อยู่อย่างวางใจ ท่ามกลางความแปรผันไปของโลก : เมื่อ ‘ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์’ สนทนาธรรมกับ ‘พระไพศาล วิสาโล’

ย้อนไปราว 40 ปีก่อน หนังสือเล่มหนึ่งที่มีความหมายและเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนไม่น้อย คือ “แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม” โดย พระไพศาล วิสาโล (ตีพิมพ์ในปี 2527) หนังสือเล่มเล็กขนาดเพียงเท่าฝ่ามือนี้ แต่กลับมีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้งสมบูรณ์แบบ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคน ค้นพบคำตอบบางอย่างของชีวิต 

ในวันพระใหญ่ปีนี้ The Active ชวนถอดความจากการสนทนาธรรมของ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ถึงเรื่องราวของ ความเชื่อมั่น ศรัทธา ของการทำงานเพื่อสังคมที่กำลังสั่นคลอน ท่ามกลางความแปรผันของโลกสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า โลกยุควูก้า (VUCA World)

ผ่านคำถามสำคัญ ที่ถูกกลั่นกรองโดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ุ นักคิด นักเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่ขับเคลื่อนสังคมไทยมาอย่างยาวนาน พร้อมกับการตกผลึกแห่งช่วงวัย 80 ปี

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กับหนังสือ “แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม” 
และ พระไพศาล วิสาโล
  • อ.ชัยวัฒน์ : ที่ผ่านมา นักสร้างการเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก ฝันเห็นสังคมแห่งการรู้แจ้ง (enlightened society) ท่านคิดว่าตอนนี้ ยังเป็นไปได้หรือไม่ ?

  • พระไพศาล วิสาโล : เมื่อพูดถึงสังคม enlightened society อาตมานึกถึง คำกล่าวหนึ่งในสามก๊กที่ว่า “ในแผ่นดินนี้ เมื่อแตกแยกมานานก็จักรวมสมาน รวมสมานมานานก็จักแตกแยก”

นี่คือวัฏจักรแผ่นดินที่เป็นสัจธรรมโลก ถึงแม้วันนี้เราจะมี enlightened society ได้แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าอยู่คงอยู่ตลอดไป ทุกสิ่งไม่เที่ยง ย่อมเสื่อมสลาย แล้วในที่สุดก็จะกลับมางอกงามใหม่ โลกมันก็เหวี่ยงไปมาเช่นนี้เอง

เช่นเดียวกับความจริงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของโลก ย้อนไปเมื่อ 36 ปีก่อน กำแพงเบอร์ลินที่แบ่งแยกระหว่างเยอรมันตะวันออกและตะวันตกล่มสลาย นำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

ในตอนนั้น เราคิดว่าโลกจะมีสันติภาพและประชาธิปไตย และกลายเป็น จุดจบแห่งประวัติศาสตร์ (the end of history) ดังที่ ฟรานซิส ฟูกูยามะ (Francis Fukuyama) กล่าวไว้ แต่ในความเป็นจริงอาตมาไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะท้ายที่สุดโลกจะเหวี่ยงกลับไปมาอีกจนได้ ความไม่เที่ยงนี้คือความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับ

จุดหมายใดที่เราอยากรีบไปถึง มันจะช้า แต่ถ้าเราทำเต็มที่โดยไม่ยึดติดผลลัพธ์ หรือคำนึงว่าจะต้องไปถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุด ใจก็จะเป็นสุข เพราะผลลัพธ์อยู่ที่เหตุปัจจัย ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่เราควบคุมได้ ดังภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นของฟ้าดิน” ฉะนั้นจง ‘ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส’ นั่นเอง

  • อ.ชัยวัฒน์ : ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” ท่านคิดว่าตอนนี้ การทำงานเพื่อสังคมยังต้องมีศรัทธาเป็นที่ตั้งหรือไม่ ?

  • พระไพศาล วิสาโล : ศรัทธาเป็นชีวิตภายใน แยกไม่ขาดจากชีวิตภายนอก การใช้ชีวิตที่ดีต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้ง 2 มิติ มิติภายนอก คือ การทำงานเพื่อสังคม การใช้ชีวิต ทำมาหากิน ดูแลครอบครัว หรือที่เรียกว่า ทางโลก ซึ่งไม่อาจแยกขาดจากมิติภายใน

เหมือนต้นไม้ที่ยิ่งสูงใหญ่เท่าไร ยิ่งจำเป็นต้องมีรากหยั่งลึกลงผืนดินมากเท่านั้น แม้ในหน้าแล้งไม่มีฝน กิ่งก้านใบยังเขียวชอุ่มให้ร่มเงาปกคลุมอุ้มชู เป็นที่พักพิงของสรรพสิ่งนานาชนิด เปรียบเสมือนการมีสิ่งหล่อเลี้ยงค้ำยันจากมิติภายใจที่แข็งแรง

หากคนเราพบความสุขที่ลึกซึ้งภายในใจ แม้ไร้เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ยังสามารถทำงานเพื่อสังคมที่ยืนระยะได้ยาวนาน ไม่ละทิ้งอุดมการณ์กลางคัน ท้อแท้ ท้อถอย หรือหมดหวังไปเสียก่อน

เช่นเดียวกับการเป็นพระ พระไม่มีสิทธิเสพสุขจากกามา การมีคู่รัก อาหารอร่อย หรือการใช้ชีวิตลั้นลา จะเป็นพระได้นานนั้นต้องมีความสุขและศรัทธาภายในเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง หากเรามีศรัทธาที่เป็นปัญญามั่นคง และยิ่งเข้าใกล้สิ่งที่เราศรัทธาได้มากเท่าไร ยิ่งจะเกิดความสุขความพอใจ มีแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ว่าอุปสรรคจะมากเพียงใดก็ตาม

  • อ.ชัยวัตน์ : ชาตินิยม และศรัทธา ยังเป็นสิ่งที่นักพัฒนายุคนี้ควรมีอยู่หรือไม่ ?

  • พระไพศาล วิสาโล : สิ่งมีชีวิตทุกประเภท ล้วนมีสัญชาติญาณ 2 ส่วน คือ สัญชาติญานเพื่อความอยู่รอดและอยู่ร่วม 

ในแง่หนึ่ง มนุษย์ดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอด กินอาหาร สืบพันธุ์ ป้องกันอันตรายแก่เผ่าพันธุ์ อีกแง่หนึ่งคือการตอบสนองการอยู่ร่วมที่แสดงออกมาเป็น ชาตินิยม

หากที่ไหนบ่มเพาะความเป็นชาตินิยมอย่างแยบคาย เราจะรู้สึกผูกพันธ์กับชาติ เฉกเช่นเดียวกับอาตมาที่เป็นลูกจีน แต่กลับไม่ยอมเรียนภาษาจีน ไม่ขอมีแซ่ เพราะอาตมาคือผลผลิตของอุดมการณ์ชาตินิยมเช่นกัน

ในสมัยก่อนที่เรายังไม่มีชาติ เราจะผูกพันธ์กับเมือง เช่น ความเป็นชาวสุพรรณฯ ความเป็นคนนครฯ คนพร้อมตายเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แต่เมื่อเราอยู่ภายใต้อุดมการณ์ความเป็นชาติแล้ว เราจะรู้สึกว่าความเป็นคนสุพรรณ หรือความเป็นคนกรุงเทพฯ มีพลังน้อยกว่าความเป็นคนไทย และทั้งหมดนี้คือ อุปทาน ที่ทำให้เราต้องเสียสละเพื่อชาติ แต่เราควรก้าวไปสู่สำนึกใหม่ที่ก้าวพ้นเหนือกว่าความเป็นชาติ คือ สำนึกความเป็นพลเมืองโลก

อย่างไรก็ตาม อาตมาเชื่อว่ามนุษย์ต้องมีทั้ง ราก และ ปีก แน่นอนว่า การรู้จักยอมรับในกำพืดของตัวเองจะทำให้คนมีราก แต่การศึกษาและจิตใจที่อิสระต่างหากที่ทำให้คนมีปีกก้าวพ้นความเป็นชาตินิยมนี้ได้ จึงต้องผสานสองอย่างนี้ให้ได้

  • อ.ชัยวัตน์ : มีคำกล่าวว่า Life is a mission, not a career ท่านคิดเห็นว่าอย่างไร ?

  • พระไพศาล วิสาโล : Mission กับ Career ไม่เหมือนกัน ต้องแยกออกจากกันให้ออก หากพูดถึง career เราอาจนึกถึงคำว่า career path หรือเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพการงาน สำหรับพระแล้ว career path อาจเป็นการได้เป็นเจ้าคุณ เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล สำหรับครูบาอาจารย์ career path อาจคือการมีตำแหน่ง ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์

หรือเวลาเลี้ยงลูก เราหวังให้เด็กคนหนึ่งเติบโตแล้วเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จบนเส้นทางของ career path ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสวนทางกับ mission ของชีวิตก็ได้

คนบางคน อาจล้มเหลวทาง career แต่ไม่ได้แปลว่า mission ของเขาจะพร่องไป อาจจะอุดมก็ได้ หากมนุษย์มีภารกิจในชีวิตเป็น carreer อย่างเดียว จะเป็นมิติที่แคบมาก เพราะหนีไม่พ้นลาภยศสรรเสริญ และการคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง

ฉะนั้นแล้ว ชีวิต คือ การทำตาม mission ที่หมายถึง การทำภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เพื่อให้ชีวิตเรางดงามตามที่เราศรัทธาและสร้างความสุข ไม่ใช่แค่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่มองเห็นแต่ตนเองเท่านั้น ดังที่ท่านพุทธทาสบอกไว้ว่า

“ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์”


Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

บุญคุณต้องทดแทน มนต์แคนต้องแก่นคูน