เรากำลังจะทิ้งใครไว้ที่หัวลำโพง?

มอง "หัวลำโพง" ผ่านคนใช้รถไฟเดินทางในชีวิตประจำวัน ทั้ง ทำงาน หาเงิน เรียนหนังสือ ค้าขาย และท่องเที่ยวด้วยต้นทุนราคาถูก เดินทางสะดวก . แต่ภาพแบบนี้จะมีให้เราเห็นได้อีกนานสักเท่าไร คนเหล่านี้จะหายไปพร้อมกับเสียงระฆังครั้งสุดท้ายที่หัวลำโพง หรือไม่
ชวนทุกคนมองหัวลำโพงผ่านมุมมองของคนใช้รถไฟในการเดินทาง ทั้งเข้ามาทำงาน หาอยู่ หากิน เรียน ขายของ และท่องเที่ยวด้วยต้นทุนราคาถูก เดินทางสะดวก
.
แต่ภาพแบบนี้จะมีให้เราเห็นได้อีกนานสักเท่าไร คนเหล่านี้จะหายไปพร้อมกับวันที่เสียงระฆังครั้งสุดท้ายที่หัวลำโพง หรือไม่
'ลุงนา' ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ทำอาชีพขับรถตุ๊ก ๆ ที่หัวลำโพงมา 10 กว่าปี ส่วนมากลูกค้าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่มาจากต่างจังหวัด แล้วนำของมาขายบริเวณตลาดวัดมังกร สำเพ็ง และโบ๊เบ๊
'ลุงนา' กำลังไปส่งลูกค้าที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด 
.
“นี่เราขนเยอะ แต่เราคิดกับชาวบ้านแค่ 100 บาท เพราะเห็นว่าเขาเดินทางมาไกล อีกทั้งบางครั้งก็ได้ซื้อผัก ซื้อของกับพวกเขานี่แหละ ถูก ปลอดภัย เพราะส่วนมากจะปลูกเอง”
.
ยอมรับว่าการหายไปของหัวลำโพงไม่ใช่เพียงแค่รายได้ของเขาเท่านั้น แต่รวมถึงรายได้ของลูกค้าของลุงนา ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อขนของจำนวนมากเข้ามาขายในกรุงเทพฯ
'ป้าเอ๊ะ' แม่ค้าขายผัก วัย 65 ปี เดินทางมากับสามีจากจังหวัดสระแก้ว ใช้เวลาเดินทางกว่า 5 ชั่วโมงเพื่อนำของมาขายที่กรุงเทพฯ
เธอบอกว่าหากหัวลำโพงจะต้องปิด แล้วเปลี่ยนสถานีกลางไปอยู่ที่บางซื่อ เธอก็คงคิดดูอีกทีว่าจะสามารถทำอาชีพแม่ค้าเหมือนเดิมได้หรือไม่
.
เธอกังวล ไม่คุ้นชินกับสถานที่ รวมไปถึงอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเป็นหลายร้อย หากหาหนทางปรับเปลี่ยนไม่ได้ เธอคงต้องยุติการเป็นแม่ค้า ซึ่งเป็นรายได้หลักของเธอและครอบครัว
'ลุงสนิท' วัย 61 ปี ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เกือบ 40 ปีก่อน ด้วยการประกอบอาชีพขับรถตุ๊ก ๆ ที่หัวลำโพง 
.
เขาเล่าว่า การขับรถตุ๊ก ๆ ที่หัวลำโพงเป็นรายได้หลักของเขา เพราะใช้เลี้ยงปากท้องครอบครัว ส่งลูกเรียน รวมถึงปลดหนี้ จนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม 
.
“ที่นี่ให้ลุงหลายอย่าง ให้การศึกษาลูกลุงจนจบปริญญาตรี จนเขาได้ทำงานก็เพราะเงินหัวลำโพง ค่อย ๆ หาได้อาทิตย์ละ 2,000 ถึง 3,000 บาท ก็พอมีได้ฝากแล้วก็ได้เอาไปรวมกันกับขายข้าว"
.
เพราะแค่เงินขายข้าวก็ไม่พอกิน บางครั้งก็ใช้แรงไปปลดหนี้ ทุกวันนี้หาได้ก็จ่ายค่าประกันชีวิตตัวเองบ้าง เพราะไม่อยากให้ลำบากลูกหลาน ค่อย ๆ หา
.
หากจะให้ไปทำงานก่อสร้างก็คงจะไม่ได้แล้ว เพราะว่าความรู้ก็ไม่มีแล้ว เรียนหนังสือก็ไม่ได้เรียน
พอรู้ว่าหัวลำโพงจะปิด แล้วรู้สึกยังไง ?
.
"โอ้ย จะได้ร้องไห้ให้กับหัวลำโพงจริง ๆ หรอเนี่ย เพราะว่ามันเป็นพื้นที่หากินของตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่ายังมีความผูกพันกับหัวลำโพง เพราะว่าเราก็อยู่ที่นี่มานาน
.
ตั้งแต่ปู่ย่าตายายเรา แต่ก่อนเป็นเด็กเลี้ยงควายตั้งแต่พ.ศ. 2508 - 2509 ก็ได้ยินแต่เขาพูดว่าหัวลำโพง หัวลำโพง ฟังจากวิทยุ
.
แต่พอช่วงอายุหนึ่ง มันก็ทำให้เราได้เห็นหัวลำโพงของจริง พูดง่าย ๆ ก็ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 กว่า ที่เริ่มขับรถมันนานมากแล้วนะ ใช้ชีวิตกับสามล้อ แท็กซี่ จนชินชา ถ้าหากให้กลับไปอยู่บ้าน ก็คงจะอยู่ไม่ได้ 
.
เพราะอะไร ก็น่าจะเพราะคิดถึงหัวลำโพงเนี่ยแหละ" 
.
.
ลุงสนิทเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ
ลุงสนิททิ้งท้าย ว่า หากการพัฒนาและสถานีกลางของรถไฟต้องถูกย้ายไปที่อื่นด้วยอายุที่มากและเงินที่มีอย่างจำกัด ก็คงจะตามความเจริญตรงนั้นไปไม่ได้
'วิโรจน์' พนักงานออฟฟิศ ชาวจังหวัดปทุมธานี ที่ใช้รถไฟในการเดินทางมาทำงานทุกวัน ด้วยค่าบริการ 6 บาท 
.
เขาเล่าว่า หากจะปิดสถานีหัวลำโพงแล้ว เปิดสถานีบางซื่อก็ไม่คัดค้าน เพียงแค่ต้องการการขนส่งที่มันเพียงพอและเดินทางสะดวก รวมถึงราคาค่าเดินทางที่ไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เพราะที่ทำงานของเขาแทบจะไม่มีรถขนส่งสาธารณะผ่านเลย จะต้องต่อรถหลายครั้ง หรืออาจจะต้องเดิน 
.
แต่หากต้องใช้แท็กซี่ ค่าใช้จ่ายอาจจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า
ร้านสะดวกซื้อ แผงร้านค้าของประชาชนที่อยู่บริเวณตรงข้ามกับสถานีรถไฟหัวลำโพง
การคมนาคมเป็นสวัสดิการที่ประชาชนพึงได้จากรัฐ แต่หากการทำหน้าที่ของหัวลำโพง ต้องเปลี่ยนจากสถานีรถไฟของคนทุกชนชั้น ไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะเหลือผู้คนมากสักเท่าไรที่เข้าถึง
.
และสิ่งที่มาแทน จะทำให้ประชาชนทุกอาชีพเข้าถึงได้จริง หรือว่าค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ค่าแรงยังคงเท่าเดิม
การพัฒนาต้องควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้นด้วย แต่หากการพัฒนายังคงต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง สิ่งนี้อาจไม่ใช่การพัฒนาที่ครอบคลุมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน
การเดินทางลงพื้นที่หัวลำโพง ทำให้เห็นถึงผู้คนที่มากมายหลายอาชีพ ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึงข้าราชการก็ใช้รถไฟขบวนเดียวกันทั้งสิ้น
.
จากการสอบถาม ส่วนมากบอกกับเราว่า การใช้รถไฟประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก 
.
เดินทางข้ามจังหวัด ค่าโดยสาร 10 กว่าบาท หากเป็นชานเมืองราคาก็จะตกอยู่ที่ประมาณ 6 - 10 บาทเท่านั้น
เมื่อถามถึงกระแสของการปิดหัวลำโพง แล้วย้ายสถานีกลางมาที่บางซื่อ หลายคนสะท้อนว่าค่าใช้จ่ายคงต้องเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า ยิ่งพ่อค้าแม่ค้ามาจากต่างจังหวัด ที่ต้องขนของหรือซื้อของแถว ๆ หัวลำโพง ต้องจ่ายจากหลักสิบเป็นหลักร้อย 
.
นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น ขณะที่รายรับของพวกเขายังคงมีเท่าเดิม