อาข่า ในป่าปูน…ทางรอด ในวันที่บ้านไร้ที่ทำกิน

“ถ้าเลือกได้ ก็อยากทำงานแถวบ้าน”

เสียงสะท้อนของคนแปลกถิ่นบนที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ต้องจำใจออกมาหากินไกลบ้าน #ตรอกข้าวสาร เพื่อหารายได้มาจุนเจือตนเองและครอบครัว

‘ชาวอาข่า’ มากกว่า 20 ชีวิตในค่ำคืนนี้ ลงจากดอยมาขายเครื่องประดับ พวงกุญแจ และกบไม้ ในใจกลางมหานครที่ไม่คุ้นเคยมากนัก ที่นี่ ‘ไม่ใช่บ้าน’ เพียงแต่เป็นโอกาสที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่านี้ได้มากกว่าการรอคอยงานจากพื้นที่ทำกินบนที่สูงอย่างไร้วี่แวว

จะเป็นอย่างไรในเมืองใหญ่นี้ ? The Active ชวนสัมผัสชีวิตของชาวอาข่าที่ต้องไกลบ้านด้วยเหตุจำเป็นในเมืองแห่งแสงสีอย่างกรุงเทพมหานคร
ก่อนตะวันจะลับขอบฟ้า พื้นที่ตรงกลางวงเวียนหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร มีหญิงวัยกลางคนกำลังนั่งจัดเตรียมเครื่องประดับ พวงกุญแจ และกบไม้ ใส่ในตะกร้าคู่ใจ
ข้าง ๆ ของเธอ มีหมวกสีดำรูปทรงสูงแปลกตา ประดับด้วยโลหะเงิน ลูกปัดหลากสี กระดิ่ง และพู่ปอมปอม สิ่งเหล่านี้สำหรับบางคน อาจไม่ค่อยคุ้นตา แต่ก็มีคนเมืองอีกจำนวนไม่น้อยที่พอดูออกว่า นี่คืออัตลักษณ์ของ "อาข่า" กลุ่มชาติพันธุ์จากพื้นที่สูงทางเหนือของไทย
เพียงชั่วครู่ หมวกอาข่า ถูกหยิบขึ้นมาสวมที่หัว บ่งบอกถึงการเตรียมพร้อมออกเดินไปยังตรอกเล็ก ๆ ยอดนิยมของนักเที่ยวยามราตรีอย่าง #ถนนข้าวสาร
"หมีมะ" ชาวอาข่า วัย 58 ปี จำใจจากบ้านที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เดินทางมาเกือบ 900 กิโลเมตร เพื่อมาแสวงหาโอกาสในกรุงเทพฯ...เมืองที่เธอเชื่อว่ามีดีกว่าบ้านเกิดที่จากมา  หมีมะ ยังไม่คุ้นชินกับภาษาไทยมากนัก จึงใช้เวลาสนทนาอยู่นานกว่าจะทำความรู้จักกันได้  เพราะนี่คือครั้งแรกที่เธอต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เข้ามาหากินอยู่ในใจกลางมหานคร เราจึงรู้จักกับเธอผ่านสมุด-ปากกาที่พกมา และอวัจนภาษาเท่าที่จะพยายามสื่อสารกันได้
ไม่ใช่แค่ หมีมะ ที่ฝากความหวังไว้กับถนนข้าวสาร ให้เป็นที่ทำมาหากินเพื่อมีรายได้เลี้ยงปากท้องให้กับตัวเอง และครอบครัว ในวันที่ "บ้าน" ของเธอไม่มีพื้นที่ทำกิน  แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์จากพื้นที่สูงอีกหลายคน ต้องยอมดั้นด้นเข้ามาในเมือง เพื่อหารายได้ระหว่างรอช่วงทำการเกษตร
"อาหมี่" คือหนึ่งในนั้น วันนี้เธอแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง แสดงอัตลักษณ์อาข่าให้คนเมืองได้เห็นอย่างสง่างาม  แม้เพิ่งมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้เพียง 4 เดือน แต่เธอสามารถสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี นั่นก็เพราะว่า เธอย้ายถิ่นฐานจากบนดอยลงมาอยู่ในเมืองเชียงราย ตั้งแต่ตอนที่มีลูก จึงทำให้ได้เรียนรู้ภาษาไทยมาตั้งแต่ตอนนั้น  อาหมี่ อยากให้ลูก ๆ เข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงที่สุด เพื่อให้อนาคตข้างหน้าไม่ต้องใช้ชีวิตลำบากแบบเธอ
เราคุยกับอาหมี่ ยังไม่ทันจบ ฟ้าฝนเริ่มส่งสัญญาณให้เธอ และเพื่อนต้องหยุดพักจากการขายของ เข้าไปหลบฝนด้วยความไม่เต็มใจ เพราะเวลาที่เสียไปคือรายได้ของวันนี้
ระหว่างรอฝนหยุด อาหมี่ เล่าย้อนให้ฟังในช่วงที่เธอใช้ชีวิตอยู่เชียงราย ว่า ก่อนหน้านี้รับจ้างปลูกสับปะรด และพืชพันธุ์อื่น ๆ แล้วแต่เจ้าของไร่จะว่าจ้าง นั่นหมายความว่า ถ้าไม่ได้ทำการเกษตร เธอจะไม่มีรายได้ และนี่คือเหตุผลให้อาหมี่ต้องจากบ้านเข้าเมือง มาหารายได้ 
รายได้จากการขายของขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว วันไหนที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ เธอเคยขายได้สูงสุดเกือบสองพันบาท แต่วันไหนโชคร้ายหน่อย ก็ขายไม่ได้เลย โดยเฉลี่ยต่อเดือนเธอจะมีรายได้จากการขายของที่ถนนข้าวสารเป็นเงินหมื่นกว่าบาท  แม้รายได้ของการขายของกระจุกกระจิกจะดูไม่แน่นอน แต่อาหมี่บอกว่ายังดีกว่าอยู่ข้างบนที่ไม่มีงานทำเลย
ยังไม่ทันจบบทสนทนาดี.. เสียงหญิงวัยกลางคนแทรกเข้ามาระหว่างการสนทนากับอาหมี่จนต้องเบี่ยงความสนใจไปยังเสียงที่ได้ยิน  “give me 20! give me 20!”  “บูติ” คือเจ้าของเสียงนั้น เธอกำลังคุยกับชาวต่างชาติด้วยท่าทีหยอกเย้า เมื่อมีชาวต่างชาติขอถ่ายรูปกับเธอ  เธอช่ำชองในการสนทนากับลูกค้าอย่างน่าแปลกใจจนอดไม่ได้ที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับเธอ
"บูติ" เป็นชาวอาข่า จาก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เรียกได้ว่าเธอเป็นผู้ค้าขาประจำของถนนข้าวสารก็ว่าได้ เพราะขายอยู่ที่นี่มา 20 ปี จนตอนนี้เธออายุได้ 53 ปี แล้ว  ที่มาที่ไปของชีวิตที่หันเหเข้าเมือง ก็ไม่ต่างจากหลายคน คือต้องการรายได้ ต้องการ "เงิน" ไปจุนเจือครอบครัว ที่สำคัญคือเป็นทุนเพื่อส่งเสียให้ลูก ๆ ได้เรียนหนังสือ
เราเดินอยู่ในถนนข้าวสาร ตั้งแต่เย็นจนค่ำมืด ก็ได้พบกับ "ฝน" แม่ค้าชาวอาข่า วัย 21 ปี จาก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าอายุน้อยที่สุดที่เราได้เจอในคืนนี้
"ฝน" เข้ามากรุงเทพฯ ได้ 6 เดือนแล้ว เธอเล่าว่า ตอนมาขายของครั้งแรก กลัวมาก เพราะต้องเดินคนเดียว จึงต้องมียายมาคอยเดินเป็นเพื่อน แต่จนถึงวันนี้ ฝน สามารถเดินขายของได้ด้วยตัวคนเดียวแล้ว
จากถนนข้าวสาร เดินไปเรื่อย ๆ จนถึงถนนรามบุตรี พวกเธอต้องเดินถือตะกร้าคู่ใจแบบนี้ไปมาอยู่ตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึงดึกดื่นที่นักท่องเที่ยวบางตา
เมื่อนาฬิกาบอกว่าเที่ยงคืน ถือเป็นอันสิ้นสุดการทำงานของเหล่าแม่ค้าชาวอาข่า จากนี้คือช่วงเวลาที่พวกเธอจะได้พักผ่อน จากการตระเวนเดินขายของจนเหนื่อยล้ามาทั้งคืน  พวกเธอ พักอยู่แถววัดตรีทศเทพ เป็นห้องเช่า ราคาตั้งแต่ 1,800 - 2,600 บาท ตามขนาดห้อง และสิ่งอำนวยความสะดวก  ที่นี่มีชาวอาข่า กว่า 40 คน อยู่รวมกัน บ้างอยู่คนละห้อง บ้างอยู่กันเป็นคู่
พักผ่อนจนหายเหนื่อย เช้าของอีกวันทุกคนต่างก็ช่วยกันทำอาหาร เพื่อให้ท้องอิ่ม พร้อมสู้งานอีกครั้งในช่วงเย็น
แกงยอดมะพร้าว, น้ำพริก, ผักสด และมะม่วงสุก คือ เมนูที่ช่วยเติมกำลังในเช้านี้
หลังจากอิ่มท้อง และว่างจากการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ พวกเธอก็ต้องเตรียมของสำหรับการขายในคืนนี้ต่อ  ผ้า ด้าย เข็ม ลูกปัด พร้อมสำหรับการปักร้อยจากฝีมือของชาวอาข่า ที่นำเอาต้นทุนอัตลักษณ์พื้นเมืองมาสร้างเป็นรายได้
แสงสีในยามค่ำคืนกลับมาอีกครั้ง หมวกที่เธอทำในช่วงกลางวัน ถูกขายให้กับชาวต่างชาติที่สนใจในอัตลักษณ์พื้นเมือง
จากฟ้าสว่าง จนแสงหมดลง ชีวิตของหญิงชาวอาข่า ก็ยังคงวนอยู่เช่นนี้ทุกวันตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ในทุก ๆ ปี  การนำต้นทุนทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม มาเป็นจุดขาย ใส่ลงไปในสินค้า กลายเป็น "อาชีพหลัก" สำหรับบางคนไปแล้ว  มากกว่า 20 ชีวิตของหญิงชาวอาข่า ที่กระจายตัวอยู่บริเวณถนนข้าวสาร ในค่ำคืนนี้ อาจมีเงินมากพอสำหรับใช้จ่าย และจุนเจือครอบครัว จนอาจหาเงินได้มากกว่าการอยู่ในที่ที่จากมา  แต่ที่นี่ก็ไม่ใช่บ้าน เพราะหลายคนยืนยันกับเราเป็นเสียงเดียวกัน ว่า “ถ้าพวกเธอเลือกได้ ก็อยากทำงานที่บ้านมากกว่า”