อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กับความหลากหลายของคนหลังจอ
ไม่น้อยกว่า 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าซีรีส์วายในประเทศไทยครองพื้นที่บนแพลตฟอร์มรับชมละครออนไลน์มากกว่าครึ่งของเนื้อหาทั้งหมด และในช่วง 5 ปีนี้ ประเทศไทยมีจำนวนซีรีส์วายเพิ่มขึ้นจากหลักสิบ พุ่งขึ้นเกือบร้อย และได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ
กระแสนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเท่านั้น เพราะทีม Line Insights พบว่า ฐานคนดูซีรีส์วายบน Line TV เพิ่มขึ้น 328 % หรือกว่า 3 เท่าตัว ปรากฏการณ์นี้สร้างรายได้ให้ประเทศไทย โดยผลักให้ ‘Y ECONOMY’ เป็นอันดับที่ 1 ในเอเชีย สร้างมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ในช่วงปี 2563
มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากการออกอากาศซีรีส์เพียงอย่างเดียว แต่มาจากการออกอีเวนท์คู่กันของ “คู่จิ้น” นักแสดง และการขายสินค้า
ถึงอย่างนั้น แม้ซีรีส์วายได้รับการยอมรับและเติบโตทั้งด้านกระแสนิยมและเศรษฐกิจ แต่หากพูดถึงเส้นทางกว่าจะได้รับการยอมรับอย่างวันนี้ กลับไม่ได้ราบรื่น และมีปมบางอย่างซ่อนอยู่ รอวันยกระดับประเด็น “ความหลากหลายทางเพศ” ไปอีกขั้น
16 ปี “รักแห่งสยาม” กับจุดเริ่มต้นคู่จิ้นแรก ๆ ในประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน หวนมองบทบาทของหนังที่มีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของตัวละคร “โต้ง-มิว” จากภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” ที่รับบทโดย ‘มาริโอ้ เมาเร่อ’ และ ‘พิช วิชญ์สิฐ หิรัญวงษ์กุล’ ซึ่งตอนนั้นนับว่าเป็นคู่จิ้นยุคแรก ๆ ของประเทศไทยที่เป็นชายชาย เหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรื่องเหล่านี้ปรากฏในสื่อไทยมานานแล้ว…แต่ไม่เลย
‘มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม เล่าว่า มุมมองของสังคมกับบทภาพยนตร์แนวที่มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อ 16 ปีก่อน ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก การวางแผนการโพรโมตหนังจะต้องหลบซ่อน ตัวหนังไม่ได้พูดถึงว่าจะมีความเป็น LGBTQ+ ในยุคนั้น และหลังจากที่หนังฉายออกไป กระแสถูกแบ่งออกเป็น 2 เสียง คือคนที่ชอบก็ชอบเลย ส่วนคนที่ไม่ชอบก็มีความเห็นต่อต้าน ซึ่งความเห็นด้านลบเหล่านี้ กระทบจิตใจของตนมาก ๆ
“พอมายุคนี้ กลายเป็นจุดขายและจุดโพรโมต Soft Power ไทย สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าสังคมเราเดินมาไกลมากจากจุดนั้น แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ คนที่นำพาโดนอะไรมาเยอะ กว่าจะมาถึงจุดขายขนาดนี้ไม่ง่ายเลย”
รวมกันก็ได้อยู่ แล้วแยกหมวดหมู่ทำไม?
นอกจากทัศนคติของสังคมที่มีต่อเนื้อหาของหนังและซีรีส์วายได้เปลี่ยนไปแล้ว เราจะพบว่าปัจจุบัน มีความพยายามผลิตเนื้อหาให้มีความหลากหลายมากขึ้น มะเดี่ยว เล่าว่า คนเขียนคอนเทนต์เหล่านี้ ตอนแรกอาจเริ่มต้นจากการเอาความโรแมนซ์เป็นที่ตั้ง เอาเรื่องแฟนตาซี เรื่องเพศชายมาห่อ แต่หากเอาเรื่องเพศสภาพออกไป หนังเหล่านี้ก็เป็นหนังโรแมนติกทั่วไป
ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่วงการหนังตั้งคำถามและมองว่าจะต้องพูดคุยกันต่อ เพราะหน้าหนังวายยังถูกจัดออกเป็น ฌอง (Genre) หรือเป็นอีกแนวหนึ่งของหนังไปเลย ทั้งที่ ฌอง คือการจัดแนวของหนังในด้านของอารมณ์และรูปแบบการนำเสนอ เช่น แนวชีวิต (Drama), แนวตลก (Comedy), แนวบู๊/ต่อสู้ (Action), แนวรัก (Romantic), แนวระทึกขวัญ (Thriller), แนวสืบสวนสอบสวน (Suspense) และแนวสยองขวัญ (Horror) แต่วายไม่ใช่ความรู้สึก
ดังนั้น อีกความคาดหวังที่ มะเดี่ยว พยายามผลักดันมาตลอด คือ ตนไม่อยากให้มองตัวละครที่เป็น LGBTQ+ ชายชาย หญิงหญิง มันคือ “ฌอง” หรือหมวดหมู่ ที่ถูกแยกออกมา ซึ่งในหน้าหนังก็จะถูกระบุว่าเป็น “หนังวาย” ไม่ได้เป็นหนังโรแมนติก คอเมดี หรือดรามา แอ็กชันอย่างหนังแนวอื่น ๆ
“เราพยายามให้คอนเทนต์มันคือ แอ็กชัน โรแมนติก แค่ตัวละครนำเขามีรสนิยมทางเพศหรือเพศสภาพหลากหลายเท่านั้นเอง เราพยายามเปลี่ยนมุมมองตรงนี้อยู่เหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลา เพราะตอนนี้พบว่าวายกลายเป็นอีกหมวดหมู่หนึ่ง ซึ่งไม่ควร”
คอนเทนต์วายเติบโต เพราะถูกยอมรับและถูกกดทับไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากมิติของคนทำหนังแล้ว มิติของภาคการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและร่วมขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติได้ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกับปรากฏการณ์และกระแสที่เกิดขึ้นว่า รักแห่งสยาม ได้สะท้อนภาพความนิยมของซีรีส์วายในปัจจุบันได้ 2 มิติ คือ ซีรีส์วายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการตระหนักรู้ LGBTQ+ ถูกยอมรับจริง ๆ และในมุมสตรีนิยมอาจบอกได้ว่า การดูซีรีส์วายของผู้หญิง มีสาเหตุจากการถูกกดทับจากสังคมในแง่ของการแสดงออกทางเพศ
เป็นที่น่าสนใจว่า แม้ซีรีส์วายมีตลาดตั้งต้นมาจากญี่ปุ่น เอเชียตะวันออก แต่มาเติบโตและเบ่งบานที่ประเทศไทย และอาจมีความเป็นไปได้ที่มีผลมาจากการกดทับของผู้หญิงในสังคมนั้น ๆ อย่างที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล บอกไว้ เมื่อผู้หญิงถูกกดทับมาก จนผู้หญิงไม่สามารถจินตนาการร่างกายของตนได้ในกิริยาที่ผู้ชายทำได้ จึงกลายเป็นว่าผู้หญิงในบางสังคมชื่นชอบและมีความสุขกับการมีซีรีส์วายมาก ๆ เช่น ประเทศในกลุ่มมุสลิม กลุ่มละตินอเมริกา หรือเอเชียตะวันออก ที่มีการกดทับค่อนข้างสูง และเริ่มเปิดรับเนื้อหาประเภทนี้เพิ่มขึ้นมาก
ธัญวัจน์ บอกว่าไทยจะต้องผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เช่นนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ผลิตเนื้อหาที่สนุก เพื่อให้คนทั่วโลกเข้าถึง ที่สำคัญคือแก้โครงสร้างการตระหนักรู้ให้กับสังคม ส่วนมิติทางการเมือง คงต้องเดินหน้าผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศต่อไป
หลังม่าน อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและภาพยนตร์ ยังคงเป็นโลกของผู้ชาย
การนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมีมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากความนิยมนี้ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อเรามองทะลุเข้าไปหลังจอ เพื่อฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศหลังม่านของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ยังพบว่าไม่ได้มีความเท่าเทียมดั่งภาพที่ฉายออกไป
- 80.90 % คือ สัดส่วนผู้ชายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (ข้อมูลที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมช่วงปี 2000-2019 รวม 86 เรื่อง)
- 75.63 % คือ สัดส่วนผู้ชายในอุตสาหกรรมละครไทย (ข้อมูลภาพยนตร์ละครเด่น จากช่อง 3, 5, 7, GMM25, MCOT และ ONE31 ช่วงปี 2014-2019 จำนวน 261 เรื่อง)
- 69.87 % คือ สัดส่วนผู้ชายที่สร้างละครบนแพลตฟอร์ม สตรีมมิ่ง (ข้อมูลละครซีรีส์ LINE TV ที่มีจำนวนแฟนติดตามเกิน 100,000 คนช่วงปี 2015 – 2020 จำนวน 39 เรื่อง)
จากตัวเลขจะพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนตัวเลขโดยรวมของอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงในไทยที่มีผู้ชายเป็นคนสร้างมากถึง 70% เมื่อสัดส่วนของผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจทำให้เนื้อหาที่ปรากฏในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงเป็นการเล่าผ่านมุมมองของผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งกระทบเรื่องความหลากหลาย
ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา ตัวแทนจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ เล่าว่า ในอุตสาหกรรมบันเทิง อย่างในกองถ่ายมีพื้นที่ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงอยู่ก็จริง แต่มักเห็นคนกลุ่มนี้อยู่ในตำแหน่งเฉพาะ เช่น คอสตูมหรือช่างแต่งหน้า รวมถึงตำแหน่งในเชิงจัดการต่าง ๆ เสียเป็นส่วนมาก จากประสบการณ์ที่ตนทำงานเบื้องหลังและขับเคลื่อนเรื่องแรงงานสร้างสรรค์ ธัญวรัตม์ มองว่า เมื่อวัฒนธรรมในกองถ่ายที่ให้คุณค่าความเป็นชายยังคงมีพื้นที่อยู่มาก เรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน หรือการทำงานที่ไม่มีความปลอดภัย รวมถึงความรุนแรงในการทำงาน ส่วนหนึ่งผูกโยงกับอุตสาหกรรมนี้ที่ให้คุณค่ากับความเป็นชายมากกว่า และวัฒนธรรมแบบนี้ ไม่ได้กดทับแค่ผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่กระทบกับผู้ชายด้วยเหมือนกัน ที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ และเสียชีวิตจากการทำงานหนัก
จึงนับเป็นเรื่องที่ดี ที่การนำเสนอความหลากหลายทางเพศปรากฏผ่านหน้าจอ แต่ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่าวิธีการนำเสนอและสังคมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เขามองเห็นตัวเองในภาพแทนเหล่านั้นจริงหรือไม่
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ “เพศ” ในอุตสาหกรรมสื่อภาพยนตร์ไทย?
อุตสาหกรรมสื่อ นอกจากความบันเทิงแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือคอยสะท้อนภาพความคิดของสังคมนั้น ๆ ด้วย และแม้ว่าผลลัพธ์ของอุตสาหกรรมนี้ จะสะท้อนความนิยมออกมาเป็นมูลค่าและเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้มหาศาล หรือภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมีพื้นที่มากแค่ไหน หากแต่โครงสร้างภายในยังคงมีปัญหา เหล่านั้นอาจเป็นเพียงกระแสนิยมที่เกิดขึ้นและดับลงเพียงชั่วคราว การนำเสนอภาพความหลากหลายบนพื้นที่หน้าจออาจเป็นแค่ภาพมายา ดำเนินไปตามบทที่ตลาดทุนกำหนด แต่ไม่ใช่ความจริง