‘ลูกเหรียง’ พาหรอย รอยยิ้มของคนครัว

‘7 เมนูอาหารใต้’ จัดตกแต่งดูแปลกตาด้วยการเสิร์ฟแบบ ‘คานาเป้’ เรียงรายอยู่บนผ้าปาเต๊ะ พร้อมดอกดาหลาสีแดงประดับตกแต่งให้เห็นถึงอัตลักษณ์ภาคใต้ รอให้ทุกคนมาลิ้มลองรสชาติของอาหารใต้แท้ ๆ จาก “กลุ่มลูกเหรียง”

‘รอยยิ้ม’ ที่เห็นนี้ ไม่ได้เป็นเพียงรอยยิ้มของความปิติที่เหล่า ‘พ่อครัว-แม่ครัว’ เห็นผู้คนชื่นชอบอาหารที่เขาทำเท่านั้น แต่เป็นรอยยิ้มที่ได้มาจาก ‘การทำอาหาร’

ห้องครัวเล็ก ๆ ในบ้านลูกเหรียง กลายเป็นห้องที่สว่างที่สุดสำหรับเด็กที่แอบอยู่มุมมืด หลังต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนสุดท้าย เขาเหล่านั้นก็ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งผ่านการปรุงอาหาร
‘7 เมนูอาหารใต้’ เรียงรายอยู่บนผ้าปาเต๊ะพร้อมดอกดาหลาสีแดงประดับตกแต่งให้เห็นถึงอัตลักษณ์ภาคใต้ รอให้ทุกคนมาลิ้มลองรสชาติของอาหารใต้แท้ ๆ จาก “กลุ่มลูกเหรียง”
เมนูอาหารอาหารใต้ทั้ง 7 เมนูที่ได้เห็นนี้ “แอลลี่-อิสมาแอ ตอกอย” เจ้าหน้าที่ด้านทุนการศึกษา และเชฟประจำกลุ่มลูกเหรียง ได้ตั้งใจเลือกเมนูที่เป็นอาหารพื้นถิ่นและมีความสำคัญกับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาให้ทุกคนได้สัมผัสถึงรสชาติอาหารใต้แท้ ๆ
หากจะมองดูเป็นอาหารของทางตะวันตกก็คงไม่ผิด เพราะนี่คือการเสิร์ฟอาหารแบบ “คานาเป้” หรือการเสิร์ฟแบบคำเล็ก ๆ  เพื่อให้หน้าตาของอาหารใต้ดูทันสมัยไปจากเดิมที่ไม่ได้เน้นในเรื่องของการตกแต่งจาน
แม้รูปร่างหน้าตาของอาหารที่นำมาเสิร์ฟจะดูทันสมัยเหมือนไม่ใช่อาหารใต้แม้แต่น้อย แต่เมื่อมาดูกรรมวิธีและวัตถุดิบที่ส่งตรงจากใต้ ประกอบกับฝีมือคนพื้นถิ่นอย่างกลุ่มลูกเหรียง รสชาติอาหารทั้ง 7 เมนูจึงออกมาจัดจ้านตามแบบฉบับอาหารใต้แท้ ๆ จนหลายคนต้องออกปากว่า “หรอยแรง”
‘สะเต๊ะเนื้อ’ เดิมทีในทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะกินคู่กับข้าวอัด คือข้าวสวยที่นำมาอัดให้แน่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม แต่ในครั้งนี้ เปลี่ยนการนำเสนอใหม่ เป็นการเสิร์ฟมาพร้อมกับขนมปังจี่กระทะ พร้อมกับเนื้อย่างและน้ำสะเต๊ะ สุดท้ายราดด้วยน้ำอาจาดด้านบน
‘รอเยาะ’ คล้ายสลัด ประกอบด้วยเส้นหมี่ลวก กุ้งชุบแป้งทอดให้กรอบ เต้าหู้ ไข่ต้ม และผักต่าง ๆ กินคู่กับน้ำราดที่มีส่วนผสมของถั่วลิสง รสชาติหวานนำตามด้วยรสเค็ม และกลิ่นของเครื่องเทศนานาชนิด
‘ฆอและ’ หรือ ‘กอและ’ เมนูคู่บ้านคู่เมืองของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่หมักกับเครื่องเทศจนได้ที่ แล้วนำมาพลิกไปมาในกระทะหรือเตาย่างให้สุก สุดท้ายราดด้วยน้ำราดที่มีกลิ่นหอมของเครื่องแกง
.
โดยที่มาของชื่อเมนูนี้มาจากคำว่า ‘ฆอและ’ หมายถึง พลิกไปพลิกมา ส่วน ‘กอและ’ คือเรือประมงพื้นถิ่นในแถบจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส โดยเมื่ออยู่ท่ามกลางทะเลจะมีลักษณะโคลงเคลงไปมา ซึ่งคล้ายกับพลิกเนื้อสัตว์ไปมาในเมนูนี้
‘ข้าวยำโจร’ เมนูเชิดชูของจังหวัดยะลา เป็นข้าวที่นำมายำกับสมุนไพรหลากหลาย ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล มะนาว กินคู่กับสะตอ และดอกดาหลา
.
ความพิเศษของข้าวยำโจรนี้ จะแตกต่างจากจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส คือ จะไม่ใส่น้ำบูดู ด้วยสภาพตามภูมิประเทศของจังหวัดยะลาที่ไม่ได้ติดทะเลเหมือนกับสองจังหวัด
‘แกงไตปลา’ รสจัดจ้านถึงเครื่อง กินคู่กับขนมจีน และผักเคียงที่เป็นผักท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ผักแพว ยอดมะม่วงหิมพานต์
‘ข้าวเหนียวใบพ้อกับสมันกุ้ง’ เป็นขนมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธาของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งนิยมกินในช่วงเทศกาลอีด หรือวันฮารีรายอ และในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ของชาวไทยพุทธ เช่น ประเพณีชิงเปรต
‘ตูปะซูตง’ นับว่าเป็นเมนูที่แปลกและหากินได้ยาก เนื่องจากเป็นเมนูขนมหวานที่นำปลาหมึกมายัดไส้ข้าวเหนียว ต้มกับกะทิและน้ำตาลโตนด โดยชาวมุสลิมนิยมกินในช่วงรอมฎอน เนื่องจากเมนูนี้มีแคลอรี่สูงมาก จะทำให้ร่างกายสดชื่นในเวลาเปิดบวช
‘รอยยิ้ม’ ที่เห็นนี้ ไม่ได้เป็นเพียงรอยยิ้มของความปิติที่เหล่า ‘พ่อครัว-แม่ครัว’ เห็นผู้คนชื่นชอบอาหารที่เขาทำเท่านั้น แต่เป็นรอยยิ้มที่ได้มาจาก ‘การทำอาหาร’ อีกด้วย
“ดาด้า-อิสกันดาร์ กูโน” เด็กทุนลูกเหรียง คือคนที่ใช้การทำอาหารเป็นตัวนำพาเขาออกมาจากมุมที่มืดที่สุดในชีวิต จากการโดนคนในสังคมบางส่วนผลักเขาออกให้อยู่ชายขอบ เนื่องจากเป็น LGBTQIA+
แค่จุดเริ่มต้นจากทำอาหารในครัวเล็ก ๆ ในบ้านลูกเหรียง กลับกลายมาเป็น ‘ความสุข’ ที่เปลี่ยนชีวิตของดาด้าไปอย่างสิ้นเชิง
จากเด็กที่เก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่พูดคุยกับใคร ไม่กล้าแสดงออก ปัจจุบันนี้ ดาด้า กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร โดยหวังจะเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนมหาวิทยาลัย มาพัฒนาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ในกลุ่มลูกเหรียง รวมถึงชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้หลุดพ้นจากความมืดอย่างที่เขาเคยเผชิญ