บั้นปลายที่ไม่เคยหยุดพัก…ริมทางรถไฟ

"สังคมสูงวัยสมบูรณ์" สร้างความน่ากังวลหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือมิติของที่อยู่อาศัย

จะทำอย่างไร ถ้าคนสูงวัยที่เป็นคนจนเมือง ต้องดิ้นรน ด้นชีวิต อยู่ในที่ดินของรัฐ อย่างที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีทิศทางการพัฒนาให้เป็นย่านของเมือง มีความเจริญทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ยังมีคนสูงวัยที่อาศัยอยู่ในที่ดินเหล่านี้ เสี่ยงเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย...
'สายหยุด วงศ์ตระกูล' วัย 68 ปี ใช้เวลากว่า 10 ปี อยู่ในชุมชนแออัด บนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ย่านมักกะสัน 
.
ในอดีตเธอใช้แรงงานเป็นสาวเย็บผ้า ตัดเย็บเสื้อโหล ทักษะและเครื่องมือทำมาหากินที่เหลือติดตัว ถูกนำมาใช้รับจ้างเย็บผ้าราคาถูกให้กับคนในชุมชน
สายตาของเธอยังปกติ แม้จะสูงวัย 
.
ยายสายหยุดยังสามารถใช้จักรคู่ใจ สอดด้ายและเย็บผ้าได้อย่างแม่นยำ
ทุกเช้าที่บ้านริมทางรถไฟ ยายสายหยุดจะตื่นตั้งแต่ตี 4 พร้อมเข็นรถผลไม้คู่ใจไปขายในซอยเพชรบุรี ย่านมักกะสัน แม้จะขายแทบไม่ได้เลย แต่ก็เป็นอีกอาชีพที่พอจะทำได้ไหวในวัยใกล้ฝั่ง ยายสายหยุด เล่าว่า ถ้าไม่ได้อยู่บ้านหลังเดิมก็คงไม่ได้ทำอาชีพนี้อีกแล้ว...
"เงินไม่พอจ่าย” เป็นเหตุผลที่เธอยังคงต้องทำงาน แม้จะอยู่ในวัย 68 ปี เธอมีความฝันอยากจะมีบ้านเหมือนคนทั่วไป แต่ตลอดชีวิตของเธอ ไม่มีกำลังพอที่จะเก็บออมซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ที่ดินของรัฐซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าเช่า และใกล้กับแหล่งทำมาหากิน จึงเป็นทางเลือกที่เหลือในวัยชรา แทนการต้องจ่ายค่าเช่าบ้านหลายพันบาทต่อเดือน
“ทำอย่างไรได้...ที่ดินของเขา” ยายสายหยุด มองบ้าน พลางพูดออกมาด้วยน้ำเสียงปล่อยวาง แววตาไร้ความหวัง เมื่อถามถึงสิทธิในที่ดิน และที่อยู่อาศัยในบั้นปลาย เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เธอเรียกว่า “บ้าน” จะถูกไล่รื้อตอนไหน...
ชุมชนริมทางรถไฟย่านมักกะสัน อย่างน้อย 6 ชุมชน เช่น ชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนบุหงา ชุมชนหลังโรงพยาบาลพญาไท ชุมชนหมอเหล็ง ฯลฯ ต้องถูกไล่รื้อ
สิ้นเดือนมีนาคม 2565 คือเส้นตาย ที่ชุมชนต้องรื้อย้ายตามหมายศาล คนมากกว่าครึ่งในชุมชนริมทางรถไฟ ยอมย้ายออกและรับเงินเยียวยาจากการรถไฟฯ บ้างกลับภูมิลำเนา ขณะที่อีกมากกว่า 1,000 คน เตรียมย้ายไปเช่าแฟลต ที่จะสร้างไว้รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ตามที่การเคหะฯ และการรถไฟฯ ทำ MOU ร่วมกัน
แต่ที่อยู่ใหม่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบ จึงพยายามเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการไล่รื้อ และขอเช่าที่การรถไฟฯ เป็นรายปี เพื่อให้มีที่อยู่อาศัย ก่อนถูกไล่รื้อ
แม้จะอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ข้อเรียกร้องบ้านเช่ามั่นคง ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
.
'เชาว์  เกิดอารีย์'  ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ เล่าว่า ล่าสุด ครม. มีมติให้งบฯ อุดหนุนโครงการที่อยู่อาศัยรองรับผู้ได้รับผลกระทบ หลังละ 1.6 แสนบาท ซึ่งน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระ และช่วยให้คนจนมีบ้านได้ง่ายขึ้น
.
หลายคนเริ่มมองเห็นทางออก แต่ยายสายหยุด กลับไม่เป็นได้เป็นเช่นนั้น รายได้ที่มี ไม่พอให้เธอเข้าโครงการออมทรัพย์บ้านมั่นคงได้  ส่วนค่าเช่าจากโครงการที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ก็เป็นภาระที่มากเกินไป และจนถึงตอนนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าบั้นปลายของเธอ...จะไปอยู่ที่ไหนของเมืองใหญ่แห่งนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน