นั่ง ‘เก้าอี้’ แล้วใช้ใจฟัง… สุข – ทุกข์ – ความหวัง ของผู้คนที่ถูกผลักให้ ‘เป็นอื่น’

"FACE THE VOICE OF US" คือ งานศิลปะจัดวางรูปแบบสารคดี ที่บอกเล่าเรื่องของผู้คนในสังคมที่ ‘ถูกมองข้าม’ และผลักให้ ‘เป็นอื่น’

ความสุข ความทุกข์ ความเศร้า ความหวัง และการต่อสู้ ของ 5 ชีวิต ถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีขนาดสั้น 5 เรื่อง ไปพร้อม ๆ กับการให้เราลองนั่งลงบน ‘เก้าอี้’ ตัวเดียวกับพวกเขา แล้วให้ลอง ‘ฟัง’ อย่างตั้งใจ เพื่อจะได้ยินเสียงของพวกเขาได้อย่างแจ่มชัดกว่าที่เคย

เพื่อที่จะได้รู้ว่า...ถ้าได้มาสัมผัส เก้าอี้ และที่นั่งแต่ละตัวนี้แล้ว เราจะได้ยินอะไร ?

The Active พาย้อนชมความหมาย และสิ่งที่ถูกสื่อสารผ่านนิทรรศการ โดย Eyedropper Fill ในงาน ‘FACE THE VOICE’ มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจัดขึ้นที่มิวเซียมสยาม เมื่อเร็ว ๆ นี้
"อั๊ส - อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ" หญิงข้ามเพศมุสลิม นักสิทธิมนุษยชน และนักขับเคลื่อนสิทธิทางเพศในบริบทของคนที่นับถือศาสนาอิสลาม เล่าเรื่องราวของตัวเอง ผ่านเก้าอี้ตัวนี้ ว่า...  “ตอนเด็ก ๆ เราไม่รู้หรอกว่าเพศคืออะไร เรารู้แต่ว่าอยากเป็นเหมือนแม่ แม่ตื่นเช้ากว่าคนอื่นและนอนดึกที่สุดในบ้าน แม่สอนเราให้ทำงานในบ้านเป็นตั้งแต่เด็ก แม่อุ้มทุกคนไว้และจัดการทุกอย่างในบ้านได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง"...  “พอเราโตขึ้นก็มีความกดดันจากคนรอบตัว เขาจะคอยเตือนสติว่าเราเป็นเหมือนแม่ไม่ได้เพราะเราคือผู้ชาย เขาพาเราไปปรับบุคลิกท่าทาง ถ้าเห็นปลายเท้าเราไม่อ้าออก เขาก็จะเตือน บังคับว่าอย่าทำท่าทางเหมือนผู้หญิง แต่เราก็ยังทำเหมือนเดิมนะ เหมือนต่อสู้เล็ก ๆ มาตั้งแต่เด็กว่าเราเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องมาบังคับเราด้วยกรอบเรื่องเพศด้วย"...  “สำหรับเราแล้ว สิ่งที่ยากและเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตมาโดยตลอดคือ ‘การไม่ถูกยอมรับ’ ตอนเด็ก เราถูกเพื่อนล้อเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและศาสนามาตลอด เราพยายามเข้าใจเขาว่าคงเกิดจากความไม่รู้ พอไม่รู้ก็ไม่เข้าใจ ก็เลยอยากกลั่นแกล้ง"...  “พอโตขึ้น วันหนึ่งเราตัดสินใจหยิบฮิญาบมาใส่ บางคนคิดว่าเพราะเราอยากเด่น แต่จริง ๆ แล้วมันมาจากความเจ็บปวดของเราต่างหาก"...  “หลังเรียนจบ เราเข้ามาอยู่ กทม. ครั้งหนี่ง มีเพื่อนชายที่สนิทจากต่างจังหวัดมาขอนอนที่ห้อง เราก็ให้เขาค้างคืนโดยปูผ้าให้นอนด้านล่าง อยู่ ๆ กลางดึกเขาก็ขึ้นมานอนบนตัวเรา เราตกใจมาก และนั่นทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยอีกแล้ว ตอนนั้นเราพูดกับใครไม่ได้เลย ชีวิตมืดหม่น เฝ้าถามตัวเองว่าซ้ำ ๆ ว่า ชีวิตเราคืออะไร เราต้องยอมจำนนเป็นเครื่องมือบำบัดทางเพศให้กับคนที่ยึดมั่นว่ามีอำนาจเหนือกว่าเรางั้นเหรอ"...  “การหยิบฮิญาบมาใส่จะผิดหรือถูก เราไม่รู้หรอก แต่มันทำให้ปฏิกิริยาที่คนปฏิบัติกับเราต่างออกไป เราได้รับความเคารพมากขึ้น และมีสเปซกับคนอื่นได้มากขึ้น"...  “วินาทีแรกที่เราเกิดมา เนื้อตัวร่างกายที่เปล่าเปลือยไม่มีอะไรเลย ไม่เคยถูกใครมาตีตราตัดสิน แต่พอเราใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ  ทำไมจึงกลายเป็นคนอื่นที่โยนสิ่งต่าง ๆ มาให้ ตีกรอบ ตีตรา อยากให้เราเป็นแบบนั้นแบบนี้ หรือตัดสินเราทั้งที่เขาไม่มีสิทธิ์"...  “สุดท้าย เราเชื่อว่าเราคงต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไปทั้งชีวิต แต่เราเชื่อว่าคนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนอย่างเราก็ทำงานได้ดี มีความสามารถได้ไม่ต่างจากคนทั่วไปในสังคม”...
"ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ" มุสลิมรุ่นใหม่ผู้ผลิตและกํากับหนังสั้น I’m Not Your F***ing Stereotype เล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านเก้าอี้ตัวนี้ให้ฟังว่า...  “ตอนเด็ก ๆ เราเคยน้อยใจว่าทำไมในทีวีไม่มีเรา (มุสลิม) หรือไม่เคยเห็นตัวเองเป็นเมนสตรีมอยู่ในพื้นที่สื่อเลย แต่ตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ทุกปีจะมีการฉายภาพฉากนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าในทีวี นี่ทำให้ผมรู้เลยว่า เมื่อวันนี้ครบรอบวนมาถึง มันคือการเฉลิมฉลองวันเกิดของสิ่งที่เรียกว่า ‘การเหมารวม’ ทุกประเภท"...  “เราหวังว่าวันหนึ่งจะมีใครสักคนที่ทำให้มุสลิมไปอยู่ในหนัง หรือหลาย ๆ พื้นที่ทางศิลปะมากขึ้น เราเลยทำหนังออกมา ตอนแรกเอาไปให้แม่ดู แม่บอกว่าก็เป็นเรื่องปกติที่พวกเราเจอกันอยู่แล้ว แต่พอไปให้คนนอกดู มันทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่าคนมุสลิมรู้สึกอะไรอยู่"...  “ตอนแรก เราคิดว่า ไม่ว่าสุดท้ายแล้วหนังมันแป็กหรือไม่ แต่อย่างน้อยมันประสบความสำเร็จแล้วที่เราได้ประกาศความน้อยใจผ่านหนัง ว่าเราไม่โอเคกับการที่คนปฏิบัติกับเราแบบนี้ แต่สุดท้าย มันกลับทำให้เราย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ตกลงเรารักหรือเกลียดตัวเรากันแน่ ?"...  “ทุกวันนี้ ผมยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ว่าผมภูมิใจกับตัวตนของตัวเองจริงไหม หรือจริง ๆ เราแค่กำลังหลบซ่อนอยู่หลังมันกันแน่  ? แต่ที่แน่ ๆ คือมันทำให้เราเติบโตในด้านความคิดที่มีต่อตัวเองมากขึ้น"...  “และรางวัลจากเทศกาลหนังไม่ได้มีความหมายกับเรามากเท่ากับการที่เสียงนี้ส่งไปถึงคนอื่นจริง ๆ หรืออย่างน้อยการมีคนแปลกหน้าสักคนที่ได้ดูเรื่องนี้แล้วพูดว่าขอบคุณที่พูดแทนพวกเราทุกคนต่างหาก"...  “ผมหวังว่าสักวันหนึ่ง เราคงได้เปิดทีวีขึ้นมาแล้วเจอตัวละครที่เป็นมุสลิมในเรื่องโดยที่เขาไม่ต้องเป็นตัวละครหลัก หรือไม่ต้องเป็นใครบางคนที่พิเศษในหนังก็ได้ ขอแค่ให้เขาแค่มีชีวิตของตัวเขาเองเหมือนกับตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องเท่านั้นเอง”
"นิกร สาลี" อายุ 72 ปี คนไร้บ้านหน้าใหม่ ก็มีเรื่องราวมาบอกเล่า ผ่านเก้าอี้ตัวนี้ ว่า...  “แรก ๆ ที่ผมเข้ามากรุงเทพฯ ผมมาเป็นกรรมกร ทำหน้าที่แบกข้าวสารลงเรือบ้าง ก่อสร้างบ้าง ถูกโกงค่าแรงก็หลายครั้ง พอช่วงโควิดชีวิตก็เปลี่ยน ไม่มีที่กิน ไม่มีที่นอน ชีวิตไม่เหลืออะไรเลย ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะกลายเป็นคนไร้บ้าน"...  “คนไร้บ้านไม่ได้ขี้เกียจนะ แต่เพราะหางานยาก นายจ้างที่ไหนก็ไม่ไว้ใจทั้งนั้น การเป็นคนจรจัดมันเป็นปมด้อย ตอนนี้ถึงผมไร้บ้านก็มีอาชีพ คือการเอาพระเครื่องมาปล่อย วันไหนปล่อยไม่ได้ก็ขอข้าววัดกิน แต่ผมก็ยังชอบของพวกนี้อยู่เพราะมันมีคุณค่าทางใจกับผมมาก"...  “ทุกเช้าผมจะออกไปปล่อยพระเครื่อง ตกเย็นก็กลับมานอนที่ศูนย์คนไร้บ้าน การต้องมาอยู่ที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงจะยากแต่ผมก็พยาบามปรับตัว ต้องอยู่ให้ได้ คิดเสียว่าขอให้มีที่นอนไว้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน”... 
ไม่ต่างจาก "โสมพร หารพรม" มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ช่วยเหลือคนไร้บ้าน บอกเล่าด้วยว่า...  “คนไร้บ้านมีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนไม่ดี ขี้ยา ขี้เกียจ ขี้ขโมย แต่มันเป็นคนแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ในความเป็นจริงไม่มีใครอยากมีชีวิตที่โดนดูถูกเหยียดหยาม"...  “ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ บางคนหลุดจากห้องเช่าก็ไม่มีบ้านอยู่แล้ว คนไร้บ้านที่เป็นวัยทำงานยังมีโอกาสหางานใหม่ แต่คนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงวัยและยิ่งเป็นโรคประจำตัวด้วยจะกลับไปหางานใหม่อีกก็คงยาก ทุกคนมีโอกาสกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ทั้งนั้น”...
"ชไมพร จิรชัยสุทธิกุล" ผู้หญิงที่ผ่านพ้นปัญหาความรุนแรง เป็นอีกคนที่สะท้อนเรื่องเล่า ผ่านเก้าอี้ตัวนี้ ว่า...  “ตอนนั้นเราเรียนอยู่ มศ.2 มีผู้ชายในซอยมาจีบ เราก็คุยเล่นตามปกติ พอได้คบหา เขาก็เริ่มจำกัดเรา ตามติดเราตลอดเวลา และเริ่มหึงหวง"...  “วันหนี่ง เราเดินเล่นอยู่ในสวนลุมฯ เขาเอาน้ำกรดมาราดแล้วก็หนีไป ผ่านไป 20 ปี ก็ยังดำเนินคดีไม่ได้ คดีจบลงด้วยการหมดอายุความ แต่สิ่งที่ยังไม่จบคือชีวิตเรา เรายังต้องอยู่ต่อสู้กับความรุนแรงที่เจอต่อไปในทุกวันจนกระทั่งวันนี้"...  “ตอนเราเห็นหน้าตัวเองครั้งแรก ความรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น เราอายุแค่ 16 ปี แต่ชีวิตมืดมน จะกลับไปเรียนหนังสือก็ไม่ได้ เราเคยไปสมัครงานในห้างทำหน้าที่เก็บเงิน แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็บอกว่าไม่ต้องมาทำงานแล้วเพราะคนอื่นกลัว เรากลายเป็นตัวประหลาดในสังคม ความมั่นใจหดหาย ไม่กล้าไปไหน ไม่กล้าสมัครงานใหม่ ไม่อยากตอบคำถามใคร เราไม่เคยคิดว่าจะมีใครทำร้ายมนุษย์ด้วยกันได้มากเพียงนี้ อยากให้ทุกอย่างเป็นแค่ความฝัน"...  “เราเก็บตัวอยู่ในบ้าน 2 ปี ระหว่างนั้นก็แอบสะสมยานอนหลับจนได้เกือบร้อยเม็ด วันหนึ่งก็ตัดสินใจกินหมดรวดเดียวด้วยหวังจบชีวิต แต่โชคดีที่ดันไม่ตาย ช่วงนอนรพ.พี่สาวพูดกับเรา ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน ครอบครัวจะไม่มีวันทิ้งเราไปไหน และนี่คือจุดที่เราคิดว่าต้องลุกขึ้นสู้ ก้าวพ้นออกมาให้ได้เสียที"...  “ตอนนี้เรามาทำงานอาสาสมัคร เคยได้ช่วยผู้หญิงที่โดนน้ำมันราดแล้วเผา ร่างกายเขาไหม้ไปแล้ว 80% เขาไม่พูด ไม่สบตา ไม่กล้าแม้กระทั่งให้ใครเห็นหน้า เขาคือผู้หญิงที่โดนกระทำคล้ายเราในวันนั้น เราเข้าไปเป็นอาสาสมัคร ไปให้กำลังใจ เมื่อเขาเห็นเราเป็นแบบนี้เหมือนกันจึงเป็นกำลังใจว่าเราลุกขึ้นมาได้ เขาก็ต้องทำได้เหมือนกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมาก"...  “เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตบนความหวาดกลัว กลัวคนรังเกียจ ไม่กล้าออกไปไหน แต่งานอาสาสมัครทำให้เรารู้จักกับความภาคภูมิใจในตัวเอง มั่นใจในตัวเองมากขึ้น และยังช่วยเยียวยาบาดแผลในจิตใจด้วย”
"สมใจ ศรีธัญญา" อายุ 80 ปี อดีตวิศวกร  ปิดท้ายเรื่องราวของตัวเอง ผ่านเก้าอี้ตัวนี้ไว้ ว่า...  “ตอนหนุ่ม ๆ เราอยากทำอะไรก็ได้ ร่างกายไม่เคยประท้วง แต่พอแก่แล้วอยากจะหาความสุขสักอย่างก็ต้องเอาร่างกายเข้าแลก"...  “เรารู้ตัวว่าร่างกายมันเสื่อมทุกวัน วันหนึ่ง หูเราจะไม่ได้ยิน ตาเราจะมองไม่เห็น และหัวเข่าเราจะแย่ลงจนเดินแทบไม่ได้ ร่างกายจะไม่เกื้อกูลเราอีกต่อไป"...  “แต่ขอให้ใจเรารับรู้ไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยให้จิตใจเสื่อมตาม พอวันนั้นมาถึง เราจะยอมรับได้ง่ายขึ้น ไม่หงุดหงิด โมโห พอใจเบา ร่างกายจะเบาไปด้วย ผมอยากให้คนมองว่าเราเป็น ‘คนแก่ที่น่ารัก’ แม้ร่างกายจะเสื่อม แต่ใจเรายังแข็งแรง"...  “ตอนนี้ลูกของผมมีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว ผมตัดสินใจแยกบ้านออกไปแทนที่จะอยู่ด้วย"...  “เพราะในเมื่อเขามีชีวิตของตัวเองแล้ว เขาควรได้ใช้ชีวิตให้สมกับการอยู่ในโลกใบนี้ในยุคสมัยของเขา ไม่ใช่มาคอยพะวงกับผม"...  “ทุกวันนี้ ผมมีเป้าหมายเดียว คือ การออกกำลังกายให้แข็งแรง จะได้เบียดเบียนลูกหลานให้น้อยลงเท่านั้นเอง”