ใจดีกับโลกให้เป็น ไม่เฉพาะแค่คืน…วันเพ็ญเดือนสิบสอง

ในยุคสมัยที่การ ลอยกระทง ถูกมองว่า ไม่ใช่วิธีสืบสานประเพณีที่ใจดีกับโลกอีกต่อไป แล้วเราควรหันไปลอยอะไร ? ลอยที่ไหน ? หรือลอยอย่างไร ? เมื่อวันลอยกระทงมาถึง

วันเพ็ญ เดือนสิบสอง…ดรามานองเต็มตลิ่ง

ในทุก ๆ ปีหลังจากการปล่อยผีใน เทศกาลฮาโลวีน ก่อนจะไปถึงช่วงความสุขวันคริสต์มาส ปิดท้ายกันที่ความสนุกสนานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อีกหนึ่งประเพณีที่ลืมไม่ได้ คือ ลอยกระทง ซึ่งตลอดช่วงหลายปีมานี้ ก่อนถึงค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 12 เรากลับต้องเจอกับคำวิพากษ์ วิจารณ์ และการเชิญชวนรณรงค์ต่าง ๆ ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีต้นเหตุมาจาก กระทง เต็มโลกออนไลน์

“ปะการังฟอกขาวยังไม่หาย พะยูนตายเกลื่อน แค่นี้คงพอบอกได้ว่าควรทำอย่างไร งดลอยกระทงลงทะเล”

ผศ.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล

“ถ้าลดไม่ได้ ก็เลิกลอยในแหล่งน้ำเปิดซะนะ ในแต่ละปี การลอยกระทง ในแหล่งน้ำเปิดที่ไร้การจัดการ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งขยะ ตะปูโลหะ เกลื่อนชายหาดและลำคลอง… เพราะนี่ไม่ใช่การขอขมา แต่เป็นการฆ่า ท้องทะเล แม่น้ำ ลำคลอง”

ข้อความจากเพจขยะมรสุม MonsoonGarbage Thailand (พ.ย. 2567)

นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ชี้แจงสถิติของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่พบว่า มีปริมาณกระทงที่เก็บได้ในกรุงเทพมหานคร 639,828 ใบในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 11.74

“กระทงที่ถูกนำมาลอยจะต้องถูกเก็บและกำจัดโดยกรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นอกจากนี้ กระทงขนมปังที่นำมาลอยเพื่อเป็นอาหารปลา หากมีจำนวนมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่วนกระทงที่ทำจากโฟมซึ่งย่อยสลายยากในธรรมชาติ อาจไปอุดตันตามท่อ กีดขวางทางน้ำ และเป็นขยะที่มีสารพิษและมีส่วนทำให้โลกร้อน”

นพ.ธิติ แสวงธรรม

หลากหลายข้อห่วงกังวล ที่ทำให้การลอยกระทง ตกอยู่ในฐานะจำเลยของสังคม และสิ่งแวดล้อม กำลังชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะลอยกระทงด้วยวัสดุอะไร ล้วนแล้วแต่ก่อผลกระทบต่อสายน้ำ ระบบนิเวศ และสัตว์น้ำแทบทั้งสิ้น หรือถึงแม้จะลอยในบ่อน้ำระบบปิด ก็ยังทำให้น้ำเน่าเสีย พรากชีวิตสัตว์น้ำได้

กาญจน์ณิชา วิโรจน์เวชภัณฑ์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ไทย (TerraCycle Thai) บอกกับ The Active ในฐานะที่มีบทบาทร่วมจัดการปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลอง ผ่านการทำจุดดักเก็บขยะก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเล นำไปคัดแยกและส่งต่อไปรีไซเคิล โดยชี้ให้เห็นว่า มูลนิธิดักขยะกระทงได้มากกว่า 2,000 กิโลกรัมในทุก ๆ ปี เมื่อปีที่ผ่านมาเก็บได้มากกว่า 2,000 กิโลกรัม และใช้เวลาเก็บกระทงกว่า 3 วัน กว่าจะจัดการหมด 

“ด้วยความที่คลองลาดพร้าวมันยาว 20 กว่ากิโลเมตร ตัวขยะกระทงจากแหล่งน้ำอื่นอย่างคลองเล็ก ๆ ก็จะไหลมาที่จุดดักขยะของเรา การเก็บกระทงเลยใช้เวลา 2-3 วัน กว่าจะเคลียร์หมด”

กาญจน์ณิชา วิโรจน์เวชภัณฑ์

กาญจน์ณิชา วิโรจน์เวชภัณฑ์
ผจก.โครงการ มูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ไทย (TerraCycle Thai)

ยังไม่รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ของประเพณีลอยกระทง อย่างการจุดพลุ ปล่อยโคมลอย หรือประทัด ที่นอกจากจะกระทบธรรมชาติแล้ว ยังมีมิติของความปลอดภัย สุขภาวะของคน และสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ด้วย

ดูเหมือนว่า อะไร ๆ ก็มาลงที่ประเพณีลอยกระทง ซึ่งได้กลายเป็นตัวร้ายในสายตานักสิ่งแวดล้อม และสังคมไปเสียแล้ว ทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้ประเพณีลอยกระทง ถูกให้ความสนใจเพียงแค่ก่อน และหลังลอย กับการเพียงแค่นับยอดกระทงที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีเท่านั้น  

เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง…ลดขยะเทศกาล(ทั่วโลก)

ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทย ที่มีประเพณีดั้งเดิมบางอย่าง ที่ต้องยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของขยะ และมลพิษ แต่หลายประเทศทั่วโลก ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการพยายามรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยต้องปรับวิธีให้เข้ากับแนวทางที่ยั่งยืน เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยความท้าทายของแต่ละประเทศนั้นก็ต่างกันไป บางประเทศอาจต้องการความตระหนักเรื่องความยั่งยืน และแรงสนับสนุนขับเคลื่อนนวัตกรรม

เทศกาลสารทจีน ในสิงคโปร์ (ภาพ : pbs.org)

The Active ชวนสนทนากับ เทเรส โท (Terese Teoh) ประธานองค์กรเยาวชนสิงคโปร์เพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ Singapore Youth for Climate Action ถึงประเด็นมาตรการในช่วงเทศกาลวันสารทจีน ที่มีกฎเรื่องการงดใช้ประทัด และการอนุญาตให้เผากระดาษในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น 

เทเรส อธิบายว่า กฎระเบียบเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย กลัวคนได้รับบาดเจ็บ ส่วนความยั่งยืนเป็นผลพลอยได้ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากมุมมองของผู้ออกนโยบาย ที่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยมากกว่า เพราะเรื่องความยั่งยืน ยังไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนในสิงคโปร์ให้ความสนใจ

“ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนสิงคโปร์ก่อน”

เทเรส โท
เทศกาลตะซองไดง์ ในเมียนมา (ภาพ : Christian Heimig)

สอดคล้องกับมุมมองของ แถ ซู (Thae Su) ผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อมและมลพิษท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งในเมียนมา บอกกับเราเช่นกันว่า ในเมียนมาก็มีเทศกาลใหญ่ที่ทำให้เกิดข้อกังวลเช่นกัน โดยอ้างถึง 2 เทศกาลสำคัญ อย่าง ตะซองไดง์ (Tazaungdaing) และ กฐิน (Kahtine) ซึ่งเขาจำแนกที่มาของขยะจากเทศกาลเหล่านี้ได้ 3 ประเภท ได้แก่

  1. การบริจาคอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง

  2. เทศกาลบนถนน ที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก

  3. สำหรับกฐิน การถวายเงินมักห่อด้วยพลาสติก ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก

“เนื่องจากระบบการจัดการขยะในเมียนมาไม่เพียงพอ ขยะพลาสติกทั้งหมดจึงถูกทิ้งในที่โล่ง ในแหล่งน้ำ และในบางพื้นที่มีการเผาขยะในที่โล่ง ซึ่งอาจนำไปสู่มลพิษทางอากาศและน้ำอย่างรุนแรง”

แถ ซู

แถ ซู อธิบายด้วยว่า ปัจจุบันเมียนมายังไม่ได้ดำเนินการ หรือมีนวัตกรรมใด ๆ ซึ่งหน่วยงานเทศบาล ก็ยังไม่ได้มีมาตรการกำจัดขยะที่ดีเพียงพอหรือ ดำเนินมาตรการเชิงรุก

“ในอนาคต การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีถังขยะบนถนนเพิ่มขึ้น มีระบบการเก็บขยะที่ดีขึ้น มีกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นสำหรับผู้ขาย และการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลยังไม่สนใจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่เห็นว่าเป็นปัญหา”

แถ ซู
เทศกาลโอบ้ง ในญี่ปุ่น (ภาพ : nippon.com)

หากมองเจาะไปที่ประเพณีที่มีการลอยสิ่งของลงไปในแม่น้ำ ลำคลองน้ำทั่วโลก ที่มีความเชื่อ และความหมายทางศาสนาและวัฒนธรรมแตกต่างกันไป ก็ยังมีอีกหลายประเพณีความเชื่อ

  • เทศกาลโอบ้ง (Obon) ในญี่ปุ่น ที่ผู้คนจะลอยโคมไฟกระดาษ เพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับสู่โลกหลังความตาย

  • เทศกาลคงคา (Ganga Aarti) ในอินเดีย ผู้คนลอยโคมไฟ และดอกไม้ลงแม่น้ำคงคา เพื่อบูชาเทพเจ้าและขอพร

  • เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Mid-Autumn Festival) ในจีน ที่บางพื้นที่จะลอยโคมไฟลงน้ำเพื่อขอพร
เทศกาลคงคา ในอินเดีย (ภาพ : eastindiantraveller.com)
เทศกาลพระจันทร์ ในจีน (ภาพ : discoverhongkong.com)

แม้จะมีสิ่งแปลกปลอมถูกใส่ลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง สืบเนื่องจากพิธีกรรม และความเชื่อของแต่ละประเทศ แต่สำหรับบางประเทศเองก็มีเทคโนโลยี และการพัฒนาแนวทางยั่งยืนช่วยให้เทศกาลเหล่าสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่น ได้ใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้, อินเดียส่งเสริมการใช้โคมไฟวัสดุใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ อย่างการกลับไปใช้ตะเกียงดินเผาดั้งเดิม แทนพลาสติก ส่วนในจีน ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโคมไฟ LED เพื่อลดการใช้วัสดุที่เป็นขยะ 

ส่วนประเพณีลอยกระทงลงไปในน้ำ ก็ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย… เพราะจากการสอบถามไปยัง สิทธิพงษ์ มานิวรรณ (Sitthiphong Manivanh) ผู้ช่วยโครงการ Econox Laos และผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม Econews Laos ได้เปรียบเทียบความเหมือน และความต่างระหว่างลอยกระทงของ 2 ประเทศ ซึ่งจริง ๆ แล้วแทบจะไม่ต่างกัน

“ลอยกระทงที่ลาว จะลอยช่วงบุญออกพรรษา ในบางจังหวัดในลาวจะมีการแข่งเรือยาวในช่วงเช้า หลังแข่งเรือยาวเสร็จก็จะมีลอยกระทงเลย ตามด้วยไหลเรือไฟ กระทงของพวกเรามีความหมายเหมือนกัน คือเราทำความเคารพแม่น้ำ เช่น บูชาพญานาค”

สิทธิพงศ์ มานิวรรณ
สิทธิพงษ์ มานิวรรณ ผู้ช่วยโครงการ Econox Laos

ในบทบาทของนักสิ่งแวดล้อม ที่ปฏิเสธการลอยกระทงมาหลายปีแล้ว สิทธิพงศ์ ก็ยังรู้สึกว่า ควรมีการจัดการเรื่องขยะกระทงที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

“มันก็ไม่อาจไปเบียดเบียนวัฒนธรรมได้ ถ้าในมุมมองเราที่ทำงานสิ่งแวดล้อม เรารู้ว่าผลเสียเป็นยังไง มันไม่มีหน่วยงานที่มารับผิดชอบเหมือนที่ไทย แต่ที่ลาว ลอยเสร็จแล้วใครเก็บ ? ไม่มีใครมาเก็บกระทงให้ มีแต่กลุ่มรักสิ่งแวดล้อมที่รวมทีมกันมาเก็บกระทงออกจากลำน้ำ”

สิทธิพงศ์ มานิวรรณ

ไหลเรือไฟ ในลาว (ภาพ : Xinhua News)

ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมในลาว ยังยอมรับอีกว่า ประเทศลาวไม่เหมือนไทย ที่ได้เห็นอย่างชัดเจนว่าปลาหรือสัตว์ทะเลได้ผลกระทบจากขยะกระทง ที่ไทยมีเต่าตายให้เห็น แต่ที่ลาวไม่ได้เห็นผลกระทบต่อสัตว์น้ำชัดเจนมากนัก เพราะกระทงนั้นลอยเสร็จก็ไหลลงไปสู่ทะเล คนลาวจึงไม่รู้ว่าขยะกระทงสุดท้ายไปจบลงที่ไหน

สิทธิพงศ์ ยังเคยไปพูดคุยกับกลุ่ม Trash Idol ที่หลวงพระบาง กลุ่มคนจากหลายหน่วยงาน เช่น โรงแรมในหลวงพระบาง ได้ร่วมกันเก็บขยะเดือนละครั้ง และได้ทราบมาว่า กลุ่ม Trash Idol จะลงไปเก็บขยะกระทงหลังวันลอยกระทง แต่ยังไม่เห็นหน่วยงานไหนเก็บขยะกระทงแบบนี้ที่นครหลวงเวียงจันทน์

“สำหรับเราก็คือสามารถลอยกระทงในอ่างที่บ้านกัน ถ้าเป็นคนที่สนใจสิ่งแวดล้อม ก็จะใช้แอพลอยกระทง ลอยกระทงออนไลน์ที่เป็นภาษาไทยกัน เพราะถ้าเราศรัทธาพอ ถ้าคิดว่าเราอยากขอบคุณแม่น้ำ ไม่ว่าจะ ลอยออนไลน์ ลอยที่บ้าน ใช้อะไรแทนกระทงก็ได้ มันก็เหมือนกัน”

สิทธิพงศ์ มานิวรรณ

ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้ว ออกมา…แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

กลับมาที่ประเทศไทย ปีนี้มีนักอนุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานหลากหลายภาคส่วน ร่วมกันออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะกระทง อย่าง กรุงเทพมหานคร ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ในปีนี้ได้จัดงาน 140 จุดทั่วกรุง โดยมีการลอยกระทงทั้งในรูปแบบดั้งเดิม, ลอยกระทงดิจิทัล, และลอยกระทงออนไลน์ ซึ่ง กทม. มีเป้าหมายให้การใช้โฟมทำกระทงเป็นศูนย์ และขอความร่วมมือไม่ใช้กระทงขนมปังอีกด้วย

สำหรับงานลอยกระทงดิจิทัล ด้วย Projection Mapping ฉายภาพกระทงรูปแบบต่าง ๆ ลง ณ พื้นที่ 4 จุดใน กทม. ได้แก่ ที่สกายวอล์คสี่แยกปทุมวัน, ลานคนเมือง, ศาลาว่าการ กทม., คลองโอ่งอ่าง และ งานรางน้ำลอยกระทงดิจิทัล ณ สวนสันติภาพ 

นอกจากนี้ กทม. ยังเปิดโอกาสให้ลอยกระทงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Greener Bangkok โดยสามารถเลือกสวนสาธารณะ 34 แห่งและเข้าร่วมเกมเก็บกระทงออนไลน์ พร้อมลุ้นรับของรางวัล หรือมีทางเลือกลอยกระทงออนไลน์อีกหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเว็บไซต์ของ สนุก ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า Longdo Map, MThai, Ecard Design Animation หรือการใส่ฟอลเตอร์กระทงในสตอรี่ของ Instagram

พร้อมกันนี้ กทม. ได้ขอความร่วมมือจากประชาชนถึงการปฏิบัติตามหลัก “5 ปลอด” ได้แก่

  1. ปลอดกระทงขนมปัง (ห้ามลอยกระทงขนมปังในสระหรือบ่อน้ำภายในสวนสาธารณะของ กทม.) 

  2. ปลอดวัสดุไม่ธรรมชาติ (โฟม, เข็มหมุด, ตะปู, ลวดเย็บกระดาษ)

  3. ปลอดมลพิษอากาศ ลดการใช้พลังงาน (ลดการเดินทาง ลดการจุดธูป)

  4. ปลอดภัยจากประทัด โคมลอย พลุ (ห้ามจุดพลุ, บั้งไฟ, ตะไล, โคมลอย)

  5. ปลอดภัยจากโป๊ะ ท่าเรือ

นอกจากนี้ยังมีความพยายามจากหลายหน่วยงาน ออกมารณรงค์ #งดลอยกระทงลงทะเล ในช่วงเวลาที่สอดรับกันพอดีกับช่วงที่พะยูนอยู่ในภาวะวิกฤต และบางส่วนอพยพมายังบริเวณทะเลป่าตอง จ.ภูเก็ต

หรือพูดถึงการ #แบนกระทงขนมปัง เป็นมาตรการที่ กทม. เข้มงวดขึ้น หลังเหตุการณ์สวนสันติภาพเมื่อเทศกาลปีที่แล้ว ที่กระทงขนมปังกว่า 4,000 ใบละลายไปกับน้ำทำให้เน่าเสีย ใช้เวลาฟื้นฟูกว่า 4 เดือน

สำหรับกรณีนี้ กาญจน์ณิชา จากมูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ไทย เล่าถึงนวัตกรรมใหม่อย่าง กระทงวันเพ็ญ กระทงใช้ซ้ำที่ทำจากขยะทางน้ำ ที่มูลนิธิได้ทำร่วมกับ ก้องกรีนกรีน และ Qualy โดยจะเปิดทดลองให้เช่าเป็นที่แรก ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ให้ผู้เช่าลอยกระทงในระบบปิด พร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ปีหน้า ด้วยเป้าหมายที่อยากรักษาประเพณี และแหล่งน้ำไปพร้อมกัน

“อยากให้เป็นสิ่งที่ทุกคนเช่าบริการได้ในอนาคต เช่น โรงแรม เราไม่อยากให้ประเพณีลอยกระทงมันหายไป ทุกปีที่มันมีลอยกระทงมันสนุก แต่อยากให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย นับวันคนยิ่งอยากไปเทศกาล โหยหาความสนุกมากขึ้น เราไม่อยากให้เขาสร้างขยะจากงานเทศกาลไปมากกว่านี้แล้ว โอเค ลอยเสร็จ เรานำกลับมารียูสได้ในปีหน้า สามารถใช้ได้ในทุก ๆ ปี”

กาญจน์ณิชา วิโรจน์เวชภัณฑ์

สำหรับกระทงวันเพ็ญ 1 ใบ ใช้ขยะพลาสติก 80 กรัม เท่ากับฝาขวดพลาสติกประมาณ 40 ฝา โดยปีนี้ผลิตกระทงล็อตแรกออกมาประมาณ 600 ใบ ใช้ขยะพลาสติกไปประมาณ 48 กิโลกรัม โดยมูลนิธิ TerraCycle Thai มีขยะที่เก็บได้มีจำนวนเยอะมาก ที่สามารถใช้ขยายผลในปีต่อ ๆ ไป

ขณะที่ ใบตอง – จรีรัตน์ เพชรโสม Miss Earth Thailand 2021 นางงามและอินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า ตอนนี้ได้เห็นถึงความพยายาม ลอยแบบปิด ไม่ลอยลงทะเล ลอยแบบดิจิทัล ลอยแบบฉายไฟ แต่ภาพที่อยากเห็นคือ ไม่อยากให้ประเพณีเป็นแหล่งรวมการทำลาย ไม่ใช่แค่กระทงที่ต้องควบคุม

ใบตอง – จรีรัตน์ เพชรโสม Miss Earth Thailand 2021

ใบตอง ยังเสนอมาตรการการดูแล 2 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ตั้งกฏอย่างชัดเจน เลิกใช้ของประเภทใช้แล้วทิ้ง ไม่ใช่แค่พลาสติก อย่างเช่นใบตองที่ว่าย่อยสลายได้ ก็ย่อยไม่ทันในจำนวนมหาศาลขนาดนี้ 

  2. ปรับ จับ อย่างจริงจัง เริ่มจากเทศกาลเล็ก ๆ ไปจนประเพณีที่ใหญ่ขึ้น

“ถ้าเราทำให้งานประเพณีเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประเพณีเองได้ ก็ถือว่าตามโจทย์ของลูกค้าอย่างพระเเม่คงคานะ”

จรีรัตน์ เพชรโสม

อะไร ? จะส่ง ให้เราสุขใจ

ถึงตรงนี้ อีกคำถามสำคัญจึงอาจไม่ใช่แค่ ควรลอยกระทงแบบไหน ? ในช่วงเวลาที่วัฒนธรรมประเพณี ก็พยายามปรับตัวให้ร่วมสมัยด้วยตัวของมันเอง

เซอร์ ซอล ฮ่อง รองประธานภาควิชาการจัดการการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการจัดการวัฒนธรรม ยอมรับว่า

“ทุกวันนี้ที่เราเห็นคนลอยกระทงดิจิทัล พอมีขยะกระทงมากเกินไป คนก็หันหากระทงน้ำแข็งหรือกระทงล่องหน ก็คือการตีความประเพณีเดิม ๆ ให้โมเดิร์นอยู่แล้ว อย่างมวยไทยที่เมื่อก่อนเป็นศิลปะการต่อสู้เพื่อไปใช้ในสงคราม ปัจจุบันไม่มีสงคราม มวยไทยก็กลายเป็นกีฬาประจำประเทศ”

เซอร์ ซอล ฮ่อง

ในประเด็นของการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญ ยังอธิบายว่า การเปลี่ยนผ่านเรื่องประเพณีนี้มักใช้เวลา และอาจมีความขัดแย้งระหว่างมุมมองที่ต่างกัน

“สมมุติว่าเราใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันก็ค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในระบบการศึกษา มันไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืน เมล็ดถูกปลูกแล้ว แต่มันก็ใช้เวลาให้ความคิดนี้โต และอาจจะมีเสียงค้านบ้างว่านี่ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง คำถามคือเราจะนำความดั้งเดิมนี้กลับมาอย่างไร เมื่อการฉลองเทศกาลเหล่านี้เมื่อร้อยปีที่แล้วกับปัจจุบันมันก็ต่างกัน”

เซอร์ ซอล ฮ่อง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการจัดการวัฒนธรรม ยังชวนกลับไปยกตัวอย่างเรื่องการบังคับใช้มาตรการงดใช้ดอกไม้ไฟของสิงคโปร์ ที่ใช้เวลาพักหนึ่งกว่าคนจะเข้าใจ

“เมื่อสิงคโปร์มีความเป็นเมืองสูงขึ้น ก็ไม่อนุญาตให้ใช้ดอกไม้ไฟ ผู้คนจึงบันทึกเสียงดอกไม้ไฟแล้วนำมาเปิดแทน เป็นสัญลักษณ์ของการขับไล่วิญญาณชั่วร้ายให้กลัวและหนีไป หลังจากมีคนรุ่นที่ไม่ใช้ดอกไม้ไฟของจริงแล้ว คนรุ่นถัดมาก็รู้ว่าดอกไม้ไฟไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญของเทศกาล”

“เรายังต้องฉลองเทศกาลอยู่ แต่เราอาจจะทำกระทงให้เล็กลงและเล็กลง เพื่อให้มันเป็นเพียงสัญลักษณ์ ใช้วัสดุน้อยลงอาจเป็นวิธีหนึ่งในการตอบปัญหานี้ สุดท้ายมันเกี่ยวกับว่าเราจะเฉลิมฉลองอย่างไร และมีกลไกอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดความสมดุลกัน”

เซอร์ ซอล ฮ่อง

ไม่ต่างจากมุมมองของ ใบตอง – จรีรัตน์ ย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านประเพณีให้เป็นปัจจุบันว่า อะไรที่มันมากเกินไปไม่มีอะไรดี มันเลยกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คนก็มักง่ายมากขึ้น วัสดุที่ใช้ก็เอาสะดวก เพราะลืมไปว่า จุดมุ่งหมายแรกของเทศกาล ประเพณี คืออะไร

“หัวใจหลักของประเพณีลอยกระทงคือให้รู้คุณของแม่น้ำ พระเเม่คงคา พวกเราเลยเรียกว่าพระเเม่ให้รับรู้ถึงความสูงส่ง ควรค่าแก่การเคารพ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะประเพณีอะไรก็ตาม ต้องดูเนื้อหาที่แท้จริงว่าทำขึ้นมาเพื่ออะไร”

จรีรัตน์ เพชรโสม

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าประเพณี หรือ เทศกาล สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ แก่นแท้ และต้องไม่ทำให้เรื่องราวความเชื่อ ส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะต้องไม่ลืมว่า นี่คือช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบหนักจาก ภาวะโลกรวน วิกฤตโลกร้อน ที่ยังต้องการความพยายามจาก 2 มือของคนทั้งโลก เพื่อช่วยยับยั้ง และยืดระยะเวลาความเสี่ยงจากวิกฤตครั้งนี้ให้ได้นานที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

อนวัช มีเพียร

รักโลก แต่รักคนบนโลกมากกว่า