80 ปี ‘ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์’ : ผลึกตะกอนแห่งชีวิต ของ ‘ครู’ ผู้สร้างนักต่อสู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

ย้อนไปเมื่อราว 27 ปีก่อน เย็นย่ำในวันหนึ่ง ณ ถนนพระอาทิตย์-บางลำภู ผู้คนทั่วสารทิศพร้อมใจหลั่งใหลมาที่ถนนแห่งนี้เพื่อมาร่วมงานถนนคนเดินในชื่อ “สนุกกับถนน ฟื้นชุมชนพระอาทิตย์” งานที่ผู้คนต่างเอาของดีออกมาแสดง ทั้งสินค้า กิจกรรม อันเกิดจากความร่วมมือของชุมชนเอง นำไปสู่การฟื้นคืนความเข้มแข็งและจิตวิญญาณแห่งเมืองเก่าทรงคุณค่าในโลกที่ต่างคนต่างอยู่ ให้กลับมามีชีวิตชีวาและทันสมัยอีกครั้ง ด้วยความเชื่อที่ว่า การพัฒนาเมืองต้องทำอย่างมีส่วนร่วม เพราะเมืองที่ดี จะทำให้คนมีชีวิตที่ดี และสร้างคนที่มีศักยภาพ

เหตุการณ์ในวันนั้น (18 มกราคม 2541) กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการทำให้เกิดการรวมตัวผู้คนในภาคประชาสังคมในประเทศไทย และหนึ่งในหัวหอกสำคัญในการจัดงานนี้ คือ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม บางกอกฟอรั่ม (Bangkok Forum)

แต่นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในไม่กี่บทบาทของ อ.ชัยวัฒน์… 

เพราะเขายังเป็นนักคิด นักเดินทาง กระบวนกร นักจัดกระบวนการพัฒนาศักยภาพ กับการนำแนวคิดเรื่อง ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) หรือ วินัย 5 ประการ พื้นฐานองค์กรเรียนรู้ (THE FIFTH DISCIPLINE) ของ ปีเตอร์ เซ็งเก้ (Peter Senge) ที่ว่าด้วย องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) มาเผยแพร่ในประเทศไทย นอกจากนี้ เขายังเป็นอดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมัน และยังเป็นนักเรียนไอคิโด ในวัย 80 ปีอีกด้วย

คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่า อ.ชัยวัฒน์ คือ ปัญญาชน ที่เปรียบเสมือนคลังปัญญา และบรมครูที่ได้สร้างนักต่อสู้ผู้เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมจำนวนมากในประเทศไทย 

ในวาระครบรอบ 80 ปี ของ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ The Active ชวนผู้อ่านร่วมออกเดินทางไปบนถนนแห่งชีวิตสายนี้ ในเส้นทางของการเป็นนักพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม กับการเรียนรู้ ตั้งคำถาม และตกผลึกตลอดการทำงานหลายสิบปีที่ผ่านมา ผ่านบทสัมภาษณ์เมื่อ 15 ปีก่อนที่ยังคงสดใหม่ จนไปถึงความเรียงเสียงสนทนา ระหว่าง พระไพศาล วิสาโล และ อ.ชัยวัฒน์ อีกครั้งในช่วงปัจฉิมวัย ภายในงาน 80 years: Reflections on the Art of Living อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 68

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ในวัย 80 ปี

เฮสเส และ ดอกหญ้า : จนกว่าสายลมจะเปลี่ยนแปลง

ย้อนไปเมื่อราว 15 ปีก่อน ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ change เปลี่ยนชีวิต (กรรณจริยา สุขรุ่ง – พิธีกร) ถึงเรื่องราวจุดเริ่มต้น ตัวตน และบทบาทของการเป็น นักอภิวัฒน์สังคม ที่แม้วันนี้ เวลาจะล่วงผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว แต่เนื้อหายังคงสดใหม่และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้ไม่เสื่อมคลาย

อภิวัฒน์ เป็นคำที่ ปรีดี พนมยงค์ บัญญัติขึ้น โดยถอดมาจากคำว่า Revolution ที่แปลว่า ความงอกงามอย่างยิ่ง หรืออย่างวิเศษ

ไม่ว่าวันนี้ คำว่า นักอภิวัฒน์สังคม จะหมายถึงอะไร แต่น่าจะยังคงมีเป้าหมายไม่ต่างจากเดิม คือ เป็นผู้พัฒนาโลกให้ดีขึ้นกว่าที่เคย อ.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า หากอยากเปลี่ยนแปลงสังคม ก้าวแรกคือ การเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“เราต้องเข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม อยู่เพื่ออะไร และระหว่างมีชีวิต เราต้องการอะไรกันแน่ หากกระจ่างชัดเจนแล้ว ขอให้มุ่งไปหามัน อย่าทำตัวเหมือนเรือที่ออกจากท่าแล้วไม่รู้จะแล่นไปไหน เจอคลื่นลมพายุ ก็หลบตามเกาะไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดหมาย เพราะการมีเป้าหมายก็เหมือนหางเสือที่มาคุมเรือให้ชีวิตมีทิศทาง”

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

อ.ชัยวัฒน์ เชื่อว่า ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตนเอง หากรู้จัก รู้ความต้องการของตัวเองแล้ว ขอให้มุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้เต็มที่ เพราะมนุษย์สามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิต และจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนดังที่ มหาตมะ คานธี กล่าวไว้

“ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงโลก ให้ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน”

มหาตมะ คานธี

แต่การค้นหาความต้องการของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนั้น อ.ชัยวัฒน์ คือ หนุ่มน้อยนักเรียนไทยในเยอรมันที่กำลังก้าวเข้าสู่การเรียนในระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ พร้อมความคาดหวังจากครอบครัว ว่า เมื่อเรียนจบคงเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย แต่เพราะเสียงกระซิบจากดอกหญ้า และหนังสือปรัชญาเล่มหนึ่งที่ทำให้เขาหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้ง

เราต้องการอะไร ?

“ผมอ่าน สิทธารถะ (Siddhartha) ของ แฮร์มันน์ เฮสเส (Hermanm Hesse) ที่เป็นเรื่องราวของบุรุษคนหนึ่งที่พยายามแสวงหาความสุขที่แท้จริง ผมประทับใจมากเสียจนทำให้กลับมาทบทวนตัวเอง ว่าความสุขแท้จริงของตัวเราคืออะไร”

“ตอนนั้น ผมอายุแค่ 24-25 ปี ผมเดินผ่านสวนสาธารณะเพื่อไปเรียนตามปกติ แต่วันนั้นมีแดดสวยสดใส ผมนึกขึ้นมาว่าไม่อยากเข้าเรียนแล้ว อยากมีชีวิตอยู่กับความงามของธรรมชาติ ผมเลยนอนราบกับผืนหญ้า เห็นดอกเขี้ยวราชสีห์สีเหลือง ตัดกับฟ้าสีคราม และปุยเมฆขาวที่ลอยผ่าน”

หนังสือ สิทธารถะ – แฮร์มันน์ เฮสเส
Credit : openroadmedia.com

“ผมนอนอยู่อย่างนั้น นานเท่าไหร่จนจำไม่ได้ แต่มันเป็นความปิติสุขอย่างยิ่ง ผมถามตัวเองว่าทำไมจึงไม่เคยเห็นความงดงามนี้เลยทั้งที่เดินผ่านทุกวัน แต่คำตอบง่ายมาก นั่นเป็นเพราะผมไม่เคยมีเวลาหยุดดูมันยังไงหละ หากผมเรียนจบ ผมจะต้องเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจ คงไม่มีเวลาพินิจความงามของดอกไม้ใบหญ้าเช่นนี้อีกแล้ว”

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

“หากเราไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยเฉพาะการมีความสุขที่หาได้ง่าย ๆ
แล้วเราจะมีชีวิตได้อย่างไรกัน”

นี่คือสิ่งที่ อ.ชัยวัฒน์ ตั้งคำถามกับตนเอง นั่นเพราะเราต่างไม่ได้มีชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง แต่เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกในระบอบทุนนิยม

ดังที่ คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญาชาวเยอรมัน พูดถึงทฤษฎีว่าด้วยความผิดแปลกสภาวะ (Alienation) ไว้ใน The German Ideology ว่าด้วยความที่มนุษย์ไม่สามารถเป็นมนุษย์ได้ เพราะถูกแปลกแยกจากความเป็นตัวตนที่แท้จริง

“เราต้องหาทางพัฒนาตัวเอง ให้กลายเป็นมนุษย์ที่เป็นตัวตนแท้จริง แต่จะพัฒนาได้นั้น สังคมต้องมีส่วนช่วย ไม่ใช่การบีบบังคับให้กลายเป็นคนที่เราไม่อยากเป็นดังทุกวันนี้ สังคมต้องเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงศักยภาพของเรา มนุษย์จึงจะมีชีวิตได้อย่างเป็นสุขและเป็นตัวของตัวเอง”

ไม่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่า ถ้าอยากให้ทุกคนมีความสุข ต้องสร้างสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ทุกคน แม้จะใช้เวลา แต่ก็คุ้มค่าสำหรับรออวันที่สายลมนี้จะนำไปสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ไอคิโด : บทเรียนแห่งเต๋า ฝึกปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า – จึงเข้าใจ

ไอคิโด (Aikido) ศิลปะการป้องกันตัวของญี่ปุ่น ที่แฝงด้วยปรัชญาลึกซึ้งตามหลักหยินหยาง การฝึกฝนด้วยสมดุลกายใจและความพริ้วไหวนี้ ไม่ได้เป็นวิถีแห่งคนหนุ่มเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชายวัยไม้ใกล้ฝั่งด้วย

อ.ชัยวัฒน์ เริ่มเรียนไอคิโดครั้งแรกในวัยกว่า 60 ปี ด้วยความสนใจใครรู้ปรัชญา การฝึกปฏิบัติอย่างมีวินัยทำให้ยิ่งดำดิ่งลงลึกปรัชญาแบบเต๋า เช้าใจสรรพสิ่งผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวจนกระทั่งปัจจุบัน

“ผมศึกษาปรัชญาเต๋าแล้วชอบ เพราะเต๋าทำให้ผมสัมผัสบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ แต่ผมยังไม่รู้ว่าจะเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งและดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีเต๋าได้อย่างไร”

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กับ บทบาทนักเรียนไอคิโด วัย 80 ปี

“วิถีของเต๋า คือ การผสมกลมกลืน พัฒนาตนเองไปอย่างมีสภาวะกลมกลืนกับสรรพสิ่ง ไอคิโดเองก็เป็นการนำวิถีแห่งเต๋ามาต่อสู้ ผมลองเอาหลักนี้มาใช้กับร่างกาย ความคิด และจิตวิญญาณ นี่จึงเป็นวิถีหนึ่งที่ทำให้ผมเข้าใจเต๋าได้ดียิ่งขึ้น” 

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

เกือบ 20 ปี บนเส้นทางไอคิโด แม้ อ.ชัยวัฒน์ เป็นนักเรียนที่มีอายุมากที่สุด เรี่ยวแรงถดถอยโรยราตามช่วงวัย ไม่อาจสู้คนหนุ่มสาวได้ แต่สิ่งที่เปล่งประกายที่สุดกลับเป็นผลึกแห่งการเรียนรู้ที่ส่องแสงแวววาว

“ไอคิโดไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างมนุษย์-มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น
แต่เปรียบเสมือนการต่อสู้กับปัญหาในชีวิต 

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

เมื่อใดที่ปัญหากำลังโจมตีเข้าใส่ ไอคิโด สอนให้ไม่ชนกับปัญหาโดยตรง แต่ให้จับปัญหาเอาไว้ให้มั่น มีสติ ไม่ถอยหนี เท่าทันความคิดตัวเองให้ทัน มองหาจังหวะเคลื่อนไหว แล้วหลบหลีกเพื่อป้องกันตัวโดยไม่ทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

เพราะไอคิโดเป็นความอ่อนโยนที่ไม่อ่อนแอ คู่ต่อสู้ทุกคนคือการเรียนรู้ แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่น้อย คือ การได้เรียนรู้ว่า ความเข้าใจบางอย่างไม่มีทางลัด หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะเข้าใจ

“ตอนฝึกท่าซามูไรเบี่ยงดาบ หรือตอนโยกตัวขึ้นเพื่อฝึกพลังคิที่อยู่ใต้สะดือ ครูญี่ปุ่นถามพวกเราว่าเข้าใจไหม ทุกคนพยักหน้าเพราะคิดเหมือนกันว่าท่าแค่นี้จะไปยากอะไร แต่อาจารย์กลับบอกว่า พวกเรายังไม่เข้าใจหรอก…”

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

พอฝึกไปจริง ๆ พบว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะเข้าใจกลับใช้เวลาถึง 10 ปี บางเรื่องเหมือนง่ายแต่ยาก ยิ่งฝึกฝนนาน ยิ่งพบว่ามันกลับละเอียดลึกลงไปเรื่อย ๆ 

“ไอคิโดทำให้ผมรู้ว่าบางเรื่องในชีวิต กว่าจะเข้าใจต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากอยากบรรลุศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ เราต้องฝึกฝนซ้ำ ๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด”

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

ไอคิโด คือ อีกหนึ่งผลึกการเรียนรู้ที่แฝงปรัชญาการใช้ชีวิต ในยุคสมัยที่ผู้คนต่างตามหาชุดความรู้สำเร็จรูปที่เข้าใจง่าย หรือวิธีลัดที่แค่ทำตามไม่กี่ครั้งก็สำเร็จอย่างรวดเร็ว แม้บางเรื่องจะทำได้ แต่อีกหลายเรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น การจะไปให้ถึงจุดสูงสุดของการพัฒนาศักยภาพจำเป็นต้องอดทน ฝึกฝน ซำ้แล้วซ้ำแล่าอย่างไม่ย่อท้อผ่านกาลเวลาที่ยาวนานต่างหากจึงจะเข้าใจอย่างถ่องแท้

ความเรียง เสียงสนทนา : ‘ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์’ และ ‘พระไพศาล วิสาโล’

ตลอดเส้นทางชีวิต 80 ปี อ.ชัยวัฒน์ ใช้ชีวิตในฐานะนักเรียนรู้ นักตั้งคำถาม และนักค้นหาคำตอบ หลายสิ่งอย่างในชีวิตผ่านการขบคิด เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติอย่างยาวนานจนตกผลึก ทั้งหมดนี้กลายแรงบันดาลใจพร้อมบทเรียนล้ำค่าให้กับคนทำงานภาคสังคมรุ่นถัดไป ในขณะที่อีกหลายอย่างยังคงแสวงหาคำตอบ 

ต่อไปนี้…คือ ความเรียงเสียงสนทนาระหว่าง อ.ชัยวัฒน์ กับ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ซึ่งนับเป็นการตกผลึกชีวิตตลอดช่วงวัย 80 ปี ของเขา

อ.ชัยวัตน์ : ตอนผมอายุราว 40 ปี ผมได้อ่านหนังสือ แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม (2527) ของพระไพศาล วิสาโล ตอนนั้นท่านเพิ่งบวชใหม่ อายุแค่ 27 ปี แต่ผมพบว่ามีอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่ในนั้น และผมยังเคยได้รับพรปีใหม่จากท่านที่ลึกซึ้งเหลือเกิน คือ ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ผมคิดว่าการทำงานเพื่อสังคมต้องมีศรัทธาเป็นเรื่องใหญ่ แล้วท่านคิดว่าอย่างไร ?

พระไพศาล วิสาโล : ศรัทธาเป็นชีวิตภายใน แยกไม่ขาดจากชีวิตภายนอก การใช้ชีวิตที่ดีต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้ง 2 มิติ มิติภายนอก คือ การทำงานเพื่อสังคม การใช้ชีวิต ทำมาหากิน ดูแลครอบครัว หรือที่เรียกว่า ทางโลก ซึ่งไม่อาจแยกขาดจากมิติภายใน

“เหมือนต้นไม้ที่ยิ่งสูงใหญ่เท่าไร ยิ่งจำเป็นต้องมีรากหยั่งลึกลงผืนดินมากเท่านั้น แม้ในหน้าแล้งไม่มีฝน กิ่งก้านใบยังเขียวชอุ่มให้ร่มเงาปกคลุมอุ้มชู เป็นที่พักพิงของสรรพสิ่งนานาชนิด เปรียบเสมือนการมีสิ่งหล่อเลี้ยงค้ำยันจากมิติภายใจที่แข็งแรง”

พระไพศาล วิสาโล

หากคนเราพบความสุขที่ลึกซึ้งภายในใจ แม้ไร้เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ยังสามารถทำงานเพื่อสังคมที่ยืนระยะได้ยาวนาน ไม่ละทิ้งอุดมการณ์กลางคัน ท้อแท้ ท้อถอย หรือหมดหวังไปเสียก่อน

เช่นเดียวกับการเป็นพระ พระไม่มีสิทธิเสพสุขจากกามา การมีคู่รัก อาหารอร่อย หรือการใช้ชีวิตลั้นลา จะเป็นพระได้นานนั้นต้องมีความสุขและศรัทธาภายในเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง หากเรามีศรัทธาที่เป็นปัญญามั่นคง และยิ่งเข้าใกล้สิ่งที่เราศรัทธาได้มากเท่าไร ยิ่งจะเกิดความสุขความพอใจ มีแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ว่าอุปสรรคจะมากเพียงใดก็ตาม

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กับหนังสือ “แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม
และ พระไพศาล วิสาโล

อ.ชัยวัตน์ : มีคำกล่าวว่า Life is a mission, not a career ท่านคิดเห็นว่าอย่างไร ?

พระไพศาล วิสาโล : Mission กับ Carreer เป็นคนละอย่างกัน ต้องแยกออกจากกันให้ออก หากพูดถึง carreer เราอาจนึกถึงคำว่า career path หรือเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพการงาน สำหรับพระแล้ว career path อาจเป็นการได้เป็นเจ้าคุณ เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล สำหรับครูบาอาจารย์ career path อาจคือการมีตำแหน่ง ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์

หรือเวลาเลี้ยงลูก เราหวังให้เด็กคนหนึ่งเติบโตแล้วเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จบนเส้นทางของ career path ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสวนทางกับ mission ของชีวิตก็ได้

คนบางคน อาจล้มเหลวทาง career แต่ไม่ได้แปลว่า mission ของเขาจะพร่องไป อาจจะอุดมก็ได้ เพราะหากชีวิตมีแต่ career อย่างเดียว

หากมนุษย์มีภารกิจในชีวิตเป็น carreer อย่างเดียว จะเป็นมิติที่แคบมาก เพราะหนีไม่พ้นลาภยศสรรเสริญ และการคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง

ฉะนั้นแล้ว ชีวิต คือ การทำตาม mission ที่หมายถึง การทำภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เพื่อให้ชีวิตเรางดงามตามที่เราศรัทธาและสร้างความสุข ไม่ใช่แค่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่มองเห็นแต่ตนเองเท่านั้น ดังที่ท่านพุทธทาสบอกไว้ว่า “ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์”

อ.ชัยวัตน์ : ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักคิดและนักสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายคนทั้งไทยและต่างประเทศ พวกเขาพูดถึงการสร้างสังคมให้ไปสู่การเป็น สังคมแห่งการรู้แจ้ง (enlightened society) แต่หากทำชาตินี้ไม่สำเร็จ ชาติหน้าจะขอเกิดใหม่อีกครั้ง แล้วทำมันต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสำเร็จ ท่านคิดว่าอย่างไร ?

พระไพศาล วิสาโล : เมื่อพูดถึงสังคม enlightened society อาตมานึกถึง คำกล่าวหนึ่งในสามก๊กที่ว่า

“ในแผ่นดินนี้ เมื่อแตกแยกมานานก็จักรวมสมาน…รวมสมานมานานก็จักแตกแยก”

นี่คือวัฏจักรแผ่นดินที่เป็นสัจธรรมโลก ถึงแม้ววันนี้เราจะมี enlightened society ได้แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าอยู่คงอยู่ตลอดไป ทุกสิ่งไม่เที่ยง ย่อมเสื่อมสลาย แล้วในที่สุดก็จะกลับมางอกงามใหม่ โลกมันก็เหวี่ยงไปมาเช่นนี้เอง

เช่นเดียวกับความจริงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของโลก ย้อนไปเมื่อ 36 ปีก่อน กำแพงเบอร์ลินที่แบ่งแยกระหว่างเยอรมันตะวันออกและตะวันตกล่มสลาย นำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

ในตอนนั้น เราคิดว่าโลกจะมีสันติภาพและประชาธิปไตย และกลายเป็น จุดจบแห่งประวัติศาสตร์ (the end of history) ดังที่ ฟรานซิส ฟูกูยามะ (Francis Fukuyama) กล่าวไว้ แต่ในความเป็นจริงอาตมาไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะท้ายที่สุดโลกจะเหวี่ยงกลับไป-มาอีกจนได้ ความไม่เที่ยงนี้คือความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับ

จุดหมายใดที่เราอยากรีบไปถึง มันจะช้า แต่ถ้าเราทำเต็มที่โดยไม่ยึดติดผลลัพธ์ หรือคำนึงว่าจะต้องไปถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุด ใจก็จะเป็นสุข เพราะผลลัพธ์อยู่ที่เหตุปัจจัย ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่เราควบคุมได้ ดังภาษิตจีนที่กว่าไว้ว่า “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นของฟ้าดิน” ฉะนั้นจง ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส นั่นเอง

อ.ชัยวัตน์ : ชาตินิยมและศรัทธา คือสิ่งที่เหล่านักพัฒนามี ท่านคิดว่าอย่างไร ?

พระไพศาล วิสาโล : สิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีสัญชาติญาณ 2 ส่วน คือ สัญชาติญานเพื่อความอยู่รอดและอยู่ร่วม ในแง่หนึ่ง มนุษย์ดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอด กินอาหาร สืบพันธุ์ ป้องกันอันตรายแก่เผ่าพันธุ์ อีกแง่หนึ่งคือการตอบสนองการอยู่ร่วมที่แสดงออกมาเป็น ชาตินิยม

หากที่ไหนบ่มเพาะความเป็นชาตินิยมอย่างแยบคาย เราจะรู้สึกผูกพันธ์กับชาติ เฉกเช่นเดียวกับอาตมาที่เป็นลูกจีน แต่กลับไม่ยอมเรียนภาษาจีน ไม่ขอมีแซ่ เพราะอาตมาคือผลผลิตของอุดมการณ์ชาตินิยมเช่นกัน

ในสมัยก่อนที่เรายังไม่มีชาติ เราจะผูกพันธ์กับเมือง เช่น ความเป็นชาวสุพรรณฯ ความเป็นคนนครฯ คนพร้อมตายเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แต่เมื่อเราอยู่ภายใต้อุดมการณ์ความเป็นชาติแล้ว เราจะรู้สึกว่าความเป็นคนสุพรรณ หรือความเป็นคนกรุงเทพฯ มีพลังน้อยกว่าความเป็นคนไทย และทั้งหมดนี้คือ อุปทาน ที่ทำให้เราต้องเสียสละเพื่อชาติ

“แต่เราควรก้าวไปสู่สำนึกใหม่ที่ก้าวพ้นเหนือกว่าความเป็นชาติ คือ สำนึกความเป็นพลเมืองโลก

พระไพศาล วิสาโล

อย่างไรก็ตาม อาตมาเชื่อว่ามนุษย์ต้องมีทั้ง ราก และ ปีก แน่นอนว่า การรู้จักยอมรับในกำพืดของตัวเองไม่ว่าจะเป็นลูกจีนหรือคนนครฯ จะทำให้คนมีราก แต่การศึกษาและจิตใจที่อิสระต่างหากที่ทำให้คนมีปีกก้าวพ้นความเป็นชาตินิยมนี้ได้ จึงต้องผสานสองอย่างนี้ให้ได้

80 ปี ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ุ : ผลึกตะกอนแห่งขีวิต

หน้ากระดาษนี้จะมีเนื้อที่ไม่พอที่จะเล่าถึงเส้นทางการเดินทางของชีวิตในช่วงเวลาหลายสิบปีของมนุษย์คนหนึ่งได้ทั้งหมด แต่เรื่องราวเหล่านี้ คือ บทสรุปชีวิตขนาดย่อ ของผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักอภิวัฒน์สังคม และสร้างกระบวนการพัฒนาศักยภาพที่ทรงคุณค่าในประเทศไทย

บรรยากาศภายในงาน 80 years: Reflections on the Art of Living อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

แม้ว่า ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ุในวัย 80 ปี วันนี้ อาจไม่ใช่คนเดิมในวัยหนุ่มอีกต่อไป แต่ อ.ชัยวัฒน์ ยังคงเป็นนักปราชญ์เต็มไปด้วยเรี่ยวแรงและหัวใจแห่งการพัฒนาไม่เสื่อมคลาย

เรื่องราวการเดินทางบนถนนชีวิตของ อ.ชัยวัฒน์ สายนี้ จะกลายเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ราวจะบอกกับคนรุ่นหลังว่า การขับเคลื่อนทางสังคมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลายาวนาน และแม้เวลาจะผันผ่านมาหลายสิบปี แต่ใช่ว่าปลายทางจะเป็นดั่งฝันตามตั้งใจเสมอไป

แต่หากทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยสมองและหัวใจ ทำไปด้วยความสุขที่ขับเคลื่อนจากภายใน ถึงจะไม่สำเร็จในชั่วชีวิตนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกย่างก้าวคือบทเรียนอันทรงคุณค่าและผลึกภูมิปัญญที่ฝากให้กับนักพัฒนารุ่นหลัง

“วันนี้ในวัย 80 ปี ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่ โจเซฟ แคมป์เบลล์ (Joseph Campbell) บรมครูยิ่งใหญ่ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง พลานุภาพแห่งเทพปกรณัม ที่เคยพูดไว้ว่า follow your bliss หรือ เดินตามปิติของคุณไป เมื่อหัวใจคุณปิติยินดีกับสิ่งใด ขอให้ไล่ตามมันไป อย่าหวาดกลัว อย่าหวั่นไหว เพราะหากคุณเดินตามหัวใจและความสุขที่ลึกซึ้งนี้ของคุณไป ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร จะสามารถทะลุทะลวงมันไปได้อย่างน่นอน”

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ฝากข้อคิดทิ้งท้าย