#สายม็อบ | แล้วคุณเป็น “ชาวแคมป์” สายไหน?

“พี่น้องเอ้ยยย...” ปลายเสียงนี้ มีมวลชนที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศเฝ้ารอคำประกาศจากแกนนำ บางครั้งปลุกใจให้ฮึกเหิม บางครั้งคือสัญญาณก่อนแจ้งข่าวสำคัญ…นี่คือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดมา และมักถูกให้คำนิยามว่าคือ “การเมืองภาคประชาชน”

ยามค่ำคืนช่วงปลายเดือนมกราคม ล่วงเลยสู่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มวลชนหลายกลุ่มปักหลักค้างคืนบนถนนใจกลางกรุงเทพมหานคร ค่ำคืนที่เหนื่อยล้า มีเสื่อ หมอน มุ้ง ผ้าใบ เป็นที่พักกาย บรรยากาศแบบนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึงวลี “สายแคมป์” ที่นี่ไม่ใช่ป่าเขา แต่เป็นลานกางเต็นท์กลางกรุง

ความตื่นเต้นและท้าทายของชาวบ้านสายแคมป์ คือ ไม่รู้เลยว่าจะต้องรอคอยอีกนานแค่ไหน หรือถูกสลายการชุมนุมเมื่อไหร่ บางครั้งเมื่อกลับบ้านไป อาจถูกดำเนินคดีย้อนหลัง สัปดาห์ที่ผ่านมา The Active สำรวจจุดปักหลักชุมนุมอย่างน้อย 2 จุด ในกรุงเทพฯ คือ “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” หรือ #พีมูฟ ที่แยกนางเลิ้ง และ “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” ที่หน้ากระทรวงการคลัง
“มีฟ้าเป็นมุ้ง มียุงเป็นเพื่อน”
.
ค่ำคืนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายก่อนกลุ่ม “พีมูฟ” หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะเดินทางกลับ หลังบรรลุข้อเรียกร้องในขั้นแรก ก่อนที่ตัวแทนบางส่วนจะนัดหมายกันอีกครั้งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพื่อเข้าประชุมนัดแรกร่วมกับคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา
.
บนถนนใกล้กับแยกนางเลิ้ง ถนนเส้นนี้มีเต็นท์วางเรียงยาว เพื่อเป็นที่หลับที่นอน ของชาวบ้าน
.
ตลอดเส้นทาง ถูกจัดวางอย่างเป็นสัดส่วน มีประตูทางเข้าลานกางเต็นท์ มีครัวกลาง และมีโซนรวมพลอย่างชัดเจน
“เต็นท์ก็มี มุ้งก็พร้อม”
.
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน หนึ่งในแนวร่วมของกลุ่มพีมูฟ ใช้เชือกฟางเป็นหูมุ้ง ผูกเข้ากับขาเต็นท์เพื่อกันยุงและแมลง อาศัยลมที่พัดผ่านต้นไม้และตึก แทนพัดลม
ผักจำนวนมากถูกกองไว้ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “โรงครัว” ผักเหล่านี้ต้องเตรียมไว้ให้มากพอที่จะใช้ทำกับข้าวให้ชาวบ้านสายแคมป์
.
แม้ว่าพืชผักบางส่วนที่พวกเขาเตรียมมาจากบ้าน บ้างก็นำมาจากบนที่ดินผืนที่พวกเขากำลังเรียกร้องสิทธิในการทำกินอย่างชอบธรรม จะหมดลงไปแล้ว เพราะการปักหลักที่ยืดเยื้อเกือบ 2 สัปดาห์ แต่ก็ยังมีผู้เยี่ยมเยือนที่หมุนเวียนมาแบ่งปัน ให้ได้ฝากท้องกันทุกมื้อ (แต่มีป้ายห้ามห่อกลับนะ)
หวดนึ่งข้าวเหนียว หนึ่งในอุปกรณ์ที่ต้องมีติดโรงครัวกลาง
แผงกั้นจราจรถูกใช้เป็นราวตากผ้า มีเสื้อผ้าของชาวบ้านทั้งจากเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ตากเรียงกันเป็นแนวยาว
หลังเหนื่อยล้าจากความเคลื่อนไหวมาตลอดทั้งวัน พวกเขายังมีกิจกรรมรวมพลก่อนนอน เพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้าของประเด็นและข้อเรียกร้อง นี่คือพื้นที่สื่อสารชั้นดี เพื่อให้เห็นภาพรวมของขบวน และแลกเปลี่ยนกันระหว่างมวลชนและแกนนำ
.
บางเวลา ก็มีกิจกรรมนันทนาการอย่างการร้องเพลง และเล่นดนตรี
ไม่ห่างจากการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟมากนัก จากถนนพิษณุโลก เราเดินทางไปต่อที่ กระทรวงการคลัง บนถนนเส้นพระราม 6
.
ชาวนาที่รวมตัวกันในชื่อ “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” ก็ยังคงเรียกร้องการแก้ไขปัญหานานนับสัปดาห์แล้วเช่นกัน
.
พวกเขาเรียกร้อง ให้ ครม. มีมติช่วยจัดการหนี้สินของเกษตรกร ผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
“ถือขัน กางเสื่อ อาบน้ำกลางกรุง”
สภากาแฟช่วงดึก จิบกาแฟเพื่อแชร์ประเด็น ปัญหาความเดือดร้อนแต่ละพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าเวรยามดูแลความปลอดภัยของผู้ร่วมชุมนุม
.
การชุมนุมรอบนี้ เกิดขึ้นหลังผ่านไปเกือบ 2 ปี ที่ คณะกรรมการกองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ทั้ง 4 แห่ง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ กลับไม่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ส่งผลให้พวกเขารอการช่วยเหลือ ประกอบกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรไม่มีความสามารถชำระเงินคืนเจ้าหนี้ได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับชำระหนี้ สูญเสียหลักทรัพย์ประกัน อันหมายถึงที่ทำกินของตัวเอง
มีคำกล่าวขานกันในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมกางเต็นท์ท่ามกลางธรรมชาติว่านั่นคือ “สายแคมป์”
.
แต่สำหรับประชาชนอย่างน้อยก็บนถนนกลางกรุง 2 สายนี้ คือ การเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายจากรัฐบาล เพื่อปากท้องและชีวิตที่ดีกว่าของพวกเขา
เมื่อบางข้อเรียกร้องบรรลุผล แม้ยังไม่มีอะไรการันตีว่าปัญหาที่เหลือจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ แต่การกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ต้องกลับมาอีก ตราบใดที่ปัญหาและผลกระทบจากนโยบายยังเกิดขึ้นกับพวกเขาไม่สิ้นสุด