“บ้าน”…ฝันที่ใกล้เอื้อมถึง

จากคนจนเมือง ทำมาหากิน ด้วยอาชีพขับวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างทั่วไป และอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดริมทางรถไฟ จนต้องตกอยู่ในฐานะของผู้บุกรุก ถูกขับไล่ให้พ้นเมือง

“ตี๋ - เชาว์ เกิดอารีย์” จึงพยายามลุกขึ้นสู้ เพื่อยืนยันสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (Right to the city) เขายอมรับว่า สักวันก็ต้องถูกยึดที่คืนไป เพราะนี่ไม่ใช่ที่ดินของชาวบ้าน แต่อย่างน้อยในฐานะชุมชน ที่เป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาเมือง เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จึงอยากให้คนจนอย่างพวกเขา มีสิทธิ์ที่จะฝันถึงการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงบ้าง

และอีกไม่นาน…ฝันที่แทบเป็นไปไม่ได้ของคนในชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร ก็กำลังจะเป็นจริง!


“พี่ตี๋ - เชาว์ เกิดอารีย์” จากผู้บุกรุกที่ดินริมทางรถไฟ "ชุมชนบุญร่มไทร" ย่านราชเทวี ชุมชนแออัดริมรางกลางกรุง จนมาถึงวันที่ต้องโดนหมายศาล ถูกไล่รื้อให้ออกไปจากพื้นที่ สู่การลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิการขอมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงของ "คนจนเมือง"
พี่ตี๋ ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ ตอนอายุประมาณ 30 ปี จนมาวันนึงการรถไฟฯ ต้องการนำที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งมีผู้คนปลูกบ้านสองฝั่งริมทางรถไฟคืนในช่วงปี 2563 เพื่อทำ "โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน"
“เขาปิดป้ายแจ้งให้เราย้ายภายใน 60 วัน ตอนนั้นเราก็ได้แต่รับทราบ และเข้าใจว่ามันเป็นที่ของเขา ถึงเวลาก็ต้องคืนเขาไป ก็มานั่งคุยกันในชุมชนว่าจะเอายังไงกันต่อไป ตอนนั้นเริ่มหมดหวัง เตรียมลู่ทางเพื่อหาที่อยู่ใหม่ไว้บ้าง”... พี่ตี๋ เล่าถึงที่มาของการลุกขึ้นต่อสู้
เรื่องราวของ พี่ตี๋ ไม่ต่างจากนักต่อสู้เพื่อที่ทำกินในประเทศไทยคนอื่น ๆ ที่ถือกำเนิดจากความจำเป็น เพื่อครอบครัว และอนาคตของลูกหลาน เพราะหากไม่สู้ พวกเขาก็ต้องถอยไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ในฐานะคนตัวเล็ก ๆ กลางเมือง พวกเขาแค่ต้องการเพียงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปลอดภัย
“อยากทำให้ทุกคนมีบ้าน” คือความตั้งใจของ พี่ตี๋ จนมาถึงจุดเริ่มต้นการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยคนจนเมือง
พี่ตี๋ เล่าว่า ช่วงแรก ๆ เราเรียกร้องขอแบ่งพื้นที่ริมทางรถไฟเพื่ออยู่อาศัย แต่การรถไฟฯ ก็เจรจาให้ย้ายไปอยู่นอกเมือง ซึ่งเราปฏิเสธ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรที่ชุมชนใหม่ เราจึงเจรจาขออยู่ในเมือง จนมาตกลงกันได้ในพื้นที่ริมบึงมักกะสัน บริเวณซอยหมอเหล็ง ร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อจัดสร้างบ้านมั่นคงที่นั่น
พี่ตี๋ เล่าว่า ช่วงแรก ๆ เราเรียกร้องขอแบ่งพื้นที่ริมทางรถไฟเพื่ออยู่อาศัย แต่การรถไฟฯ ก็เจรจาให้ย้ายไปอยู่นอกเมือง ซึ่งเราปฏิเสธ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรที่ชุมชนใหม่ เราจึงเจรจาขออยู่ในเมือง จนมาตกลงกันได้ในพื้นที่ริมบึงมักกะสัน บริเวณซอยหมอเหล็ง ร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อจัดสร้างบ้านมั่นคงที่นั่น
ตอนนี้ พี่ตี๋ รู้สึกภูมิใจในการเติบโตของตัวเอง การเป็นผู้นำชุมชนให้หลายอย่างกับเขา
พี่ตี๋ ยอมรับว่า ระหว่างทางที่ทำงาน สิ่งที่ได้รับ คือ การที่ได้ความคิดใหม่ ๆ ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ได้ทำเพื่อคนอื่น และคนอื่นก็ทำเพื่อเรา จากที่เคยต่างคนต่างอยู่ จนมาวันนี้ทุกคนในชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกัน สามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อไปยังจุดหมายด้วยกัน
ถามว่ามีความสุขไหม ? พี่ตี๋ บอกเลยว่า มีความสุขในทุกๆ วัน เพราะได้มองในสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา จากที่เอาแต่พูดขายฝันให้คนในชุมชนตลอดมา จนวันนี้ฝันของการมีบ้านใกล้เป็นจริง
เบื้องหลังแรงขับเคลื่อนต่าง ๆ พี่ตี๋ ยกเครดิตให้ครอบครัว และพี่น้องในชุมชน ที่เข้มแข็ง และสู้มาด้วยกันตลอด
ครอบครัวถือเป็นแรงส่งสำคัญ สำหรับการทำงานเพื่อทุก ๆ คนในชุมชน ซึ่งครอบครัวไม่เคยขัดข้อง และสนับสนุนเต็มที่
วันนี้แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฝันของการมีบ้านเป็นของตัวเอง ยังไม่เรียบร้อย แต่สำหรับ พี่ตี๋ ก็เชื่อมันว่ามาถูกทางแล้ว จากที่ไม่เคยรู้อนาคตว่าเดือนหน้า ปีหน้า จะไปอยู่ที่ไหน ตอนนี้ชาวชุมชนกำลังเก็บเงินสร้างบ้าน วางแผนลงทุนค้าขาย มองหาอาชีพที่มั่นคง วางแผนการศึกษาให้ลูกหลาน สำหรับ พี่ตี๋ นี่คือเดินมาไกลเกินที่ฝันไว้แล้ว
ก้าวต่อไป พี่ตี๋ อยากเห็นความเท่าเทียมเป็นธรรม โดยตั้งใจจะขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัย ด้วยการให้คำปรึกษากับชุมชนที่ยังประสบปัญหาถูกไล่รื้อ พร้อมทั้งอยากผลักดันนโยบายแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย, บำนาญผู้สูงอายุ และนโยบายเพื่อคนจน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active