ฟื้นขวัญ เสริมกำลังใจ ‘ห้วยหินลาดใน’…ต้องดีกว่าเดิม

หลังผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก กับการเผชิญภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากครั้งรุนแรงที่สุดในชีวิตของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย แม้ไม่มีใครต้องสูญเสีย แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหาย ที่ส่งผลถึงขวัญกำลังใจของผู้คนในชุมชน

“กี่จึ๊” หรือ พิธีมัดมือ จึงถูกจัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นการเรียกขวัญให้กับหมู่บ้าน ฟื้นฟูกำลังใจของผู้คนในชุมชน ทั้งพิธีทางพุทธศาสนา และพิธีตามความเชื่อของปกาเกอะญอดั้งเดิม ยืนยันถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวบ้านห้วยหินลาดใน ที่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาความเชื่อ และสิ่งดีงามเหล่านี้ไว้ได้เสมอ

ชาวห้วยหินลาดใน ยังได้ถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกน้ำใจที่หลั่งไหลเข้ามา กับภารกิจการมีส่วนร่วมฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ ทั้งจิตอาสา เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และ สื่อมวลชน เพราะทุกคน คือ พลังใจที่สำคัญของชาวบ้านและทุกสรรพสิ่งในชุมชนแห่งนี้

The Active ชวนย้อนชมภาพบรรยากาศ พิธีฟื้นขวัญ เสริมพลังใจให้แก่คนในชุมชนห้วยหินลาดใน เพื่อตอกย้ำให้สังคมได้เข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมในแบบฉบับของตัวเอง


กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน เตรียมเส้นฝ้ายดิบสำหรับทำพิธีผูกข้อมือ อันเป็นหัวใจสำคัญของการเรียกขวัญหมู่บ้านในครั้งนี้
กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน เตรียมเส้นฝ้ายดิบสำหรับทำพิธีผูกข้อมือ อันเป็นหัวใจสำคัญของการเรียกขวัญหมู่บ้านในครั้งนี้
ชาวบ้านห้วยหินลาดใน นิมนต์พระสงฆ์4 รูป มาประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ได้รับอิทธิพลจากทั้งศาสนาพุทธ และความเชื่อดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ
ผู้อาวุโสบ้านห้วยหินลาดใน ผูกข้อมือให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี พร้อมทั้งกล่าวบทสวดอวยพรเป็นภาษาปกาเกอะญอ เพื่อให้ทุกคนได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิต การประกอบอาชีพ และการดูแลทรัพยากรในชุมชนสืบไป
ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในให้ความสำคัญกับการร่วมแรงร่วมใจจัดเตรียมทุกงานพิธี หรือโอกาสสำคัญต่าง ๆ  เมื่อถึงกำหนดวันจัดกิจกรรมเรียกขวัญหมู่บ้านหลังภัยพิบัติ ชาวบ้านห้วยหินลาดใน ต่างทยอยออกจากบ้าน เพื่อมาจัดเตรียมของใช้ต่าง ๆ ก่อนเริ่มพิธีในช่วงเช้า
“สีสันปกาเกอะญอ” ชาวบ้านห้วยหินลาดใน สวมชุดผ้าทอปาเกอะญอ โดยผู้หญิงชาวปกาเกอะญอ จะมีชุด 2 แบบ ได้แก่ “เชวา” หรือ ชุดขาวสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานตามพิธีปกาเกอะญอ กับอีกแบบคือ “เชเบอะ” ซึ่งผู้หญิงที่แต่งงานตามพิธีแล้วจะเปลี่ยนมาสวมผ้าทอสีเข้มที่มีลายปักลูกเดือยและนุ่งผ้าถุงที่ทอลวดลายแบบปกาเกอะญอ
ชาวบ้านห้วยหินลาดใน ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ก่อนเข้าสู่พิธีเจริญพระพุทธมนต์
ชาวบ้านห้วยหินลาดใน ตั้งแถวส่งภัตตาหารถวายแด่พระสงฆ์กันเป็นทอด ๆ แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจระหว่างกันของชาวบ้าน ที่จะมีความหวังในการใช้ชีวิตจากผลบุญที่ได้ทำร่วมกันในครั้งนี้
พระสงฆ์ ผู้เป็นประธานในพิธีสงฆ์ได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี โดยการทำบุญตักบาตรครั้งนี้ ยังเป็นความตั้งใจของชาวห้วยหินลาดใน เพื่อเป็นการขอบคุณทุกน้ำใจที่หลั่งไหลเข้ามาและมีส่วนร่วมกับการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ
พระสงฆ์ ผู้เป็นประธานในพิธีสงฆ์ได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี โดยการทำบุญตักบาตรครั้งนี้ ยังเป็นความตั้งใจของชาวห้วยหินลาดใน เพื่อเป็นการขอบคุณทุกน้ำใจที่หลั่งไหลเข้ามาและมีส่วนร่วมกับการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ
พิธี "กี่จึ๊" หรือ มัดมือ ซึ่งมีหัวใจสำคัญ ประกอบด้วย ปราชญ์ชุมชน หรือผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ, เส้นฝ้ายดิบ และเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยปกปักรักษาทุกสรรพสิ่งของชุมชน
เครื่องบูชาตามความเชื่อชาวปกาเกอะญอ ประกอบด้วย ไก่ 2 ตัว, ข้าวสวย, ข้าวเหนียวต้ม, ข้าวปุกงา, ไม้พายสำหรับคนหม้อข้าว, น้ำเปล่า, เหล้าขาว, ผ้าทอของผู้ชายและผู้หญิง โดยจัดรวมเป็นขันโตก
พิธีผูกข้อมือเริ่มต้นด้วยปราชญ์อาวุโสผู้นำพิธีเริ่มสวดอวยพรเป็นภาษาปกาเกอะญอ โดยมีสาระสำคัญคือ เพื่อขอพรให้ลูกหลานอยู่ดีมีสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หลุดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง รวมทั้งภัยพิบัติ
หลังจากนั้นผู้อาวุโส นำเส้นฝ้ายดิบไปจุ่มน้ำ และแตะสัมผัสกับเครื่องไหว้ต่าง ๆ ก่อนที่จะผูกข้อมือให้แก่ลูกหลาน
ความผูกพันที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จากผู้อาวุโสสู่เด็กและเยาวชน อันเป็นหัวใจสำคัญของพิธีผูกข้อมือ และเป็นกุศโลบายที่ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสานสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและทุกสรรพสิ่งที่เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
หลังจากที่เสร็จสิ้นพิธีผูกข้อมือ ผู้นำพิธีจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ทุกสรรพสิ่งที่ล่วงลับไปแล้ว
ชาวบ้านห้วยหินลาดใน กล่าวขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมกับชุมชนตั้งแต่วันเกิดเหตุภัยพิบัติ จนถึงวันจัดงานพิธีในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน จิตอาสา สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยกันฟื้นฟูชุมชนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้บ้านห้วยหินลาดใน ก้าวเดินสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องดีกว่าเดิมต่อจากนี้ และพร้อมจะร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน เปลี่ยนความเสียหายจากภัยพิบัติไม่ให้สูญเปล่า สู่ต้นแบบชุมชนพร้อมรับ ปรับตัวเพื่อจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ