ผ้าป่า สร้างถนน ‘ดอยช้างป่าแป๋’ : เมื่อสิทธิพื้นฐานไม่เท่ากัน อย่าเพิ่งมองว่า ชาติพันธุ์ มีอภิสิทธิ์!

ชุมชนชาวปกาเกอะญอ บ้านดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นชุมชนเล็ก ๆ กลางผืนป่า มีหลักฐานยืนยันในการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนดั้งเดิมมานานเกือบ 300 ปี จากหลักฐานบุคคล หรือบรรพชน บรรพบุรุษ ต้นไม้ผลไม้ที่นำมาปลูกไว้

แต่หากจะนับจากเอกสารสำคัญ พวกเขามีใบเสร็จเงินรัชชูปการใช้แทนหนังสือเดินทาง ของนายกุละ ซึ่งเป็นปู่ของ ชาญชัย กุละ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านดอยช้างป่าแป๋คนปัจจุบัน ก็ยืนยันตั้งถิ่นฐานไม่น้อยกว่า 175 ปี ซึ่งตั้งมาก่อนการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านโฮ่ง

แต่จนถึงปัจจุบัน ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหลายอย่างก็ไม่ได้ถูกพัฒนา สภาพถนนในหมู่บ้าน ยังเป็นทางลูกรัง เวลาหน้าแล้ง ฝุ่นตลบ เต็มบ้าน เต็มหลังคา พอหน้าฝนทางเละ ลื่น เกิดความเสี่ยงอันตรายของเด็ก ๆ ที่เดินทางไปโรงเรียน รวมทั้งชาวบ้านที่สัญจรไปมา นี่เป็นปัญหาที่พวกเขาเผชิญกันมาทั้งชีวิต

เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา The Active ลงพื้นที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ เพื่อติดตามชาวบ้านช่วยกันทำแนวกันไฟ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในชุมชนจนถูกยอมรับ ชาวบ้านยังช่วยกันลงแรงทำถนน ที่ระดมกันมาทั้งหมู่บ้านอีกด้วย

งบประมาณเอามาจากไหน ? ใครเข้ามาสนับสนุน คำตอบที่ได้ คือ นี่คือเงินทอดผ้าป่าจากวัด และเรี่ยไรกันเองบ้างในชุมชน

ที่เป็นแบบนี้ เพราะข้อจำกัด การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งเขตป่าสงวนครอบทับที่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงสิทธิสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เพราะนอกจากถนน ที่นี่ยังไม่มีไฟฟ้า ส่วนน้ำประปา ก็ใช้น้ำจากภูเขา

“จริง ๆ งบประมาณภาครัฐมี ท้องถิ่นอย่าง อบต.เขาตั้งงบประมาณให้ทุกปี แต่ที่ติดปัญหามาตลอด คือ ชุมชนเราถูกประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ ติดทั้งป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานฯ ต้องขออนุญาตไปที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชทุกปี และกรมป่าไม้ ระหว่างรอตรงนี้ เมื่อได้เงินผ้าป่าจากทางวัด ก็เลยแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันก่อน เพราะเราเดือดร้อนหนักจริง ๆ ฝุ่นตลบ ถนนลื่น เเละ มีความเสี่ยงกับคนในชุมชนที่สัญจรไปมา”... พรชัย มุแฮ ชาวปกาเกอะญอ บ้านดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน ขยายความกับเรา

การเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะพัฒนาอะไรก็ติดขัดเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ชุมชน จนทำให้ชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์อยู่กันแบบตามมีตามเกิด ชาวบ้านต้องหันมาพึ่งพิงต้นทุน และศักยภาพของชุมชน เพื่อให้วิถีชีวิตยังคงเดินต่อไปได้ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ยิ่งทำให้ชาวบ้านหลายคนที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ อดคิดไม่ได้ว่า ด้วยสิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่นี้ อะไร ? ทำให้คนเมืองคิดว่าพวกเขามี “อภิสิทธิ์” เหนือคนอื่น ๆ ในประเทศไทย

อย่างกรณีที่ สส. และ สว.บางคน อภิปรายในสภาฯ ต่อ “ร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชาติพันธุ์” โดยพยายามชี้ว่า หากเกิดในผืนแผ่นดินไทย ย่อมเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมตามมาตรการ นโยบาย หรือกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หากเดินหน้ากฎหมายชาติพันธุ์ อาจยิ่งเปิดช่องให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิ หรือ อภิสิทธิ์เหนือคนอื่นในสังคมหรือไม่ ?

ชาวบ้านที่ดอยช้างป่าแป๋ จึงอยากย้ำให้สังคมเข้าใจ และมองเห็นความจริงของปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญ และความไม่เท่าเทียมกับผู้คนอื่น ๆ ในสังคม กับการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน

“เอาแค่เรื่องพื้นฐาน แค่เรื่องถนนหนทาง ยังไม่ต้องนับรวมปัญหาอีกหลายเรื่อง ทั้ง สิทธิการศึกษา การรักษาพยายาล สิทธิที่ดินที่อยู่อาศัยของชุมชนดั้งเดิม ก็น่าจะเป็นคำตอบว่า อภิสิทธิ์ ตรงนี้เรายังไม่มีต่างหากครับ อยากถามกลับเรามีอภิสิทธิ์ตรงไหน ? ที่เราเรียกร้องขอแค่สิทธิเท่าเทียมเท่านั้นเอง แค่สิทธิพื้นฐานสาธารณูปโภค” พรชัย สะท้อนมุมมอง

การเข้าถึงสาธารณูปโภค เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของข้อจำกัด ของชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ และเขตป่าสงวน ซึ่งหากฝ่ายนิติบัญญัติ เห็นตรงกันในการเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีหลักการสำคัญว่าด้วยเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง หลักการมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม ในการจัดการรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยกันหาทางออก วางแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้รับของชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม

เพราะจริง ๆ แล้ว ชุมชนปกาเกอะญอ ดอยช้างป่าแป๋ ก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่นำร่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง อยู่แล้ว วางแนวทางในการใช้ควบคู่กับการดูแลทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อส่วนรวมให้กับคนทั้งประเทศกว่า 20,000 ไร่

อีกหลักการสำคัญของพื้นที่คุ้มครอง คือ “หลักสิทธิชุมชนดั้งเดิม” การยอมรับสิทธิในที่ดินของชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ดินแดนบรรพบุรุษ” รวมทั้ง “หลักสิทธิทางวัฒนธรรม” ส่งเสริม และฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม ให้กลุ่มชาติพันธุ์ภาคภูมิใจและเห็นความสำคัญของการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม

ผ่านกลไกคณะกรรมการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน รวมถึงระดับนโยบาย จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้งชุมชนและภาครัฐ สู่ส่วนร่วมการพัฒนาประเทศ

ทั้งหมดนี้ คือ กระบวนการของกฎหมายชาติพันธุ์ ที่พวกเขาเชื่อ และคาดหวังว่า จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ได้เข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ที่เคยถูกหลงลืมให้กลับคืนมา นั้นก็เพื่อตอกย้ำความเท่าเทียม ที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ๆ


Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ