยทำให้การแอบอ้างวุฒิฯ ทำได้ยากขึ้น อย่างกรณีหมอเกศ แพทยสภาก็ได้ออกมาตั้งข้อกล่าวโทษ ถึงการแอบอ้างคุณวุฒิเกินจริง เป็นความเชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีการรับรอง

  4. กลับมาตั้งคำถามกับตนเองต่ออคติทางคุณวุฒิ: หลายครั้งที่วุฒิการศึกษา กลายเป็นเครื่องมือในการตัดสินว่าใครบางคนไม่เหมาะสมกับบางตำแหน่ง หรือการเชื่อว่าคนที่เรียนจบสูงกว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า ฯลฯ ความคิดเหล่านี้ยิ่งเสริมแรงให้อคติทางคุณวุฒินั้นรุนแรงขึ้น และยิ่งทำให้เรามองข้ามคุณค่าในตน และตัดสินกันแค่ใบปริญญา 

สำหรับอคติทางคุณวุฒิ ไม่ได้ทำร้ายเฉพาะคนรอบตัว แต่ยังย้อนมาบั่นทอนคุณค่าในตัวเราอีกด้วย เพราะถ้าไม่เข้าใจตัวเองมากพอ วุฒิฯ อาจกลายเป็นเพดานที่ทำให้คนเชื่อว่าคุณค่าเรามีเพียงเท่าที่ปริญญาเขียนไว้ ซึ่ง ณิชา ทิ้งท้ายว่า กรณีหมอเกศ เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงปัญหาระบบวุฒิการศึกษาของไทย และชวนทุกคนทบทวนชีวิตตนเอง ว่า “เราเองก็เป็นเหยื่อของค่านิยมเช่นนี้อยู่หรือไม่ ?”

“แทนที่จะโฟกัสที่บุคคล ชวนมองว่าหมอเกศก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ภายใต้แรงกดดันของสังคม และอาศัยช่องว่างของค่านิยมเพื่อเข้าไปสู่ตำแหน่ง ดังนั้นคนที่เราควรจะเรียกร้องความรับผิดชอบด้วย คือ กกต. เพราะเราเสียภาษีทุกปี เพื่อเป็นค่าจ้างของคนเหล่านี้ แต่ประชาชนกลับไม่มีสิทธิออกแบบเลยว่า เราจะคัดเลือกวุฒิสภาอย่างไร”

ณิชา พิทยาพงศกร

เพราะมีทักษะ จึงมีวุฒิฯ – ไม่ใช่มีวุฒิฯ จึงมีทักษะ

เมื่อสถานศึกษาทำให้คน ๆ หนึ่งได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา แต่ไม่ได้ประกันว่าผู้เรียนจะได้ทักษะอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในยุคที่ความรู้หมดอายุได้เร็วมากขึ้น บางความรู้ที่ครูสอนเมื่อปีก่อน ปีนี้อาจจะใช้การไม่ได้แล้ว แต่กลับกัน ผู้คนจำนวนมากก็ได้ทักษะและความเชี่ยวชาญจากแหล่งความรู้ที่มีอยู่มหาศาลทั้งในและนอกโลกออนไลน์ แต่ปัญหาคือ เราไม่อาจเอาทักษะนอกห้องเรียนเหล่านั้นไปแลกเป็นวุฒิการศึกษาของสถานศึกษาได้ทั้งหมด

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีทักษะ มาสอบเทียบระดับ เปลี่ยนเป็นคุณวุฒิเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานหรือศึกษาต่อ โดย สคช. มีหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับเพื่อรับรอง สมรรถนะ ของคนตามมาตรฐานอาชีพ โดยมีการร่วมมือกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการสร้างคุณวุฒิที่ตอบโจทย์ทั้งคนและตลาดแรงงานด้วย

ปัจจุบัน สคช. รองรับการวัดผลมาตรฐานอาชีพมากถึง 54 สาขา และมีการวัดผลมาตรฐานสมรรถนะอีก 9 ทักษะ เพื่อตอบโจทย์ของโลกของงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ อธิบายว่า บทบาทของ สคช. มีอยู่เพื่อย้ำว่า คุณวุฒิ ยังมีความสำคัญต่อสังคม เพียงแต่สิ่งที่ต้องทบทวนกันใหม่คือค่านิยมของสังคมที่มีต่อคุณวุฒิ จึงชวนสังคมมองใหม่ว่า ทุกวันนี้โอกาสในการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้แต่กลุ่มเยาวชนที่ไม่มีต้นทุนมากพอในการเข้าถึงระบบการศึกษาภาคบังคับหรือเรียนในระดับมหาวิทยาลัย พวกเขาก็ยังเรียนรู้ผ่านการทำงานช่วยเหลือที่บ้าน หรือการทำงานพิเศษได้ แทนที่จะละเลยทักษะเหล่านี้ สคช. จึงต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตัวเอง และให้คุณวุฒิเพื่อเบิกทางสู่โอกาสที่ดีกว่า

“เราไม่สนใจว่าเขาจะเรียนจบอะไรมา หรือเรียนไม่จบ แต่สิ่งที่เราสนใจคือ เขาสามารถพิสูจน์ให้เราเห็นว่าเขาทำได้ มีทักษะ และมีความรู้ในอาชีพนั้นจริงผ่านกระบวนการของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” 

จุลลดา มีจุล

อย่างไรก็ตาม คุณค่าของวุฒิขึ้นอยู่กับมีคนยอมรับในวุฒินั้นมากแค่ไหน ดังนั้นการสร้างแบบทดสอบจึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือจากภาคธุรกิจและบุคคลในวิชาชีพมาร่วมออกแบบ ทาง สคช. จึงได้นำโจทย์ของสมาพันธ์อาชีพต่าง ๆ มาเป็นแกนหลักในการทดสอบ และให้สถานประกอบการต้องมาร่วมสร้างระบบคุณวุฒิด้วย เพื่อให้การประเมินนั้นได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และผู้ถือวุฒิก็จะได้รับการยอมรับด้วยเช่นกัน

‘ธนาคารหน่วยกิต’ คิดใหม่
ให้อำนาจการศึกษาเป็นของผู้เรียน

ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการไม่น้อยพบเจอคือ คนส่วนใหญ่ในสังคมกำลังถือ “วุฒิการศึกษาที่ไม่เฉพาะเจาะจง” เช่น วุฒิ ป.6, ม.3 กล่าวคือ เป็นวุฒิฯ ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าแรงงานเชี่ยวชาญ​ทักษะใดบ้าง ทำให้การคัดเลือกคนเข้าทำงานจึงยากที่จะได้คนตรงกับงาน หรือต้องเสียเวลามาฝึกฝนงานกันใหม่ ผอ.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จึงเห็นว่า ค่านิยมยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป สถานประกอบการบางส่วนเริ่มมองหาคนที่มีคุณวุฒิเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น

ดังนั้น หากแรงงานได้ฝึกฝนทักษะเฉพาะทางเพิ่ม หรือมีประสบการณ์วิชาชีพจากการทำงาน ก็สามารถมาสอบคุณวุฒิได้ตลอดช่วงชีวิต และสามารถเก็บเป็นหน่วยกิตไว้ในธนาคารได้

โดยวิธีการทำงานของธนาคารหน่วยกิตในมุมของ สคช. มีอยู่ 2 วิธี คือ 

  1. ใครก็ตามที่มีทักษะความเชี่ยวชาญสามารถมาสอบเทียบและเก็บเป็นหน่วยกิตไว้ในระบบได้ 

  2. นำคุณวุฒิที่เคยได้รับจาก สคช. ไปเทียบโอนกับหน่วยการศึกษาอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนเป็นวุฒิทางการศึกษา เช่น นาย A มีวุฒิฯ ม.3 แต่สามารถสอบได้คุณวุฒิทักษะช่างเครื่องยนต์ไฟฟ้าระดับ 5 ก็อาจนำมาแลกเปลี่ยนเป็นวุฒิเทียบเคียงกับ ปวส. ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวคิดธนาคารหน่วยกิตยังไม่ได้เปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะยังติดปัญหาเรื่องการเทียบโอนระหว่างวุฒิ ว่า จะทำอย่างไรให้ได้สัดส่วน อย่างกรณีของนาย A ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เขาอาจเทียบโอนวุฒิ ปวส. ได้ แต่อาจจะให้เข้าเรียนใน ปวส. เพิ่มสัก 6 เดือน เป็นต้น ซึ่ง ผอ.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่า กระบวนการออกแบบต้องอาศัยการร่วมมือจากหน่วยการศึกษาทุกภาคส่วน ถ้าหากทำได้ จะเป็นการทลายกรอบการศึกษาแบบเก่า ที่กำหนดให้ทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน แต่เปลี่ยนมามองที่ความสามารถของบุคคลและทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

“สมมติว่าคุณเป็นเจ้าของร้านเสริมสวย ก็เทียบเท่าคุณวุฒิธุรกิจเสริมสวยระดับ 6 หรือเทียบเคียงได้กับ ป.ตรี คุณสามารถเอาดีในอาชีพคุณไปได้เลยโดยไม่ต้องวกกลับมาศึกษาต่อ และในอนาคต ค่านิยมเรื่องวุฒิการศึกษาจะน้อยลง เพราะคุณวุฒิวิชาชีพก็ทำให้คุณได้มีรายได้ มีการเติบโตในอาชีพ มีจุดยืนในอาชีพของคุณได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งการศึกษาในระบบอย่างเดียว” 

จุลลดา มีจุล

ทั้งนี้ ระบบเทียบโอนคุณวุฒิ และ ธนาคารหน่วยกิต จะไปต่อได้ รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดของระบบการศึกษาอย่างจริงจัง เข้าใจบทบาทของคุณวุฒิวิชาชีพและวุฒิการศึกษา โดยเน้นให้คนแข็งแรงได้ด้วยสิ่งที่เขามีดีอยู่แล้ว

ดังนั้นการวางระบบ Reskill & Upskill ให้แรงงานสามารถเทียบวุฒิ-พัฒนาทักษะได้ตลอด จะช่วยให้แรงงานมีความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ของโลกได้ตรงจุด ขณะที่นายจ้างจะได้ว่าจ้างคนที่ตรงกับงาน และระบบการศึกษาก็ไม่ต้องรับภาระในการพยายามสร้างอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก และเอาเวลาไปใส่ใจการพัฒนาคนขั้นพื้นฐานให้แข็งแรงมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง