คนจนข้ามรุ่น

นอกจากทรัพย์สมบัติ “ความยากจน” ก็เป็นมรดกอีกอย่างหนึ่งที่สืบทอดให้คนในครอบครัว . ครอบครัวยายผ่อง เป็นหนึ่งในนั้น คนรุ่นหลานคือความหวังที่จะตะเกียกตะกายผ่านชั้นความจน แต่การดูแลหลาน ๆ 9 คน ที่เกิดจากลูก 4 คน ก็เกินกำลังของยายผ่องเพียงคนเดียว . ส่วนคนรุ่นพ่อแม่ ที่อยู่ในวัยแรงงาน จำต้องทิ้งบ้านเกิด ไปทำงานในเมืองใหญ่ ส่งเงินกลับบ้านเพื่อเลี้ยงดูคนวัยชรา และลูก ๆ ที่อยู่ในชนบท กลายเป็น “ครอบครัวแหว่งกลาง” . แม้รัฐจะมีหลากหลายนโยบายแก้ปัญหาความยากจน แต่ครอบครัวนี้ไม่มีโอกาสเข้าถึง แล้ว “ความจนข้ามรุ่น” จะจบลงได้ด้วยอะไร
รองเท้าของ 'เอ็มมี่' มีไว้เพื่อหิ้วไปใส่เข้าแถวหน้าเสาธง นอกจากนั้นเอ็มมี่จะเดินเท้าเปล่า เพราะรองเท้าคับ แน่นจนเจ็บเท้า
.
ปีที่แล้ว แม่บอกว่าสิ้นเดือนจะส่งเงินมาให้ซื้อรองเท้าใหม่ เอ็มมี่พยายามเก็บเงินด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องเอาออกไปจ่ายค่าทำรายงานกับเพื่อนก่อน ค่าอาหารก็เช่นกัน บางวันเธอต้องอดกินข้าวกลางวันเพราะเอาเงินค่าอาหารไปจ่ายค่ารายงาน
.
ทุกวันนี้เอ็มมี่เรียนชั้น ม.2 เธอได้เรียนเพราะพี่ชายยอมออกจากโรงเรียนไปบวชเณร เพื่อที่ยายจะได้มีเงินพอสำหรับจ่ายค่ารถให้หลานไปโรงเรียนในเมืองได้ 1 คน
'ฮันนี่' เป็นหลานสาวคนล่าสุดที่ลูกสาวกลับมาคลอดและฝากไว้ให้เลี้ยง
.
ถ้าการช่วยเหลือของรัฐตรงเป้าและแม่นยำ ฮันนี่จะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการซื้อนมผงสำหรับทารก แต่ความเป็นจริงนั้น “ไม่ใช่” !!!
.
นมในขวดที่ทารกวัย 3 เดือนกำลังดื่มกิน คือ “นมโรงเรียน” ที่พี่ ๆ เอากลับมาจากโรงเรียน เพื่อเอามาแบ่งให้น้องคนเล็กกิน 'ยายผ่อง' ไม่มีเงินซื้อนมผงสำหรับทารก ขณะที่โครงการเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ก็มาไม่ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
หลานสาว 3 คน ชวนกันไปรับจ้างหยอดน้ำกรด เก็บขี้ยางทุกเสาร์ อาทิตย์ ได้ค่าจ้างคนละ 50 บาท
.
เด็ก ๆ จะรีบทำการบ้านให้เสร็จก่อนออกไปรับจ้าง ความจนร้ายกาจสำหรับเด็ก แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับการฝึกทักษะชีวิต
.
ผู้ใหญ่บางคนเป็นห่วงว่าสวนยางในที่เปลี่ยว อาจจะอันตรายเกินไปสำหรับเด็กวัยเริ่มสาว หากมีหนทางหารายได้พิเศษด้วยงานอื่น ๆ ที่ปลอดภัย ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของเด็ก ๆ
'ตาสมยงค์' เป็นสามีคู่ทุกข์คู่ยากของยายคำผ่อง ลูกบวชพระ หลานบวชเณร เพื่อเว้นระยะห่างกับความยากจน ในผ้าเหลือง
.
นักบวชทั้งสอง ได้เรียนปริยัติ และสายสามัญผ่านการศึกษานอกโรงเรียนหรือ กศน. นาน ๆ จะได้กลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้งและได้ดูแลตาซึ่งเส้นเลือดสมองแตกและป่วยติดเตียงให้ลุกขึ้นและฝึกเดิน
.
ตาสมยงค์ อารมณ์ดี แม้บางทีจะสิ้นหวังในชีวิต แต่ก็มีรอยยิ้มได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะเมื่อสามเณรโก้หลานชายคนโต กลับมาบ้านให้หายคิดถึง
เด็ก ได้ยินเสียงและเห็นหน้าแม่ของพวกเขาผ่านโทรศัพท์มือถือ ลูก ๆ ของยายผ่องทุกคนเรียนจบชั้น ป. 6 ไปทำงานในเมืองใหญ่ เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจประเทศ และครอบครัวในชนบทแบบนี้ก็คือเบื้องหลังของเมืองที่ยิ่งใหญ่ จ้างงานคนด้วยค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ปล่อยให้ “คนจนเมือง” กัดฟันสู้ชีวิต ส่งเงินกลับบ้าน โดยไม่มีหลักประกันว่า วันใดที่พวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง ๆ
ความยากจนถูกส่งผ่านคน 3 รุ่น ในครอบครัวของแม่คำผ่อง กับพ่อสมยงค์
.
ผังเครือญาติเป็นเครื่องมือทางมานุษยวิทยาที่ทำให้เห็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ว่ามีใครบ้างที่มีความสัมพันธ์ ดูแล และเป็นผู้สืบทอดมรดก (รวมถึงมรดกความยากจน) และในเวลาเดียวกัน แผนผังที่มีผู้คนรายล้อมก็ยังสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นภาระรับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูล
.
จากผังเครือญาติของแม่คำผ่อง อาจจะเป็นแผนผังที่บ่งบอกถึง “คนจนข้ามรุ่น” ในเส้นประที่ลากโยงบุคคล 9 คนไว้ในวงล้อมเดียวกัน หมายถึงคนที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน
.
แม่คำผ่องในวัย 66 ปี มีพ่อสงยงค์สามีที่ป่วยติดเตียง และหลาน ๆ อายุตั้งแต่ 4 เดือน จนถึง 13 ปี อีก 7 คน เป็นบุคคลที่ต้องดูแล ถึงแม้แม่คำผ่องจะยังพอมีเรี่ยวแรงที่จะออกไปหาอาหารหรือรับจ้างใกล้บ้าน แต่ภาระที่ปรากฏในผังเครือญาติของเธอ ก็อาจจะพอเดาได้ว่า เวลาในแต่ละวันของแม่คำผ่องต้องหมดไปกับการดูแลคนทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลที่ต้องรอคอยเงินจากลูก ๆ ที่เข้าไปเป็น “คนจนเมือง” ส่งเงินกลับมาให้ใช้ที่บ้าน
คำผ่องข้ามจากลาว มาใช้ชีวิตในฝั่งไทยตั้งแต่ปี 2518 การไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ยากลำบาก ลูกทั้ง 4 คน เรียนจบแค่ชั้น ป.6 แล้วไปทำงานก่อสร้างในเมือง แม้จะเกิดในประเทศไทยทั้ง 4 คน แต่ก็เพิ่งได้รับสัญชาติไทยเมื่อปี 2562
.
การศึกษาที่ไม่สูง ไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้รุ่นลูก ไม่มีโอกาสที่จะตะเกียกตะกายผ่านชั้นความยากจน ความหวังจึงถูกฝากไว้กับคนรุ่นหลาน หากได้เรียนจนจบชั้นสูง ๆ ก็คงจะมีโอกาสหางานดี ๆ ทำ มีรายได้มากกว่ารุ่นพ่อแม่ แต่การเกื้อกูลเด็กทั้ง 9 คน ที่เกิดจากลูก 4 คน ของครอบครัวยากจนข้ามรุ่นนี้ ก็ยากเกินลำลังของยายผ่องคนเดียว
.
หากเส้นเวลาของชีวิตนี้ เชื่อมต่อกับเส้นเวลาของนโยบาลรัฐ อาจมีตัวช่วยหลายตัวปรากฏขึ้น เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กองทุนเสมอภาคการศึกษา เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ฯลฯ แต่ครอบครัวนี้ไม่มีโอกาสเข้าถึงนโยบายเหล่านั้นด้วยเหตุผลนานาประการ
.
แล้วความยากจนข้ามรุ่น จะจบลงได้ด้วยอะไร ?