เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศเอาไว้ว่า “จะไม่ให้เด็กไทยคนไหนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา” หรือ “Thailand Zero Dropout” เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเล่าเรียนและพัฒนาตนเอง สู่การเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ หาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นอีกแรงสำคัญสู่การพัฒนาประเทศ เพื่อรับมือกับภาวะแรงงานขาดแคลนในสังคมผู้สูงอายุ
แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปให้ถึงรูปธรรมความสำเร็จอย่างที่นายกฯ ตั้งเป้าหมาย แต่อย่างน้อยความพยายามเหล่านั้น ก็เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วที่ จ.ราชบุรี พิสูจน์ให้เห็นมาตั้งแต่ ปี 2565 เริ่มจากพื้นที่นำร่อง จนกลายเป็น ราชบุรีโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ถ้ายังจำกันได้ เดือนตุลาคม ปีก่อน (ปี 2566) The Active เคยลงพื้นที่ และค้นหาความหมายของคำว่า ราชบุรีโมเดล โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวของเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ในช่วงวัยรอยต่อขึ้น ม.3
บีม, เปา, พ็อต และ เอ็ม คือ เยาวชนทั้ง 4 คนที่พลัดหลงจากระบบการศึกษา เพราะข้อจำกัดของทางบ้าน และปัญหาทางใจส่วนตัว ต่อมาได้รับการค้นหาและช่วยเหลือจาก โรงเรียนมหาราช 7 อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และภาคีเครือข่ายที่มีส่วนช่วยเหลือ ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสศึกษาต่อในการศึกษาทางเลือกภายใต้ระบบ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” จากวันนั้น…จนถึงวันนี้
- เปา เรียนจบรับวุฒิฯ ม.3 แล้ว และเลือกศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิค
- พ็อต เรียนจบ ม.3 และเลือกเข้าทำงานต่อ
- เอ็ม ได้กลับมาเข้าเรียนต่อในโรงเรียน
- บีม ได้ย้ายไปอยู่ที่ตรัง แต่ยังได้รับการติดตามเสมอจากทางโรงเรียน
นอกจากนี้ ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ได้เรียนจบ และเข้าทำงานต่อด้วยวุฒิฯ ที่พวกเขามี
ครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 ผู้ดูแลเด็กที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษา บอกว่า หลังจากที่โรงเรียน ได้นำร่องการจัดการศึกษา “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” มาร่วมปีกว่า ขณะนี้ได้เปิดหลักสูตรเต็มรูปแบบ และมีนักเรียนที่เคยหลุดจากระบบ กลับมาสมัครเรียนใหม่ด้วยใจที่หวังวุฒิฯ ม.3 เป็นขั้นต่ำ
โดยโรงเรียนได้รับการสนับสนุน มีระบบการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ มีอุปกรณ์การเรียนทางไกลทำให้ขยายผลการช่วยเหลือไปยังเด็กช่วงชั้นอื่นได้นอกจากเด็กมัธยมฯ ต้น นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกกฎทรงผม ให้เด็กไว้ผมยาวได้ เพื่อให้นักเรียนสบายใจต่อการ กลับมาในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง
“มีเด็กหลายคนที่เคยหลุดไป กลับมาสมัครเรียนใหม่ เพราะพวกเขาก็อยากเรียนจบ แต่ที่ผ่านมาการศึกษามันไม่ยืดหยุ่นพอสำหรับพวกเขา พอเขาเห็นว่าเราเปิดโอกาสให้เขาเรียนได้สะดวกมากขึ้น พวกเขาก็ยินดีที่จะเรียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันสนับสนุนให้โรงเรียนมีศักยภาพมากพอที่จะสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ถึง 3 รูปแบบ”
ครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง
แต่ในช่วงที่ผ่านมาของความพยายามแก้ปัญหา ครูพีช ยอมรับว่า โรงเรียนได้ค้นพบโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ เช่น เด็กที่ตกหล่นเป็นเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) แต่ตอนนี้ได้การสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จัดครูสอนประกบที่บ้าน รวมถึงทางเขตพื้นที่การศึกษาเองก็เข้าใจถึงวิธีการดำเนินงานมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาบุคลากร หลักสูตร เพื่อสอดรับกับนโยบาย ราชบุรี Zero Dropout และขยายผลไปยังโรงเรียนคู่พัฒนาข้างเคียงด้วย
การเรียนรู้ตลอดชีวิต : ยาแนวรอยต่อการศึกษา
ช่วงชั้นมัธยมฯ ต้น ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มักเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่เด็กส่วนใหญ่จะตกหล่นไปจากห้องเรียน คำถามคือ เมื่อพวกเขาตัดสินใจก้าวออกจากรั้วโรงเรียน ใคร ? จะรับหน้าที่เป็นผู้ติดตามกลับเข้าสู่การศึกษาอีกครั้ง
คำตอบอาจเป็นโรงเรียน แต่เด็กที่เคยขยาดห้องเรียนไปแล้ว จะบังคับให้กลับไปเรียนแบบเดิมก็อาจเสี่ยงหลุดซ้ำซ้อนได้ “ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต” จึงเข้ามาเป็นยาแนว เชื่อมรอยต่อการศึกษา ช่วยเด็กหาเส้นทางชีวิตตัวเองกันใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องตีกรอบเฉพาะห้องเรียนเท่านั้น
นี่เป็นบทบาทที่ ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม เชื่อว่า ศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยโรงเรียนรับช่วงต่อเด็กที่ตัดสินใจออกจากห้องเรียน มาตั้งต้นและค้นหากันใหม่ว่า เด็กมีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร ? อยากเรียนรู้แบบไหน ? และวุฒิการศึกษาแบบใดที่จะพาเขาไปสู่ชีวิตที่เขาต้องการได้ ? ครูติ๊ก จึงเชื่อมั่นว่า เด็กทุกคนมีจิตวิญญาณในการเรียนรู้อยู่เสมอ เพียงแต่โรงเรียนอาจติดกรอบการศึกษาแบบเดิมอยู่
“เราพบว่าเด็กที่ออกมาจากการศึกษา เขาไม่ได้ออกมาด้วยรอยยิ้ม แต่เขาเสียน้ำตา เขาไม่ได้ดีใจฉลองที่ตัดสินใจเช่นนั้น ดังนั้น ศูนย์การเรียนรู้ฯ จะช่วยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เน้นที่กระบวนการฟื้นฟู ปรับพื้นฐานกันใหม่ มากกว่าอัดความรู้ให้กับเขา และเมื่อเขาพร้อมแล้ว ยินดีจะกลับเข้าระบบ เราก็จะช่วยเขาหาเส้นทางที่ตรงกับโจทย์ชีวิตของเขามากที่สุด”
ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง
สำหรับบทบาทของศูนย์การเรียนรู้ฯ ยังต้องอาศัยการอธิบายอีกมาก เพราะหลายสถานศึกษายังไม่เข้าใจแนวคิด “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” ซึ่งครูติ๊ก มองว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนยังติดกับภาพการสอนแบบเดิม แต่เด็กเกิดมามีพรสวรรค์แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าหากสังคมจะตีตราเขาว่าเป็นเด็กมีปัญหา
เขายังหวังว่าครูรุ่นใหม่ จะมีใจที่เปิดกว้าง มองเห็นวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดนี้ ครูต้องมีเวลาได้มีเวลาอยู่กับเด็ก ช่วยเหลือเด็กและได้มองเห็นแววตาเด็กทุกคนได้นานมากพอ
“การศึกษาตลอดชีวิต” คือแนวคิดที่ยืนยัน ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะได้เรียนรู้ เพียงแต่ระบบการศึกษาไทยมีพื้นที่ให้เขาได้กลับไปหรือไม่ ? ครูติ๊ก ยังแบ่งปันว่า ทุกวันนี้โรงเรียนอาจไม่ใช่ความหวังเดียวของชุมชนอีกแล้ว เพราะท้องถิ่นเองสามารถสร้างองค์ความรู้ของพวกเขาได้ผ่านศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ถ้าหน่วยงานช่วยกันเสริมแรง เสริมทุน ชุมชนและเยาวชนก็จะได้พื้นที่ในการพัฒนาร่วมกัน และเยาวชนก็จะไม่หล่นหายไปไหนจากท้องถิ่น
ครอบครัวยากจน-พ่อแม่ห่างลูก : โจทย์ท้าทาย ‘ราชบุรีโมเดล’
ราชบุรี Zero Dropout มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาไทยให้ได้รับการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนและครอบครัวออกจากความยากจนได้ อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จ.ราชบุรี เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีพื้นที่เป็นเขตเมือง เขตกึ่งเมือง รวมถึงมีพื้นที่ติดกับชายแดน ทำให้มีประชากรทั้งไทยพื้นถิ่นราชบุรี ไทยเชื้อสายจีน ไทญวน มอญ เขมร และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ร่วมกันในรูปแบบสังคมชนบท สังคมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม แต่งานส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในเมืองหลวง
เด็กหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาทางครอบครัวที่จะต้องแยกทางกัน พ่อแม่ต้องทิ้งลูกเพื่อเดินทางไปทำงานในเมือง หรือลูกก็ต้องออกจากห้องเรียนไปทำงานเพื่อช่วยครอบครัวหารายได้ จึงทำให้พวกเขาไม่ได้เรียนต่อและกลายเป็นแรงงานที่มีค่าแรงต่ำซึ่งจะส่งผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาเมืองราชบุรี
ขณะที่เยาวชนชาติพันธ์ุ ก็มีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก และมีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงเผชิญหน้ากับทัศนคติที่ไม่ดีต่อกลุ่มชาติติพันธ์ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกบดบังโอกาสมากกว่าเด็กทั่วไป
โดยสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาของ จ.ราชบุรี ตามที่รายงานมีดังนี้
- เด็กเล็กอายุ 3 – 5 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 3,762 คน
- เด็กอายุ 6 – 11 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 4,373 คน
- เด็กอายุ 12 – 14 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 1,804 คน
- เยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 4,936 คน
การออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นกับชีวิตของผู้เรียนมากขึ้นจึงไม่ใช่แค่ “ทางเลือก” แต่เป็น “ทางรอด” ให้สังคมไทยสามารถโอบอุ้มเยาวชนให้ยังอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้
โดย พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ระบุว่า สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย แม้ตอนนี้สถานศึกษาหลายแห่งในราชบุรีเริ่มนำร่องหลักสูตรดังกล่าวแล้ว เช่น โรงเรียนมหาราช 7 แต่ระบบดังกล่าวอาศัยทรัพยากรอย่างมาก ทั้งครูที่ต้องมีเวลาอยู่กับเด็กมากพอ ผู้บริหารที่เข้าใจรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทุนอุปกรณ์การเรียนรู้ที่มากพอ รวมถึงกลไกราชการ ที่เปิดกว้างต่อการออกแบบหลักสูตร จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ? โรงเรียนไม่อาจพัฒนาเด็กได้ตามลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
3 ปีผ่านไป… ‘ราชบุรี Zero Dropout’ ทำอะไรไปแล้วบ้าง ?
ราชบุรีโมเดล ได้ช่วยเหลือไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว 8,769 คน ด้านสถานศึกษาเด็กประถมวัย ได้มีการอบรมอาสาสมัครจำนวน 125 คน และช่วยเหลือและค้นหาเด็กอีก 250 คน ขณะที่กลไกของจังหวัดได้จัดทำระบบข้อมูล Zero Dropout จ.ราชบุรี เพื่อช่วยค้นหา ติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ยังมีกลไกการช่วยเหลืออื่น ๆ อีก เช่น
- จัดสรรทุนช่วยเหลือเด็กยากจนและยากจนพิเศษไม่ให้หลุดออกจากระบบ 6,712 คน
- ช่วยเหลือนักเรียนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาในสังกัด สพป. เขต 1 และเขต 2 สพม. และอาชีวศึกษา 700 คน
- จัดสรรทุนช่วงชั้นรอยต่อโรงเรียนสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. 18 โรงเรียน 707 คน
- พัฒนาสถานศึกษาต้นแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตใน 12 โรงเรียน เป็นต้น
สำหรับกระบวนการค้นหา และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ และโครงข่ายข้อมูลของทั้งประเทศเชื่อมโยงกันในแต่ละจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะต้องไปสำรวจว่ามีเด็กคนใดหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่
- หาก “สำรวจไม่พบ” เช่น หาบ้านไม่พบ, เสียชีวิต, ติดคุก หรือย้ายที่อยู่ ก็จะนำข้อมูลใหม่นี้ ไปปรับปรุงสถานะในระบบ “Thailand Zero Dropout”
- หาก “สำรวจพบ” จะให้เด็กเข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองปัญหา
- หากเด็ก “ไม่พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา” ไม่ว่าเงื่อนไขใดให้พาเด็กเข้าสู่กลไกเตรียมความพร้อมและฟื้นฟูทางด้านสุขภาพกายและใจ ด้านเศรษฐกิจและสังคม
- แต่ถ้าหากเด็ก “พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา” หรือการเรียนรู้อีกครั้ง ก็สามารถให้เด็กเลือกว่าจะเรียนรู้ในลักษณะใด เช่น สายสามัญ หรือสายอาชีพ หรือการศึกษาทางเลือกอื่นที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น การเรียนในศูนย์การเรียนรู้,โรงเรียนมือถือ, บ้านเรียน หรือพัฒนาทักษะกับสถานประกอบการ เพื่อให้เด็กสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตของตัวเองให้มากที่สุด
- หากเด็ก “ไม่พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา” ไม่ว่าเงื่อนไขใดให้พาเด็กเข้าสู่กลไกเตรียมความพร้อมและฟื้นฟูทางด้านสุขภาพกายและใจ ด้านเศรษฐกิจและสังคม
สิ่งสำคัญของการดำเนินงาน “ราชบุรี Zero Dropout” คือการไม่ตีตราเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา แต่ต้องมองว่าเด็กเหล่านี้เผชิญหน้ากับเงื่อนไขชีวิตที่พวกเขาไม่อาจแก้ไขโดยลำพังได้ เช่น พัวพันกับยาเสพติด, ครอบครัวยากจน, บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกล, มีปัญหาทางสุขภาพกายหรือใจ ฯลฯ
ดังนั้นชุมชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงภาคเอกชน จึงต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ และประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้พวกเขาสามารถได้กลับมาอยู่ในระบบการศึกษา หรือได้อยู่ในการเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นการศึกษาถือเป็นใหญ่ เป็นวาระทางสังคม ที่ตอกย้ำว่าการแก้ปัญหาจะอาศัยแค่การทำงานของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ และบทบาทที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน กลายเป็นช่วยเติมเต็ม สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า เยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต แม้ประเด็นด้านการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่ภาคเอกชนถนัด แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างกลไกอย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็ก เยาวชนไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ
“เราอยากเป็นตัวอย่างให้ภาคเอกชนรายอื่น สามารถเข้ามาช่วยผลักดันวาระทางการศึกษาได้ในอนาคตเช่นกัน”
สมัชชา พรหมศิริ
ไม่ต่างจาก ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ยืนยันว่า ราชบุรีโมเดล ถูกวางให้เป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างระบบที่ยืดหยุ่นเพื่อให้โอกาสกับเด็กทุกคนได้เรียน
“เรากำลังสร้างนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้เป็นต้นแบบของการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษากับคนทั้งประเทศ การจัดกิจกรรม All for Education Ratchaburi Zero Dropout จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ กสศ. จะร่วมเป็นพลังหนุนของชาวราชบุรีให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบที่สำคัญของประเทศให้ได้”
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ
ไม่เพียงสร้างนวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น มอบโอกาสให้เด็กได้มองเห็นหนทางการเรียนต่อที่ตรงตามความต้องการ ในแบบฉบับที่ตัวเองถนัด ราชบุรีโมเดลยังช่วยให้เด็ก และเยาวชนกว่า 400 คน ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ ทักษะการศึกษา และอาชีพสู่การเป็นผู้ประกอบการ เกิดแผนการจัดการศึกษาใน 32 ตำบลของ จ.ราชบุรี มีหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่นกว่า 5 หลักสูตร และที่สำคัญคือ เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนนอกระบบการศึกษา กับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดอีกด้วย
ถึงตรงนี้ผลลัพธ์ของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดจนต้องทิ้งเด็กคนไว้ข้างหลัง ทำให้ จ.ราชบุรี กลายเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็ก และเยาวชน ที่ไม่ว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไร มีข้อจำกัดยังไง พวกเขาก็ต้องได้เรียน